การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (2) : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดโพธิ์บางโอ แสดงการละหนีอุปาทานขันธ์ 5

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิบัติธรรมเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น คณะธรรมยุติกนิกายเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสทั้งในด้านวินัยสงฆ์และวัตรปฏิบัติ ธุดงควัตรได้รับการส่งเสริมตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังครองเพศบรรพชิตโดยพระองค์เสด็จจาริกไปตามป่าเขาทุกปี

ในรัชสมัยของพระองค์ วัดที่ทรงสร้างขึ้นสำหรับฝ่ายธรรมยุติกนิกายและการปฏิบัติธรรม ได้แก่ วัดโสมนัส วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐฯ และวัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นต้น

กำลังสำคัญในพระวชิรญาณเถร รัชกาลที่ 4 ช่วงก่อตั้งคณะธรรมยุตเป็นศิษย์ในพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทโว) เป็นต้น ต่อมาศิษย์จากหัวเมืองมีเพิ่มขึ้น ส่วนที่มีบทบาทเด่นคือ ศิษย์ที่มาจากเมืองอุบล และเมืองโขง (สีทันดรหรือสี่พันดอน)

ศิษย์ที่มาจากหัวเมืองทั้งสองนี้เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งในการเผยแผ่ธรรมในอีสาน พระอาจารย์ก่ำ คุณสัมปันโน ศิษย์ชาวสีทันดรที่วัดบวรนิเวศ ทรงให้ครองวัดปทุมวนาราม และเป็นผู้ไปบุกเบิกธรรมยุติกนิกายที่สีทันดรและจำปาศักดิ์ พระพันธุโล (ดี) ชาวเมืองอุบลไปครองวัดสุปัฏนารามที่อุบล พระเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นหลานของพระพันธุโลไปครองวัดศรีทอง ซึ่งสร้างขึ้นเป็นวัดธรรมยุตแห่งที่สอง

Advertisement

ทั้งสามท่านนี้เป็นกำลังหลัก และมีการเผยแผ่พระศาสนาร่วมกัน วัดปทุมวนาราม วัดจำนวนมากในสีทันดรและวัดที่อุบล จึงนับเป็นแหล่งธรรมที่มีความปึกแผ่นจนเป็นสายปฏิบัติเดียวกัน ศิษย์พระอาจารย์ก่ำก็มาศึกษากับพระเทวธัมมี เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามหลายรูปก็เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ก่ำ

ดังนั้นคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จึงเริ่มมีเสาหลักด้านการปฏิบัติเพิ่มขึ้นมาเป็นที่วัดปทุมวนาราม และวัดศรีทองด้วย (ส่วนที่สีทันดรและจำปาศักดิ์ เมื่อสยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 2436 คณะสงฆ์ที่นั่นก็ได้รับผลกระทบ)

และเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดศรีทองก็ได้ก่อกำเนิดพระปรมาจารย์กรรมฐานสายวัดป่า ซึ่งได้แก่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั่นเอง

Advertisement

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ถ้ากล่าวทางด้านแนวทางการปฏิบัติธรรม วิธีปฏิบัติของคณะธรรมยุตนั้นนับว่าแตกต่างออกไปจากแนวทางเดิมของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ ไม่เน้นกสิณและไม่เน้นการเจริญฌาน

การสืบทอดจากคณะกัลยาณีสีมาของมอญมีส่วนที่เป็นพระวินัยรวมทั้งส่วนที่พระธรรมด้วย ในประวัติศาสตร์นั้นคณะกัลยาณีได้รวบรวมคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากลังกามาอย่างสมบูรณ์ที่สุด ความพยายามสืบสมณวงศ์ให้บริสุทธิ์ตามแบบของคณะกัลยาณีอาจมีผลไปถึงวิธีปฏิบัติได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังต้องการนักประวัติศาสตร์ศึกษาค้นคว้าไปถึงวิธีปฏิบัติดั้งเดิมของคณะกัลยาณีด้วย

คณะธรรมยุติกนิกายถือเป็นวิปัสสนาวงศ์ที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากคณะกัลยาณีสีมาแม้ว่าจะมีรากฐานมาจากสยามวงศ์อย่างมากก็ตาม

แนวทางปฏิบัติที่สืบทอดมาแต่ครั้งกรุงเก่ามีอุปสรรคหลายประการ เช่น อาจารย์บอกกรรมฐานที่มีประสบการณ์สูงมีไม่เพียงพอ และมีพระภิกษุจำนวนมากยังติดอยู่กับการแสดงฤทธิ์เดช หรือคาถาอาคม โดยที่มีข้อกังขาว่าพระภิกษุเหล่านั้นมีความสำเร็จในสมถกรรมฐานมากจริงหรือไม่

สมถกรรมฐานเป็นสมาธิวิธีที่ให้ประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติได้อย่างมาก จึงเป็นที่นิยมมากในอดีต เป็นแนวทางที่ให้ความสุขทางจิตหรือฌานสุขและสามารถให้ศักยภาพพิเศษ ผู้ปฏิบัติในแนวทางนี้ถือเป็นแนวทางทางอ้อมที่ให้การพักผ่อนทางจิตและมีประโยชน์ในทางโลก เช่น วิทยาคมและการรักษาความเจ็บป่วย แต่สำหรับพระสงฆ์นี้ยังมิใช่แนวทางแห่งการหลุดพ้น

การชี้แนะของอาจารย์บอกกรรมฐานมีความสำคัญสำหรับแนวทางสมถวิปัสสนา ทั้งนี้ เพราะสมถกรรมฐานเป็นการปฏิบัติทางจิตที่อาจติดประสบการณ์บางประการ เช่น นิมิต และปีติจนเกิดความเข้าใจผิด หรือหลงทางจนยากที่จะแก้ไขให้การปฏิบัติสามารถมุ่งตรงต่อไปสู่มรรคผล

นอกจากนี้ การอบรมกรรมฐานตามแบบฉบับดั้งเดิม มักครอบคลุมวิธีปฏิบัติมากมายหลายบทตั้งแต่กสิณต่างๆ จนถึงกรรมฐานบทอื่น ความเชี่ยวชาญในกรรมฐานเฉพาะที่ควรใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ จึงอ่อนลงไปถ้าผู้ปฏิบัติต้องทดลองเปลี่ยนแปลงวิธีเริ่มต้นไปหลายต่อหลายวิธี พระภิกษุที่สนใจแต่ละวิธีปฏิบัติยังต้องแสวงหาอาจารย์กรรมฐานที่เชี่ยวชาญเฉพาะวิธีนั้นๆ เช่น ผู้สนใจฝึกกสิณไฟ หรือกสิณลมก็ต้องเสาะหาอาจารย์ที่สำเร็จกสิณไฟ หรือกสิณลม เป็นต้น

สำหรับผู้คนจำนวนมาก การอบรมกรรมฐานที่ให้ผลดีจะเป็นการฝึกเจริญกรรมฐานบทที่ผู้ปฏิบัติทั่วไปมักเจริญภาวนาแล้วได้รับผลที่ก้าวหน้า ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สัพพัตถกกรรมฐาน

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สัพพัตถกกรรมฐานที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติเป็นเบื้องต้น ได้แก่ เมตตา ภาวนา และมรณกรรมฐาน โดยอาจมีการรวมการเจริญอสุภสัญญาเข้าไว้ด้วย

แนวทางกรรมฐานที่คณะธรรมยุติกนิกายมุ่งเน้นมาตั้งแต่ต้นคือ “จตุรารักขกรรมฐาน” และนับเป็นจุดเริ่มสำคัญของการชำระวิธีปฏิบัติให้เหมาะสม สำหรับพระภิกษุจำนวนมากที่ประสงค์มุ่งตรงสู่พระนิพพาน

จตุรารักขกรรมฐาน หรืออารักขกรรมฐาน ประกอบด้วยกรรมฐานหลัก 4 บท ได้แก่ พุทธานุสติ เมตตาภาวนา อสุภะ และมรณานุสติ กรรมฐานเหล่านี้ล้วนมีการรองรับความสำคัญในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น

กรรมฐานทั้งสี่นับเป็นการชำระที่สำคัญ และส่งผลต่อความก้าวหน้าที่ลัดสั้นในการปฏิบัติ เพราะเป็นการผสมมรรค และอนุสติที่หวังผลตรงไปสู่พระนิพพาน มีผลต่อความก้าวหน้าในสมาธิขั้นสูง โดยไม่จำเป็นต้องฝึกกสิณที่มุ่งไปที่การสำเร็จการเจริญฌาน และการได้อภิญญาเสียก่อน

สำหรับผู้ที่เจริญอานาปานสติแบบดั้งเดิมก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติแล้วประคองไว้จนเชี่ยวชาญถึงขั้นที่เป็นฌานแล้ว

การเจริญภาวนาแบบจตุรารักษ์นี้ปรากฏเด่นชัดในการอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) และหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลในเวลาต่อมา

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมยุติกนิกายยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว พระองค์ทรงสร้างวัดเทพศิรินทร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดโสมนัส ในสมัยนั้นมีการเผยแผ่ธรรมสายธรรมยุตไปถึงลาวตอนล่าง และกัมพูชา ต่อมาก็ได้ไปเติบโตในดินแดนมอญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเกิดเป็นนิกายมหายานขึ้นที่นั่น ผู้มีบทบาทสำคัญคือ พระมหาเย็น พุทธวังโส ศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ส่วนทางด้านคณะสงฆ์มหานิกาย ซึ่งมีความเป็นพระบ้านและใกล้ชิดกับประชาชนทั่วไปอย่างมาก ความสนใจทางด้านคาถาอาคม และเครื่องรางของขลังมีผลต่อพระสงฆ์ การรบกวนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีมากไม่เพียงเฉพาะด้านพิธีกรรมเท่านั้น หลายรูปอาจมีเมตตาเพราะเห็นว่าการที่ประชาชนสนใจศาสนวัตถุก็ยังดีกว่าการไปกระทำบาปหรือเสพติดสิ่งอื่น ติดที่เปลือกอาจจะซึมเข้ากระพี้ได้

พระสงฆ์โดยทั่วไปที่มีชื่อเสียงด้านกรรมฐานและวิทยาคม จึงมักเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ยิ่งหลังจากกลับจากธุดงค์หรือเข้ากรรมฐานเป็นเวลานานๆ ประชาชนก็จะยิ่งขวนขวายที่จะขอพรและเข้าใกล้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า มีบันทึกว่าผู้ที่กล่าวกันว่าทรงคุณทางญาณและการปฏิบัติธรรมนั้นมี 13 รูป (สายธรรมยุต 3 รูป) เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ขรัวจากสัพพัญญู วัดภาณุรังษี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศฯ พระธรรมกิติ (แจ้ง) วัดรังษีสุธาวาส (ต่อมาเป็นคณะรังษีหรือเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร) พระจันโทปมคุณ วัดมกุฏกษัตริยาราม พระอาจารย์โพธิ์ วัดเทพนารี ท่านอาจารย์เหม วัดเทพากร และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว) วัดราชาธิวาส เป็นต้น ที่จริงก็เป็นที่ทราบกันว่ายังมีพระสงฆ์หลายรูปในสมัยนั้นที่เป็นพระเกจิที่เจริญสมถวิปัสสนา และมีชื่อเสียงทางด้านวิทยาคม

ในช่วงรัชสมัยนี้ สยามต้องเผชิญกับความรุนแรงของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกถึงขั้นที่มีความเชื่อว่าสยามจะไม่อาจรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส อิทธิพลของชาติตะวันตกที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 และ 4 มีส่วนช่วยให้ชาวสยามรับรู้ถึงวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งมีผลดีต่อสยามในทางเศรษฐกิจและสังคม ในทางพระศาสนาก็ช่วยให้มีการตรวจสอบลัทธิความเชื่อเก่าๆ และมีความเป็นศาสตร์มากขึ้น ทว่าในยุคนี้สยามกลับต้องเผชิญกับการคุกคามรังแกและต้องปรับตัวอย่างมาก ต้องอาศัยที่ปรึกษาชาวตะวันตกในกิจการบ้านเมืองและมีขุนนางชั้นสูงที่เริ่มมองลัทธิล่าอาณานิคมแบบยอมจำนนมากขึ้นด้วย

การศาสนาจึงมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยแบบตะวันตกตามไปด้วย ผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต การศึกษาของพระสงฆ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเน้นด้านปริยัติเป็นหลัก การสอบความรู้ทางด้านปฏิบัติกระทำได้ยากและต้องถูกยกเลิกไป

ในอดีตก่อนหน้านั้น กุลบุตรบวชและศึกษาในวัดช่วงระยะหนึ่ง การปฏิบัติธรรมเป็นการศึกษาปกติที่ทำให้ฆราวาสที่ผ่านการบวชเรียนแล้วมีความรู้และประสบการณ์ด้านการปฏิบัติธรรม แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่ พระภิกษุรุ่นใหม่หันไปสนใจปริยัติธรรมเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตน ส่วนที่สนใจการภาวนาต้องแสวงหาครูอาจารย์กันเอง ฆราวาสที่ผ่านการบวชเรียนจึงเริ่มขาดความรู้ด้านการปฏิบัติ ต้องอาศัยการทำบุญทำทานและการถือศีลตามวาระที่สำคัญ

การปฏิบัติธรรมนับว่าเข้าสู่ระยะตกต่ำลงเรื่อยๆ กลายเป็นกิจเฉพาะของสงฆ์ที่เคร่งครัด ฆราวาสเริ่มห่างเหินการปฏิบัติธรรมและไม่ทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นอย่างไรสำหรับชีวิตประจำวันของตน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปฏิบัติธรรมจะไม่ตอบโจทย์ของสังคมในขณะที่ทางการต้องพะวงอยู่กับการปฏิรูปการปกครองและการรับมือกับลัทธิล่าดินแดนเมืองขึ้น การปฏิบัติธรรมตามแนวทางสมถวิปัสสนาในหมู่พระสงฆ์ยังไม่เสื่อมหายไปซึ่งก็นับเป็นจุดเด่นของสยาม

พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่เป็นครูอาจารย์สมถวิปัสสนายังมีศิษย์ที่ดำเนินรอยตามอย่างเข้มแข็ง ส่วนฝ่ายธรรมยุต วัดโสมนัส วัดปทุมวนาราม วัดบวรนิเวศและอีกหลายวัดยังเป็นหลักได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลับมีสายวัดป่าที่เข้าใกล้ธรรมปฏิบัติขั้นสูงถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5

พระสงฆ์สายวัดป่ามีจุดเริ่มจากหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลและหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสองท่านถือธุดงควัตรเข้มข้นและมุ่งจาริกไปตามป่าเขาเพื่อแสวงหามรรคผลนิพพานเท่านั้น

อีกท่านที่มีบทบาทสำคัญคือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่านเคยประจำที่เมืองอุบลและนครจำปาศักดิ์ก่อนเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ต่อมาไปฝึกปฏิบัติกับพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) ศิษย์ของพระอาจารย์ก่ำ คุณสัมปันโน ก่อนเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบรมนิวาส

ทั้งสามท่านนี้จึงมีรากฐานมาจากสายธรรมยุตสีทันดร ล้วนเป็นศิษย์สายตรงของพระเทวธัมมี (ม้าว) และต่างก็มีวัตรปฏิบัติเข้มข้นกว่าสายธรรมยุตทั่วไปที่หันไปสนใจปริยัติธรรมกัน

พระสงฆ์สายวัดป่าของไทยมิใช่พระสงฆ์ประจำวัดนอกเมือง แต่จาริกเผยแผ่ธรรมไปตามป่าเขาและชุมชนที่อยู่ห่างไกลกันดาร ไม่เหมือนพระนิกายวัดป่าสมัยหนึ่งในพม่าที่เคยสามารถสะสมทรัพย์สินได้ พระสงฆ์สายวัดป่าของไทยแสวงหาเพียงพระนิพพาน ไม่สะสมทรัพย์สิน ไม่ติดวัดและมักเป็นอนาคาริก

ในด้านการปฏิบัติธรรม พระสงฆ์สายปฏิบัตินี้ดำเนินแนวทางที่เน้นจตุรารักษ์แต่เมื่อหลวงปู่มั่นสำเร็จพระอนาคามิผลที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกาเมื่อปี 2455 การเดินมรรคที่มุ่งตรงสู่พระนิพพานจึงชัดเจนอย่างยิ่ง

การบรรลุธรรมของหลวงปู่มั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธรรมปฏิบัติที่เคยชำระมาก่อนเกิดการลัดสั้นขึ้นอีก ครั้งแรกเมื่อหลวงปู่มั่นบรรลุพระอนาคามิผลและครั้งที่สองเมื่อท่านบรรลุพระอรหัตตผลในปี 2478

ในช่วงตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การเผยแผ่ธรรมปฏิบัติจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและให้ผลด้านการปฏิบัติไปจนทั่วอีสานและภาคเหนือ

อันเป็นการเติบโตจากเมืองไปสู่ชนบทและป่าเขา ท่ามกลางภาวะตกต่ำด้านการปฏิบัติธรรมในสังคมเมืองตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปีกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image