“ไส้กรอก” กับบทบาทคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในห้วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ “ไส้กรอก” ทางสื่อมวลชนหลายแขนง ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจต่อสังคม โดยเฉพาะประเด็น “ความเชื่อมั่นไว้ใจของผู้บริโภค” ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ “อาหาร” ที่จำหน่ายตามท้องตลาด ทั้งระดับห้างใหญ่ไปจนถึงร้านค้าในตลาดชุมชน “ผู้บริโภค” รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ “ภาครัฐ” เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการ “คุ้มครองผู้บริโภค”

นิตยสาร “ฉลาดซื้อ” ฉบับที่ 181 ระบุว่า ทดสอบปริมาณสาร “ไนเตรต” และ “ไนไตรต์” ในไส้กรอกเพียงหนึ่งยี่ห้อจาก 15 ยี่ห้อ คือ ไทยซอสเซส ค็อกเทลซอสเซส ของไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ที่ไม่มีสารดังกล่าว นอกนั้นจำนวน 14 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 93.33 ใส่สารทั้ง 2 ชนิดเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งพบว่ามี “นัยสำคัญ” ที่ภาครัฐต้องใส่ใจและเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะสารปนเปื้อนดังกล่าว เป็นที่ทราบอยู่ว่าเป็นสารที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ท้องเสียรุนแรง บางรายแพ้สารพวกนี้จะมีผลต่อระบบหายใจ ทำให้หัวใจเต้นแรง หายใจขัด หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อาจจะหมดสติหรือเสียชีวิตได้ ที่สำคัญคือ เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเคยออกคำเตือน “ผู้บริโภค” ที่ชอบกินเนื้อสัตว์แปรรูปทั้งหลาย เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ของไทยเราก็มีพวกแหนม ไส้อั่ว ปลาร้า หม่ำหมูกระทะ ถ้ามีการใส่สารดังกล่าวมากเกินไปกว่าค่ามาตรฐาน…อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งลำไส้และกระเพาะอาหารได้

“คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ” ที่มีท่านพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็น “ประธาน” ซึ่งเป็นองค์กรหลักและกลไกของประเทศในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหาร และอาหารศึกษา ครอบคลุมการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อาหาร ในลักษณะ “บูรณาการ” การทำงานและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดเอกภาพและมีประสิทธิภาพ โดยอำนาจหน้าที่มี 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้านอาหาร คุณภาพอาหารและอาหารศึกษา 2.ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหารในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงอาหาร คุณภาพอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหารและอาหารศึกษา 3.ในกรณีเกิดภัยพิบัติสาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจาก “อาหาร” คณะกรรมการฯ จะให้คำแนะนำทำให้การออกประกาศกำหนดให้เขตพื้นที่ใดเป็นเขตพื้นที่ต้องตั้งงบไว้เพื่อประโยชน์ด้าน “ความมั่นคงด้านอาหาร” ได้นำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาอย่างเข้มข้น

อนึ่ง ในการ “ขับเคลื่อน” ซึ่งเป็นหัวใจของ “คณะกรรมการแห่งชาติ” มี “คณะกรรมการ” เฉพาะเรื่อง 3 ชุด โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์เป็น “หัวเรือใหญ่” แต่ละชุดมีดังนี้

Advertisement

1.คณะกรรมการฯขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ มีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน 2.คณะกรรมการฯชุดขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีนายวิชัย เทียนถาวร เป็นประธาน 3.คณะกรรมการฯชุดขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต เป็นประธาน

ผลการดำเนินช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้รายงานต่อคณะกรรมการแห่งชาติ คราวประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ณ ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล โดยสรุปดังนี้

คณะกรรมการชุดที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร : มีผลการดำเนินการ 3 ด้าน คือ 1.นโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบ Zoning นั้น ได้มีการเชื่อมโยงระบบ What 2 Grow ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยทำโปรแกรม What 2 Grow ไปใช้กับ “เกษตรกร” เพื่อให้ได้มีการคัดเลือกพืชไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม และในเขตพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากจะสามารถนำพืชใช้น้ำน้อยไปปลูกทดแทนได้อย่างไร 2.แนวทางในการปฏิบัติงานคือ โครงการ Smart Farmer/Smart Officer โดยปัจจุบันได้ให้สถาบันการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานร่วมกับ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ 170 แห่ง เป็นแหล่งวิจัยและถ่ายทอดความรู้ อีกทั้งกรมประชาสัมพันธ์ได้นำข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปจัดทำเป็นเอกสารให้ความรู้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ

Advertisement

3. ข้อเสนอเป็นนโยบายในการใช้ระบบ Precision Farming ซึ่งเป็นการนำการเกษตรกรรมแบบแม่นยำที่สามารถตอบสนองต่อทรัพยากรที่มีอยู่ และเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ได้พิจารณาประเด็นนี้บรรจุใน (ร่าง) : แผนการพัฒนาเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 เรียบร้อยแล้ว

คณะกรรมการชุดที่ 2 : การขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีผลการดำเนินงานที่สำคัญคือ : มาตรการจัดการ “ผักและผลไม้ปลอดภัย” ตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจกับ “ผู้บริโภค” ในการกินผักและผลไม้ 400 กรัมต่อวัน… เพื่อนำไปสู่การ “ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (Non Communication Diseases : NCDs) โดยเฉพาะประเด็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) ไตวาย และมะเร็ง แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 : “ต้นน้ำ” (ฟาร์มและเกษตรกร) : 1.1 ตรวจรับรองฟาร์มผลิตผัก ผลไม้ สู่ “ระบบมาตรฐานการผลิตทางเกษตรที่ดี” (Good Agriculture Practices : GAP) 1.2 กระตุ้นผู้ผลิตและผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดย (ก) ส่งเสริมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP ในรูปแบบแปลงใหญ่ (ข) ส่งเสริมการรับรองแบบกลุ่ม

ส่วนที่ 2 : “กลางน้ำ” (แหล่งรวบรวมโรงคัดบรรจุและแหล่งจำหน่าย) 2.1 จัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง : กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บผักและผลไม้สดบางชนิด และการแสดงฉลาก 2.2 จัดทำแผนบูรณาการการเฝ้าระวังผักและผลไม้สด วิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบอย่างง่ายและห้องปฏิบัติการร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.3 ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) GAP เกี่ยวกับโรงคัดบรรจุ 2 ฉบับ 2.4 ให้การรับรองมาตรฐาน GMP หรือ HACCP แก่สถานประกอบการประเภทโรงคัดบรรจุผัก ผลไม้ และโรงผลไม้สด

ส่วนที่ 3 : “ปลายน้ำ” (ผู้บริโภค) 3.1 จัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บูธผัก ผลไม้ปลอดภัยร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 3.2 จัดงานวิชาการสานพลังประชารัฐ พัฒนาผัก ผลไม้ปลอดภัย

ผลการดำเนินงานของ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ในส่วน “ต้นน้ำ” ถึงปัจจุบันในบรรดาพืชที่ได้รับ “GAP” (100,000 ราย) ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ส่งเข้าตลาดที่ต้องการ GAP หรือตลาดส่งออกและตลาดโมเดิร์นเทรด โดยในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรต้องการแรงจูงใจ ถ้าผู้ซื้อมีความต้องการ เกษตรก็สามารถทำให้ได้ GAP ได้

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ได้มีการดำเนินการแล้ว 200 แปลง เป็นแปลงผัก ผลไม้ 40 แปลง ซึ่งแปลงใหญ่ในที่นี้ หมายถึงกลุ่มพื้นที่ที่มีเกษตรกรหลายสังคมรวมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกัน การดูแลลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต บริหารการตลาดร่วมกัน รวมกลุ่มถ่ายทอดความรู้ มีการโซนนิ่งในพื้นที่ที่เหมาะสม การรับรอง GAP นำไปสู่ “การส่งเสริมการรับรองเกษตรกรแบบกลุ่ม” และประเด็น GAP โรงคัดบรรจุ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้การรับรองโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออกประมาณ 200 โรง โดยบางโรงคัดบรรจุจำหน่ายในประเทศด้วย

ชุดที่ 3 : คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี มีผลการดำเนินงาน คือ (3.1) การส่งเสริมสุขภาพในชุมชนอย่างบูรณาการ (3.1.1) จัดทำเอกสารคู่มือการเรียนการสอน และกิจกรรมบูรณาการดำเนินการด้านการเกษตร อาหาร โภชนาการ และสุขภาพสู่ “โรงเรียน” สพฐ. (3.1.2) ทำหลักสูตรด้านการจัดการอาหารและโภชนาการทางชุมชน เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขในชุมชนมีความรู้ ความสามารถด้านอาหารและโภชนาการ (3.1.3) ริเริ่มโครงการนำร่องการจัดการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารเพื่อลดโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (3.2) สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย เพื่อแสดง “บนฉลากอาหาร” โดยจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 373) เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารและจัดทำประกาศสำนักคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องคำชี้แจงประกาศกระทรวง (ฉบับที่ 373) พ.ศ.2559 เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร

ทั้งหมด 3 ชุดดังกล่าว ได้รายงานผลการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปี เป็นการทบทวนภารกิจ ซึ่งในการแปลงนโยบายสู่พื้นที่ปฏิบัติงาน (Implementation) ลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน จะต้องมีการประสานบูรณาการโดยยึดพื้นที่เป็นฐานสำคัญ (Area Base) เพื่อเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างผลกระทบ (Impact) ในการดำเนินงานให้มากขึ้น

กรณี “อาหารแปรรูป” ไม่ว่าอาหาร พืช หรือโดยเฉพาะ “เนื้อสัตว์” ไม่ว่าไก่ เป็ด หมู เนื้อวัว เนื้อควาย เป็นต้น หากมีการใช้สารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารใดๆ ก็ตาม ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า ก็ควรต้องแสดงข้อมูลบน “ฉลาก” ให้ผู้บริโภคหรือ “คนกิน” ได้รับทราบ เพราะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุได้กำหนดให้มีการแสดงชื่อ กลุ่มหน้าที่ของ “วัตถุ” เจือปนอาหาร ร่วมกับตัวเลขจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร International Numbering System : INS Food Additive ในกรณีที่มีการใช้ หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหารในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร

ในฐานะคนไทย ประสงค์อยากให้ประชาชนคนไทย ซึ่งเป็น “ผู้บริโภค” คนที่ต้อง “กิน” ได้บริโภคอาหารสดๆ ธรรมชาติ ไร้สารเคมี ไร้สารปนเปื้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารฟอกขาว สารเร่งเนื้อแดง สารกันบูดหรือสารเข้าโลหะหนัก หรือแม้แต่สารไนเตรต หรือไนไตรต์ใดๆ ทั้งสิ้นเลย เพราะจะเป็นการป้องกัน หลีกเลี่ยง การแพ้สารปนเปื้อนที่มีผลต่อระบบหายใจ ระบบหัวใจ อาจเสียชีวิตได้ทันที บางรายอาจจะเป็นสารก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายอื่น เช่น ตับ ไต หรือเป็นมะเร็งอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้

หากมีความจำเป็นจริง ใคร่ขอให้ “ผู้บริโภค” ใช้ “ข้อมูล” ในการบริโภคเพื่อจะได้ใช้สิทธิในการเลือกซื้อสินค้าที่ “ปลอดภัย” ให้ “ตนเอง” และให้เชื่อคำเตือนจากภาครัฐ ไม่ว่า “อย.” สถาบันวิชาการต่างๆ เอง หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีคำเตือนตลอดเวลา ให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดังกล่าว ควรเลือกรับประทานอาหารสดๆ ปลอดสารพิษ กินหลากหลายและมีความเหมาะสม

อนึ่ง “จริยธรรม คุณธรรม” ของแหล่งผลิตจากฟาร์มผลิต บริษัทผลิต บริษัทร้านค้า ผู้แทนจำหน่าย พ่อค้า แม่ค้า แหล่ง “ขาย” ทั้งที่อยากได้เงิน ควรคำนึงถึง “ชีวิต” มนุษย์ “คนกิน” ก็คือ “คน” เหมือนกัน และขอให้คิดว่า “คนซื้อ” หรือ “ลูกค้า” ท่านเป็น “ลูกหลาน” ของท่าน คนอื่นกินแล้วเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ถ้าเป็นลูกหลานท่านกินก็เกิดได้เหมือนกัน เชื่อว่า “กฎแห่งกรรม” “กรรม” เป็นผู้กำหนด ทุกๆ ท่านผู้ประกอบการธุรกิจดำเนินด้วยบริสุทธิ์ใจซื่อตรง ไม่หลอกลวงประชาชน หากินบนความทุกข์ของผู้อื่น ก็ขอให้กิจการท่านจงเจริญ คนไทยเราก็จะเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image