คอลัมน์ดุลยภาพ ดุลพินิจ อุปสงค์เทียมในระบบการศึกษา โดย : ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมากมายเกินไป สร้างทั้งปัญหาคุณภาพของบัณฑิตและปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน

แต่บางฝ่ายเห็นว่าจำนวนมหาวิทยาลัยที่ขยายตัวอย่างมากนั้นเป็นสภาพที่จำเป็นเพราะการศึกษาเป็นบริการสาธารณะที่ต้องให้เป็นไปอย่างทั่วถึง การลดจำนวนมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรกลับจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อผู้เรียนและมหาวิทยาลัย ภาครัฐควรอุดหนุนงบประมาณให้มากขึ้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการต่อไปได้

นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าปัญหาการผลิตล้นเกินของระบบมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องแก้ไขด้านอุปทาน เพียงแต่ยังไม่มีข้อเสนอชัดเจนว่าจะลดกำลังการผลิตของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการขยายโอกาสทางการศึกษาสำคัญกว่า ส่วนมหาวิทยาลัยใดที่มีกำลังการผลิตล้นเกินก็อาจแก้ไขด้วยการจัดหาผู้เรียนเข้ามาเพิ่ม

ผู้บริหารหลายมหาวิทยาลัยมักคล้อยตามความเห็นฝ่ายหลัง โดยที่มิได้ตระหนักเท่าที่ควรว่างบประมาณที่ใช้อุดหนุนมหาวิทยาลัยทั้งในทางตรงและทางอ้อมนั้นมีค่าและสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้

Advertisement

ผู้บริหารที่เห็นปัญหากำลังการผลิตล้นเกินในระดับหนึ่งอาจยอมรับว่าระบบการอุดมศึกษามีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากจำนวนประชากรในวัยเรียนที่กำลังชะลอตัวลง การปรับตัวทางด้านอุปสงค์ก็มีความจำเป็น

ส่วนหนึ่งมองว่าการบรรเทาปัญหานี้ควรอาศัยการปรับตัวด้วยการหาผู้เรียนใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มอุปสงค์ ซึ่งรวมไปถึงการชักจูงหรืออุดหนุนให้ประชากรสูงวัยหรือผู้ที่ไม่ประสงค์จะทำงานแล้วเข้ามาสู่กระบวนการศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

แน่นอนว่าการเปิดโอกาสให้ประชากรสูงวัยและไม่ประสงค์จะทำงานแล้วได้มีประชาคมทางเลือกที่มีความรู้ติดตัวไปบ้างนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้เรียน ทว่าแนวทางด้านอุปสงค์ดังกล่าวอาจมิใช่แนวทางที่หวังผลได้จริงในแง่เศรษฐกิจและการศึกษา

การเพิ่มอุปสงค์นั้นควรมาจากอุปสงค์ต่อการศึกษาที่สร้างผลผลิตในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มิใช่เพียงเพื่อมิให้ที่นั่งหรือห้องเรียนว่างลงเท่านั้น

ความเข้าใจที่ว่าปัญหากำลังการผลิตล้นเกินในระดับมหาวิทยาลัยมาจากปัญหาจำนวนประชากรอาจทำให้คิดไปว่ามหาวิทยาลัยต้องอาศัยอุปสงค์จากประชากรที่มิได้อยู่ในวัยเรียนมาชดเชย รัฐบาลควรช่วยอัดฉีดเงินงบประมาณอุดหนุนให้มีผู้สนใจเข้าศึกษาให้มากขึ้นเพื่อถมกำลังการผลิตที่ว่างให้เต็ม

นี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะเท่าที่ผ่านมาปัญหาจำนวนประชากรยังมิใช่สาเหตุหลักในระดับมหาวิทยาลัย ยกเว้นในอนาคตอีกไม่นาน

ความจริงแล้ว ปัญหาการผลิตล้นเกินกำลังเพิ่งแสดงอาการวิกฤตให้เห็นเท่านั้น การจัดสรรงบประมาณให้กลับจะสร้างภาวะล้นเกินให้หนักยิ่งขึ้น

เมื่อใดที่ภาวะตกต่ำของจำนวนประชากรในวัยเรียนสำแดงฤทธิ์เดช เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงการจัดการทางด้านอุปทานเช่นการลดจำนวนมหาวิทยาลัยลงหรือการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้ภาคเอกชนมีบทบาทและให้ผู้เรียนแบกรับภาระตามต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น

การแก้ไขปัญหาทางด้านอุปทานเป็นแนวทางที่ยากมากและจะมีผลกระทบต่อผู้เรียนหากปราศจากการวางแผนที่ดีเพียงพอ การตัดสินใจง่ายๆ ก็อาจมีผลไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย

ในประเทศที่ระบบมหาวิทยาลัยเป็นของเอกชน การแก้ไขปัญหานี้จะเป็นไปตามกลไกตลาดหรือสภาพของอุปสงค์-อุปทาน เมื่อไม่เป็นที่ต้องการของผู้สนใจเรียน หลักสูตรนั้นก็ย่อมลดขนาดหรือไม่ก็ต้องปิดตัวลง

ส่วนในประเทศไทย ระบบมหาวิทยาลัยยังมิให้ความรู้ความเชี่ยวชาญมากเพียงพอที่จะอยู่รอดแบบเอกชนได้ มหาวิทยาลัยเอกชนยังต้องอาศัยตลาดระดับกลางล่างเพื่อรองรับผู้เรียนที่มีคุณภาพพอสมควรแต่ไม่สามารถได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงมากได้

มหาวิทยาลัยของรัฐก็ยังมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางสังคมและความเสมอภาคทางการศึกษาอยู่ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาทางด้านอุปสงค์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นการปรับตัวก่อนที่จะเผชิญสถานการณ์ในอนาคตที่มิอาจหลีกเลี่ยงการแก้ไขทางด้านอุปทานได้

การแก้ไขทางด้านอุปสงค์ที่สำคัญอันดับแรกคือการลดอุปสงค์ที่สร้างความสูญเปล่าหรือความไม่คุ้มค่าหรือที่เราอาจเรียกว่าอุปสงค์เทียม

อุปสงค์เทียมเป็นอุปสงค์ที่ไม่สร้างผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การจัดการศึกษาที่สูญเปล่าและไม่ก่อให้เกิดความรู้ที่จะนำไปสร้างผลผลิตหรือการงานนับเป็นลักษณะของอุปสงค์เทียม

ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินที่มีความเสี่ยงสูง เราจะเห็นการเก็งกำไรที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของอุปสงค์เทียมได้ง่าย ทว่าในระบบการศึกษาที่มีภาครัฐเป็นผู้บริหารจัดการอย่างในประเทศไทยนั้น อุปสงค์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตอาจถูกมองในแง่ที่เป็นความต้องการทางสังคมโดยมิได้พิจารณาอย่างรอบคอบ

ความต้องการทางการศึกษาขั้นสูงจึงไม่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นความสูญเปล่าหรือไม่และอุปสงค์เทียมที่หลอกสายตานี้มีมากน้อยเพียงใด

อุปสงค์ที่มีต่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ผ่านระยะที่เคยรุ่งเรืองมาแล้ว อุปสงค์จำนวนหนึ่งเป็นอุปสงค์ที่มีต่อวุฒิปริญญามากกว่าความรู้เพื่อการทำงานการผลิต หลักสูตรประเภทจ่ายครบจบแน่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากและเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งผู้เรียนและผู้สอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรพิเศษในระดับปริญญาโทและเอกซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของอุปสงค์เทียมในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ผู้เรียนที่ต้องการใบวุฒิปริญญาเป็นหลักเพียงเพื่อใช้แสดงสถานะของตนเชื่อว่าการที่หลักสูตรเหล่านี้ประสิทธิ์ประสาทวุฒิปริญญาได้นั้นแสดงว่าเป็นที่ยอมรับเพียงพอสำหรับวัตถุประสงค์ของตน จำนวนมากมิได้ต้องการวุฒิเพื่อหางานทำที่มีรายได้สูงหรือตรงสาขาที่เรียน จำนวนหนึ่งอาจต้องการหางานใหม่แต่มีคุณภาพไม่เพียงพอตามวุฒิเมื่อผ่านหลักสูตรเหล่านี้

แม้หลักสูตรพิเศษจะมีค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่น้อยแต่ก็สะดวกต่อการเข้าศึกษาและการจบในระยะเวลาที่สั้น รัฐบาลมีส่วนช่วยอุดหนุนต้นทุนต่างๆ รวมทั้งเงินเดือนประจำผู้สอนเป็นจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการศึกษาจึงไม่สูงนักเมื่อเทียบกับหลักสูตรที่เน้นคุณภาพซึ่งปกติเข้ายาก เรียนยาก จบยากและต้องใช้เวลานาน

ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมิใช่ว่าจะไม่มีหลักสูตรประเภทนี้ การรับเข้านักศึกษาโดยยอมผ่อนผันเกณฑ์คุณสมบัติบางข้อเพื่อให้ได้จำนวนนักศึกษาเป็นการปฏิบัติที่มีการกระทำกันไม่น้อย

หลักสูตรที่มีนักศึกษาจำนวนมากอาจมิใช่หลักสูตรที่มีคุณภาพมากกว่าหลักสูตรที่มีจำนวนน้อย การจ่ายครบจบแน่อยู่ที่ความง่ายในการเข้าเรียนและจบหลักสูตรออกมา อุปสงค์ที่พิจารณาจากจำนวนผู้เข้าศึกษาจึงมิได้สะท้อนอุปสงค์ที่แท้จริงเสมอไป

เมื่อดำเนินการมาระยะหนึ่ง หลักสูตรประเภทจ่ายครบจบแน่มักประสบปัญหาการขาดแคลนผู้เรียนเพราะมีหลักสูตรประเภทนี้เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น ไม่มีการปรับปรุงลูกเล่นให้ไปที่สนใจหรือสาขาวิชานั้นเริ่มหาวัตถุดิบนักศึกษาได้ยาก หลักสูตรประเภทนี้อาจต้องวิ่งหานักศึกษาเพื่อความอยู่รอดโดยยอมลดคุณภาพของหลักสูตรลง อาจารย์ประจำหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนอาจต้องช่วยหานักศึกษาเข้ามาเรียนซึ่งทางหนึ่งคือการประชาสัมพันธ์และการชักชวนศิษย์เก่าของสถาบันให้เรียนต่อในหลักสูตรที่สูงขึ้น

ผลประโยชน์ของผู้สอนขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้เรียน มิใช่การสนองตอบอุปสงค์ให้มีประสิทธิผลและแข่งขันได้ดีในตลาดแรงงาน

อุปสงค์เหล่านี้จึงเป็นความสูญเปล่าและเป็นอุปสงค์เทียมที่ทำให้ไม่เห็นความรุนแรงของการผลิตล้นเกิน

หลักสูตรประเภทจ่ายครบจบแน่เป็นหลักสูตรที่แฝงอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่าที่คิดกันมาก หลักสูตรเหล่านี้มีคุณภาพต่ำซึ่งไล่คุณภาพที่ดี มักอาศัยชื่อเสียงโดยรวมของมหาวิทยาลัยค้ำจุนระดับการยอมรับ แต่เมื่อชื่อเสียงของหลักสูตรถดถอยลงเป็นลำดับ วัตถุดิบที่มีคุณภาพเหมาะสมมักหันไปสนใจสถาบันอื่น ทำให้หลักสูตรเหล่านั้นต้องหันไปรับเข้านักศึกษาที่มีประวัติผลการเรียนที่อ่อนลงหรือแม้กระทั่งรับนักศึกษาอย่างไม่จำกัดจำนวน การฟื้นฟูคุณภาพยิ่งกลายเป็นสิ่งที่ยากมากขึ้นไปอีก

ความอ่อนแอของระบบการบริหารจัดการเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างอุปสงค์เทียมเหล่านี้ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่สนใจที่จะแตะต้องหลักสูตรประเภทนี้จนกลายเป็นหลักสูตรที่อำนวยผลประโยชน์ง่ายๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง บ้างก็เป็นหลักสูตรที่ให้สวัสดิการแก่คณาจารย์ บ้างก็เป็นการสืบทอดผลประโยชน์พวกพ้อง บ้างก็เป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ในมหาวิทยาลัย หรือผสมๆ กันไป

การลดอุปสงค์เทียมในระบบการอุดมศึกษาเป็นภารกิจที่หน่วยงานกำกับดูแลและผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรจะดำเนินการเป็นลำดับต้น

แนวทางนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในการปฏิรูประบบมหาวิทยาลัยให้แข่งขันได้และเท่าทันต่อปัญหาประชากรในวัยเรียนและผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งทั้งสองปัจจัยหลักนี้จะทำให้ความต้องการการศึกษาแบบเดิมลดลงอย่างหนักในอนาคตอันใกล้

รัฐบาลจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาความสูญเปล่าและอุปสงค์เทียมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ไม่ควรมุ่งใช้เงินอุดหนุนก้อนโตเพียงเพื่อเติมอุปสงค์เท่านั้น

ความต้องการทางการศึกษาควรมีความคุ้มค่าเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image