คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ : Airbnb ผิดกฎหมายแต่โตไม่หยุด โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ

ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ในสองคดี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าเจ้าของห้องชุดคอนโดมิเนียม ที่นำห้องชุดไปปล่อยเช่ารายวัน และรายสัปดาห์ ผิดพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 เป็นการยืนยันความเห็นของนักกฎหมายจำนวนมากว่าฝ่าฝืนกฎหมายค่อนข้างจะชัดเจน ฝ่ายที่ตีความกฎหมายว่าไม่ผิด ก็มักจะเป็นฝ่ายเจ้าของห้องชุด ซึ่งค่อนข้างจะเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางอยู่หน่อยๆ และเป็นการตีความเข้าข้างตนเอง แบบตนเอง ก็ใจตุ๊มๆต่อมๆ ไม่ค่อยมั่นใจ ยิ่งมามีคำพิพากษาออกมาให้เห็นถึงสองคดีด้วยกัน ก็แทบจะปิดประตูในประเด็นนี้ได้เลย ถ้ามีคดีขึ้นสู่ศาลอีก เจ้าของห้องชุดรอดยาก จะถูกลงโทษหนักเบาเท่านั้นเอง

โทษฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาตคือ จำคุกไม่เกิน หนึ่งปี ปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท และปรับรายวันอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังผิดกฎหมายอยู่

แต่ถ้าเจ้าของห้องชุดนำห้องออกให้เช่ารายเดือนเท่านั้น อย่างนี้ ห้องชุดนั้นได้รับยกเว้น ไม่ถือว่าเป็นโรงแรม ตามพ.ร.บ.โรงแรม ไม่ผิดกฎหมายแต่ประการใด

แม้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลฎีกา แต่ในเมื่อพ.ร.บ.โรงแรมบัญญัติไว้ชัดมากขนาดนั้น โอกาสที่ศาลอื่นๆ จะพิพากษาไปโดยประการอื่นนั้นยาก คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในสองคดีนี้ จึงถือเป็นบรรทัดฐานในคดีแอร์บีเอ็นบี ไปได้โดยปริยาย

Advertisement

ประเด็นที่เหลืออยู่จึงไม่ใช่ว่าผิดหรือไม่ผิด เพราะผิดค่อนข้างแน่ แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ถึงแม้ผิด แต่โอกาสในการถูกลงโทษมีมากน้อยแค่ไหน บวกกับรายได้ที่ล่อใจ จึงทำให้เจ้าของห้องชุดยอมเสี่ยงเอา เพราะประเมินแล้วว่าการบังคับใช้กฎหมายในเมื่องไทยค่อนข้างหย่อนยาน โอกาสที่ภัยจะมาถึงตัวยาก แต่เรื่องการประเมินความเสี่ยงแบบนี้ ก็เหมือนสุ่มเสี่ยงเอา ตาดีได้ ตาร้ายเสีย

เรื่องรายได้ที่ล่อใจนี้ ดึงดูดใจมาก ทำให้คนกล้าเสี่ยงกระทำความผิดกัน เจ้าของห้องชุดผ่อนค่าจำนองห้องชุดให้ธนาคารเพียงเดือนละ 30,000 บาท แต่เอาออกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเช่ารายวัน รายสัปดาห์ได้ถึงเดือนละ 60,000 บาท กำไรครึ่งต่อครึ่ง ถ้าไม่มีใครมากวน เจ้าของห้องชุดก็มักจะทำต่อไปเรื่อยๆไม่สะดุ้งสะเทือน ถ้ามีคนมากวนก็ต้องชั่งใจดีๆ เพราะถ้าถูกฟ้องและศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด จะเป็นความผิดกฎหมายอาญาถึงขั้นติดคุกได้  มีประวัติด่างพร้อยติดตัวถาวรว่าเคยเป็นผู้กระทำความผิด ไปสมัครงานที่ไหน ก็ไม่มีใครรับ ความเสี่ยงเรื่องมีประวัติเสียติดตัวข้อนี้ เจ้าของห้องชุดมักจะนึกไปไม่ถึง

แต่ถ้าดูจากสถิติตัวเลขของสมาคมโรงแรมไทยแล้ว ยิ่งดูเหมือนจะเป็นใจให้คนกระทำความผิด เพราะมีห้องพักโรงแรมในประเทศไทยถึง หนึ่งล้านห้อง แต่เป็นห้องพักที่ผิดกฎหมายถึง ห้าแสนห้อง หรือครึ่งหนึ่ง จะหาเจ้าหน้าที่ที่ไหน ไปบังคับใช้กฎหมายได้หมด และจากห้าแสนห้องที่ผิดกฎหมายนี้ มีเพียงสองห้องเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุดถึงขั้นมีคำพิพากษาให้ต้องจ่ายค่าปรับกัน

Advertisement

และถ้าจะบังคับใช้กฎหมายธุรกิจโรงแรมกันจริงๆ ธุรกิจโฮมเสตย์ของชาวบ้านในต่างจังหวัดที่หารายได้เสริมจากแนวความคิดไทยเที่ยวไทยจะว่าอย่างไร ใครจะไปฟ้องนำตัวชาวบ้านขึ้นศาล

ในแง่เจ้าของห้องชุด การให้เช่ารายวัน หรือรายสัปดาห์ จึงเป็นการเสี่ยงดวง ปัจจัยสำคัญที่สุดคือคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด และผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ว่าจะเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดขนาดไหน ถ้าคณะกรรมการเอาจริง ร้องเรียนไปยังนายทะเบียนโรงแรม ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครอง สำหรับอาคารชุดและโรงแรมที่อยู่ในกรุงเทพ หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนโรงแรมในต่างจังหวัด นายทะเบียนก็อาจมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอเข้าไปตรวจสอบยังอาคารชุดดังกล่าว ตามที่นิติบุคคลอาคารชุดร้องเรียน ระบุหมายเลขห้อง และชื่อเจ้าของอาคารชุด ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แค่นี้ เจ้าของห้องชุดก็ต้องยอมจำนนต่อหลักฐาน และผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอก็นำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องเจ้าของห้องชุดเป็นจำเลยได้

คดีก็ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อนอะไร โดยมากจำเลยจะรับสารภาพ เพราะกลัวติดคุก ที่ผ่านมาศาลท่านก็กรุณาไม่ลงโทษถึงขั้นจำคุก เอาแค่ปรับเบาๆ พอให้หลาบจำ ถ้าจำเลยยังกลับไปกระทำความผิดอีก และถูกฟ้องอีก คราวนี้อาจโดนหนักถึงขั้นจำคุกได้

ที่ศาลเคยลงโทษคือ โทษปรับสองหมื่นบาท ท่านก็ปรับเพียง หนึ่งหมื่นบาท จำเลยรับสารภาพก็ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 5,000 บาท ค่าปรับรายวันสูงสุดไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ท่านก็กรุณาให้ปรับเพียงวันละ 100-500 บาท เป็นเวลา 20-81 วัน รวมแล้วก็เป็นเงินไม่มาก แต่ถ้าไม่หลาบจำอาจโดนหนักกว่านี้ หรือถ้าผู้คนไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและมีความผิดเป็นคดีไปสู่ศาลมากขึ้น โทษก็อาจมากขึ้นด้วย

ถกเถียงกันมากว่าถ้าเจ้าของห้องชุดมีห้องชุดให้เช่ารายวันไม่เกิน 4 ห้อง ก็ไม่ผิดพ.ร.บ.โรงแรมใช่หรือไม่ ข้อนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จริงอยู่กฎกระทรวงที่ออกตามพ.ร.บ.โรงแรม ยกเว้นไว้ให้ว่า ถ้ามีห้องเช่ารายวัน ไม่เกิน 4 ห้อง ไม่ว่าจะในอาคารหลังเดียวกัน หรือ หลายหลังและมีผู้เช่าไม่เกิน 20 คน ก็ไม่ถือว่าประกอบธุรกิจโรงแรม แต่องค์ประกอบที่สำคัญคือ เจ้าของห้องชุดต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนโรงแรมทราบด้วย ไม่งั้นก็ไม่เข้าข้อยกเว้น ต้องเป็นโรงแรมที่ผิดกฎหมายต่อไป

พอบอกว่าต้องแจ้งนายทะเบียนโรงแรมด้วย เจ้าของห้องชุดก็เบ้หน้า เพราะไม่มีใครอยากประกาศตัวเปิดเผยอย่างเป็นทางการ

แต่ที่ทางผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมักจะยกพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาขู่เจ้าของห้องชุดว่าจะติดคุกถึง 10 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เพราะถือว่า เจ้าของห้องชุดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำการใดๆอันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันนี้ก็ขู่แรงไปหน่อย เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งใช้กับพวกค้ามนุษย์ที่เป็นแรงงานต่างด้าวมากกว่า ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่มักจะเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายอยู่แล้ว

ส่วนที่บอกว่าเจ้าของห้องชุดต้องแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย บทบัญญัติข้อนี้มีอยู่จริง แต่ถ้าฝ่าฝืนก็มีโทษปรับเพียงสองพันบาท เท่านั้น

เพราะฉะนั้นโชคชะตาของ Airbnb ในเมืองไทยจึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นหลัก ว่าจะเอาจริงกับการบังคับข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่นิติบุคคลอาคารชุดมักจะแค่แสดงอาการไม่พอใจแบบเป็นทางการเพียงชั่วครู่ชั่วยาม เพื่อลดความกดดันจากเจ้าของห้องชุดรายอื่นที่ไม่ได้ทำธุรกิจให้เช่าห้องรายวัน ธุรกิจแอร์บีเอ็นบีในเมืองไทย จึงน่าที่จะยังเฟื่องฟูไปอีกนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image