“ศูนย์ข้อมูลฯ” มั่นใจกม.ภาษีที่ดินฯทำให้ราคาที่ดินเพิ่มไม่มาก คาดอาจมีคนนำออกมาขายเพิ่ม

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายกลยุทธ์ 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เชื่อว่า ผลจากภาระภาษีที่ดินดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ถือครองที่ดินว่างเปล่า มีแนวโน้มเริ่มที่จะพิจารณานำที่ดินำออกมาขายในตลาดเพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณที่ดินขายในตลาด ส่งผลให้ระดับราคาที่ดินที่เคยปรับสูงขึ้นในช่วงปี 2560-2561 มีแนวโน้มไม่ปรับเพิ่มขึ้นหรือปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับสถิติการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินในช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเร็วมาก เช่น ราคาที่ดินในกรุงเทพฯและปริมลฑล ช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 และไตรมาสที่ 2 ปีนี้ เมื่อเทียบกับเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 และแต่ละปีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

นายวิชัยกล่าวว่า ส่วนผลจากมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนปี 2562 จะทำให้เกิดการชะลอตัวการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่บางส่วนตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านสัญญาแรกยังไม่ถึง 3 ปีมีผลกระทบ และต่างเริ่มตระหนักว่า การจะซื้อบ้านใหม่เป็นสัญญาเงินกู้ที่ 2 จะมีเงินดาวน์เพียงพอร้อยละ 20 หรือไม่ และกลุ่มผู้ซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สินของครอบครัว กลุ่มผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่าโดยตรง ผู้ที่ซื้อเพื่อหวังว่าผู้อื่นสนใจจะซื้อใบจอง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ซื้อเพื่อการลงทุน จะหยุดพิจารณานานประมาณ 2-3 ไตรมาส และมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธปท. ยังทำให้เกิดการเร่งการซื้อ เร่งโอนกรรมสิทธิ์บ้านในปีนี้มากกว่าปกติโดยเฉพาะในข่วงไตรมาสที่ 4 และต้นปีหน้าก่อนที่มาตรการจะมีผลใช้บังคับ จากปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงประมาณไตรมาสที่ 2 ปีหน้าชะลอตัวลงได้

นายวิชัยกล่าวว่า ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้านั้น มีโอกาสปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของธปท.กับของธนาคารกลางสหรัฐมีส่วนต่างค่อนข้างมาก ซึ่งหากปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านของประชาชนลดลงได้ เพราะแม้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับขึ้นในทันที แต่จะมีผลให้ต้นทุนในการระดมเงินจากตลาดเงินตลาดทุนต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงสะท้อนออกมาให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นตามไปด้วย เรื่องนี้ จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อบ้านลดลงได้เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงได้วงเงินกู้น้อยลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image