ทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเล็กเมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช ผู้สร้างเมืองแห่งความสุขยั่งยืนถ้วนหน้า

อำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเรียกว่า ‘ชุมทางทุ่งสง’ ด้วยมีความสำคัญในด้านการเป็นศูนย์กลางการเดินทางรถไฟในภาคใต้ตอนกลาง ทุกๆ การเดินรถไฟ ชุมทางทุ่งสงจะเป็นจุดเปลี่ยนหรือผลัดเวรพนักงานการรถไฟ เป็นจุดพักระหว่างเดินทาง จุดเติมน้ำมันหัวรถจักร จุดขนถ่ายกระจายสินค้า และศูนย์กลางการบริการรถไฟที่สำคัญอีกหลายอย่าง

ทุ่งสงยังเป็นหัวเมืองสำคัญที่อยู่กึ่งกลางคาบสมุทรอ่าวไทยและอันดามัน กึ่งกลางของภาคใต้ ซึ่งกลายมาเป็นยุทธศาสตร์การเป็นเมืองเศรษฐกิจ ทั้งประชาชนส่วนใหญ่ปลูกพืชสร้างรายได้สำคัญอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน นำเม็ดเงินเข้าสู่เมืองเป็นกอบเป็นกำ สามารถนำเงินที่จัดเก็บจากภาษีอากรมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการและพัฒนาเมือง

การพัฒนาเมืองจนเติบโตเป็นลำดับ ยังเป็นผลงานของนักบริหารท้องถิ่นที่อยู่คู่กับเมืองทุ่งสงมาหลายสิบปี ทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยแนวคิดนำความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กระทั่งได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า รางวัลเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน และรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ภายใต้เป้าหมายการขับเคลื่อนเมืองทุ่งสงให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

Advertisement

ผลงานเด่น บรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

นายกเล็กเมืองทุ่งสงเล่าถึงการแก้ปัญหาที่ชาวอำเภอทุ่งสงต้องเผชิญในทุกๆ ปี ก็คือเรื่องของอุทกภัย เนื่องจากสภาพพื้นที่ตอนบนเป็นพื้นที่สูงชันและเป็นต้นน้ำของลำน้ำสายหลักที่สำคัญ เมื่อเกิดฝนตกหนักกระแสน้ำจะไหลแรงและเร็ว เทศบาลเมืองทุ่งสงมีการกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนต้องแก้ไข มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองทุ่งสงแบบบูรณาการ ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวทุ่งสงช่วยกันระดมความคิด วางแผนแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

“เราไปดูการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมที่หาดใหญ่ซึ่งมีลักษณะพื้นที่คล้ายกับทุ่งสงตรงที่มีน้ำคลองขนาดใหญ่ไหลผ่าน จากนั้นก็ดำเนินการบนฐานของข้อมูล พิจารณาผังน้ำในแผนที่ ดูว่าบริเวณไหนที่เป็นคอขวด มีการเปลี่ยนสภาพการใช้พื้นที่ สร้างอุโมงค์ เพราะต้องการขุดคลองขยายให้กว้างที่สุด แล้วใช้พื้นที่ของคลองทำเป็นสะพาน”

Advertisement

จากการวางแผนที่ดีและความร่วมมือร่วมใจของชาวทุ่งสง  ทำให้แก้ปัญหาแต่ละจุดได้ จนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองธรรมชาติ และอาคารตามลำน้ำให้มีความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ แม้วันนี้ยังมีน้ำท่วมขังแต่ก็ระบายได้ภายใน 6-8 ชั่วโมง ลดผลกระทบจากพื้นที่ทุ่งสงไปถึงตรัง เนื่องจากที่นี่เป็นต้นน้ำ การบูรณาการเพื่อแก้ไขจึงไม่ใช่เฉพาะทุ่งสง กลายมาเป็นการบริหารจัดการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำตรัง

“ที่นี่จึงเป็นศูนย์เตือนภัยพิบัติ มีการติดตั้งสถานีโทรมาตรในพื้นที่อุทยาน การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเป็นเรื่องสำคัญเพราะหากเกิดน้ำหลากอย่างรวดเร็วจะส่งผลถึงชีวิตและทรัพย์สิน  ที่น้ำเคยท่วมหนักปี 2547-2548 ของทุ่งสง มีรายงานความความเสียหายถึง 250 ล้านบาท แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุด เสียหายเพียงล้านบาทเศษ ที่สำคัญคือไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมแม้แต่คนเดียว”

เป็นการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ใช่ดูแลแก้ไขเรื่องของน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อถึงฤดูภัยแล้งก็มีการใช้น้ำในคลองมาจัดการมาใช้งาน จากที่มีการดูดน้ำจากคลองขึ้นมาจัดเก็บในแท็งค์ประปาสำรองขนาดใหญ่ ทั้งยังสามารถที่จะใช้สำหรับบรรเทาสาธารณภัยหากเกิดอัคคีภัย

สร้างแผนผังภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรมพัฒนาเมือง

หนึ่งในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองทุ่งสง ทรงชัยเผยว่า เป็นการพัฒนาเมืองและย่านโดยใช้ภูมิวัฒนธรรมและทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนา เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมและวิถีวัฒนธรรมภาคใต้ มีการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมสร้างรายได้ทั้งจากการผลิต การบริการ และการบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมผลิตภัณฑ์ภาคใต้ ขยายแนวคิดวัฒนธรรมจากคุณค่าสู่มูลค่า สร้างรายได้ให้คนทุ่งสง

“มีการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมชาติที่สวยงามของพื้นที่ กำหนดเป็นแผนผังภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม นำสิ่งที่ทำมาแล้วมาใส่ลงในแผนที่เพื่อออกแบบเมือง ในเรื่องของวัฒนธรรม เทศบาลได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จากการสนับสนุนทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อศึกษาวิจัยต้นทุนของเมืองทุ่งสงมาฟื้นวัฒนธรรม เช่น สินค้าจักสานทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เป็นการต่อยอดสร้างแบรนด์ของทุ่งสงได้”

 “เทศบาลเมืองทุ่งสงมีนโยบายนำวัฒนธรรมไปสู่โรงเรียน หรือ ‘1 โรงเรียน 1 วัฒนธรรม’ เช่น โรงเรียนเทศบาลหนึ่งชูเรื่องหนังตะลุง โรงเรียนเทศบาลสองเป็นเรื่องดนตรีไทย โรงเรียนเทศบาลสามป็นเรื่องลิเกป่า ฯลฯ เด็กและเยาวชนก็เกิดมีส่วนร่วมฟื้นศิลปวัฒนธรรมที่คนยุคนี้ไม่เคยเห็นอย่างหนังตะลุง ยังทำให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบสานต่อไปยังคนรุ่นหลัง”

วิชาการเป็นเลิศ ควบคู่ทักษะศิลปะ ดนตรี กีฬา

ก่อนทรงชัยรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง ที่นี่มีโรงเรียนเทศบาลที่เปิดการสอนถึงระดับชั้นประถมศึกษา 4 แห่ง เขาได้เปลี่ยนแปลงโดยแยกระดับชั้นอนุบาลรวมถึงในส่วนของศูนย์เด็กเล็ก มาเป็นโรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง และมัธยมศึกษา 1 แห่ง 

พร้อมทั้งเปิดโรงเรียนกีฬาเทศบาลเมืองทุ่งสง จัดสร้างและดำเนินการด้วยงบประมาณของท้องถิ่นทั้งหมด หลักสูตรมาตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยที่มีเปิดสอนด้านกีฬา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเข้าศึกษาในโรงเรียนกีฬาฯ ช่วยแก้ปัญหาสังคมครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำ นักเรียนได้พัฒนาตนเองด้านทักษะกีฬาสู่การศึกษาต่อและสู่อาชีพกีฬา

“ตั้งแต่เปิดโรงเรียนกีฬาเทศบาลเมืองทุ่งสงในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นทีมชาติแล้ว 27 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกีฬากรีฑา โรงเรียนกีฬาจึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนพัฒนาโดยใช้ความสามารถในเรื่องการกีฬา ถึงจะไม่รู้ว่า ต่อไปนักเรียนที่นี่จะมีโอกาสพัฒนาจนเป็นนักกีฬาทีมชาติได้มากน้อยอย่างไร แต่อย่างน้อยต้องมีโอกาสได้เรียนต่อถึงระดับมหาวิทยาลัยจากทักษะทางกีฬา  เมื่อจบปริญญาตรีแล้วก็เป็นช่องทางหางานทำได้”

สร้างทุ่งสงสู่เมืองชีวิตปลอดภัย

จากนโยบายการร่วมสร้างเมืองทุ่งสงสู่เมืองชีวิตปลอดภัย พัฒนาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบรักษาความปลอดภัย เช่น ปรับปรุงถนน จัดระเบียบทางเท้า ขยายเขตน้ำประปาให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน พัฒนาระบบไฟฟ้าสาธารณะและระบบสาธารณูปการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่จะสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน

มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว เริ่มจากบริเวณจุดเสี่ยงภัยหรือสถานที่ล่อแหลมต่างๆ ก่อนขยายไปยังพื้นที่ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ โดยมีห้องควบคุมระบบโทรทัศน์วงจรปิดตั้งอยู่ที่งานป้องกันฯ เทศบาลเมืองทุ่งสง รวมถึงดูภาพและควบคุมการทำงานจากกล้องทุกตัวในระบบได้ที่สถานีตำรวจทุ่งสงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วางรากฐานเมืองเข้มแข็ง ก่อนสู่สมาร์ท ซิตี้

การพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) คือเป้าหมายของเทศบาลทั่วประเทศ ด้วยการนำนวัตกรรมมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทรงชัยย้ำถึงเรื่องนี้ว่า ต้องการวางรากฐานให้เมืองทุ่งสงมีความพร้อมก่อนก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ 

“ที่นี่อาจจะคิดต่างจากเทศบาลอื่นๆ เมืองทุ่งสงอาจจจะโตช้า แต่จะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ใครที่มาแล้วก็อยากกลับมาอีก ต้องทำพื้นที่ให้เข้มแข็ง สร้างความเข้าใจให้คนในท้องถิ่น ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากนายกเทศมนตรีเพียงคนเดียว เพื่อสร้างรากฐานให้เข้มแข็งก่อนไปสู่ยอดที่มั่นคง”

เมืองแห่งความสุขยั่งยืนถ้วนหน้า

ที่ผ่านมา การพยายามควบคุมท้องถิ่นส่งผลให้การวางแผนพัฒนาพื้นที่แต่ละท้องถิ่นหยุกชะงัก จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการวางแผนพัฒนาพื้นที่จากข้อมูลพื้นฐานความต้องการภายในท้องถิ่นนั้นๆ นายกเล็กเมืองทุ่งสงให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า ในส่วนของที่นี่มีความพยายามผลักดันการมีส่วนร่วมทั้งหมดเพื่อที่จะให้เกิดความเข้มแข็งของท้องถิ่น และจะต้องทำให้เห็นว่า ท้องถิ่นบริหารอย่างโปร่งใส ทำงานอย่างมีระบบ มีแบบแผน และมีธรรมาภิบาล

“ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการเมืองที่ดีเป็นตัวเกณฑ์ชี้วัดซึ่งมีเป็นสำคัญ การสื่อสารกับผู้นำประเทศคนใหม่ต้องพิจารณาว่ามีวิสัยทัศน์อย่างไร การกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพราะทุกรัฐบาลต้องให้ท้องถิ่นดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การจัดการขยะ ซึ่งเราทำเรื่องเหล่านี้อยู่ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหน เพราะไม่ได้เป็นการพูดเรื่องของความต้องการของเทศบาล แต่เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคน

เพราะเป้าหมายสำคัญต้องการเห็นทุ่งสงเป็นสวรรค์บนดินของลูกหลานชาวทุ่งสง  ให้ทุกคนสามารถสัมผัสจริงได้ ทำให้เป็นเมืองแห่งความสุขยั่งยืนถ้วนหน้าและเป็นจริงได้ในชีวิตนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image