อ.สถาปัตย์ ยกเคส ‘ป้อมพระสุเมรุ’ เรียกร้องให้ภูมิใจ แต่ไม่ให้ใช้งาน ชี้ ฟื้นเมืองต้องสร้างสมดุล

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่มติชนอคาเดมี ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซอย 12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร สำนักพิมพ์มติชน จัดงาน “สมานมิตรฯ Return เปิดโกดังหนังสือดี” วันนี้เป็นวันที่ 8 โดยจะมีไปจนถึง 4 ธันวาคม ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 19.00 น.

เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. มีการจัดกิจกรรม Special Talk : คน เมือง และโบราณสถาน โดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ดำเนินรายการโดย นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน (อ่านข่าว ศ.ดร.ชาตรี ถอดรหัสกรุงเทพฯจากต้นกรุงถึงยุคคณะราษฎร เปิดเมกะโปรเจ็กต์ ‘เพื่อประชาชน’ ยกระดับมวยด้วยทุนมหาศาล)

ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.ชาตรี กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับโบราณสถานอาจย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่แนวคิดการอนุรักษ์มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วง พ.ศ.2477-2478 ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ออกพระราชบัญญัติโบราณสถาน อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกไม่ได้มองภาพรวม แต่ลงเป็นจุดๆ เช่น วัด วัง กำแพง อาคาร ฯลฯ ก่อนพัฒนาเรื่อยมาจนราว พ.ศ.2500 จึงมีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่าที่ไม่ใช่เฉพาะอาคาร แต่ต้องมีอาณาบริเวณด้วย โบราณสถานยุคต่อมา จึงมีการขึ้นทะเบียนทั้งบริเวณที่สัมพันธ์ไปด้วย

จากนั้น ศ.ดร.ชาตรี เปิดภาพถ่ายในช่วง พ.ศ.2510 ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากหนาแน่นในทุกพื้นที่ อาทิ ปากคลองตลาด สะพานเหล็ก ในสายตาของสถาปนิกนักอนุรักษ์ยุคนั้น ทนไม่ไหว มองว่าเมืองเสื่อมโทรม คนเยอะ ฝุ่นเยอะ จราจรแน่น สลัมเต็มเมือง ในพ.ศ.2516 เกิดการรณรงค์โดยนักวิชาการที่ต้องการทำเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่ากรุงเทพฯ โดยเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาจากกรมศิลปากร และมีการผลักดันต่อมาจนสำเร็จ สุดท้าย ตั้งเป็นคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ.2520 เพื่อพัฒนาเมืองในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในพ.ศ. 2525

Advertisement

“คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ตอนนั้นมีไอเดียมากมาย มีบทบาทหน้าที่ทางการ วางแผนโดยสรุปคือคิดว่ากรุงเทพฯ ชั้นในแย่ กำลังจะตาย สิ่งที่ทำหลักๆ คือ  ย้ายสถานที่ราชการออกเพื่อลดคนเข้าเกาะรัตนโกสินทร์  รื้ออาคารที่มองว่าไม่มีคุณค่าในเชิงสถาปัตย์ เพื่อเปิดมุมมองโบราณสถานสำคัญของชาติ หรือเอาที่ตรงนั้นทำเป็นสวนสาธารณะแทรกตามเมืองที่แออัดในทัศนะของเขา 

สิ่งที่เป็นเป้าอีกอย่างหนึ่งคือเคลียร์สลัมออกไป ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องซับซ้อนมากที่จะแยกระหว่างชุมชนโบราณที่อยู่อย่างคับแน่นกับสลัม หาเส้นแบ่งลำบาก บางครั้งชุมชนเก่าจึงถูกรื้อ แน่นอนว่าไอเดียเรื่องนี้ถูกพูดถึงเยอะในปัจจุบัน แต่ยุคนั้น ทัศนคติยังไม่ใช่แบบนี้ ถ้ามองย้อนกลับไป นโยบาย 2-3 ข้อนี้ แพนิคมากไป รีบเร่งปล่อยนโยบายซึ่งมี 20 กว่าแผน” ศ.ดร.ชาตรีกล่าว

Advertisement

ศ.ดร.ชาตรี กล่าวต่อไปว่า ‘เมืองเก่า’ เป็นไอเดียใหม่ที่พูดถึงเมืองเก่า ซึ่งเริ่มต้นด้วยหลักการที่ดี แต่ด้านหนึ่งก็แพนิคมากเกินไป ทำให้เป็นการ ‘แช่แข็ง’ สำหรับกรณีเกาะรัตนโกสินทร์ กลายเป็นการเร่งร้อนตกใจ ส่งผลให้โบราณสถานที่ตัวเองเห็นคุณค่ากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จับต้องไม่ได้ นอกจากนี้ยัง ‘สองมาตรฐาน’ เช่นกรณีสนามหลวง ที่ให้รถทัวร์นักท่องเที่ยวจอด แต่กรมศิลปากรไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ขุดหลุม 30 ซม. ฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ว่าทำลายโบราณสถาน นอกจากนี้อาคารศาลฎีกา เป็นกรณีที่เจ็บปวด ตนขอพูดทุกครั้งที่มีโอกาส

“ป้อมพระสุเมรุ ข้างบนเพิ่งสร้างใหม่ หลัง พ.ศ. 2525 แต่ไม่ให้คนขึ้นเพราะเป็นโบราณสถาน ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์เกินไปด้วยไอเดียแบบนี้จึงไม่เชื่อมโยงกับผู้คน กลายเป็นอนุสาวรีย์ลอยๆ เรียกร้องให้ภูมิใจ แต่อย่าไปใช้งาน…กลับหัวกลับหางไปหมด ส่วนป้อมมหากาฬซึ่งเป็นชุมชนสำคัญ ต้นกำเนิดลิเกพระยาเพชรปาณี ถ้าเป็นต่างประเทศ เขาต้องอนุรักษ์ แต่ปัจจุบันถูกรื้อเป็นสวนดอกไม้ ไม่มีคนเดิน” ศ.ดร.ชาตรี กล่าว

จากนั้น ศ.ดร.ชาตรี กล่าวว่า ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ มีพัฒนาการทางความคิดดีขึ้น ขยายเพดานมรดกวัมนธรรม เช่น มองชุมชนมากขึ้น เรื่องตึกและโบราณสถานขยายขึ้น โบราณสถานกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ ส่วนแผนแม่บทในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2540 ที่จะพัฒนาถนนราชดำเนินต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยว หลายส่วนก็ยังเหมือนเดิม จะมีโรงแรม 5 ดาว และยังไม่ยอมปล่อยชุมชนป้อมมหากาฬเช่นกัน

ต่อมา ตั้งแต่พ.ศ.2555-ปัจจุบัน เกิดสิ่งที่เรียกว่าคนเก่าย้ายออก คนใหม่มาอยู่ กล่าวคือ ช่วงก่อนหน้านั้น ผลกระทบมาจากเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ แต่ยุคที่กล่าวถึงนี้ เมื่อเมืองเสื่อมโทรมมาก ชนชั้นกลางระดับบนย้ายเข้ามาเปลี่ยนเมืองด้วยธุรกิจ ด้วยความ ‘ฮิปๆชิคๆ’ ซึ่งเป็นภาพที่ดีมาก เพราะคนคิดว่าเป็นการฟื้นชีวิตของเมือง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ‘คนจนเมือง’ ถูกทำให้ต้องย้ายออกด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ค่าครองชีพ แล้วแทนที่ด้วยคนกลุ่มใหม่ ไม่มีพื้นทีสำหรับคนจน สิ่งที่ซับซ้อนคือ คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่านี่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้เหมือนตอนรัฐทำ  อย่างไรก็ตาม เมืองก็เหมือนชีวิตคน ต้องมีสมดุล เมืองต้องการคนกลุ่มนี้ ต้องมีการงานอาชีพบางอย่างให้เขาทำ ซึ่งเป็นงานที่เราไม่ชอบ เช่น เก็บขยะ สิ่งที่โหดร้ายคือ ต้องการเขาตอนเช้า แล้วถีบเขาออกไปตอนเย็น

“การรื้อฟื้นเมืองขาดคนกลุ่มครีเอทีฟคลาสไม่ได้ แต่ปัญหาคือจะสร้างสมดุลอย่างไร ผมก็ชอบคาเฟ่ชิคๆ ไม่รังเกียจครีเอทีฟคลาส แต่จะบาลานซ์อย่างไร”  ศ.ดร.ชาตรี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image