ปรากฏการณ์ศรีธนญชัย กับการทุจริตในสถานศึกษา โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเด็นปัญหาในสถานศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนและนักศึกษายังปรากฏให้พบเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งปัญหาทั้งมวลล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุหรือสืบเนื่องมาจากการกระทำของผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์รวมทั้งผู้บริหารตลอดจนผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้เสีย

จากกรณีดังกล่าวจึงมีคำถามส่งผ่านสู่สังคมอยู่เสมอๆ ว่าเหตุใดสถานศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งหรือศูนย์รวมของเหล่าปัญญาชนที่ผ่านการขัดเกลาจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงเมื่อเข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ในคราบของตำแหน่งต่างๆ จึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับการก่อให้เกิดปัญหาที่สังคมไม่อาจจะรับได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในสถานศึกษาจากอดีตจนถึงปัจจุบันหากส่องเข้าไปดูจะพบว่ามีหลากหลายประเด็นทั้งที่ได้รับการแก้ไขหรือสืบทอดจนกลายเป็นมะเร็งร้ายที่ลุกลามมาถึงปัจจุบันซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ส่งผลให้สังคมต้องติดตามและตรวจสอบคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการทุจริตหรือการแสวงหาประโยชน์ของบางกลุ่มบางคน

กลวิธีหรือรูปแบบของผลประโยชน์ที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแสวงหาเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคนกลุ่มนี้จะมีลีลาและรูปแบบต่างๆ นานา ซึ่งหนึ่งในปรากฏการณ์คือการนำแนวทางหรือกระบวนการแบบ
ศรีธนญชัยมาใช้เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือซึ่งการกระทำในลักษณะนี้อาจจะทำให้พ้นภัยไม่กระทบต่อตนเองและพวกพ้อง

Advertisement

การทุจริตที่หลากหลายในสถานศึกษาถึงแม้จะมีการป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องแต่หากพิจารณาการดำเนินการจากอดีตถึงปัจจุบันจะพบว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นยังไม่คลี่คลายและดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นตามลำดับทั้งๆ ที่มีกรณีศึกษาหรือจากมาตรการลงโทษผู้ที่ก่อการให้ปรากฏมาแล้วมากมายก็ตาม

ก่อนหน้านี้หนึ่งในกระแสแห่งปรากฏการณ์ของศรีธนญชัยในสถานศึกษาที่สังคมสนใจอันนำไปสู่การตื่นตัวจนมีการตรวจสอบขององค์กรที่เกี่ยวข้องได้แก่กรณีนักเรียนผี หรือการรับผลประโยชน์จากการฝากเด็กเข้าเรียนและการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ มาถึงวันนี้ประเด็นอาหารกลางวันกลายเป็นมิติที่ร้อนแรงส่งผลต่อตรวจสอบและพิจารณาแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อกล่าวถึงการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นในวงการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ตลอดจนการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ในทางวิชาการได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงถึงมูลเหตุของที่มา ตลอดจนวิธีการป้องกันแก้ไขมากมายแต่น่าเสียดายที่งานวิจัยเหล่านั้นยังไม่สามารถนำมาเป็นต้นทางสู่การปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การป้องกันและปราบปรามให้หมดไปจากสังคมไทยได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีการทุจริตในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานศึกษานั้นเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา กรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขตที่ 24, 25, 26 (กาฬสิน ขอนแก่น มหาสารคาม)” ซึ่งผู้วิจัยดำเนินการในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมาพบว่าในสถานศึกษามีการทุจริตหลายรูปแบบจนทำให้ผู้บริหารบางรายร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี

ที่น่าสนใจจากผลการศึกษาของงานวิจัยดังกล่าวผู้วิจัยได้ค้นพบว่าการคอร์รัปชั่นในวงการศึกษามีหลายรูปแบบทั้งรูปแบบและลักษณะความร่วมมือการทุจริตอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาเครือข่ายสำหรับกลุ่มอิทธิพลจะมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ทางการศึกษา การทุจริตจากระบบบริหารงานบุคคล การทุจริตจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา การทุจริตจากการเบี่ยงเบนงบประมาณที่ได้รับจากส่วนกลางและเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ รวมทั้งการทุจริตจากระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตลอดจนการสร้างสนามฟุตซอลเป็นต้น

ในส่วนของของเครือข่ายที่นำมาซึ่งการทุจริตนั้นผู้วิจัยพบว่าเครือข่ายอิทธิพลประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในกรม กระทรวง และเขตพื้นที่การศึกษาลงมาถึงผู้อำนวยการโรงเรียน และงานวิจัยยังพบว่าถ้าเป็นโครงการใหญ่ๆ จะมีนักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า ผู้รับเหมาเข้ามาร่วมในวงจรเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลด้วย

พร้อมกันนั้นจากการศึกษาวงจรการทุจริตแบบนี้พบว่าผู้บริหารสถานศึกษาบางรายในโรงเรียนดังของจังหวัดแห่งหนึ่งเมื่อเกษียณอายุราชการและพ้นจากตำแหน่งกลายเป็นมหาเศรษฐีบางคนมีทรัพย์สินเป็นร้อยล้านบาท ซึ่งเมื่อถึงวันสำคัญกระเช้าของขวัญที่มีคนให้มาด้านบนเป็นของขวัญแต่ด้านล่างมีเงินผสมเข้ามาด้วยและเมื่อมีการร้องเรียนกลับพบว่าตรวจสอบไม่พบซึ่งอาจจะเป็นเพราะระบบการตรวจสอบหย่อนยาน เจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง ไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้ แต่จากการศึกษาเชิงลึกจะได้ข้อมูลของการทุจริตจากคนแวดล้อมและคนใกล้ชิด

ในงานวิจัยดังกล่าวผู้ศึกษายังได้สะท้อนในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพของสังคมไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า “ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริตเขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาสายพระหรือผู้เคยบวชเรียนมาก่อนทั้งในฐานะเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอ ทั้งนี้ เพราะผู้มีอำนาจมองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว”

สำหรับการทุจริตอาหารกลางวันนั้นผู้วิจัยเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นหากเทียบกับกรณีอื่นเพราะการทุจริตส่วนใหญ่จะไปเกี่ยวกับการก่อสร้าง การซื้อหนังสือ วัสดุครุภัณฑ์มากกว่ารวมไปถึงเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอยู่ในทุกจังหวัดยิ่งมีเงินเยอะยิ่งมีการทุจริตมากซึ่งผู้จัดการสหกรณ์บางรายร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีแถมยังเกี่ยวพันเรื่องการเมืองจนกลายเป็นผู้มีอิทธิพล

ในมิติของการป้องกันกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นผู้วิจัยเสนอว่าต้องสนับสนุนกลไกเครือข่ายภาคประชาสังคม การสร้างกลไกแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับทุจริตของบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งมาตรการด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความกล้าที่จะมองเรื่องการทุจริตเป็นความผิดไม่ใช่เรื่องปกติ (คมข่าวทั่วไทย คมชัดลึกออนไลน์, 6 กรกฎาคม 2562)

เมื่อกล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถานศึกษาสำหรับบ้านเราคงไม่มีเฉพาะในพื้นที่ที่ได้มีการศึกษาวิจัยดังกล่าวเท่านั้นแต่ในสภาพความเป็นจริงวันนี้การแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจตลอดจนผู้ไม่มีความพอเพียงในจิตสำนึกได้กระจายไปทั่วประเทศไม่ว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือระดับอุดมศึกษาซึ่งทุกสถาบันล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรของภาครัฐทั้งสิ้น

การที่จะสลายต้นตอหรือนำไปสู่การทลายกำแพงแห่งการคอร์รัปชั่นในบ้านเราให้หมดไปได้นั้นคงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาชนจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ แต่หากศึกษาความเป็นมาและความเป็นอยู่ในมิติของประเด็นการทุจริตในสังคมไทยดูเหมือนว่าทำท่าจะยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาหรืองมเข็มในทะเลเสียอีก

ความพอเพียงและเพียงพอที่ผูกติดกับจิตสำนึกของผู้คนในสังคมจะเป็นหนึ่งในต้นทางของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ แต่ถ้าตราบใดที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ยังนำปรากฏการณ์แบบศรีธนญชัยมาประพฤติปฏิบัติอย่าหวังเลยว่าหลุมดำหรือมะเร็งร้ายแห่งการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกาะกินสังคมมาอย่างยาวนานจะตายจากหรือหมดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image