จักรวาลบนขอบกระด้ง เปิดโลก ‘กะเหรี่ยงศึกษา’ บนดอยสูง

"เบลาะ" บ้านสำหรับทำพิธีกรรม สร้างขึ้นใหม่ให้เรียนรู้วิถีกะเหรี่ยง

กระแสวิกฤตผ้าเหลือง การจัดระเบียบวัดและเงินบริจาค คิวอาร์โค้ดดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มองกันว่าน่าจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อความโปร่งใส รับกับยุค 4.0

ทว่าลึกเข้าไปบนดอยสูง ที่นั่นเราพบกับอีกโลกหนึ่ง…

ด้านหน้าวัดห้วยบง-กึ่งกลางระหว่าง-อ.เมืองกับปาย

เสียงเหมือนเคาะเกราะดังแทรกอากาศมาเบาๆ ฟังคล้ายกระดึงคอควาย ที่แท้คือเครื่องมือไล่นกหนู ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงที่ใช้เกราะและเชือกผูกไม้ตรงปลายแขวนใบลาน เมื่อสายลมผ่านไม้จะเคาะส่งเสียงดังไล่นกหนูให้หนีไป ทำหน้าที่เหมือนหุ่นไล่กากลางทุ่ง

พระปลัดสุชาติ หน้าพระอุโบสถ กับ “ไก่” กะเหรี่ยง สัญลักษณ์ความซื่อสัตย์และตรงต่อเวลา

พระปลัดสุชาติ สุวัฑฒโก เจ้าอาวาส วัดห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ชี้ให้ดู พร้อมอธิบายการทำงานของเครื่องมือชิ้นนี้ที่หยิบมาใส่วัดเพื่อบอกเล่าภูมิปัญญากะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปกับกาลเวลา

Advertisement

“วันนี้ยังมีผู้เฒ่าที่บอกเล่าวิถีกะเหรี่ยง ถ้าไม่รีบรวบรวมไว้ ภายหน้าจะไม่มีอีกแล้ว”

เจ้าอาวาสชาวกะเหรี่ยงบอก ที่ผ่านมาเรื่องราวเหล่านี้แม้จะมีการบันทึกก็เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ภารกิจหนึ่งของวัดห้วยบงจึงเป็น “ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา” (ติดตามได้ที่เพจ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษาวัดห้วยบง) พร้อมกับการพัฒนาวัดห้วยบง จากอาศรมเล็กๆ กลางป่าเขา เป็นศูนย์ประสานงานของพระและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา

ทำไมต้องเป็นศูนย์ “กะเหรี่ยง” ศึกษา?

Advertisement

ทำไมต้องไปอยู่ถึงในดงดอยบนพื้นที่สูงที่สุดของเชียงใหม่ต่อกับแม่ฮ่องสอน?

นั่นเพราะประชากรที่นี่ 98% เป็นกะเหรี่ยง 3% เป็นม้ง และ 1% ที่เหลือคือลีซอ

จาก ‘อาศรม’ เป็นวัด ศูนย์รวมจิตใจกลางดอยสูง

ระยะทางเพียง 140 กิโลเมตร จาก อ.เมืองเชียงใหม่ ถึง อ.กัลยาณิวัฒนา อำเภอที่แยกมาจาก อ.แม่แจ่ม เมื่อปี 2550 แต่ใช้เวลาในการเดินทางนานถึง 6-7 ชั่วโมง ด้วยเส้นทางที่คดเคี้ยวเป็นทางแคบแม้ลาดยางแล้วก็ตาม

ที่พระธาตุขุนแจ่มหนองแดง บรรดาแม่บ้านมานั่งรอช่วยงานแต่เช้า
รถโดยสารประจำชุมชนที่เข้ามารับนักท่องเที่ยวแต่เช้า

“เมื่อก่อนเวลากำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะประชุมต้องไปที่แม่แจ่ม ต้องเดินทางข้าม 6 อำเภอ ลำบากมาก ต้องค้างคืน จึงมีความพยายามที่จะยกฐานะตำบลบ้านจันทร์ขึ้นเป็นอำเภอ เพื่อสะดวกในการติดต่อ”

อย่างไรก็ตาม ตำบลบ้านจันทร์เมื่อครั้งกระโน้นมีเพียง “วัดจันทร์” เพียงวัดเดียว ที่เหลือเป็น “อาศรมพระธรรมจาริก” ซึ่งทำหน้าที่ควบรวมเป็นพระ-ครู-หมอ ให้กับชาวดอย ซึ่งในแง่ของการปกครองแบบคณะสงฆ์ จะมีแค่วัดแห่งเดียวไม่ได้ สำนักพระพุทธศาสนา เจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม รวมทั้ง พระเทพโกศล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้ดูแลโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค วัดศรีโสดา พระอารามหลวง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จึงมอบหมายให้รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นคือ พระเทพปริยัติ เป็นประธานดูแลสร้างวัดทั้ง 9 วัด ซึ่งพัฒนาและยกฐานะขึ้นมาจากอาศรม 9 แห่ง ใน 3 ตำบล 21 หมู่บ้าน ที่มีความพร้อม

เด็กน้อยจัดพานสำหรับไหว้พระพุทธ

“อาศรมพระธรรมจาริกบ้านห้วยบง” ได้รับเลือกเป็นศูนย์ประสานงานของพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาทั้งหมด ซึ่งปัจุบันมีใน 4 จังหวัดภาคเหนือ รวม 35 แห่ง โดยพระปลัดสุชาติ เป็นผู้ประสานงานการก่อสร้างและพัฒนาขึ้นเป็น “วัดห้วยบง”

“สมัยนั้นพระพรหมบัณฑิต ซึ่งเป็นอธิการบดี มจร. และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม มาเยี่ยมพระบัณฑิตอาสา ระดมทุนทำกฐินผ้าป่าสร้าง ‘อาคารหอประชุม’ มีดำริว่า ในเมื่อพระบัณฑิตอาสาทำงานกับพี่น้องชนเผ่าอยู่แล้ว อยากให้ห้วยบงเป็น ‘ศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา’ โดย รวบรวมวิถีความเป็นอยู่ จักรวาลของกะเหรี่ยง ความเชื่อวัฒนธรรมประเพณี ไว้ที่นี่ ซึ่งเมื่อสำเร็จสมบูรณ์แล้ว จึงขยับไปทำม้งศึกษา เย้าศึกษา”

จุดรวมพล รวมบุญ รวมปัญญา

1 ชั่วโมงกับอีก 15 นาที จากสนามบินดอนเมืองถึงสนามบินเชียงใหม่ แม้จะถึงที่หมายตั้งแต่ยังไม่ 10 โมง แต่กว่าจะถึงปลายทางก็เย็นย่ำ

ค่ำคืนนี้จึงได้อาศัยหอประชุม “อาคาร 60 ปี พระพรหมบัณฑิต” เป็นที่พำนัก ที่นี่เป็นอาคารอเนกประสงค์ ทั้งเป็นหอประชุมใหญ่ ห้องพักรับรองแขก ห้องสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย

รุ่งเช้ารถโดยสารสีเหลืองวิ่งเข้ามาในวัด รอรับ 2 หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น ที่ขี่จักรยานจากปายมาเที่ยวแถวนี้จนมืดค่ำ จึงเข้ามาอาศัยพักแรมที่วัดห้วยบง

สำหรับนักท่องเที่ยวนี่อาจจะเป็นเคสแรกๆ แต่กับญาติโยม วัดห้วยบงเป็นที่พักอาศัยหลับนอนมาตั้งแต่ยังเป็นอาศรมพระธรรมจาริก

กลุ่มครูจากสถาบันพลังจิตตานุภาพ มาอบรมการปฏิบัติที่พระูธาตุขุนแจ่มหนองแดง

“เมื่อก่อนตำบลบ้านจันทร์จะมีงาน ‘บุญสัญจร’ ทุกวัน 14 ค่ำ เป็นการรวมพลของคนมาทำบุญ ก่อนหน้านี้เราใช้ชื่อ ‘เวทีสัญจร’ คนเฒ่าคนแก่ไม่มาร่วม เพราะฟังดูเป็นสายวิชาการ ไม่รู้ว่าจะมาทำไม เมื่ออยากให้คนทุกเพศทุกวัยมาจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘บุญ’ สัญจร จัดเวียนไปตามอาศรมต่างๆ ในตำบลบ้านจันทร์ มีคนมากัน 300-500 คน”

ชาวบ้านโดยรอบมาร่วมเรียนการทำสมาธิ

ติดอยู่ที่เวลาเราใช้คำว่า “บุญ” ขอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานราชการไม่ได้ ก็ต้องเลือกว่าอยากให้คนมาเยอะหรือเงิน พระปลัดสุชาติบอกพร้อมระบายรอยยิ้ม

ฉะนั้น ตอนปี 2558 เมื่อวางแผนจะพัฒนาขึ้นเป็น “วัด” จึงมองความพร้อมในส่วนของสถานที่ “ศาลาบาตร” หรือวิหารคต ที่ออกแบบเป็นตัว U รอบพระอุโบสถ มีพื้นที่รองรับคนได้เกือบ 1,000 คน เพื่อว่าชาวบ้านได้อาศัยปูเสื่อตอนกลางคืนนอน เช้าขึ้นเก็บเสื่อเป็นที่กินข้าวร่วมกัน ไม่ต้องอาศัยกินข้าวตามใต้ต้นไม้เหมือนเมื่อก่อน

“สิ่งที่อาตมาสร้างคือ ‘แรงศรัทธา’ อย่างศาลาบาตร ไม่มีเจ้าภาพ กระเบื้องมุงหลังคาแผ่นละ 8-9 บาท 7 หมื่นแผ่น มาจากการบริจาคคนละ 20 บาท 50 บาท 100 บาท คือเมื่อมารวมกันมันมีโอกาสได้มาทำบุญ แต่อาตมาคิดว่าเสร็จแล้วน่าจะได้อะไรกลับไป คือ ปัญญา”

การรวมพลที่นี่ยังเป็นโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าจะช่วยกัน “อนุรักษ์” วิถีพี่น้องเราอย่างไร เพราะวันนี้วิถีชีวิตทุกอย่างเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์หรือฟื้นฟูทั้งหมด แต่เรามาคุยกันว่า มีอะไรที่เราคิดว่าสมัยนี้เราทำได้

เช่น เมื่อก่อนตอนทำพิธีเลี้ยงผีจะปิดถนนไม่ให้ใครเข้า ก็ทำแค่พอเหมาะ ทุกปีอาตมาจะเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาถ่ายทอดให้กับเด็กในโรงเรียนได้ศึกษา แม้แต่ “เบลาะ” ก็ต้องเรียนรู้

‘เบลาะ’ และจักรวาลบนขอบกระด้ง

หัวใจของวัดคือ พระอุโบสถ แต่ถ้าศูนย์กะเหรี่ยงศึกษา สิ่งที่ต้องมีคือ “เบลาะ”!

“เบลาะ” เป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ ตัวแทนของบ้าน “ผู้ชาย” เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม เป็นสถานที่เรียนรู้ ไม่ว่าจะทำงานจักสาน เย็บผ้า ฝึกร้องเพลง งานศพ งานแต่ง ล้วนกระทำกันที่นี่ทั้งหมด โดยมีเจ้าบ้านคือ “ฮีโฆ่” (หมอผี)

ส่วนบ้าน “ผู้หญิง” หรือ “แด” คือบ้านทั่วไป

“เบลาะ” สร้างขึ้นกลางป่าไผ่
ห้ามหญิงมีครรภ์ไปงานศพ-ถ้าพบโดยบังเอิญต้องทำพิธีเรียกขวัญเป็นการด่วน

“กะเหรี่ยงเมื่อก่อนมี ‘หมอผี’ เป็นผู้นำชุมชน เวลามีแขกไปใครมาจะต้องมาที่นี่ก่อน นอกจากนี้จะเรียนจักสาน ทอผ้า-ที่ระเบียงด้านหน้า หรือเรียนคาถาอาคมก็มาเรียนกันที่นี่ เวลามีเรื่องมีราวตกลงกันไม่ได้ก็ใช้ที่นี่เป็นศาลตัดสินความ”

ปัจจุบันในประเทศไทยมี “เบลาะ” ไม่ถึง 10 หลัง ที่นี่จึงเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เบลาะ และเป็นที่ทำกิจกรรมสำคัญๆ ในวันปีใหม่กะเหรี่ยง ซึ่งจะมีพี่น้องกะเหรี่ยงมาชุมนุมกันราว 5,000 คน

ยามไม่มีกิจกรรมห้องภายในจึงใช้เก็บสรรพสิ่งที่บอกเล่าวิถีกะเหรี่ยง ซึ่งโดยมากจะทำจากไม้ไผ่ รวมทั้งเครื่องมือดักสัตว์ที่ทำจากไม้ไผ่ ระเบียงด้านหน้ายังมี “ทีเต่อ” (กระบอกน้ำ) สำหรับต้อนรับแขก

“ชีวิตเราแต่ละวันไม่ต้องเรียนรู้อะไรมากมาย เรียนรู้แค่ ก่อแหล่ (=โลกกว้าง) ก็เพียงพอ” พระปลัดสุชาติบอก พร้อมกับชี้ไปที่ “กระด้ง” ที่แขวนอยู่ด้านหน้าเรือน

“ทุกอย่างอยู่บนนี้หมด ตั้งแต่แรกเกิดนำลูกน้อยมาล้างและตัดสะดือบนก่อแหล่ เป็นภาชนะใส่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ข้าวเปลือก ข้าวสาร จนสิ้นสุดชีวิตก่อแหล่ยังบอกเส้นทางให้ดวงวิญญาณสู่สุขสวรรค์ (ถ่อเซส่า) จึงบอกว่ากะเหรี่ยงถ้าเรียนรู้ ‘ก่อแหล่’ ลึกๆ ก็สามารถเลี้ยงชีพได้”

สร้างวัดให้เป็นวัด ด้วยพลัง ‘ศรัทธา’

ชั่วเวลาเพียง 4 ปี วัดห้วยบงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีศาลาบาตร อาคารหอประชุม โรงครัว รวมถึง โรงกรองน้ำ ที่ผู้มีจิตศรัทธาซื้อเครื่องกรองน้ำมาถวาย ยังประโยชน์ไปถึงชาวบ้านบริเวณโดยรอบได้มีน้ำดื่มที่สะอาด กระนั้น ภาพที่คนย่านนี้คุ้นชิน คือภาพของพระ เณร รวมทั้งชาวบ้านช่วยกันวางอิฐก่อพระเจดีย์อย่างไม่รู้เหนื่อย

“การบิณฑบาต กวาดวัดถือเป็นกิจของสงฆ์ที่เราต้องทำ แต่งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง สร้างพระเจดีย์ ถือเป็นงานที่เราสงเคราะห์ อยากให้มีในวัดแล้วคนจะมาใช้ประโยชน์ ทั้งพระและฆราวาสจะต้องยอมเหนื่อยหน่อย อาศัยธรรมชาติจัดสรร อาศัยป่าเป็นตัวตั้ง”

วันปีใหม่กะเหรี่ยงเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวในชุมชนจะมาพบปะทำบุญร่วมกัน

เจ้าอาวาสวัดห้วยบงเล่าให้ฟังว่า หน้าที่ของพระมี 2 เรื่อง สิ่งที่สำคัญคือพัฒนาด้านจิตใจ แต่ทางด้านอื่นก็ต้องด้วย ณ วันนี้ชาวบ้านมีปัญหาเยอะมาก จะสังเกตว่าบนดอยก็ทิ้งให้คนเฒ่าคนแก่อยู่กับบ้าน ป่วยกายก็มีป่วยใจก็มาก พระทำหน้าที่รักษาด้านจิตใจเป็นหลัก ชักชวนให้เยาวชนเข้าวัดฟังธรรม พัฒนาจิตใจ

พิธีขอขมาก่อนบรรพชา

การใช้ “เสียงตามสาย” เล่านิทานธรรมะ คำสอนของบรรพชน เพลงเกี่ยวกับคนหนุ่มสาว ซอพระธาตุ สาระน่าสนใจต่างๆ ตลอดจนบอกเล่าข่าวสารประจำวัน ด้วยภาษากะเหรี่ยง เป็นอีกหนทางช่วยคลายความทุกข์ใจได้ระดับหนึ่ง

จากมีวิทยุเพียงบางบ้าน ปัจจุบันบางบ้านต้องมี 2 เครื่อง เครื่องใหญ่ไว้ประจำบ้าน เครื่องน้อยไว้พกไปไร่

“อาตมาอยากให้วัดเป็นมากกว่าวัด มากกว่าแค่ที่ที่คนเข้ามาทำบุญ”

วัดอื่นมีเรื่องชาดก ภาพพุทธประวัติ แต่ที่วัดห้วยบงจะมีภาพวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างน้อยพี่น้องคนเฒ่าคนแก่และเยาวชนที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตกะเหรี่ยงจะได้เรียนรู้คำสอนของบรรพบุรุษที่เน้นเรื่องของการอยู่โดยสันติและแบ่งปันซึ่งกันและกัน มีการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด

“ซึ่งจะให้วัดเป็นที่รู้จักของคน ต้องทำวัดให้มีประโยชน์ ที่นี่มาไม่ต้องมารู้จักเจ้าอาวาสหรอก มาบูชา กราบสักการะ มาศึกษากับองค์เจดีย์ ดูวิว เหมือนวัดพระธาตุดอยสุเทพ”

เพราะถ้ารู้จักแต่เจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ ทุกอย่างก็จบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image