จิตวิวัฒน์ : ที่ทางของคุณบนโลกนี้ : A Life at Work (1) : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

ทุกวันนี้ สิ่งที่คุณทำซึ่งอาจหมายถึงงานหรือบทบาทหน้าที่ต่างๆ สอดรับกับความเป็นตัวคุณมากน้อยขนาดไหน? คุณมีความสุขกับสิ่งที่เรียกว่าบทบาทหน้าที่ไหม? คุณค้นพบศักยภาพที่จะหลอมรวมสิ่งที่ทำเพื่อการอยู่รอดและการอยู่อย่างมีความหมายหรือไม่?

คำถามเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้คุณได้พบกับความหมายแห่งชีวิตตน หากคุณพบเจองานของชีวิตที่ทำแล้วสุขใจ ค้นพบการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย และขัดเกลาศักยภาพที่คุณมีอยู่ให้เติบโตได้

เราจะลองเดินทางภายในและฝึก “ฟังเสียงเรียกเพื่อค้นหาสิ่งที่คุณเกิดมาเพื่อกระทำ”

มีผู้คนมากมายที่ภายนอกดูยิ้มแย้มแจ่มใส ชีวิตไปได้สวย แต่ลึกๆ กลับหมดหวังกับงานที่ตนเองทำ การไม่สามารถหางานที่ใช่หรือมีความสุขกับงานที่มี ก่อให้เกิดความเศร้าหดหู่ภายใน ทว่าพวกเขากลับไม่เคยเชื่อมโยงความเศร้าหดหู่นี้เข้ากับงานเลย คาร์ล จุง เคยกล่าวไว้ว่า “ความคิดสร้างสรรค์คือสัญชาตญาณ ไม่ใช่พรสวรรค์สำหรับคนไม่กี่คน ถ้าคุณไม่คิดหาวิธีที่จะสร้างสรรค์สิ่งใดในชีวิต สัญชาตญาณจะถูกกดทับและคับข้อง คุณจะรู้สึกห่อเหี่ยว พลังชีวิตเหือดหาย คุณจะรู้สึกว่างเปล่า ถูกตัดขาด และไม่ได้รับการเติมเต็ม”

Advertisement

แต่การงานที่มีความหมายต่อวิญญาณของเรา สร้างกันได้ไม่ง่ายนัก ยิ่งในยุคสมัยที่ให้คุณค่าต่อการหาเลี้ยงปากท้องและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่พอกพูน เราจึงต้องมีเงินมากๆ เท่าที่จะทำได้ มีงานที่พอจะทนได้ และบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจกับ “เสียงเรียก” ภายในของแต่ละคน ขอเพียงให้พนักงานทำหน้าที่บรรลุตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ และที่สำคัญคือ เรามองไม่เห็นว่าที่ทำงานคือห้องทดลองเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของเรา แต่กังวลไปกับสิ่งต่างๆ ที่เราจะได้รับ เช่น ค่าตอบแทน ภาพลักษณ์ ความก้าวหน้า ในขณะที่การพัฒนาชีวิตจากการทำงานจะส่งผลอย่างลุ่มลึกในการใช้ชีวิตประจำวัน การได้ทำสิ่งที่รัก เรียนรู้จากความท้าทายต่างๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน มักจะช่วยให้คุณรู้สึกสงบสบายใจ คุณเป็นตัวของตัวเองได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน สิ่งนี้ใช่ไหมที่มนุษย์ต้องการจะพบเจอ

ความสำคัญของงานบำบัดจะมองไปที่รากเหง้าของครอบครัว และมุมมองต่อตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะกดทับเส้นทางที่เป็นตัวคุณอยู่ หรือบางคนอาจจะสั่งสมอารมณ์ลบๆ มานานหลายปี เมื่อไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างเหมาะสม อาจกลายเป็นความซึมเศร้า ขาดแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งที่ตนต้องการ หรือเกิดช่องว่างระหว่างความทะเยอทะยานกับความสำเร็จที่เจ้าตัวไม่พยายามจะมอง สภาพที่เจอคือ “การย่ำอยู่กับที่”

จะเห็นได้จากตัวอย่างของการโกรธตัวเองที่ไม่เอาไหน แล้วไปลงกับครอบครัว เพราะพวกเขาอยู่ใกล้มือและไม่มีวันเอาความลับไปพูด ภาวะติดสุรา ความเกรี้ยวกราด และความล้มเหลว คือความหงุดหงิดที่ชีวิตไม่คืบหน้า

Advertisement

หลายคนบนโลกต่างส่งเสียงบอกให้คุณต้องเดินไปถึงที่ใดที่หนึ่ง ต้องก้าวหน้าในชีวิตตลอดเวลา จนกลายเป็นสิ่งที่คุณต้องคอยฟังและตอบสนองด้วยความตึงเครียด ยิ่งส่งผลให้คุณรู้สึกแย่กับตัวเองที่ต้องจมปรักอยู่กับที่ แต่แท้จริงแล้วคุณอาจจะไม่เคยเจองานที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ฝันและหวังก็เป็นได้

งานแห่งชีวิตไม่ได้หมายถึงคุณค่าทางสังคมที่ดูยิ่งใหญ่ แต่หมายถึงงานที่ใจเรียกร้องให้ทุ่มเท เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ส่งผลต่อใจของคุณเอง ซึ่งคุณจะรับรู้ได้เองถึงเสียงเรียกนั้นๆ

ถ้าคุณคิดจะทำตามเสียงเพรียกภายใน คุณจะเริ่มคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะนานมาแล้วที่คุณเรียนหนังสือจนจบ กว่าจะฝึกฝนจนเป็นงาน คุณได้ลงทุนปรับเปลี่ยนหลายอย่างในตัวเองเพื่อให้เข้ากับงาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อคุณคิดจะเปลี่ยนแปลงไปหาสิ่งใหม่ที่อยากทำจริงๆ เพราะหมายถึงคุณจะต้องค้นหาบทเรียนใหม่ แบบฝึกหัดใหม่ในการเปลี่ยนแปลงตัวตน เพื่อรองรับสิ่งใหม่

หลายคนจะมองจุดนี้ว่าเป็น “อุปสรรคที่ขวางใจไม่ให้ฟังเสียงเพรียก” ใจคุณกลัวว่าจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ เหมือนยืนอยู่บนทางแยก ด้านหนึ่งคือความมั่นคง คุ้นเคย อีกด้านหนึ่งคือเส้นทางใหม่ ความไม่รู้ รากฐานความมั่นคงเดิมอาจช่วยให้คุณทำสิ่งใหม่ได้ดี แต่ก็อาจกลายเป็นความหวั่นไหวหากจะต้องจากไปสู่ความไม่รู้

เช่น หากคุณเป็นบุรุษไปรษณีย์และมีเพียงวันหยุดที่สามารถเล่นดนตรีได้ แต่เสียงเรียกภายในเรียกร้องให้คุณเป็นนักดนตรีอาชีพ คุณคงนึกภาพตอนที่จะทำมันอย่างเต็มเวลาไม่ออก

บางทีเราอาจจะติดกับดักความคิดในเรื่องเสียงเรียก เพราะมันจำเพาะเจาะจงและชัดเจนเกินไป จนความเป็นตัวคุณไม่สามารถตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นได้ เป็นเรื่องดีหากคุณจะเปิดโอกาสสำรวจทางเลือกหลากหลายแบบ และสนุกไปกับการเดินทาง

คุณอาจได้ทำหลายอย่างจนพบสิ่งที่เหมาะจริงๆ ถึงแม้สิ่งที่ทำอาจจะดูขัดแย้งกัน เพราะแต่ละสิ่งล้วนมีเจตนารมณ์ในตัวเองที่อาจช่วยคุณให้ตระเตรียมเพื่อพบเจอสิ่งที่ใช่

โทมัส มัวร์ เป็นหนึ่งในคนที่มีเสียงเรียกหลายเสียง เขาเป็นทั้งบาทหลวง ครู นักดนตรี นักบำบัด และนักเขียน ถึงแม้จะมีครอบครัวไปพร้อมกันด้วย แต่เขาก็ใฝ่หาการเติมเต็มสิ่งที่โหยหาอยู่เสมอ มัวร์เคยให้คำปรึกษาแก่บาทหลวงวัยเจ็ดสิบท่านหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้สึกว่ามีเสียงเรียกให้เป็นนักบวช แต่ก็เป็นมานานกว่าครึ่งศตวรรษ เขาเสียใจที่ทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเสียงเรียกให้ทำ พอเข้าสู่วัยชรา เขารู้สึกขมขื่นและซึมเศร้า เขาจะนำภาพวาดสีสดสวยมานั่งจ้อง พลางมองหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากความเศร้านั้น เขาค้นพบความเพลิดเพลินละมุนละไมที่ได้แสดงความรู้สึกผ่านงานศิลปะและจิตวิทยา ถึงแม้เขาจะค้นพบว่าตัวเองไม่ได้อยากเป็นบาทหลวง แต่เขาก็ทำได้ดีทีเดียว มีผู้คนมากมายเข้ามาหาและรักเขา เขายังคงพูดถึงภาวะซึมเศร้าของตัวเองพร้อมกับการค้นพบพลังชีวิตใหม่ไปด้วย

“มัวร์คิดว่า จริงๆ แล้วชายผู้นี้มีเสียงเรียกให้บวช ซึ่งเขาทำได้ดีมาก ทว่าเขามาถึงจุดที่ได้ลิ้มรสทางโลกซึ่งได้ละไปนับตั้งแต่ปฏิญาณตน และเขาอยากได้ชีวิตใหม่เหลือเกิน สถานการณ์นี้เป็นความเศร้าระคนสุข เพราะความเศร้าทำให้เขาเป็นปุถุชนมากขึ้น ได้เชื่อมโยงกับผู้คนรอบตัวมากขึ้น ความเบิกบานและอารมณ์ขันของเขาถูกความหดหู่เศร้าหมองกลบไว้ แต่ของขวัญนี้ก็ยังอยู่ นี่คือชายผู้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสองเสียงเรียก เสียงหนึ่งมีสีสันของความเสียใจ อีกเสียงหนึ่งคล้ายกับว่าเป็นไปไม่ได้ในวัยอย่างเขา อย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่เขารู้สึก แต่สุดท้ายการมองโลกในแง่ดีเริ่มปรากฏ กระแสความซึมเศร้าในตัวยังไม่หายไป แต่เขาสามารถเป็นนักบวชอีกประเภทหนึ่งที่เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษา การใช้ศิลปะบำบัด และรู้จักอุปสรรคที่คนเราต้องฝ่าฟันเป็นอย่างดียิ่ง”

เมื่อคุณค้นพบงานที่ใช่ คุณจะมีชีวิตชีวา งานจะเยียวยาคุณเอง เอื้อให้คุณรู้สึกสัมผัสกับธรรมชาติรอบข้างอย่างไม่ต้องพยายามใดๆ เสมือนการทาบกิ่งระหว่างตัวคุณกับสิ่งที่คุณรักจะทำ ช่วยให้ต้นไม้นั้นผลิดอกออกผลในที่สุด

ญาดา สันติสุขสกุล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image