จิตวิวัฒน์ : Internal System Family (IFS) ระบบครอบครัวภายใน : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน “เมื่อโลกภายในเปลี่ยนแปลง โลกภายนอกก็ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง” (บำบัดโลกภายในด้วยจิตวิทยาตัวตน)

สมองของคนเราทำงานอย่างเชื่อมโยง ทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึก ที่พร้อมก่อประกอบร่วมกับความทรงจำในอดีต ทั้งยังส่งผลต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตในอนาคต เมื่อเราย้อนกลับมาหาระบบความนึกคิดภายใน และการสำรวจอารมณ์ความรู้สึก จะเกิดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่างๆ ของตนเอง

แต่การเริ่มต้นการเรียนรู้ภายในด้วยตนเองเป็นเรื่องที่หลายคนบ่นว่าจับต้องได้ยาก ผู้เขียนจะขอนำเสนอรูปแบบการศึกษาโลกภายในโดยเน้นที่รายละเอียดของตัวตนต่างๆ ที่ก่อร่างจนเป็นเราทุกวันนี้ คือ “Internal System Family – IFS” (ระบบครอบครัวภายในเรา)

องค์ความรู้ของจิตวิทยาตัวตนจะให้ความสำคัญในการแยกแยะด้านต่างๆ ออกมาทำความรู้จัก โดยที่เราทุกคนสามารถเรียนรู้นิสัยของตัวเอง ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร มีการแสดงออกอย่างไร คิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราจะให้ความใส่ใจอย่างละเอียดลออ ว่าลึกไปกว่าการเข้าใจนิสัยต่างๆ ยังมีส่วนที่ซุกซ่อนที่มาของด้านนั้นๆ อยู่ภายใน ความต้องการเบื้องลึกที่อาจจะไม่เคยเผยหรือได้รับการใส่ใจจากตัวเราเอง

Advertisement

ในร่างกายของคนเรามีอวัยวะที่ก่อเป็นตัวเป็นตนรวมๆ จนเรียกว่าเป็น “ตัวฉัน” มี แขน ขา สมอง ผิวหนัง ฯลฯ ซึ่งในด้านของจิตใจ จิตก็มีอวัยวะเช่นกัน ทั้งด้านที่เป็นคุณลักษณะบวกและลบ และส่วนของ “จิตที่เปิดรับ” (Self) ที่มีความเป็นกลาง ไร้เสียงตัดสิน มีศักยภาพแห่งการเชื่อมต่อเชื่อมโยงดั่งธรรมชาติที่ไม่แยกขาดจากสิ่งใด และมีความเมตตาที่พร้อมจะเยียวยาจิตใจส่วนต่างๆ เป็นดั่งแกนกลางของระบบชีวิตของมนุษย์ พร้อมจะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

เมื่อทุกคนเคยเป็นเด็กทารกตัวน้อยๆ ที่โลกเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณ รอคุณค่อยๆ เติบโตเพื่อเรียนรู้แต่ละสิ่งแต่ละอย่าง ว่าอะไรเป็นมิตรต่อคุณ มอบความรักและการยอมรับแก่คุณ และในทางตรงกันข้าม รู้จักว่าอะไรที่ทำลายคุณได้ คุกคามและคอยสร้างความกลัวกับจิตใจและร่างกายของคุณ

กลไกของจิตจะค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างเป็นความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติ จนกลายเป็นด้านด้านหนึ่ง หรือนิสัย นิสัยหนึ่ง บุคลิกภาพแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งจะขอเรียกสั้นๆ ว่า “ด้าน” (Part)

Advertisement

ในการดูแลจิตใจพ่อและแม่ที่เจอความปั่นป่วนในการเลี้ยงดูลูก โดยที่จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกด้านลบของตนเองไม่ได้ ฉันได้ลองนำพาให้พวกเขาเปิดมิติการเยียวยาใจตนเองด้วยเครื่องมือจิตบำบัดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ได้สัมผัสแบบฝึกหัดจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

“รู้สึกผ่อนคลายขึ้น ถึงแม้เรื่องทุกข์ใจจะยังคงอยู่ แต่พอได้สัมผัสถึงสภาวะโล่งๆ กลับเห็นทางออกของปัญหาได้”

แม่คนหนึ่งเคยมาปรึกษาฉันเกี่ยวกับภาวะความรู้สึกหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นขณะที่เธออยู่ต่อหน้าลูกวัยห้าขวบ เธอบอกไม่ถูกว่ามันคือความรู้สึกใด แต่รู้ว่าตัวเองไม่ชอบเลยที่เป็นแบบนี้ ฉันลองให้เธอช่วยเล่าถึงสภาพการเลี้ยงดูลูกในปัจจุบันให้ฉันฟังคร่าวๆ จึงนำพาให้คุณแม่ได้ลองทำแบบฝึกหัดนี้ โดยการแยกด้านหนึ่งออกมาจากการครอบงำจิตใจเธอก่อน แล้วให้เธอค่อยๆ สร้างกระบวนการเยียวยาความรู้สึกที่บอบบางภายในด้วยตัวเธอเอง

เวลาผ่านไปหลายเดือน คุณแม่ท่านนี้กลับมาเจอฉันอีกครั้ง และได้บอกเล่าว่า “หลังจากทำกระบวนการเยียวยาด้วย IFS ไปแล้ว ทำให้ฉันควบคุมด้านเพิกเฉยๆ กับลูกๆ ได้ และบอกความไม่พร้อมกับลูกๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวดูผ่อนคลายขึ้น ลูกๆ ของฉันกลับบอกว่า ฉันยิ้มง่ายได้ด้วย”

เมื่อเราได้ทำการสรุปแบบฝึกหัดนี้ร่วมกัน จึงเกิดการตระหนักรู้ถึงเสี้ยวส่วนด้านลบที่ตัวเธอกดทับตนเองมานานหลายปี และเริ่มเล็งเห็นว่า ตัวเธอนั่นเองที่จะแสดงท่าทีปิดกั้นความรู้สึกภายในต่อตนเองและคนรอบข้าง จึงนำมาซึ่งความห่างเหินจากลูกและสามี และส่งผลให้เธอรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต

เธอค้นพบว่า เธอสามารถอนุญาตให้ตนเองมีความรู้สึกในด้านต่างๆ ได้ ทั้งความรู้สึกลบและบวก โดยไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ภายในคนเดียว

เธอสามารถบอกกล่าวให้คนรอบข้างรับรู้ได้โดยไม่ต้องกลัวการปฏิเสธ เธอรู้ว่า เธอต้องการเวลาที่จะอนุญาตให้ตนเองมีความรู้สึกบอบบางได้เสมอ

ในจิตใจของคนเรานั้น อารมณ์มักจะเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนที่สามารถนำพาไปได้หลากหลายทิศทาง ความนึกคิดต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน การเยียวยาความรู้สึกภายในจึงเน้นไปที่การรองรับความรู้สึกต่างๆ ก่อนที่จะหาทางออก

ซึ่งคนที่สามารถเพิ่มทักษะการรองรับจิตใจภายในของตนเองเป็น ปัญหาอาจจะหมดไปได้สักครึ่งหนึ่งแล้ว และบางทีทางออกอาจจะอยู่ที่ทางเข้าก็ย่อมได้

ญาดา สันติสุขสกุล
FB : Yada Santisukskul
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image