ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นักพัฒนาลำปางสู่เมืองแห่งพื้นที่ชีวิต

‘เทศบาลนครลำปาง’ ศูนย์กลางเศรษฐกิจและความเจริญของจังหวัดลำปางและภาคเหนือ ในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา ได้รับการพัฒนาให้เติบโตสอดคล้องกับบริบทยุคสมัยจากฝีมือของทีมผู้บริหารท้องถิ่นที่อยู่คู่กับนครลำปางมาอย่างยาวนาน นำโดย ‘ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง

นายกเล็กเมืองรถม้าเล่าถึงแนวนโยบายหรือการบริหารจัดการที่นี่ว่า เนื่องจากเมืองลำปางมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ถึงแม้บางคนบอกว่าลำปางเป็นเมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างบนโลกนี้ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมืองลำปางก็เช่นเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นลักษณะของชุมชนหรือความเป็นเมือง 

“ในฐานะเป็นนายกเทศมนตรีนครลำปาง ต้องจินตนาการความเป็นเมืองน่าอยู่ พิจารณาเสน่ห์ของเมืองคืออะไร จะพัฒนาเมืองให้ต่อยอดรากเหง้าที่เป็นมรดกประวัติศาสตร์อย่างไร จุดไหนที่บ่งบอกถึงคุณค่า หรือโอกาสในการพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนวัฒนธรรมของชาวลำปาง”

เขาอธิบายหลักคิดบนพื้นฐานง่ายๆ เพราะคนต้องการสร้างเมืองเพื่อให้ตัวเองอยู่ อยู่แล้วมีความสุข มีความปลอดภัย มีพื้นที่ของชีวิต มีโอกาสทำมาหากิน และมีโอกาสให้ลูกหลานในครอบครัวได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี จากนั้นจึงนำไปวางแผนทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่ดีที่สุด ทั้งความน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดี ปลอดภัย มีระบบตอบสนองความต้องการของประชาชน 

Advertisement

และเป็นเมืองที่มีพื้นที่ชีวิต ส่งเสริมให้ผู้คนมีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย ประกอบอาชีพ สร้างรายได้ในยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 

มรดกวัฒนธรรม สร้างสรรค์เศรษฐกิจเมือง

Advertisement

แม่น้ำวังเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตชาวนครลำปาง เป็น 1 ในแม่น้ำ 4 สายที่ไหลรวมบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมีบ้านเรือนค่อนข้างหนาแน่น และเป็นพื้นที่ประประวัติศาสตร์ มีทั้งชาวตะวันตก แขก พม่า เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและค้าขาย ทุกวันนี้ยังคงมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมครั้งอดีต

“ด้วยโครงสร้างพื้นฐานมรดกทางวัฒนธรรมทำให้เราพัฒนาต่อยอดเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา สร้างสรรค์เศรษฐกิจ พร้อมกับพัฒนาริมแม่น้ำให้มีทางเดินเชื่อมโยงตลอดเส้นทาง 12 กิโลเมตร จากเหนือจรดใต้สุดเขตเทศบาล ให้เป็นพื้นที่สุขภาพสำหรับออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และเป็น ‘พื้นที่เศรษฐกิจชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน’ สำหรับคนต้องการค้าขาย โดยเฉพาะช่วงเย็นวันหยุดที่เรียกกันว่ากาดกองต้า เป็นถนนคนเดินที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่ง”

ริมแม่น้ำวังภายใต้การดูแลของเทศบาลนครลำปาง ละลานตาไปด้วยคาเฟ่ ร้านอาหาร และร้านค้าทั่วไป มีสวนสาธารณะ มุมนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ลานกวี ลานดนตรี มีเครื่องออกกำลังกาย ลานสเก็ตสำหรับเด็กๆ สนามฟุตบอลเล็ก สนามบาสเกตบอล สนามตะกร้อ เป็นความหลากหลายของชีวิตริมแม่น้ำในวันสบายๆ อีกทั้งต้นไม้ที่ร่มรื่น ชมความสวยงามของน้ำตกที่ตกมาจากฝาย

“ด้วยความที่ลำปางเป็นเมืองมรดกวัฒนธรรม และเป็นเขตเมืองเก่าทั้งหมด เมื่อต้องพัฒนาเมืองจะพิจารณาแต่ละย่าน เช่น พัฒนาให้มีวิถีชีวิตสอดคล้องกับโบราณสถาน วัดเก่าแก่ ถ้าเป็นโซนที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชุมชนชาวจีนซึ่งเข้ามาตั้งแต่เริ่มมีรถไฟ ก็ต้องพัฒนาสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ให้มีบรรยากาศความเป็นไชน่าทาวน์” 

มิวเซียม แลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์ของชาวลำปาง

อุทยานการเรียนรู้ ‘มิวเซียมลำปาง’ เป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่สาธารณะ โดยเทศบาลนครลำปางรับหน้าที่ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จากศาลากลางจังหวัดเดิมให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่

“ภายในมิวเซียมรวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่ครั้งสร้างเมือง ต้นกำเนิดเมืองยุคละโว้ ประวัติความเป็นมาของวัดเก่าแก่ต่างๆ และสถานที่ประวัติศาสตร์อย่างกาดกองต้าซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมฝรั่งทำไม้ การเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน มิวเซียมลำปางจึงเป็นอัญมณีเลอค่าที่เราภูมิใจ ใช้เวลาพัฒนาหลายปี แม้วันนี้จะเสร็จสมบูรณ์แต่ก็ยังมีอะไรให้ต้องทำต่อ เพื่อให้ครบถ้วนและทันสมัยมากกว่านี้”

สิ่งแวดล้อมดี ชีวิตสาธารณะเด่น 

อีกจุดเด่นของความเป็นเมืองน่าอยู่ก็คือร่มรื่นและสวยงามไปด้วยต้นไม้เล็ก-ใหญ่ แต่ละต้นถูกตัดตกแต่งอย่างเป็นระเบียบ มองไปจุดไหนก็มีแต่ความสวยงามของการป็นเมืองสะอาด ปราศจากขยะ

“เทศบาลนครลำปางมีบ้านเรือนที่เป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน 85 ชุมชน รณรงค์ให้เป็นชุมชนปลอดขยะ โดยมี City Cleanup Team นับร้อยคนเพื่อดูแลทำความสะอาดเมือง เช้าตรู่ของทุกวัน ชาวลำปางจะต้องได้เห็นภาพของทีมงานออกมากวาดเก็บ ตัดหญ้าที่ขึ้นรกข้างถนน หากประหยัดค่าเก็บขนขยะ แล้วจัดการขยะที่ปลายทางได้วันละครึ่งหนึ่ง จะช่วยประหยัดเงินได้ปีละหลายสิบล้านบาท สามารถทำโครงการต่างๆ ที่ประชาชนต้องการได้อย่างมาก”

และอีกสิ่งที่ผู้มาเยือนทุกคนจะสัมผัสได้ก็คือ การเป็นเมืองแห่งชีวิตสาธารณะด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

“ชีวิตสาธารณะมีความสำคัญต่อสุขภาพ อารมณ์ จิตใจ ร่างกาย ทำให้มีความสุข อายุยืนยาว เทศบาลมีนโยบายสร้างพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุดอยู่ที่บ้านดงไชย ซึ่งเป็นสวนริมแม่น้ำวัง มีฝายเก็บน้ำลักษระฝายบานเหล็ก พับได้ สามารถเก็บน้ำได้ถึงพื้นท้องน้ำ หากน้ำสกปรกก็จะระบายด้วยการพับฝายลงไป ถ้าต้องการเก็บกักน้ำก็ตั้งฝายขึ้นมา โดยทำงานประสานกับหน่วยงานชลประทาน”

พื้นที่รอบหอนาฬิกาซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาล มีถนน 5 สายมาประจวบกัน มีพื้นที่สวนสาธารณะอยู่กลางเมือง ถัดจากสวนสาธารณะ กำลังได้รับการพัฒนาปรับปรุงเป็นอาคารหอกิจกรรมเอนกประสงค์ และจากข่วงนครลำปาง หอนาฬิกา ใช้เวลาเดินเพียง 10 นาที ถึงห้างเซ็นทรัล ต่อด้วยมิวเซียม ชวนให้คนเดินด้วยการดูแลทางเท้าให้สวยและสะอาดที่สุด ทุกวันจะมีคนมานั่งพักผ่อนที่ข่วงนคร เป็นชีวิตสาธารณะของคนนครลำปาง

“ในเดือนตุลาคมจะเดินหน้าโปรเจ็คต์ศูนย์กีฬาและส่งเสริมสุขภาพนครลำปาง ซึ่งจะเป็นศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ มีสนามฟุตบอลมาตรฐาน สนามบาสเกตบอล คอร์ดเทนนิส ลานพัตกอล์ฟ ลานเปตอง ฯลฯ เปิดให้บริการประชาชน พร้อมกับวางแผนจัดการแข่งขันระดับภาคจนถึงระดับประเทศก็ได้ เป็นอีกเรื่องสำคัญเช่นกัน”

พร้อมทุกมิติ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.นิมิตรย้ำว่าที่นี่เป็นบ้านใหญ่ที่มีความพร้อม มีกำลังขยายตัว เติบใหญ่ และพัฒนาขึ้นในทุกๆ วัน

“เทศบาลมีการบริหารจัดการแบบ Digital Government มีการเชื่อมโยงประสานการทำงานส่งข้อมูลเพื่อให้บริการชาวบ้านได้อย่างรวดเร็วที่สุด สำนักงานมีระบบฐานข้อมูลใหญ่ของเทศบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ดวงไหนดับหรือขาด ทั้งหมดจะอยู่ในบันทึกฐานข้อมูล และอีกประเภทคือ ฐานข้อมูลในครัวเรือนทั้งหมด”

ที่สำคัญคือการวางระบบความปลอดภัยของเมือง มีกล้องวงจรปิดกว่า 200 ตัวติดตั้งใน 192 จุด เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกอย่างอยู่ในการดูแลอย่างดีที่สุด รวมถึงชีวิตสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับถนนคนเดิน ตลาดเทศบาล 3 แห่ง กำลังจัดระบบให้เป็น Smart Market ในอนาคตจะติดตั้งกล้องวงจรปิดและฟรีไวไฟ รวมถึงทุกสวนสาธารณะ 

“ประชาชนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่ติดบ้านหรือต้องมีคนคอยช่วยเหลือ เหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย เทศบาลกำลังทำศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ โดยไม่เพียงส่ง Care Giver ไปดูแลที่บ้าน แต่จะนำรถไปรับจากบ้านมาที่ศูนย์ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ เช่น กายภาพบำบัด ฟื้นฟูสมรรถนะร่างกาย มีพื้นที่กว้างสำหรับลีลาสและออกกำลังกาย เพื่อให้นครลำปางเป็นเมืองของทุกคน”

กระบวนการศึกษา เน้นสอน ลงมือทำ

เรื่องของการศึกษามีทั้งในระบบและนอกระบบ ถ้าเป็นในระบบจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำ ‘Learning by Doing’ ครูเพียงแต่บอก และสอนให้รู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่นักเรียนต้องลงมือทำด้วยตัวเอง โดยมีเทรนเนอร์ช่วยฝึก มีโค้ชให้คำแนะนำ เป็นกระบวนการศึกษาสำหรับนักเรียนประถม 1-6

“เทศบาลดูแลศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง โรงเรียนประถม 3 แห่ง และโรงเรียนมัธยม 3 แห่ง โดย 2 ปีที่ผ่านมาเราใช้เงินเข้าไปในระบบเพื่อสร้างชีวิตสาธารณะ ปรับปรุงบ้านเมือง มีการก่อสร้างหลายอย่าง แต่สำหรับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ จะใช้งบประมาณ 30-50 ล้านบาท เพื่อให้พวกเขามีโรงเรียนที่ดีที่สุด ให้เป็น Best School in Town” 

วอนรัฐบาลทบทวนรัฐธรรมนูญ’ 60

ดร.นิมิตรดำรงตำแหน่งผู้บริหารเทศบาลเมื่อปี 2548-2556 เว้นวรรคไป 8 ปี ก่อนจะกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง เขาบอกว่า การบริหารและพัฒนาเมืองต้องนับหนึ่งใหม่ ทั้งการสร้างเมือง ยกระดับชีวิตผู้คน การดูแลระบบบริหารการจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องยากพอสมควรในการเริ่มต้นใหม่ ส่วนหนึ่งมาจากระบบงานราชการในเทศบาลซึ่งถูกจำกัดด้วยกฎหมายและระเบียบ

“เทศบาลมีอำนาจค่อนข้างจำกัด ขณะที่รัฐธรมนูญปี 2540 กำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องของการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น แม้แต่เรื่องบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นปลัดหรือรองปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกอง ฯลฯ ควรจะบริหารจัดการโดยเทศบาลและระบบของเทศบาล แต่ทุกวันนี้จะย้าย แต่งตั้ง โอน ฯลฯ ต้องขึ้นกับคณะกรรมการเทศบาลจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีคณะกรรมการหลายท่าน ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง”

“การบริหารการจัดการบุคคลเป็นเรื่องยาก แต่กลับไม่สามารถเลือกคนที่ดีที่สุดที่เราต้องการ คนที่รู้เรื่องของเมืองมาทำงานด้วยกัน ปัญหาอยู่ตรงไหนที่ต้องแก้ แล้วใครที่มีศักยภาพสามารถแก้ได้ถูกจุด ซึ่งควรให้คนท้องถิ่นทำและแก้ไขปัญหา แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอะไรก็ต้องมาจากส่วนกลาง”

นายกเทศมนตรีนครลำปางย้ำถึงแผนยุทธศาสตร์ต้องทำจากสิ่งที่มี สิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่ท้องถิ่นต้องการ มีงบประมาณเพียงพอที่จะลงมือทำ มีบุคลากรคนทำงานที่เทศบาลมีสิทธิ์สรรหาและเลือกได้ เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นทั่วประเทศต้องการและเรียกร้องมาตลอด

“ฝากให้รัฐบาลทบทวนรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวดที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กำหนดอย่างชัดเจนในเรื่องของความสำคัญของท้องถิ่น อำนาจหน้าที่ ต้องกำหนดเรื่องกฎหมายของเทศบาลให้ชัดเจน มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอตาม นี่คืออุปสรรคที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจ และต้องแก้ไขที่กฎหมาย โครงสร้าง ระบบการบริหารจัดการ เปรียบเหมือนกับชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ดีสมบูรณ์แบบทุกชิ้น หากนำมาประกอบกันจนเป็นชิ้นใหญ่ก็คือประเทศไทยนั้นย่อมต้องดีสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image