เปิดเบื้องหลังได้คืน 2 บร.วัตถุ ‘นอกโพย’ ย้อนปม ‘โกลเดน บอย’ 100 ล. ชาวบ้านขุดขายฝรั่งล้านเดียว

ภาพจาก www.metmuseum.org

สืบเนื่องกรณี พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกา มอบหมายให้นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร ส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ ให้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระศิวะสำริด และประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 (อ่านข่าว พิพิธภัณฑ์สหรัฐเตรียมส่งคืนโบราณวัตถุ ‘พระศิวะสำริด-ประติมากรรมสตรี’ อายุศตวรรษที่ 16 กลับไทย)

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระและคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ต่อกรณีดังกล่าว ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ไม่ได้อยู่ในรายการติดตามโบราณวัตถุคืนของคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด โดยสาเหตุที่ไทยได้โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นนี้คืน เกิดจากการที่รัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินการติดตามคืนโบราณวัตถุกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรทั้งหมด โดยเข้าไปเปิดเจรจาและถือโอกาสคุยแลกเปลี่ยนความเห็นว่ารัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ควรจะร่วมกันทวงโบราณวัตถุเพื่อได้โบราณวัตถุชิ้นสำคัญในคราวเดียว

“นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกัมพูชาติดตามโบราณวัตถุได้มากกว่าของไทย เพราะรัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน พบหลักฐานว่าเป็นการซื้อขายจากนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด เหมือนกับชิ้นอื่นๆที่รัฐบาลกัมพูชาติดตาม โดยโบราณวัตถุไทยทั้ง 2 ชิ้นนี้มีการตรวจสอบพบว่าผิดกฎหมายจริง เลยยินดีคืนให้พร้อมๆกับโบราณวัตถุกลุ่มที่รัฐบาลกัมพูชาติดตาม

สำหรับพระศิวะสำริด หรือ โกลเดน บอย (Golden boy) เคยถูกพิจารณาในอนุกรรมการวิชาการฯ เพื่อพิจารณาว่าสมควรที่จะทำหนังสือทวงหรือไม่ เราศึกษามาเป็นเวลากว่า 3 ปี ซึ่งที่ประชุมสรุปว่าให้ทำหนังสือที่จะเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่ระหว่างรอการเสนอ กลับไม่สามารถเรียกหรือนัดประชุมกรรมการชุดใหญ่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ หรืออะไรต่อมิอะไร ทำให้ยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อโบราณวัตถุที่จะติดตามคืน” นายทนงศักดิ์กล่าว (อ่านข่าว คำต่อคำ! พิพิธภัณฑ์สหรัฐแถลงสื่อ แจงเหตุคืน 16 โบราณวัตถุเขมร-ไทย)

Advertisement

นายทนงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า แองเจลล่า ชิว นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวต่างชาติที่ให้ความช่วยเหลือติดตามโบราณวัตถุไทยให้ข้อมูลว่า ล่าสุด เวปไซต์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ระบุข้อความเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ประติมากรรมดังกล่าว  ‘ถูกปลดออกจากการจัดแสดงเพื่อเตรียมส่งกลับประเทศไทย ปี 2023’

“สำหรับชื่อเรียกประติมากรรมที่แตกต่างกัน คือ พระศิวะ (?) มาจากป้ายจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันเอง ส่วนในหนังสือที่มีการตีพิมพ์จำหน่าย เรียกว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ในขณะที่นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) พ่อค้าโบราณวัตถุชาวอังกฤษ เรียกว่า โกลเดน บอย (Golden boy) ตามที่ปรากฏในหนังสือค้าโบราณวัตถุ” นายทนงศักดิ์ กล่าว

เวปไซต์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ระบุข้อความ เตรียมส่งคืนประเทศไทย -ภาพจาก www.metmuseum.org

ส่วนประเด็นเรื่องมูลค่าของประติมากรรมดังกล่าวที่ถูกระบุถึง 100 ล้านบาทซึ่งเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ขณะนี้ นายทนงศักดิ์กล่าวว่า เป็นราคาซื้อขายจากนักค้าโบราณวัตถุ ส่วนราคาขายที่ชาวบ้านจำหน่ายแก่พ่อค้าเมื่อ พ.ศ.2518 จนถูกนำออกนอกประเทศไทย อยู่ที่ 1 ล้านบาทเศษ

Advertisement

“1 ล้านบาทคือราคาจริงที่ออกจากประเทศไทย ปี 2518 โบราณวัตถุชิ้นนี้ถูกขุดพบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านทุกคนให้ข้อมูลตรงกันหมดว่าหลังจากขายโบราณวัตถุได้ มีการจัดมหรสพคบงัน 3 วัน 3 คืน นี่คือสิ่งที่เราทราบและมีข้อมูลแน่ชัด

ปัจจุบันผู้ที่ขุดขึ้นมาขายเสียชีวิตแล้ว แต่ภรรยาและลูกยังอยู่ 2 คนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องมากในการล้างทำความสะอาด ยกและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ โดยเฉพาะลูกสาวให้ข้อมูลแม่นยำมาก เขาจำได้เลยว่าตอนที่นำขึ้นมา ชายพกที่เป็นชายสมอด้านหน้าหักไป พ่อเขาเอาลวดมัดไว้ เมื่อเอาไปจำหน่ายก็ต่อชิ้นงานขึ้นมา โดยยังเห็นรอยแตกหักบริเวณชายสมอ” นายทนงศักดิ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้ากรณีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่นักวิชาการร่วมกับภาคประชาชนในนาม ‘กลุ่มสำนึก 300 องค์’ เรียกร้องทวงคืน คือ ‘พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด’ 4 กร จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันเช่นกัน นายทนงศักดิ์เปิดเผยว่า ยังไม่มีการตอบรับจากพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวว่าจะได้กลับคืนมาหรือไม่ และเมื่อใด ส่วนโบราณวัตถุจากเมืองโบราณศรีเทพมีหลายชิ้นอยู่ในรายการติดตามคืนโดยมีการทำหนังสือจากรัฐบาลไทยส่งไปประสานเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้คืนเร็วๆนี้ (อ่านสกู๊ป คืบหน้าแต่เต็มไปด้วย‘หลุมพราง’ 7 ปี‘ทวงคืน’โบราณวัตถุชาติ สรุปสถานการณ์ 2560-66)

“กลุ่มโบราณที่ทำรายการทวงคืนในสมัยที่คุณอนันต์ ชูโชติ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรมีกลุ่มของพระโพธิสัตว์จากปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ รวมกว่า 10 ชิ้น ทั้งหมดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ซึ่งยังไม่มีคำตอบ ส่วนโบราณวัตถุจากเมืองศรีเทพอยู่ในรายการติดตามคืนโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง  2.4 เมตร รวมถึงแผ่นทองและพระสุริยะเทพ เท่าที่ได้รับแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีความคืบหน้าว่าเปิดการเจรจาแล้วเข้าใจว่า เราน่าจะได้คืนในไม่ช้าเช่นเดียวกัน” นายทนงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อเดิอนมิถุนายน พ.ศ.2560 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายอนันต์ ชูโชติ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร หลังเกิดกระแสทวงคืนโบราณวัตถุไทยจากต่างแดน นำโดย ‘กลุ่มสำนึก 300 องค์’

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักโบราณ ลั่น ‘ศรีเทพ’ ศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์ เปิดลิสต์ทวงคืน เจอแผ่นทองปลอม ‘พระ-ศิวลึงค์’ เพียบ!

สกู๊ป น.1 ‘โพธิสัตว์’ ประโคนชัย จุดชนวนทวงคืน

เปิดคลิปลับ! 3ชาวบ้านเล่าเหตุการณ์’ลอบขุด’ปราสาทเขาปลายบัด50ปีที่แล้ว

ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ ม.นอร์ทแคโรไลนา เขย่าประเด็น ‘ทวงคืน’ สมบัติชาติ ‘เสียดายคนไทยไม่ได้เห็น’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image