กรณี 3 ดร.น่าเสียดาย ขาด “เบรกชีวิต” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“เจริญจิตภาวนา” ถือเป็นคำสอนที่ทำให้พระพุทธศาสนามีเอกลักษณ์พิเศษต่างจากศาสนาอื่น เพราะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ ได้ หากแต่ได้ทำ “กรรมฐาน” ท่านจะรู้ว่ามันให้ทุกข์อย่างไร? ทุกข์มันเดือดร้อนแค่ไหน มันหนักเท่าไร

กรณีสาม ดร.ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หากพิจารณาตามหลักพุทธศาสนาว่าด้วย “กฎแห่งกรรม” ที่ทำให้มาบรรจบเจอกันแล้วก็ต้องจากกันด้วยเหตุฉะนี้

การศึกษาปฏิบัติธรรมด้วย “เจริญกรรมฐาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปัสสนากรรมฐาน แนวทางสติปัฏฐาน 4 ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม แนะนำเป็นวิธีทำบุญใช้หนี้กรรมในอดีต เสริมสร้างชีวิตปัจจุบันให้ดีขึ้นได้ ทั้งยังเป็นหลักประกันให้อนาคตว่าจะพบแต่สิ่งดีงาม ดั่งความตอนหนึ่งที่หลวงพ่อกล่าวไว้ว่า…

“การเจริญกรรมฐาน โดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน 4 นั้น เป็นทางสายเอก ถ้าทำได้จะระลึกชาติได้จริง นึกได้เลยว่าทำอะไร มีอะไรชั่วมาก่อน รู้กฎแห่งกรรม เพื่อจะได้ใช้หนี้กรรมเขาไป ไม่ปฏิเสธทุกข้อหา มีปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต ถ้าใครทำกรรมฐานได้ลึกซึ้ง จะรู้เหตุผลของชีวิตได้อย่างดีที่สุด จะเว้นการทำ พูด คิด ที่จะก่อความทุกข์เดือดร้อนให้เกิดแก่ตนเองและคนอื่น มันเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างนี้”

Advertisement

ผู้เขียนในฐานะลูกศิษย์หลวงพ่อ และหลายๆ ท่านที่คุ้นเคยและได้เข้าถึงและปฏิบัติธรรมด้วย “วิปัสสนากรรมฐานจริงๆ” ชั่วชีวิตหนึ่งคงจะพบว่าสิ่งดีๆ อันเป็นมงคลเข้ามาในชีวิต และครอบครัวเราและท่านอย่างน้อย 15 ประการ

1) หากท่านเริ่มปฏิบัติในช่วง 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน หรือมากกว่าจะพบได้ว่า “การขัดเกลาตัวเอง” เราจะรู้ได้ด้วยตนเอง บางคนทุกข์ระทม กลุ้มใจ วิตกจริต บางคนถึงกับอยากฆ่าตัวตาย หรือโมโหฉุนเฉียวมากๆ เราจะรู้ได้ว่าตัวกิเลสที่มีกำลังมากที่สุด ไม่ใช่ตัวน้อยที่สุด ก็จะพบว่า “อารมณ์” ดังกล่าวจะอ่อนแรงได้ มีความ “อดทน อดกลั้น” จะเพิ่มขึ้น ส่วนกิเลสตัวเล็กๆ จะค่อยๆ เกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามมากนัก

2) สรุปได้ “โทสะ” เห็นง่าย เกิดง่าย สร้างความสูญเสียรุนแรง แต่เบื้องต้นจะกำจัดง่ายกว่าโลภะ ราคะ จะรู้สึกเย็นขึ้น ใจสบายขึ้น มีความอดทนสูงขึ้น

Advertisement

3) เมื่อกำจัดกิเลสหยาบๆ ได้บางส่วนอย่างต่อเนื่อง กิเลสละเอียดที่เข้ามา ตัวอย่างเช่น มีบางอย่างต้องเสียสละ เนื่องด้วยพอสร้างความพอใจให้เรา จำเป็นต้องอาศัยกำลัง “สติ” อย่างมากเพื่อการมีสมาธิ ปัญญา ในการรู้เท่าทันระวังตน

4) แม้ว่าไม่พูดในทางร้าย แต่เรายังคิดร้ายอยู่เสมอ ปรุงแต่งขึ้นมาเองตามธรรมชาติเป็นกระบวนการของมันเอง มิใช่สิ่งที่เราจงใจสร้างมันมาเอง ดังนั้น เราจึง “ไม่ควรยอมรับ” ว่าความคิดนั้นคือ “ตัวตนของเรา” และคิดดีตลอดเวลา ก็เป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ หนทางแก้ไขก็คือ เมื่อเกิดความคิดทางร้าย ให้มีหรือตั้งสติน้อมนำเข้ามาพิจารณา จับจ้องไปที่ “ตัวความคิด” ว่า คิดหนอๆๆๆๆ คิดหนอ จะพบว่า “ทุกความคิด” จะหายไปเอง ความคิดฟุ้งซ่านจะน้อยลง ความอยากพูดจะน้อยลง อยากเป็นผู้ฟังมากขึ้น ใจเริ่มนิ่งดีขึ้น มากขึ้น นานขึ้น ท้ายสุดจะเข้าใจ “ผู้อื่น” มากขึ้น

5) “ลาภ” หรือเงินทอง วัตถุสิ่งของ “ยศ” คือ ตำแหน่งตามลำดับ “สรรเสริญ” คือ คำชื่นชม ยกยอปอปั้น “สุข” คือ ความอิ่มใจ บรรดา 4 อย่างนี้ “เงินทอง” คือส่วนที่เสียสละได้ง่ายที่สุด และที่เราต้องการเงินทอง ตำแหน่ง คำสรรเสริญ ก็เพราะเราต้องการ “ความสุข” ดังนั้น ผู้ที่มีความสุขด้วยวิธีง่ายๆ จะมีความต้องการเงินทอง ตำแหน่งและคำชื่นชมน้อยลงไปด้วย

6)ความเกรงกลัวผู้มี “อำนาจ” และเกรงใจ “คนรวย” 2 พวกนี้ เป็นเรื่องธรรมดาของ “ปุถุชน” แต่เมื่อเราพอใจในสิ่งที่ตนมี และเรียนรู้ที่จะขยายขอบเขตความ “เมตตา” ได้ระดับหนึ่ง “จิตใจ” เราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ไปอย่างน่าประหลาด ใจเราจะไม่นึก “กลัวผู้มีอำนาจ” และไม่เกรงใจ “คนรวย” อย่างไร้เหตุผล อีกทั้งยังรู้สึกเห็นใจผู้ที่ด้อยกว่า อยากช่วยเขาในฐานะ “เพื่อนมนุษย์” มิใช่ช่วยในฐานะ

“ผู้วิเศษ” กว่าเขา “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” จะเพิ่มขึ้น ความอยากเป็นคนที่ยิ่งใหญ่เป็นคนสำคัญจะน้อยลง มีความภูมิใจ พอใจ ในความเป็น “คนธรรมดา” ของชีวิต ทำให้ชีวิตมีความเรียบง่ายมากขึ้น ซับซ้อนน้อยลง

7) ในระดับหนึ่งเรามักพอรู้ได้ว่าเป็นการทำงานด้วย “จิตว่าง” เมื่อเริ่มต้นจำเป็นต้องอาศัยความรักในหน้าที่ แต่ความรักเพียงอย่างเดียว ไม่ทำให้เกิดการทำงานด้วยจิตว่างได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องอาศัย “วิปัสสนา” ควบคู่ไปด้วย คือมีความรู้สึกตัวอยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า การรู้สึกตัวเช่นนี้ ช่วยให้งานที่ทำอยู่มีความสนุกสนานเพิ่มขึ้น และความสนุกสนานนี่เองสร้างทำให้เกิด “สมาธิ” เมื่อเกิดสมาธิและมีความรู้สึกตัวขณะทำงาน เมื่อนั้น การทำงานด้วยจิตว่างก็จะเกิดขึ้นมาได้ การงานที่ทำอยู่จะสามารถพัฒนาไปได้แบบก้าวกระโดด

8) การทำสมาธิวิปัสสนา คือ เหตุแห่งการละวาง ไม่ใช่ผลสมาธิ วิปัสสนาไม่ใช่เป้าหมาย หากแต่เป็น “กระบวนการ” ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ คือการ “ละวาง” แต่สมาธิ วิปัสสนา เพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการละวางได้ จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักของความเมตตา ทานและศีล ควบคู่ไปด้วยจิตจึงจะมีกำลังสามารถละวางได้เพิ่มขึ้น

9) คู่แข่งหรือข้าศึกร้ายแรงของการปฏิบัติธรรม คือ การเพ่งโทษผู้อื่น เนื่องจากทุกครั้งที่เพ่งโทษผู้อื่น “อัตตา” จะขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มมากขึ้น บางครั้งการเพ่งโทษผู้อื่นออกมาในรูปความหวังดี การอบรม สั่งสอน ผลที่ได้จากเพ่งโทษผู้อื่นก็คือ ความอ่อนแอ ความตกต่ำของจิต จิตที่เพ่งโทษเช่นนี้ จะกลายเป็น “จิตที่มีความยะโส โอหัง” เป็น “อัตตา” ที่มาในคราบของ “ปัญญา” ซึ่งผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมไม่ควรบ่มเพาะให้เกิดขึ้น

10) เมื่อปฏิบัติธรรมในระดับหนึ่ง จะพบว่า “จิตแยกออกเป็นสองส่วน คือ จิตที่ดีงาม อีกส่วนหนึ่งเป็นจิตใต้สำนึกที่เต็มไปด้วยกิเลส ทำให้เกิดช่องว่าง คือ สุขมาก ทุกข์มาก วิปัสสนาและสมาธินี่เอง คือส่วนที่สร้างให้สมดุล ให้เกิดขึ้น “ภาวนา” จึงมีความสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นผู้ปฏิบัติธรรมจะกลายเป็นคนสองบุคลิก

11) การแสวงหาความสุข จะทำให้ความทุกข์ตามมา (เรียกว่า ทุกขลาภ) ความสุขที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นความสุขอีกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนน้ำนิ่ง และราบเรียบ อาจเรียกว่า ความสุขชนิดความเบิกบาน หนทางที่ได้มาเกิดจากการละวางทั้งความสุขและความทุกข์ เมื่อความเป็นกลางเกิดความเบิกบานและงอกงามเกิดขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องแสวงหา

12) ความ “ศรัทธา” นั้นจำเป็นมากในช่วงต้น แต่ต้องสะสมบ้างในช่วงกลาง เนื่องด้วยความศรัทธาจะเป็นเครื่องลดทอนความกล้าหาญในการเพ่งมองชีวิตและตามความเป็นจริง อย่างไรก็ตามแม้จะลดทอนในช่วงกลางของการปฏิบัติ แต่ช่วงต่อๆ ไปตามศรัทธาที่ต่างจากช่วงต้น เพาะเป็นความศรัทธาที่ “แท้จริง” จะค่อยๆ งอกงามขึ้นเอง ต่างจากช่วงต้นเพาะเป็นศรัทธาที่ถูกทดสอบด้วย “ปัญญา” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

13)หน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์ คือ “การขัดหรือขูดเกลาความชั่วของตน” เราอาจเรียกความชั่วนี้ว่า “กิเลส” เราสามารถขูดเกลาได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า การมีความรัก การมีครอบครัว รวมถึงการเป็น “พลเมืองดี” ของประเทศชาติ สิ่งนี้เป็นหน้าที่อันดับหนึ่งของทุกคน ของทุกมนุษยชาติ ทำอย่างไรให้มวลมนุษย์ในชาติของเรา ทำอย่างไรความโลภ โกรธ หลง ของเราจะลดลง ความรู้จัก “พอ” สมาธิ ความขยัน แข่งขันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความอดทน มุมานะ การขูดเกลา “กิเลส” จะส่งผลโดยตรงต่อความเจริญ ความก้าวหน้า และความสุขในชีวิตของเราและคนในชาติ

อื่นๆ ที่เราจะพบได้จากการปฏิบัติ คือ 14) การมีชีวิตเรียบง่าย สันโดษ มักน้อยและพอใจในชีวิต 15) นอกจากนี้ยังส่งผลให้คนรอบข้าง เพื่อนๆ ญาติ และลูกน้อง สนใจในสิ่งเดียวกัน คือ “ปฏิบัติธรรม” เป็นต้น

สิ่งที่ผู้เขียนและหลายๆ คนเชื่อว่า “การทำความดีนั้น เป็นเรื่องของการทวนกระแสกิเลส” เบื้องต้น  ผู้ปฏิบัติมักไม่อยากทำด้วยฝืนใจอย่างต่อเนื่อง ความดีที่กระทำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เหมือนเติมหยดน้ำลงสู่แก้ว ขวด ลำคลอง แม่น้ำ มหาสมุทร จนบอกได้ว่าเราสามารถทำความดีขยายๆ ขึ้นได้เรื่อยๆ เหมือนดังที่คนเคยพูดกันว่า “ใจกว้างดังมหาสมุทร” สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดการสนใจตนเอง จิตใจจะน้อมนำมาสอนใจตนเองจนเกิด “สติปัญญา” เห็นพลวัตของความเคลื่อนไหว จัดวางชีวิตได้อย่างลงตัว มั่นใจ และมั่นคง “ละวาง” ได้ในที่สุด ดุจดั่ง “เป็นการเสพผลไม้จากแดนสวรรค์” ผู้ไม่เคยเสพหรือไม่เคยปฏิบัติธรรมเลย ย่อมไม่สามารถเข้าถึง “ความอิ่มอร่อยได้” จำเป็นต้องใช้ “ตา” ของตน “หู” ของตน “จมูก” ของตน “ลิ้น” ของตน “กาย” ของตน และ “ใจ” ของตน เข้าไปสัมผัสด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง ดุจดั่งว่า “การปฏิบัติธรรม” คือ “ยาวิเศษ” คือ “วัคซีนชีวิต” สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตของเราได้ 3 เรื่องเป็นอย่างดี คือ ระลึกชาติได้จริง รู้กฎแห่งกรรมได้ และมีปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตได้ ไม่ต้องไปหาพระรดน้ำมนต์ ไม่ต้องไปหาหมอดู

กรณีตัวอย่างของ “3 ดอกเตอร์” ทั้งสามท่าน นับว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ายิ่งต่อครอบครัว มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียอย่างน่าเสียดายยิ่ง หากท่านมี “เบรกชีวิต” คือมี “ศีล” และ มี “สติ” เข้าถึง “ทาน ศีล ภาวนา” เป็นเบื้องต้นก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ ให้มี “สติ” และเกิด “ปัญญา” คงจะไม่เกิดคำว่า “เสียใจ” ตามที่ปรากฏในสื่อนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image