ก้าวสู่บันได 3 ขั้น หนทางสร้างตลาดทุนยั่งยืนให้ภาคธุรกิจ

กางแผนที่เพื่อไปสู่เส้นทางการส่งเสริมภาคธุรกิจไทย ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อยอดจากงานสัมมนา ภาคธุรกิจไทย ในวิถี “ยั่งยืน” โดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในวิทยากรครั้งนั้นมี “รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.” มาร่วมแชร์พันธกิจที่ตั้งเป้าว่าจะสร้าง Ecosystem ของตลาดทุนไทยให้ยั่งยืนทั้งระบบ

ภายหลังให้ความเห็นในงานสัมมนาดังกล่าว เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. เพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองและการทำงานของก.ล.ต. ที่มีปลายทางของการทำงานคือ “การสร้างตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน” โดยเธอให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “วิถียั่งยืน” เป็นการดำเนินธุรกิจวิถีใหม่ ภายใต้กรอบ 3 ด้าน ประกอบด้วย ESG (environment สิ่งแวดล้อม, social สังคม, governance ธรรมาภิบาล) โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะให้ ESG หยั่งรากลึกเข้าไปในธุรกิจจนประสบความสำเร็จนั้น ผู้บริหารของบริษัทต้องเป็นผู้ผลักดัน เป็นต้นแบบ และสื่อสารให้พนักงานมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในนโยบายของบริษัทและปฏิบัติตามจนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร แม้ว่าจะใช้เวลานานในการเริ่มต้นการปรับตัว แต่ผลที่ได้รับในระยะยาวนั้นคุ้มค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทในระยะยาว อีกทั้งจะทำให้บริษัทรับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าบริษัทที่ยังไม่ปรับตัว

การพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาคำนึงถึงการเติบโตทางตัวเลขเพียงอย่างเดียว ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปมากมาย และยังทำให้เกิดปัญหาสังคม เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายมากขึ้น เมื่อประชาคมโลกหันมาเร่งแก้ปัญหาความยั่งยืนทำให้ระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางเศรษฐกิจ ประเด็น ESG กลายเป็นโอกาสและความเสี่ยงของภาคธุรกิจ เพราะถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้ตามแนวทางนี้ก็จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน ภาพลักษณ์ และความอยู่รอดขององค์กรในระยะยาว

Advertisement

โรดแมปส่งเสริมธุรกิจอย่างยั่งยืน

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เส้นทางขับเคลื่อนการทำงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ สำหรับตลาดทุนไทยนั้น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติด้วย และเพื่อส่งเสริมให้กิจการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ขั้นแรกคือ การออกเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาด ขั้นที่สองคือ สร้างความเชื่อมั่น ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันวางโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งสร้างกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งทำให้ตลาดทุนทำหน้าที่ระดมทุนให้ภาคธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์ และช่วยให้ภาคธุรกิจไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล  และมุ่งสู่ขั้นสุดท้าย คือ การเป็นตลาดทุนที่ยั่งยืน

“บทบาทก.ล.ต.เป็นส่วนสนับสนุนสร้าง Ecosystem ให้ผู้ประกอบการ เราผลักดันแนวคิดความยั่งยืนมาโดยตลอด คำนึงเรื่อง ESG ที่จะเข้ามาช่วยลดกระทบที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจ ช่วงเริ่มต้นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ ก.ล.ต. จึงเป็นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ท่านผู้ลงทุนจะได้เปิดอ่าน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ในการทำสิ่งดีให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในรายงานประจำปี ส่วนบริษัทที่มีความพร้อมส่วนหนึ่งก็ได้รายงานการดำเนินการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือการสร้างให้เกิด ecosystem ไปพร้อม ๆ กับเรื่องความยั่งยืน และสร้าง platform ใหม่ขึ้นมา

Advertisement

สิ่งสำคัญคือทั้งบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุน ต้องค้นหาบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังต้องการกำหนดกติการ่วมกัน และยังต้องสร้างเครื่องมือของการประเมินทั้งตามมาตรฐานไทยและสากลให้ได้”

กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ลงทุนสถาบัน

รื่นวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเชื่อว่าพลังจากผู้ลงทุนใช้สิทธิและเสียงของตัวเองในการผลักดันและกำหนดทิศทางให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนแนวคิด และผู้ลงทุนสถาบัน ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน โดยหากรวมทรัพย์สินของกองทุนรวมกับผู้ลงทุนที่เป็น asset owner จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 9.6 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2563 นับว่ามีกำลังมหาศาลที่จะสร้างแรงผลักดันและกำหนดทิศทางให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำธุรกิจ และที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เข้าไปมีส่วนสร้างจิตสำนึกด้าน ESG โดยได้มีการกำหนดหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code: I Code) ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ปัจจุบันมี ผู้ลงทุนสถาบัน 70 ราย ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนการปฏิบัติตาม I Code และ ก.ล.ต.มีแผนจะสื่อสารและทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม เพื่อสร้าง commitment และ engagement กับกิจการ เช่น จัดสัมมนาเพื่อกระตุ้นและสร้างความเข้าใจแก่ผู้ลงทุนสถาบัน รวมถึงนำผู้เชี่ยวชาญมาเล่าเพื่อให้เห็นภาพในการปฏิบัติจริงมากขึ้นซึ่งเริ่มมีความเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์แล้ว”

นอกจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันแล้ว ความท้าทายของก.ล.ต.ในอนาคตคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับ “ผู้ลงทุนรายย่อย” โดยการให้ความรู้ในวงกว้างผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น Facebook จัดสัมมนา บทความในหนังสือพิมพ์ เพิ่มบทบาทให้ผู้แนะนำการลงทุน ต้องอบรมเรื่อง ESG เพื่อให้คำแนะนำในเรื่องนี้แก่ผู้ลงทุนได้ และให้นักวิเคราะห์ (analyst) ทำบทวิเคราะห์ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ให้ผู้ลงทุนได้เห็นความเสี่ยงทั้งที่เป็นตัวเงิน (financial risk) และไม่เป็นตัวเงิน (non-financial risk) ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้เปิดตัว information platform สำหรับตราสารเพื่อความยั่งยืน ไปเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นสื่อกลางช่วยกระจายข่าวเรื่องกองทุนที่สนับสนุนให้ผู้ออก green / social / sustainable bonds เป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังจะเป็นช่องทางให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG ของตราสารได้สะดวกขึ้นอีกด้วย 

รื่นวดี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีสัญญาณดีที่ผู้ออกตราสารหนี้เน้นไปที่การสร้างความยั่งยืน โดยออกตราสารหนี้สีเขียว (green bond), ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainable bond) และตราสารหนี้เพื่อสังคม (social impact bond) ที่ผู้ออกตราสารหนี้จะนำเงินที่ระดมได้ไปใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และสังคมเท่านั้น ซึ่ง ก.ล.ต.สนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจจะไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับตราสารหนี้ประเภทนี้ จนถึงขณะนี้มีบริษัท และรัฐวิสาหกิจของไทยที่ออกตราสารหนี้สีเขียวตอนนี้ 6-7 ราย มีโอกาสที่จะมีรายชื่อใน LGX ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ในต่างประเทศเข้าถึงข้อมูล (bulletin board) เพื่อตัดสินใจในการลงทุน เป็นการแสดงพลังว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ไม่แพ้ประเทศอื่น

ส่งเสริมภาคธุรกิจเพื่อสังคมให้เข้าถึงแหล่งทุน

“เราอยากสร้างความเข้าใจในสังคมใหม่ว่า ตลาดทุนไม่ใช่ที่ของคนมีเงินเท่านั้น ก.ล.ต.จึงพยายามผลักดันเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ตอัพ ให้สามารถออกหุ้นทุนได้ รวมถึงมีโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise-SE) โดยวันนี้ ก.ล.ต.เปิดโอกาสได้ให้วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) ตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ตอนนี้มีบางบริษัทระดมทุนได้กว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำเงินทุนไปช่วยเหลือสังคมต่อไป” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

ข้อมูล ณ วันที่ 14 ม.ค. จากเว็บไซต์ของ สวส.(http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/se-news/) ระบุว่าปัจจุบัน มี SE ที่ขึ้นทะเบียนกับ สวส. แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 145 กิจการ มีกิจการที่ระดมทุนสำเร็จแล้วจำนวน 3 ราย ได้แก่ บจก. ลิฟวิ่ง วิสาหกิจเพื่อสังคม, บจก. ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และ บจก. อารียา เมตายา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ซึ่งมีมูลค่าการระดมทุนรวมกว่า 114.1 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับการระดมทุนผ่านตลาดทุนให้กับ SE ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกบูธคลีนิคระดมทุน ในงาน “ติดอาวุธให้ SE” และการเข้าร่วมเสวนาหัวข้อการระดมทุนของ Social Enterprise ในการเสวนา webinar for Social Impact Enterprise ซึ่งจัดโดย UNDP อีกทั้ง ก.ล.ต. ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานในการสนับสนุนและส่งเสริม SE ด้วยการจัดกิจกรรมในอนาคตอีกด้วย 

นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการเตรียมที่จะเปิดโอกาสให้ SME ที่มีผลประกอบการมาแล้วในระดับหนึ่งสามารถระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นต่อผู้ลงทุนได้เป็นวงกว้าง (IPO) และสามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรองได้ โดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ รวมทั้งช่วยขยายฐานผู้ลงทุนและเป็นที่รู้จักได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การระดมทุนในวงกว้างและหลักเกณฑ์สำหรับตลาดรอง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดรองให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2564 

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวสรุปว่า “ปลายทางของการการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่ว่าบริษัทขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็กของไทย จะต้องไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ในการขับเคลื่อนเรื่อง ESG นี้จะต้องมีการดำเนินการให้เหมาะสมกับบริษัทในแต่ละขนาดและกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากความพร้อมของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน  โดยปัจจุบันพบว่า บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดทุนไทยสามารถดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG ได้อย่างดี  ในขณะที่บริษัทขนาดกลาง และเล็กยังคงต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะวางกลไกในการขับเคลื่อนให้เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย และไม่เป็นอุปสรรคให้แก่บริษัทขนาดกลางและเล็ก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image