ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของผู้เขียนคนหนึ่งผู้เกษียณอายุจากราชการแล้ว แวะมาเยี่ยมผู้เขียนพร้อมนำหนังสือ “รัฐศาสตร์เบื้องต้น” ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2515 มาให้เป็นของที่ระลึกในการมาเยี่ยมครั้งนี้ เนื่องจากได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมานานนักหนาแล้ว

หนังสือ “รัฐศาสตร์เบื้องต้น” เล่มนี้ใช้เป็นตำราสอนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น ซึ่งเป็นวิชาเลือกสำหรับนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนิสิตทุกคณะสามารถมาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ได้ ซึ่งเป็นวิชาทางรัฐศาสตร์เพียงวิชาเดียวที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนใหญ่ของผู้ที่มาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ก็เพราะอยากรู้อยากเห็นมากกว่า ดังนั้นเมื่อผู้เขียนสอนเสร็จไป 1 ภาคเรียนจึงเริ่มลงมือเขียนตำราเพื่อใช้ในการประกอบการเรียนขึ้นมา เนื่องจากผู้เขียนต้องการให้นิสิตอ่านหนังสือตำรามาก่อนแล้วจึงมาฟังคำบรรยายแบบธรรมชาติมากกว่าจะได้มีการคิดตามและโต้ตอบซักถามกันได้อย่างได้สาระมากกว่าการสอนหนังสือแบบบอกให้จด

หวนระลึกถึงปี พ.ศ.2515 คือเมื่อ 44 ปีที่แล้วนั้น ประเทศไทยเรามีนายกรัฐมนตรีคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และมีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมหาดไทย พ่วงด้วยตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งว่าไปแล้วตอนนั้นเมืองไทยเราก็ปกครองโดยเผด็จการทหารนั่นเอง และในเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 มีกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็ได้ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยแล้วถูกทางการจับกุมตัวไป จนกระทั่งเกิดการเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขังและต่อต้านรัฐบาลทหารไปในตัว จนเกิดเหตุการณ์ใหญ่โตเป็น “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516” ล้มรัฐบาลในขณะนั้นได้สำเร็จ ทำให้ทั้งจอมพลถนอมและจอมพลประภาสต้องออกจากประเทศไทยไปเป็นการชั่วคราว

ลูกศิษย์ของผู้เขียนเอ่ยขึ้นว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาแล้วจนถึงวันนี้ก็ร่วม 43 ปีแล้ว ได้เกิดมีรัฐประหารอีก 5 ครั้ง และทุกครั้งก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็เขียนใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือจนกระทั่งเกษียณอายุราชการออกมา

Advertisement

รู้สึกเบื่อหน่ายเหลือเกิน ประเทศชาติก็ไปไม่ถึงไหนเสียที จะเขียนรัฐธรรมนูญอะไรกันหนักหนา และคนร่างรัฐธรรมนูญก็คนหน้าเดิมๆ แล้วนี่จะมีการลงประชามติกันก็มีการทะเลาะ มีการประท้วง มีการจับกุมตัวผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปขังคุกอีก มันอะไรกันนักหนา

ทั้งๆ ที่อาจารย์เอง (ตัวผู้เขียน) ก็เขียนเรื่องรัฐธรรมนูญเอาไว้ในหนังสือตั้งแต่ พ.ศ.2515 ดูแล้วไม่เห็นมันจะลึกลับซับซ้อนเป็นเรื่องเป็นราวอะไรหนักหนาเลยนี่นา

ผู้เขียนก็เลยเปิดหนังสือ “รัฐศาสตร์เบื้องต้น” ดูในบทที่ 5 ที่เป็นบทของรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วก็ออกจะเห็นด้วยกับลูกศิษย์เมื่อดูที่ท้ายบทที่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่ดีมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

Advertisement

1) รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีข้อความที่ชัดเจนแน่นอนเพื่อที่จะให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ใช้คำที่กำกวมซึ่งล่อแหลมต่อการตีความที่ผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วมีความหมายที่แน่นอนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายสองแง่สองมุมหรือกำกวมที่อาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

2) รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีการบัญญัติสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจนแน่นอน รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย หากรัฐออกกฎหมายมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว กฎหมายนั้นจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ จะต้องถือว่ากฎหมายนั้นเป็นโมฆะ ดังเช่นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่สิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน และเสรีภาพในการพูด การเขียนเป็นต้น ต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่จะเลิกล้มหรือล้มล้างไม่ได้

3) รัฐธรรมนูญที่ดีต้องครอบคลุมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปกครองของรัฐไว้อย่างครบถ้วน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติถึงการใช้อำนาจอธิปไตย ความสัมพันธ์ขององค์การ*ที่ใช้อำนาจอธิปไตย (โปรดสังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่าองค์การ-organization มิได้ใช้คำว่า องค์กร-organ) และสถาบันทางการเมืองของรัฐ การกำหนดวิธีการการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

4) รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่ยาวจนเกินไป เพราะว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีบทบัญญัติของหลักการการจัดรูปการปกครอง การปกครองของรัฐที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น สำหรับอารัมภบทไม่ควรยืดยาวอย่างเยิ่นเย้อมากนัก ยิ่งกว่านั้นไม่ควรต้องมีแนวนโยบายแห่งรัฐโดยเด็ดขาด เนื่องแนวนโยบายแห่งรัฐเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น (แถมของใหม่เพิ่มเติมเรื่องการจัดอันดับรัฐธรรมนูญที่มีความยาวที่สุดในโลก คือรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับ พ.ศ.2550 นั้นยาวเป็นอันดับ ที่ 5 ของโลก : อ้างอิงจาก Comparative Constitutions Project)

5) รัฐธรรมนูญที่ดีต้องกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย

การมีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้นก็เพื่อป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการใช้กำลังซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่มีทางออกก็อาจเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นต้องไม่ง่ายจนเกินไป เพราะจะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเคารพจากประชาชนเท่าที่ควร และการแก้ไขเพิ่มเติมก็ควรจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมชั่วคราว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ อ่านจบแล้วกรุณาอย่าถือเป็นจริงเป็นจังอะไรเลยนะครับสำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญนี่นะครับ เพราะผู้เขียนเองก็รู้สึกเช่นเดียวกับลูกศิษย์แก่ๆ ของผู้เขียน คือเบื่อหน่ายเหลือเกินแล้วครับ เพียงแต่ติดใจอยู่นิดหน่อยว่า บรรดาท่านที่ร่างรัฐธรรมนูญหน้าเดิมๆ นั่นท่านไม่เบื่อบ้างหรืออย่างไร ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image