เจ้าของร้าน ‘หนังสือเดินทาง’ เฉลย ‘ชัชชาติ’ แวะช้อปนับปี ไม่ฝากเจรจาชะลอรถไฟฟ้า จ่อย้ายสิ้นปี

อำนาจ รัตนมณี

“อยู่บนถนนพระสุเมรุจนถึงสิ้นปี”

เป็นข้อความสั้นๆ ที่สั่นคลอนหนอนนักอ่านอยู่ไม่น้อย เมื่อร้าน “หนังสือเดินทาง” (Passport Bookshop) ย่านพระนคร จำต้องย้ายอีกครั้งหลังมูฟจากถนนพระอาทิตย์มาตั้งหลักที่ใหม่ได้เพียงไม่กี่ปี

เพราะการมาถึงของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ จึงต้องเผชิญโจทย์ใหญ่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเดินหน้าลุยรื้อ สร้างทางขึ้น-ลงที่ 1 ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-สำราญราษฎร์ หวังเกาะรัตนโกสินทร์มีขนส่งสาธารณะช่วยอำนวยสะดวก

“ร้านหนังสือเดินทาง” เป็นหนึ่งในอาคารสถานของภาคเอกชน ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่กำลังจะถูกทุบทิ้ง 7 คูหา จาก 14 คูหา แม้อยู่ในรายการที่กรมศิลปากร จ่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย

Advertisement

และมีทำเลที่ลัดเลาะไปถึงซอยข้าวสาร มีตรอกตัดผ่านถนนเลียบคลองบางลำพู จุดที่ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เล็งทำเส้นทางท่องเที่ยวย่านอัตลักษณ์

ก่อนหน้านี้ ทางร้านเคยแย้มถึง ‘ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.’ คนหนึ่งที่เดินทางมาซื้อหนังสือเป็น ‘ลูกค้าคนแรก’ ของวันหนึ่ง

อำนาจ รัตนมณี หรือ ‘พี่หนุ่ม’ ของผู้คนที่แวะเวียนมาหา พบปะ พูดคุย เลือกหนังสือ เผยกับ ‘มติชน’ จากบทสัมภาษณ์โดย อธิษฐาน จันทร์กลม ว่า ผู้สมัครฯ ดังกล่าว ที่แท้คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

รายละเอียด ดังนี้

•ร้านเคยโพสต์ว่า ลูกค้าคนแรกของวันนี้เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนหนึ่ง สุดท้ายลูกค้าคนนี้ได้เป็นผู้ว่าฯไหม?

ได้เป็นผู้ว่าฯ (หัวเราะ) ก็เป็นผู้ว่าฯที่เตรียมตัวเพื่อจะมาเป็นผู้ว่าฯ เพราะนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เขามาร้านหนังสือเดินทาง เขามาก่อนหน้านั้น 2-3 ปีเป็นอย่างต่ำ เขามาด้วยตัวเขาเอง เขาเดินเข้ามา แล้วก็คุยกับคนนู้นคนนี้นี่คือนักการเมืองที่นำตัวเองมาสู่ผู้คน ไม่ได้วางตัวเองอยู่เหนือความจริง เขาเตรียมตัว พยายามทำความเข้าใจว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้เจออะไร ใช้ชีวิตยังไง ต้องการอะไร

•ได้ถามไหม รู้จักร้านหนังสือเดินทางได้อย่างไร?

เขามีทีมงานที่ใช้ชีวิตกับพวกเรา ทีมงานคนรุ่นใหม่ ที่เสพสัมผัสกับเมืองในมิติที่เราสัมผัส เป็นองค์ประกอบที่ลงตัว ไม่ใช่ว่าพอคุณอยู่ในตำแหน่งนั้นแล้วเอาแค่คนเจนใด เจนหนึ่งเข้าไป แต่นี่ลักษณะเป็น inclusive คือเอาทุกภาคส่วนของเมืองนี้ เขาเตรียมตัว ถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญก็อาจจะไม่เอากลุ่มเหล่านี้เข้ามาก็ได้ และเขาเองก็เป็นนักอ่านอยู่ก่อนด้วย

•แล้วผู้ว่าฯคนนี้ ซื้อหนังสือประเภทไหนมากที่สุด?

เขามาหลายครั้ง ครั้งหลังสุดก่อนจะเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ซื้อเกี่ยวกับเรื่องเมืองโดยเฉพาะ แกบอกว่า ผมเตรียมตัวที่จะทำงาน คงต้องการองค์รวมของความรู้อีกมากมายเพื่อนำไปใช้ หลายอย่างก็นึกออกเลยว่ามาจากหนังสือเล่มไหน (หัวเราะ) เพราะชอบเรื่องประมาณนี้อยู่เหมือนกัน มีครั้งหนึ่งนั่งคุยกันเลย เขายังอยากฟังในมุมของร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่งเหมือนกัน ว่ามองเมืองอย่างไร เราอึดอัดกับอะไรบ้าง แล้วอะไรที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้บ้าง ไม่ได้จะยกยอนักการเมืองคนนี้ แต่แค่รู้สึกว่ามีบางอย่างที่นักการเมืองก่อนหน้านี้ไม่มี และไม่เคยทำ

•อยากให้ผู้ว่าฯคนนี้ช่วยเจรจา ชะลอโครงการรถไฟฟ้าหรือไม่?

ไม่เลยนะ สารภาพตามตรง โครงการนี้จำเป็น แต่ในเชิงดีเทลมีช่องโหว่ที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ เมื่อมาไกลถึงขั้นนี้แล้ว มูฟออนดีกว่า (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ย่างก้าวใหม่ของ ‘หนังสือเดินทาง’ คำในใจ ‘อำนาจ รัตนมณี’ ถึงวันต้องมูฟ (ออน) โคจรหลบการพัฒนา)

•ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ เริ่มจัดดนตรีในสวน หากิจกรรมให้คนเมืองนอกจากเดินห้าง แต่สิ่งที่ยังขาดคืออะไร?

การมาถึงของผู้ว่าฯคนใหม่ มีเหตุผลเชิงประจักษ์ เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น ก่อนหน้านี้สิ่งที่ขาดหายไปในมุมของเรา คือคำว่าพื้นที่สาธารณะซึ่งมี 3 ปัจจัย

คือ 1.ควรหลากหลายในเชิงกิจกรรม 2.ควรจะหลากหลายในเชิงของคนที่เข้าไปใช้ ไม่ใช่ผูกขาดคนกลุ่มเดียว

3.ควรจะหลากหลายในช่วงของเวลา ไม่ใช่เปิดเฉพาะ 09.00-16.00 น. แล้วปิดห้ามใช้ ตกดึกอาจจะเป็นส่วนของพวกฮิพฮอพ เช้าๆ ก็เป็นอากงอาม่ามาเอ็กเซอร์ไซส์ บ่ายๆ เป็นกลุ่มไหนก็ว่าไป

พื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องสวน ทุกเย็นหนุ่มสาวหรือคนแก่มานั่งริมรั้วสะพานพุทธมากมาย นี่เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งเลยว่า คนต้องการพื้นที่เหล่านี้แต่เรามีให้เขาไม่ได้ มองออกไปโล่งๆ มีจุดทอดสายตา เรามองข้ามไปหลายมิติมากในการพัฒนาเมือง

ร้านหนังสือเอง ก็มีลักษณะเป็นพื้นที่สาธารณะ จะมีสักกี่ร้านเชียวที่คุณเดินเข้าไปโดยไม่เสียตังค์สักบาท ร้านกาแฟอย่างน้อยคุณเข้าไปก็ต้องซื้ออะไรสักอย่าง ร้านอาหารยิ่งแล้วใหญ่ แต่ร้านหนังสือบางทีเดินเข้ามาคุณอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมง คุณไม่ซื้อเขาก็ไม่ว่าอะไร โดยเนเจอร์ของธุรกิจ มีความเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่ในตัว

มุมหนึ่ง ทำหน้าที่เหมือนห้องรับแขกอยู่กลายๆ ฝรั่งเดินๆ อยู่ถูกตุ๊กๆ หลอกไปร้านตัดสูท มีปัญหากับร้านไม่รู้จะไปไหนก็แวะมาที่นี่มี โฮสเทลหลังหนึ่ง กำหนดวัน “แฮปปี้ ฮอลิเดย์” มีน้องพาฝรั่งเที่ยว สุดท้ายก็มาลงที่นี่ เขาได้มาเห็นหนังสือที่นักอ่านไทยอ่าน เป็นการแลกโลกของกันและกัน บางทีมันอาจจะทำให้ใครบางคนรู้จักความเป็นไทย หรือเข้าใจสังคมไทยได้มากกว่าการไปชมอย่างเดียว ร้านหนังสือมีนัยยะอย่างนี้อยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image