แร็พเปอร์ หรือ เผด็จการ : ใครคือ ‘ศัตรูสาธารณะ’ ของประเทศ? : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อยากขอนำเสนอประเด็นเล็กๆ ในเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนี้ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ความนิยมของเพลง “ประเทศกูมี” โดยเฉพาะในฉบับที่เป็นคลิปลงในยูทูบ ซึ่งในวันนี้ไม่สามารถลบทิ้งจากโลกอินเตอร์เน็ตได้อีกแล้ว เพราะได้ถูกจัดเก็บในระบบบล็อกเชน (blockchain) ที่ก้าวพ้นการจำกัดการเข้าถึงและลบออกจากโลกไซเบอร์

ใครที่พอจะคลุกคลีกับวงการเพลงแนวแร็พ (rap) และวัฒนธรรมฮิพฮอพ (hip-hop) ก็คงจะเข้าใจความหมายของชื่อบทความนี้ได้ไม่ยาก “ศัตรูสาธารณะ” ในชื่อเพลงมาจากชื่อวง Public Enemy ซึ่งเป็นวงระดับตำนานของวงการแร็พ-ฮิพฮอพของโลก ที่ถือกำเนิดมาจากประเทศอเมริกา (คลิกชมตัวอย่างเพลงของวงนี้ที่นี่)

ส่วนคำว่า “เผด็จการ” นั้น ไม่ได้ต้องการใส่ไว้เล่นๆ แต่เป็นเพราะทีมนี้ (จะเรียกวงก็ยากอยู่ เพราะเขารวมตัวกันเฉพาะกิจ) เขาชื่อว่า Rap Against Dictatorship

ที่จะเขียนถึงนี้ถือว่าผิวเผินมากนะครับ ถ้าเทียบกับองค์ความรู้ในเรื่องของที่มาที่ไปของวงการแร็พ และชีวิตฮิพฮอพ ที่ปรากฏในสังคมไทย แต่อย่างน้อยสิ่งที่ผมเขียนนั้นส่วนหนึ่งก็จะปรากฏขึ้นในสื่อเก่า และน่าจะส่งผลให้เกิดการบันทึกและเข้าใจมากขึ้นของคนอีกรุ่นหนึ่งที่กำลังงงๆ ว่า ตกลงสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องเล็กกันแน่

Advertisement

เอาเข้าจริงแล้ว หากมองในภาพรวมของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ควรจะมองในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงวัฒนธรรม และ วัฒนธรรมทางการเมืองในบ้านเมืองเราสักนิด เพราะปีนี้นั้นถือเป็นปีทองของเพลงแร็พและชีวิตฮิพฮอพที่ก้าวสู่โลกกระแสหลักมากขึ้น

พูดง่ายๆ ก็คือ เพลงแร็พและวิถีฮิพฮอพนี้ถูกนำเข้า และพัฒนาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น (localized) ในบ้านเรามาเป็นเวลานานแล้ว ใครที่เดินตลาดสดตลาดนัดนี่ อาจจะเคยได้ยินเพลงของพี่ อิลสลิค มาชาติหนึ่งแล้ว หรือเคยได้ยินเพลงของปู่จ๋าน ที่ถูกนำเสนอใหม่โดยนักร้องวงกระแสหลักอย่างค็อกเทลในรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างหน้ากากนักร้อง รวมไปถึงปีนี้เป็นปีที่สำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีรายการแข่งขันกันร้องเพลงแร็พในโทรทัศน์ช่องบันเทิงที่ได้รับความนิยมที่สุดช่องหนึ่ง และทำให้เราเห็นชุมชนของชาวแร็พกันอย่างพร้อมหน้า ตั้งแต่พี่โจอี้ในตำนาน และอีกหลายๆ ท่าน

(คลิกที่นี่ชมเพลงของปู๋จ๋านที่ หน้ากากหอยนางรม มาร้องใน THE MASK SINGER ยอดวิวกว่า 260 ล้านวิว )

Advertisement

ประเด็นของปีทองของชาวแร็พเปอร์และวิถีฮิพฮอพ ก็เมื่อเพลงต้านเผด็จการในรูปแบบของแร็พ พร้อมคลิปภาพ (ถ้าคนแก่รุ่นผมคงเรียกว่า มิวสิกวิดีโอ แต่เดี๋ยวนี้คงจะเรียกว่า ยูทูบคลิป) ซึ่งเดิมนั้นเป็นเพียงคลิปเสียงเพลง ต่อมาเพลงนี้ถูกกล่าวถึงโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐด้านความมั่นคงท่านหนึ่ง ว่าอาจเข้าข่ายขัดกับกฎหมาย (ในแง่นี้คือ คำสั่งของ คสช.) และมีการเตือนว่า อาจจะมีความผิดถ้าแบ่งปันเพลงนี้ต่อกัน เพราะอาจผิด พ.ร.บ.คอมพ์ เพราะนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือเป็นภัยต่อสังคม

เท่านั้นล่ะครับ จากยอดชมไม่ถึงแสน ก็พุ่งเกินหลักสิบล้านไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นกระแสที่กล่าวถึงกันในโลกออนไลน์ และโลกออฟไลน์ ในหน้าสื่อกระแสหลักต่างๆ ทั้งที่เพลงนี้ไม่ใช่แร็พเพลงแรกที่วิจารณ์การเมือง และเพลงวิจารณ์การเมืองและสังคมในช่วงนี้ก็มีเพลงแปลง สไตล์โยชิ 300 หรือเพลงร็อกเฮฟวี่เมทัลมาก่อนแล้ว (สมัยทศวรรษที่แล้ว เพลงของดาจิม ที่วิจารณ์สังคมก็เป็นที่รู้จักในวงไม่แคบนัก)
หรือยอดชมแค่สิบล้านนี่ ก็จัดว่าไม่น่าตื่นเต้นมาก ถ้าเทียบกับเพลงพี่อิลฯ หรือเพลงอื่นๆ

(ตัวอย่างเพลงล้อการเมืองของโยชิ 300)

ความสำคัญมันจึงอยู่ที่ว่า เพลงนี้มันกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างวงกว้าง และทำให้เราเห็นว่าโลกไซเบอร์นี้ ความเป็นใต้ดินหรือบนดินมันไม่ชัดเจนอีกต่อไป เพราะทุกเพลงมีสถานะเท่ากันในการเข้าถึง มันอยู่ที่ว่าเพลงไหนจะเป็นที่นิยมและถูกเข้าถึงและกล่าวถึงมากกว่ากัน

ข้อถกเถียงจึงอยู่ในเรื่องของความเหมาะสมของเนื้อหา และลึกๆ ผมว่าน่าจะลามไปถึงเรื่องของการอ้างอิงกับเรื่องของเหตุการณ์ หกตุลา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลสำคัญในสังคมไทย (ประเด็นเรื่องการบันทึกใหม่ของ “อดีตในปัจจุบัน” ของเหตุการณ์เดือนตุลานั้น ผมได้อภิปรายไว้หลายครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดในบทความมติชนเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ชื่อ “อดีตที่เกิดใหม่และอนาคตของปัจจุบัน: ตุลารำลึก2561-ซึ่งเขียนเมื่อวันที่ 14 ตุลาฯ และตีพิมพ์ในวันที่ “16 ตุลาฯ” พอดี จึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้อีกครั้ง)

ฝ่ายที่ไม่ชอบเพลงนี้ โดยเฉพาะที่พยายามให้เหตุผล (ไม่ใช่พวกที่เน้นกล่าวหาเบื้องหลัง) ก็คือเน้นไปที่เรื่องของการชังชาติ การไม่รักชาติตัวเอง

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนเพลงนี้ ซึ่งมีทั้งที่รับได้กับการมีเพลงนี้ในฐานะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าอาจไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่อง กับฝ่ายที่เห็นด้วยเป็นส่วนมากกับเนื้อหาในเพลง ที่มองว่าเรื่องที่เขากล่าวถึงในเพลงนั้น ก็เป็นเรื่องที่พูดกันอยู่แล้วในบ้านเมือง และเพลงนี้ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือบ้านเมือง แต่กระทบความมั่นคงของผู้มีอำนาจต่างหาก

หรือกล่าวง่ายๆ ว่า “ความมั่นคงของชาติ” กับ “ความมั่นคงของรัฐบาล” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ผมขอจบเรื่องของบ้านเมืองของเราไว้แค่นี้นะครับ เพียงแค่ต้องการจะบันทึกเรื่องราวเอาไว้ให้สืบค้นในอนาคต ในส่วนที่เหลือจะเท้าความไปถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ของแร็พและวิถีฮิพฮอพกับการเมือง และการเมืองวัฒนธรรมในระดับสากล

ประการแรก คำว่า แร็พ กับฮิพฮอพนั้น บางทีใช้แทนที่กัน หรือบางทีก็จะถกเถียงกันเอาเป็นเอาตายว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในงานชิ้นนี้จะทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า แร็พนั้นเป็นเพลงแบบหนึ่ง ส่วนฮิพฮอพนั้นเป็น “วิถี” หรือ “วิถีชีวิต” หมายถึงว่า แร็พนั้นเป็นเพลงแบบหนึ่งในวิถีฮิพฮอพที่มีทั้งเรื่องการรวมตัว แต่งตัว เปิดแผ่น วาด (พ่น) กำแพง

ส่วนบางคนก็อาจจะเอาเป็นเอาตายกับการถกเถียงถึงกระบวนการผลิตและท่าทีในเพลงระหว่างแร็พกับฮิพฮอพ โดยมองว่า ฮิพฮอพก็เป็นเพลงอีกแบบ และไม่จำเป็นต้องออกมาแบบดุดัน หรือหยาบคาย อาจจะเน้นความสนุกได้ หรือมองว่า แร็พนั้นเป็นเพียงการเปล่งเสียงแบบหนึ่ง อธิบายง่ายๆ ว่า ร้องรัวๆ เร็วๆ แบบที่เราได้ฟังนั่นแหละครับ แต่ในวันนี้ขอใช้ทั้งสองคำในความหมายเดียวกันไปก่อนนะครับ

กำเนิดของเพลงแร็พ/วัฒนธรรมฮิพฮอพนั้น ว่ากันว่าเป็นการสื่อสารจากชุมชนของคนผิวสี (ดำ) ในสหรัฐ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ด้วยกัน (ghetto) เพลงและวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นสื่อในการนำเสนอความหวังและความผิดหวัง-ไม่พอใจ-กังวลใจต่อสภาพชีวิตของพวกเขาที่เติบโตมาในชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ที่พวกเขามองว่าถูดกดขี่ เสียเปรียบ และไม่เป็นธรรม

ความสำคัญของเพลงแร็พ/ฮิพฮอพ คือการเปล่งเสียงให้คนได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่ถูกละเลยในบ้านในเมือง ทีนี้คำถามก็คือ คำถามที่คนกลุ่มหนึ่งนั้นต้องการบอกเล่าจากชุมชนของพวกเขา มันกลายเป็นคำถามในระดับสังคมและในบ้านในเมืองได้อย่างไรที่เกิดขึ้นจากบ้านเรา ซึ่งมันไป “โดน” ทั้งคนกลุ่มที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

แร็พและฮิพฮอพนั้นในมุมหนึ่งสืบทอดมาจากวิถีดั้งเดิมของชาวแอฟริกา ในแอฟริกาตะวันตกมีคนที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องต่างๆ ให้กับชุมชน (griot) และว่ากันว่า แนวคิดดังกล่าวก็พัฒนามาถึงชาวแร็พในสมัยใหม่ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน อย่างกลุ่มแรกๆ ที่เรียกว่า “กวีชนกลุ่มสุดท้าย” (The Last Poets) ในสมัยทศวรรษที่ 1960s ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานให้กับวงการแร็พ ที่กล่าวถึงเพลงอย่าง “เมื่อการปฏิวัติมาถึง” (When the Revolutions Comes) หรือต่อมาในยุค 1970s ก็จะมีเพลงอย่าง “การปฏิวัติจะไม่ถูกถ่ายทอดสดออกทีวี” (The Revolution Will Not Be Televised) ของ Gil Scott-Heron

(ฟังเพลง The Revolution Will Not Be Televised ของ Gil Scott-Heron)

เพลงอีกกลุ่มที่ใกล้เคียงกับแร็พ ก็คือเพลงโซล (Soul) ซึ่งเป็นเพลงของชาวผิวสีเช่นเดียวกัน แต่มักจะเน้นไปที่ความรักและความสำคัญ ขณะที่เพลงแร็พ/ฮิพฮอพ จะเน้นไปที่ปัญหาสังคมและประเด็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา และด้วยภาษาที่จะถูกอ้างว่า “ต้องฟังด้วยคำแนะนำของผู้ปกครอง” (Parental Advisory)

ข้อถกเถียงหนึ่งในการพูดถึงประวัติศาสตร์เพลงแร็พ/ฮิพฮอพนั้นก็คือ เพลงเหล่านี้ต้องเป็นเพลงทางการเมืองเท่านั้นหรือไม่ ขณะที่อีกคำอธิบายหนึ่งมองว่า เพลงทุกเพลงนั้นมันมีความเป็นการเมือง และความไม่เป็นการเมือง (political) ได้ทั้งนั้น ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า เพลงนั้นมันอยู่ในบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร

ผมยกตัวอย่างเพลงที่ผมชอบเพลงหนึ่งของคาราวาน เช่นเพลง ยิ้มกลางสายฝน ซึ่งเนื้อเพลงถ้าร้องในคาราโอเกะสักแห่งเราก็คงจะมองถึงความเพราะพริ้งในภาษา แต่มีตำนานเล่าว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่มีการตีความว่าสายฝนคือห่ากระสุนปืน เราก็จะมีมุมมองกับเพลงนี้แตกต่างกันไป

(ฟังเพลง ยิ้มกลางสายฝน )

 

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า เพลงประเทศกูมีมันคงจะไม่มีผลสะเทือนอะไรเลย ถ้าสิ่งที่พูดในเพลงมันไม่จริง หรือไม่ถ้าไม่พูดในระดับความจริงก็พูดในระดับความรู้สึก และเป็นเรื่องที่พูดๆ กันอยู่ในสังคม

ความเฟื่องฟูของเพลงแร็พในช่วงทศวรรษ 1980s ส่วนสำคัญจึงเป็นผลมาจากนโยบายอนุรักษนิยมของระบอบเรแกน ที่คนยากจน และคนผิวสีถูกกระทบมาก การไล่ปราบปรามยาเสพติด ซึ่งส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงกับคนยากจนในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงนโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่รัดเข็มขัดและลดสวัสดิการให้กับคนจน นำไปสู่การโต้กลับทางวัฒนธรรมของผู้คนผิวสี และส่วนสำคัญก็คือ ความเฟื่องฟูของเพลงแร็พและวัฒนธรรมฮิพฮอพ

พูดอีกอย่างก็คือ ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นนอกจากจะมีการตอบโต้ และที่นั่นก็อาจจะมีการตอบโต้ด้วยศิลปะ เพราะศิลปะนั้นเป็นส่วนสำคัญในการเชิดชูเสรีภาพของมนุษย์ด้วย นอกจากเรื่องของความงดงามในแบบสุนทรียะแบบที่เราถูกสอนกันแบบดั้งเดิม

สุนทรียะในแบบใหม่คือการพูดถึงส่วนเสี้ยวที่ถูกละเลย และถูกกดทับปกปิดเอาไว้ในสังคม

การรวมตัวกันชุมนุมแสดงดนตรีและเต้นกันในบางพื้นที่ และการผลิตสื่อตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นคาสเสท นำไปสู่ความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมฮิพฮอพและเพลงแร็พ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางออกของคนที่ไม่ได้อยากจะกันไปใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือหันไปประกอบอาชญากรรม และการรวมตัวกันของศิลปินแร็พ และศิลปินสาขาอื่น เช่น ร็อก เพื่อรณรงค์ต่อต้านรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ที่มีลักษณะเหยียดสีผิว

การเคลื่อนไหวทางการเมืองและข้อความทางการเมืองอย่างจริงจังเริ่มต้นขึ้นในอเมริกา เมื่อ Public Enemy ที่เน้นเพลงที่นำเสนอประเด็นทางการเมืองเศรษฐกิจ และการเหยียดสีผิว เช่นเพลงที่ว่า “การต่อสู้กับอำนาจ” (Fight the Power) ในอัลบั้มที่สองของเขาคือ It Takes a Nations of Millions to Hold Us Back (1988) ซึ่งน่าจะแปลทำนองว่า พวกเราจะไม่ถูดหยุดยั้งลงอย่างง่ายๆ ซึ่งแนวทางของอัลบั้มนี้ถูกนิยามว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม (Social Commentary) ซึ่งจะว่าไปแล้ว ถือว่าสถานะของอัลบั้มนี้เป็นสถานะเดียวกับเพลง อาร์แอนด์บี ของ Marvin Gaye ที่ชื่อว่า What’s Going On (1971) ที่กล่าวถึงปัญหาในชุมชนของคนผิวสี แต่เพลงของเกย์นั้นเป็นสายหวาน ไม่ใช่แนวแร็พที่ตรงไปตรงมา และห้วนกระชับแบบพวก “ภัย/ศัตรูสาธารณะ”

เพลงของพับบลิค เอนิมี่ และผองเพื่อนวงอื่นๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่อเมริกานั้นถูกปกครองอย่างยาวนานด้วยพรรครีพับลิกันนี้ ถือว่าเป็นเพลงที่สร้างอำนาจให้คนที่ไร้อำนาจ (empowerment) ที่สำคัญ นับตั้งแต่เมื่อเราฟัง เปล่งเสียง และเต้นตาม

และศัตรูเบอร์ต้นๆ ของแร็พนั้นไม่ใช่สังคมหรือประเทศ แต่เป็นตำรวจและ “ระบบ” (The System) ในกรณีของตำรวจ เหตุผลก็คือพวกเขาคือคนที่ใกล้ชิดกับผู้คนในชุมชนผิวสี แต่เป็นความใกล้ชิดในลักษณะของการปราบปราม และใช้ความรุนแรงกับพวกเขาและชุมชนของพวกเขา ตามนโยบายการจัดระเบียบสังคมที่อีกมุมหนึ่งถูกตีความว่า เป็นการจัดระเบียบ/ขจัดคนจนเสียมากกว่า เช่นการยิง การปราบปรามอย่างรุนแรง หรือตั้งด่านต่างๆ

(ฟังเพลงของวง Public Enemy – Fight The Power) 

โดยธรรมชาติของเพลงแบบนี้แหละครับ ที่เมื่อตำรวจออกมาให้ความเห็นในทางจับตาและจะเอาผิด มันก็ปลุกเอาความรู้สึกไม่พออกพอใจต่อชีวิตของพวกเขาที่เผชิญกับการปฏิบัติต่อพวกเขาแบบที่พวกเขาสัมผัสและรู้สึกมานมนาน

การเซ็นเซอร์เพลงแร็พก็เป็นอีกประเด็นที่ถกเถียงกัน อย่างเพลง Cop Killer (พวกเราจะล่าตำรวจคืนเพราะเหลืออด) ที่ Ice-T แต่งและร้องขึ้นมาเพื่อเอาคืนกับตำรวจแอลเอที่ฆ่าคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งภาษาที่ใช้นั้นรุนแรงจนรัฐบาลบุชผู้พ่อออกมาพยายามจะจัดการห้ามปราม

(ลองฟังเพลงCop Killer โดย Ice-T )

 

ใช่ว่าเพลงแร็พจะมีแต่ประเด็นการเมือง เพลงเหล่านี้ก็พูดถึงเรื่องเพศ และเรื่องยา และเรื่องอื่นๆ ที่กระทบศีลธรรมอันดีของบ้านเมือง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ที่พวกแร็พ/ฮิพฮอพถูกวิจารณ์มาโดยตลอด แต่ความสะเทือนของสังคมต่อพวกนี้จะมีมากก็เมื่อสังคมนั้นพยายามใช้เรื่องของศีลธรรมมาเป็นภาษาหลักทางการเมือง และเป็นศีลธรรมที่กำหนดให้คนกลุ่มหนึ่งด้อย หรือเป็นเป้าหมายในการกดคนพวกนี้หรือปกครองคนพวกนี้เอาไว้ ว่ายังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเองนั่นแหละครับ

นี่เป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของที่มาที่ไปของแร็พ/ฮิพฮอพในโลกครับ ส่วนในสังคมไทยนั้น ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า “ภัย/ศัตรูสาธารณะ” ของชาติบ้านเมืองเรา หรือสิ่งที่เราควรชัง คือ แร็พเปอร์กลุ่มนี้ หรือเผด็จการ/สังคมที่แร็พเปอร์กลุ่มนี้อ้างว่าพวกเขาพยายามต้านและส่งเสียงให้สังคมรับรู้ว่า

เหตุผลที่ว่า “สังคมแตกแยก” จึงจำเป็นต้องเข้ามาปกครอง และต้องปกครองไปเรื่อยๆ นั้นจริงไหม?

หรือ “ยิ่งปกครองนานขึ้น” สังคมก็ยังถูกทำให้แตกแยกมากขึ้น

เพราะความแตกแยกและไม่ปรองดองนั้นเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงระบอบนี้เอาไว้ …

(หมายเหตุ – บางส่วนเก็บความมาจาก David Love. “Hip-hop and politics have a long history behind the mic”. Thegrio.com. 15 June 2010.)

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ช่องYoutube ของวง Illslick คลิกที่นี่

ช่องYoutube ของ ปู่จ๋าน ลองไมค์ คลิกที่นี่

ช่องYoutube ของ โยชิ 300 คลิกที่นี่

ช่องYoutube ของ Rap Against Dictatorship คลิกที่นี่ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image