ปัดตกก็อปเกรดเอ! จ่อขึ้นเวทีโต้ ‘โกลเดน บอย’ ของปลอม? ทนงศักดิ์จัดหนัก 25 ม.ค.นี้

เมื่อวันที่ 19 มกราคม สืบเนื่องกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าประติมากรรมสำริด ‘โกลเดน บอย’ ที่ไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (Metropolitan Museum of Art) หรือ The Met  สหรัฐอเมริกา เป็น ‘ของปลอม’ หรือไม่ (อ่านข่าว เปิดเบื้องหลังได้คืน 2 บร.วัตถุ ‘นอกโพย’ ย้อนปม ‘โกลเดน บอย’ 100 ล. ชาวบ้านขุดขายฝรั่งล้านเดียว) 

นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกิดกระแสในโลกออนไลน์ ว่าโกลเดน บอย เป็นของปลอม ซึ่งตนคาดว่ามีที่มาจากความคิดของนักวิชาการบางกลุ่มที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่อยากเดินหน้าการทวงคืนโบราณวัตถุเหล่านี้ รวมถึงโบราณวัตถุจากกรุ ‘ประโคนชัย’ ที่อยู่ในกระบวนการ ตนยังเคยโดนผู้อาวุโสในแวดวงโบราณคดีท่านหนึ่งโทรศัพท์มาตำหนิ ว่าทำไมทวงของปลอม ทั้งที่รูปแบบทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีพยานในเหตุการณ์ลักลอบขุด คือชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีโกลเดน บอย จากปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และพระโพธิสัตว์อวโลติเตศวร กลุ่มประโคนชัย จากปราสาทปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดประโคนชัย (ย้อนอ่าน เปิดคลิปลับ! 3ชาวบ้านเล่าเหตุการณ์’ลอบขุด’ปราสาทเขาปลายบัด50ปีที่แล้ว) 

“รูปแบบทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เป๊ะ! ว่าของจริง ส่วนที่มีคนอ้างว่า โกลเด้น บอย เลียนแบบประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะโกลเดน บอยถูกพบตั้งแต่ พ.ศ.2518 มีการซื้อขายออกนอกประเทศก่อนการขุดพบโบราณวัตถุที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2532 พูดง่ายๆคือ ของที่เจอก่อน จะมาเลียนแบบของที่เจอทีหลังได้อย่างไร” นายทนงศักดิ์กล่าว

นายทนงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในหนังสือ Khmer Bronzes : New interpretations of the Past  ของ Emma C. Bunker and Douglas Latchford จากที่หลายคนคิดว่าเป็นหนังสือวิชาการชั้นดี ยังเป็นหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันโบราณวัตถุชิ้นสำคัญว่ามีการซื้อขายมาจากแหล่งใดด้วย

Advertisement

“ทีมทวงคืนโบราณวัตถุจากกัมพูชาซึ่งตามทวงคืนได้นับร้อยชิ้น นักโบราณคดีของเขาใช้หนังสือนี้ให้นักขุดโบราณวัตถุดู เขาชี้และจำได้แม่นว่าเป็นของเขา 

แต่ในไทยยังมีคนเชื่อว่าหลักฐานในหนังสือเล่มนี้เป็นของปลอม แม้ว่าจะได้รับการยืนยันจากชาวบ้านเช่นเดียวกับกัมพูชา ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลอเมริกาเขาสืบค้นจากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน และยังฟ้องดำเนินคดีกับผู้แต่งทั้งสองคนจนเป็นที่มาของการคืนโบราณวัตถุให้กัมพูชาและไทย”  นายทนงศักดิ์ กล่าว

ภาพจาก www.metmuseum.org

นายทนงศักดิ์ ยังยกตัวอย่างข้อความจากเอกสารที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ THE MET พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ.1989 โดยระบุว่า โกลเด้น บอย คือ พระรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์กัมพูชา พร้อมเครื่องหมายคำถาม

Advertisement

“โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับผู้เขียนว่าประติมากรรมชิ้นนี้คือรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แต่มีรูปแบบศิลปะแบบพิมายค่อนข้างชัดเจนว่าพัฒนาการมาจากศิลปะแบบบาปวน ไม่ใช่ศิลปะแบบบาปวน การที่โลกโซเซียลตั้งคำถามว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นของปลอม อาจหล่อขึ้นใหม่และหลอกขาย จริงเท็จแค่ไหนคงต้องรอคำตอบเมื่อถูกส่งมาให้ไทยตรวจสอบ แต่ผมได้ถอดความจากคำบรรยายของผู้เขียนให้อ่านกันโดยพยายามรักษาทุกตัวอักษรที่เขาเขียน แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาเพื่อให้ผู้อ่านที่มีพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะยังไม่แข็งแรงพอ”  นายทนงศักดิ์ กล่าว

สำหรับข้อความในเอกสารของ THE MET มีเนื้อหาตอนหนึ่งดังนี้

‘ประติมากรรมสำริดปิดทองขนาดใหญ่ที่น่าประหลาดใจนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นบทสรุปถึงแก่นแท้ และจิตวิญญาณของประติมากรรมยุคคลาสสิคของราชวงศ์กัมพูชาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย ด้วยคุณภาพที่ยอดเยี่ยมและมีความยิ่งใหญ่ที่ดึงดูดใจ จนต้องถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของศิลปะแห่งเอเชีย และแน่นอนว่าเป็นของขวัญที่สำคัญที่สุดของประติมากรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยสร้างมาเพื่อคอลเลกชันของเรา ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 11 และเป็นแบบบาปวน (ประมาณ ค.ศ.1010 – 1110) ชื่อของรูปแบบเช่นเดียวกับรูปแบบกัมพูชาทั้งหมดถูกนำมาใช้จากโบราณสถาน ในกรณีนี้คือ ปราสาทบาปวน บนฐานเป็นชั้นขนาดใหญ่มาก สร้างที่เมืองพระนคร ประมาณ ค.ศ. 1050-66 ในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

แนวคิดเรื่องความเป็นกษัตริย์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์กลางของอำนาจและการปกครองของเขมร และลัทธิเทวราชหรือราชาคือสมุมติเทพเป็นศาสนาประจำชาติ ถือกันว่าผู้ปกครองไม่ได้เป็นเพียงประมุขแห่งรัฐชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ เป็นหนึ่งเดียวกับเทพองค์ใดองค์หนึ่งด้วย มีการเสนอแนะว่าเมื่อมีผู้ปกครองใหม่แต่ละพระองค์จะมีการสร้างรูปเคารพ และวางไว้ในวิหารหลักของผู้ปกครองนั้น โดยให้ความสำคัญทางศาสนาและสัญลักษณ์เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ของเทพเจ้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีประติมากรรมสักชิ้นเดียวที่สามารถระบุได้ว่าเป็นรูปเคารพที่รวบรวมความชอบธรรมของรัชสมัยเอาไว้ นั่นก็คือ รูปเคารพเทวราช

เอกสารของ THE MET ค.ศ.1989 

ท่าทางมือและมงกุฎ (ไม่สมบูรณ์) บนประติมากรรมนี้เป็นความรู้ของผู้เขียนที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น รูปเคารพนี้จะเป็นตัวแทนของเหล่าเทพเจ้าของชาวกัมพูชาที่รู้จัก แน่นอนว่ามันแสดงถึงการบูชาผู้ปกครองอย่างเทพเจ้า ตามที่พินิตโดยขนาด คุณภาพ และร่างทรง หากเป็นกรณีดังกล่าวแล้วรูปเคารพนี้อาจเป็นอนุสรณ์ถึงผู้ปกครองในอดีตหรืออาจเป็นเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นรู้จักรูปเทวราชที่ยังหลงเหลืออยู่ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.1080 ประติมากรคงจะเป็นคนที่ความชำนาญมากที่สุดสมัยนั้น บางทีอาจถูกคัดเลือกโดยพระสังฆราชทิวกรบัณฑิต ผู้เป็นประธานในพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เท่าที่ปรากฎไม่มีประติมากรรมอื่นใดที่สามารถเชื่อได้ว่ามาจากฝีมือคนเดียวกัน

เพื่อตัดสินจากเทพบุรุษสำริดในศิลปะแบบบาปวนที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่องค์ มีลักษณะการจัดผ้านุ่งสั้น(สมพต) ที่ปรากฎบนประติมากรรมหินและสำริดนั้นแยกจากกัน เทพบุตรทำจากหิน ครองผ้านุ่งสั้นจีบเป็นริ้ว บนขอบผ้าที่เว้าลงมาจากหน้าท้อง มีปลาย “ชายพก” ที่ต้นขาซ้าย ลักษณะเช่นนี้เกือบจะทั้งหมดไม่ปรากฏบนเทพบุรุษสำริด และชายผ้าห้อยอยู่ด้านหน้าระหว่างต้นขา (อิทธิพลมาจากศิลปะแบบเกลียงตอนต้น) ไม่ปรากฎในประติมากรรมหินแบบบาปวน ในประติมากรรมหิน

ผ้าผูกสะโพกนั้นผูกเป็นปมในลักษณะที่แตกต่างโดยมีปลายห้อยลงมาที่ต้นขาขวา เท่าที่ทราบ ผ้านุ่งสั้นทั้งสองแบบมีความสอดคล้องกันไม่ต่างกัน เพื่อชื่นชมศักยภาพของงานประติมากรรมทำด้วยสำริด ซึ่งไม่สามารถทำได้ในเนื้อหิน สิ่งเดียวที่ต้องดูคือ ชายกระเบนด้านหลังผ้านุ่งสั้นเป็นรูปปีก “ผีเสื้อ” (Butterfly Bow) ยื่นออกมาอย่างโดดเด่นของเทวราชา (Deified King) องค์ประกอบทั้งหมดของประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่นี้ ดูมีชีวิตชีวาที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิคพิเศษและสุทรียภาพของการหล่อสำริดที่ไม่อาจมองหาได้จากประติมากรรมหิน

สภาพของประติมากรรมสำริดกัมพูชาที่สมบูรณ์ขนาดใหญ่ที่สุด ไม่มีใครเทียบได้ นิ้วมือ, ผ้าผูกโบร์แบบปีกผีเสื้อด้านหลัง, ชายผ้าห้อยอยู่ด้านหน้า, การกะไหล่ทองเดิมยังสมบูรณ์อยู่ มีเพียงบางสิ่งที่ขาดหายไปคือ ด้านบนของมงกุฎ, ตุ้มหูมีขอบเซาะร่อง เดิมทีอาจเป็นวัสดุสังเคราะห์บางชนิดฝังอยู่ รวมถึงการฝังของคิ้ว หนวด เครา และรูม่านตา ภาพสมมุติเทพหรือเทวราชาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ฉายแสงอำนาจที่เคร่งครัดเหมาะสมกับผู้ปกครองเขมร มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ แต่มีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ สังคม และสัญลักษณ์ทางศาสนา – การแสดงออกถึงพระผู้เป็นเจ้า อันทรงพลังของชาวกัมพูชาบนโลกมนุษย์’ 

นายทนงศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว ตนจะอธิบายในรายละเอียดอีกครั้งในงาน
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ‘ตามหา Golden Boy เทพแห่งที่ราบสูง?’ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคมนี้ ที่ห้องประชุมอาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด 13.00-16.00 น. 

ทั้งนี้ ‘ศิลปวัฒนธรรม  ชวนเปิดมิติ “Golden Boy” ประติมากรรมแสนงาม 25 ม.ค. นี้ เข้าร่วมฟรี! คลิกที่นี่

• ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดี
• ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี
ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567
เวลา 13.00-16.00 น.
ณ ห้องประชุมอาคารข่าวสด
เข้าร่วมงาน ฟรี! ลงทะเบียนได้ที่ลิงก์นี้
https://bit.ly/3vr26By
หรือโทร. 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220 (จันทร์ ถึง ศุกร์ ในเวลาทำการ)
หรือ inbox ในเพจเฟซบุ๊ก Silpawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลมติชน จัดทริปพิสูจน์ข้อเท็จจริง ตามรอย ‘มหิธรปุระ’ นำชมโดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ คลิกที่นี่ 

ตามรอย 1 ใน 2 โบราณวัตถุที่จะกลับสู่มาตุภูมิ
พร้อมชมแหล่งที่พบประติมากรรม Golden Boy
และเรื่องราวต้นกำเนิด “ราชวงศ์มหิธรปุระ”
.
MATICHON HOLIDAY TRIP
GOLDEN BOY ตามรอย ‘มหิธรปุระ’ จ.นครราชสีมา-บุรีรัมย์ วันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2567 (3 วัน 2 คืน)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image