Childhood Disrupted : บาดแผลในวัยเด็ก ส่งผลกระทบระยะยาวในตอนโต (2) : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

“เราสามารถรื้อสร้างรอยประทับของประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในสมอง ไม่ให้ติดตัวเราไปตลอดชีวิตได้”

เราจะลองมาสำรวจคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านความทุกข์ยากหรือมีบาดแผลฝังลึกในจิตใจ แต่กลับมีความสุข อายุยืนยาว แถมจัดการความเครียดได้ดี เพราะคนที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการเป็นโรคต่างๆ มัลคอม แกลดเวลล์ นักวิจัยและนักทฤษฎีสังคมนำเสนอว่า “การสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่วัยเยาว์อาจส่งผลได้ทั้งทางลบและทางบวกในวัยผู้ใหญ่ แต่สำหรับบางคน ความยากลำบากกลับยิ่งทำให้พยายามดิ้นรนมุ่งมั่นหาทางแก้ไขชีวิตของตัวเอง”

มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าการเรียนรู้ที่จะจัดการความเครียดในระดับปกติ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่มีประโยชน์ ฉะนั้นประสบการณ์ด้านลบก็อาจจะสอนให้คนแข็งแกร่งขึ้นได้ เพราะพวกเขาได้โอกาสพัฒนาความสามารถในการจัดการเรื่องยุ่งยาก จึงทำให้จัดการกับปัญหาในอนาคตได้ดี

“หนทางเยียวยา เริ่มต้นจากการเผยความลับที่ต้องเก็บงำมานานกับใครบางคนที่มีพลังของความเป็นผู้ใหญ่ (Eldership)”

Advertisement

ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เราสามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างในตัวเด็กที่ได้รับความเห็นอกเห็นใจและกำลังใจจากผู้ใหญ่สักคนหนึ่งได้อย่างชัดเจน เพราะเด็กเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวและปรับตัวเมื่อเผชิญความทุกข์ในใจได้

แต่เรามักเข้าใจว่าการย้อนดูเรื่องราวในอดีตคือการรื้อปมที่เคยเจ็บปวดให้กลับมาเจ็บซ้ำอีก ซึ่งแนวคิดนี้มีทั้งด้านที่ถูกและผิดปะปนกันอยู่ ที่บอกว่าถูกเพราะ

“บาดแผลในอดีตจะยังมีผลต่อใจและตามหลอกหลอนได้เสมอเมื่อคุณย้อนรำลึกถึง คุณจะกลับไปรู้สึกเปราะบางดังที่เคยเป็นเด็กน้อยในวันวาน ซึ่งความทรงจำเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว

Advertisement

“ภาพหรือสัญลักษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลในอดีต จะส่งผลมาถึงปัจจุบัน ทำให้คุณมีปฏิกิริยาด้านลบเสมอ และมีแนวโน้มทำให้คุณอยากจะหลีกเลี่ยงหรือพาตัวออกห่างด้วยวิธีการต่างๆ หากเป็นความเจ็บปวดร้ายแรง คุณจะจดจำได้ชัดเจน อีกทั้งยังมีกระบวนการบันทึกความทรงจำแฝงเร้นที่เป็นความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นๆ เช่น เด็กบางคนจะเก็บความรู้สึกกลัว โกรธ ฯลฯ ติดตัวไปจนโต เนื่องจากในตอนเด็กยังไม่สามารถจดจำเหตุการณ์และเรื่องราวได้ สมองของคุณสร้างโลกที่คนอื่นไม่มีทางมองเห็นซึ่งกลายมาเป็นมุมมองต่อการดำเนินชีวิต

อีกแง่มุมหนึ่ง การย้อนกลับไปดูความทรงจำด้วยกระบวนการเยียวยาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะกระบวนการเก็บความทรงจำของสมองมีความสลับซับซ้อนและถูกปรับแต่งตลอดชีวิต แม้ภายหลังจากที่ถูกสรุปรวมเข้าด้วยกันแล้ว มันไม่เคยคงอยู่แบบเดิมตลอดไป สมองของคนเราเติมแต่งเรื่องราวสดใหม่เข้าไปในความทรงจำเสมอ ตามข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับ ทุกครั้งที่คุณนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ความทรงจำนั้นจะเริ่มไม่คงตัวดังเดิม แต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงวิธีที่คุณจดจำเรื่องที่เคยเกิดขึ้นได้

นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองเรียกกระบวนการนี้ว่า “การให้ความหมายใหม่” ตัวอย่างเช่นเคนดอลซึ่งเป็นเด็กหญิงที่ไม่ได้รับความใส่ใจจากพ่อแม่ และถูกมองว่าอาการป่วยของเธอเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่เมื่อเคนดอลโตเป็นผู้ใหญ่และได้ทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ผ่านมุมมองของการเยียวยา เธอจึงให้ความหมายใหม่ว่า “ฉันพยายามไม่ถือโทษโกรธพ่อแม่ ฉันเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ ที่อ่อนไหว ซึ่งต้องเจอกับการถูกทอดทิ้งที่เป็นพฤติกรรมสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายและไม่ได้รับการดูแลเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ของฉันเจอสมัยที่พวกเขาเป็นเด็ก และพวกเขาก็ส่งต่อสิ่งเหล่านี้มาให้ฉัน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาถูกฝึกมาให้ทำ”

ชีวภาพในวัยเด็กส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคต

จอห์นจำได้ว่าตอนที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา พ่อไม่เคยถามไถ่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียนรู้เลย ไม่เคยเอ่ยคำชื่นชมใดๆ แถมยังไม่เคยพอใจคะแนนสอบที่เขาทำได้อีกด้วย ส่งผลให้จอห์น “ขาดการเคารพหรือรักในสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือทำ” จอห์นมีชีวิตอยู่กับเสียงกระซิบในใจตัวเองเสมอว่าเขาไม่มีค่า “ไม่เคยรู้สึกได้เลยว่าจะมีใครรักผมในแบบที่ตัวผมเป็น และความรู้สึกนี้ติดตามตัวผมอย่างเงียบๆ กลายเป็นความไม่มั่นคงอยู่ลึกๆ”

เขาเชื่อว่า เสียงกระซิบว่าตนเองไม่มีค่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาล้มเหลวในเรื่องความสัมพันธ์ “สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดคือความรู้สึกสบายๆ กับตัวเอง และมีความสุขในโลกใบนี้ แต่ทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสัมพันธ์ที่มั่นคง ผมจะทำมันพัง ผมยับเยินและอึดอัดในตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเป็นคนที่สุขสบายในร่างของตัวเองอย่างไร เพื่อไปให้พ้นจากความอึดอัดนี้ ผมเลยตัดตัวเองออกจากสิ่งที่ต้องการมากที่สุดนั่นคือความรัก”

“ผมอยากให้มีใครสักคนมาบอกว่าผมยังใช้ได้ คำดุด่าของพ่อกลายเป็นความรู้สึกอัปยศลึกๆ ที่ผมมีต่อตัวเอง เพียงแต่คราวนี้ผมกลายเป็นคนที่ดุด่าตัวเอง ผมไม่อาจหลุดพ้นจากเสียงกระซิบที่บอกว่าผมใช้ไม่ได้ จึงอยากให้ใครสักคนมาปลดปล่อยผม มาบอกรักผม”

ไม่เพียงแต่บรรยากาศในครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก สังคมโรงเรียนที่เด็กต้องเผชิญกับการถูกรังแกก็เป็นประสบการณ์เลวร้ายรูปแบบหนึ่งที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยและโรคในวัยผู้ใหญ่ จากกรณีศึกษามากมายในผู้ป่วยหรือในวงการจิตบำบัด ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่ถูกรังแกมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และอาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ เมื่อเด็กต้องเจ็บปวดดิ้นรนจากการถูกกีดกันทางสังคมในหมู่เพื่อน วงจรสมองแบบเดียวกับกระบวนการรับรู้ความเจ็บปวดทางร่างกายจะถูกกระตุ้น

วิคกี อบิเลส ผู้ผลิตสารคดีเรื่อง Race to Nowhere ได้สร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบระยะยาวของความเครียดในโรงเรียนซึ่งบั่นทอนสุขภาพ เธอเชื่อว่าวัฒนธรรมที่บ้าคลั่งความสำเร็จ เพื่อต่อสู้ไปให้ถึงภาพลักษณ์ความสำเร็จทางสังคมซึ่งเป็นไปได้ยาก กำลังสร้างปัญหาและความเครียดเรื้อรังกับเด็ก อบิเลสเชื่อว่า “การคร่ำเคร่งในโรงเรียนหรือในช่วงวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในวัยเปราะบาง นำไปสู่การหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาจนท่วมท้นร่างกาย”

ประสบการณ์ในวัยเด็กที่โยงให้เราโตขึ้นมา

บุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ต่อการเผชิญสถานการณ์อาจมีหลากหลายวิธี แต่รูปแบบหนึ่งคือการชะงักงัน นิ่ง เพราะต้องการสะกดความหวาดหวั่น หรือเพื่อชะลอดูสถานการณ์ จนดำเนินไปสู่รูปแบบที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใดๆ ได้ ซึ่งในแง่การทำงานของสมอง จิตแพทย์เด็ก แดน ซีเกล อธิบายว่า เด็กที่แม่เลี้ยงดูมาอย่างบูดเบี้ยว สมองส่วนหนึ่งจะบอกว่าให้ “เดินเข้าหาแม่” แต่ก้านสมองที่คอยดูแลความอยู่รอดปลอดภัยจะมีอีกเสียงหนึ่งว่า “จงหนีไปจากแม่” เป็นความย้อนแย้งทางชีวภาพที่ไม่สามารถแก้ไขได้

จิตใจของเด็กจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ จากความอึดอัดและความเครียดตึงที่ก่อตัว เพราะสมองพยายามทำงานประสานกันในเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน และถ้าไม่สามารถจัดการได้ เด็กมีแนวโน้มจะเติบโตมาเป็นคนที่เพิกเฉยต่ออารมณ์ความรู้สึกทั้งบวกและลบ มันคือกระบวนการวางตัวออกห่างจากสถานการณ์ และสุดท้ายอาจจะกลายเป็นคนที่ใช้แต่เหตุผล ไม่รู้สึกรู้สากับเหตุการณ์รอบตัว เขาอาจมืดบอดกับสภาวะจิตใจของตัวเอง เป็นผู้ให้มากเกินไป เสียสละตนเองจนปล่อยวางไม่ได้ หรือควบคุมสั่งการจนเกินเหตุ

ทางออกสำหรับการดูแลพัฒนาการทางสมองของเด็กคือ ในเวลาที่พ่อแม่เกิดอารมณ์ปั่นป่วน ให้กลับมารับรู้อารมณ์ตนเอง มิฉะนั้นความปั่นป่วนของผู้ใหญ่จะทำให้เด็กกลัว เพราะเขาจะไม่เข้าใจอารมณ์ต่างๆ ของผู้ใหญ่ได้ และจะส่งผลให้เด็กปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตนเองไปตลอดชีวิต

ญาดา สันติสุขสกุล
ผู้ถอดความจากหนังสือ
FB: Yada Santisukskul
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image