Childhood Disrupted: บาดแผลในวัยเด็ก ส่งผลกระทบระยะยาวในตอนโต (3) : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

ภาคสอง ‘เริ่มต้นหนทางการเยียวยา’

การรู้ว่าความเครียดเรื้อรังในวัยเด็กนำพาไปสู่โรคภัยต่างๆ ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ คือด่านแรกของการยอมรับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างน้อยจะทำให้คุณเข้าใจความสับสน ความพยายามดิ้นรนอย่างหนักในวัยผู้ใหญ่ว่ามาจากสาเหตุใด ซึ่งจะสร้างทางเลือกว่าคุณจะติดอยู่ในอดีตหรือก้าวเดินต่อไปด้วยความตระหนักรู้ ที่ลดแนวโน้มของการอักเสบ ซึมเศร้า เสพติด เจ็บปวดทางกายและโรคภัยไข้เจ็บลง

“หาคนที่คุณไว้ใจแล้วลองบอกเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ” ความอึดอัดในอดีตที่คุณยังพอจดจำได้ อาจเป็นเพียงความทรงจำที่เลือนราง แต่การบรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ หรือผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วยในเหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อให้คุณค่อยๆ ตระหนักว่าเด็กน้อยในอดีตของคุณต้องเจอกับความยากและผ่านมันมาได้อย่างไร ซึ่งผู้รับฟังอาจจะช่วยให้คุณสำรวจความทรงจำนั้นๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง เพียงคุณบอกเล่าได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับตนเองสมัยที่ยังเป็นเด็ก การบำบัดก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว

เขียนเพื่อบำบัด

Advertisement

การเขียนเล่าเหตุการณ์ในอดีต ก็อาจจะช่วยให้คุณมองเห็นตัวเองอย่างที่เป็นจริงๆ เป็นวิธีการระบายความอึดอัดที่เก็บกดไว้นาน เพราะร่างกายจะทวงหนี้จากเราถ้าไม่ได้รับการใส่ใจ ซึ่งจากงานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ชัดว่า การเขียนช่วยให้ผู้ป่วยลดความตึงเครียดลงได้หรือทำให้ไม่แย่ลงไปกว่าเดิม นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเสนอชุดการเขียนไว้ว่า ช่วงสี่วันจากนี้ ให้เขียนถึงอารมณ์ส่วนลึกสุด เลือกเวลาเขียนให้เหมาะ ปล่อยวางและสำรวจว่าเหตุการณ์นั้นส่งผลต่อคุณอย่างไร คุณอาจจะโยงประสบการณ์นี้เข้ากับวัยเด็ก ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ คนที่คุณเคยรักหรือยังรักอยู่ หรือแม้แต่กับอาชีพของคุณ เขียนไปเรื่อยๆ วันละ 20 นาที

การวาดเพื่อบำบัด

คุณอาจเริ่มวาดภาพที่พอจะนึกออก อาจเป็นภาพทิวทัศน์หรือครอบครัวของคุณเอง ดูว่าเกิดภาพอะไรขึ้นบ้าง จากนั้นทิ้งภาพไว้และกลับมาดูใหม่ในวันหลังเพื่อวิเคราะห์ ทำเหมือนกับว่าคุณกำลังแปลความฝัน มันช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรขึ้นบ้างไหม ดร.ซีเกล เล่าถึงคนไข้รายหนึ่งที่ใช้วิธีการวาดเพื่อบำบัดว่า เธอวาดภาพผู้หญิงสวยมีเสน่ห์ โดยมีรายละเอียดเล็กๆ เช่น นาฬิกาแขวนผนังมีเข็มเดียวชี้ไปที่เลข 12 “จิตใต้สำนึกต้องการให้เธอกลับไประลึกถึงประสบการณ์ในวัยเด็กซึ่งสร้างบาดแผลทางใจตอนที่เธออายุสิบสอง” ดร.ซีเกล กล่าว

ถึงแม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างถ่องแท้ว่ากระบวนการ “ศิลปะบำบัด” ช่วยเปิดเผยบาดแผลในอดีตได้อย่างไร แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นหาสิ่งที่หลงลืมไปหรือจิตใต้สำนึกพยายามซ่อนไว้

การฝึกสมาธิ เป็นวิธีซ่อมแซมสมองที่ดีที่สุด

การฝึกสมาธิช่วยเปลี่ยนสมองของเราได้ รวมไปถึงการดูจิตใจตนเองเป็น คือการแผ่เมตตา การให้อภัย ซึ่งลดความเครียดได้เร็ว สถาบันด้านจิตเวชที่นำเรื่องการฝึกสมาธิไปใช้กับเด็กที่มีบาดแผลทางใจพบว่า ช่วยทำให้วงจรสมองที่เคยอ่อนแอจากความทุกข์กลับแข็งแรงขึ้นได้ รวมทั้งกลีบสมองส่วนหน้าและฮิปโปแคมปัสด้วย การฝึกสมาธิยังช่วยให้คนเราควบคุมอารมณ์ ยืดหยุ่นกับคนรอบข้าง เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ ทบทวนตัวเองได้ดี และยังแฝงการหายใจเข้าออกลึกๆ อีกด้วย ทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชะลอลง ซึ่งจะทำให้จิตใจของคุณกลับคืนสู่ความเป็นปกติได้เร็วขึ้น

การออกกำลังกาย

การทำ ชี่กง ไท้เก๊ก โยคะ เป็นการซ่อมแซมร่างกาย คือการขยับร่างกายเพื่อปลดปล่อยเราจากอดีตที่เคยต้องต่อสู้ หนี ถอย หรือภาวะแช่แข็งมาตลอดชีวิต ช่วยปลดปล่อยความตึงเครียดที่สะสมในกล้ามเนื้อและลดกระบวนการอักเสบได้

บำบัดกับนักบำบัดที่เชี่ยวชาญเพื่อเยียวยาบาดแผลในวัยเด็ก

การดูแลกาย ใจ จิต ในแบบที่เราถนัด อาจไม่เพียงพอต่อการสะสางอดีตที่ยังคงตกค้างอยู่ในความทรงจำ การมีนักบำบัดที่พร้อมจะยอมรับคุณโดยไม่มีเงื่อนไข จะช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมองของคุณ แล้วความรู้สึกที่คุณมีต่อตัวเองจะค่อยๆ พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้น นักบำบัดผู้เชี่ยวชาญยังมีอีกหลากวิธีในการนำพาคุณไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลได้ด้วยการใช้จินตนาการเชิงบวก เพื่อกระตุ้นการจัดการกับความรู้สึกทางกายและความทรงจำลบๆ ที่ผุดขึ้นมา

ฝึกฝนการกลับมารับรู้ความรู้สึกทางกาย

กระบวนการที่ช่วยให้คุณกลับมาดำรงอยู่กับแกนกลางจิตใจ ผ่อนแรงขับต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายลง จะช่วยให้คุณเปลี่ยนสภาวะที่ดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหลมาสู่การรับรู้อย่างมีสติ การรับรู้ความรู้สึกทางกายเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆ ที่คุณกักเก็บไว้

เมื่อคุณได้ทบทวนสิ่งต่างๆ แล้ว ขอให้วางใจว่าธรรมชาติลึกๆ ในตัวคุณจะช่วยคุณไปด้วย และอยากให้คุณลองดูผู้ใหญ่คนที่คุณเห็นในกระจก มองให้เห็นเด็กคนที่คุณเคยเป็น ใส่ใจเรื่องราวของเขา คิดทบทวนถึงกลยุทธ์และวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยให้คุณกลับมาเป็นคนที่คุณเป็นจริงๆ และดีขึ้น ฉลาดขึ้น เข้มแข็งขึ้นสำหรับการเดินทาง และสัญญากับเด็กคนนั้นว่าคุณจะพาเขาสู่เส้นทางของการเยียวยา

ญาดา สันติสุขสกุล
ผู้ถอดความจากหนังสือ
FB: Yada Santisukskul
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image