ดุลยภาพดุลยพินิจ : ธรรมก่อนพุทธกาล โดย : ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

งานปูนปั้นผนังวิหารวัดไลย์ ลพบุรี พระพุทธเจ้าเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชาดกพระเจ้าสิบชาติ

การเข้าถึงพระธรรมที่ชาวพุทธต้องมีอยู่เสมอคือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดภาวนามยปัญญา การฟังการอ่านและการคิดวิเคราะห์ก็เป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งซึ่งเรียกว่าสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ส่วนการตรวจสอบประเมินผลที่เกิดขึ้นเรียกว่าปฏิเวธ

ในทางสุตมยปัญญา พระไตรปิฏกมีความล้ำค่ายิ่งเพราะเป็นแหล่งรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ที่สมบูรณ์และเชื่อถือได้มากที่สุด นอกจากหัวข้อธรรมแล้ว สิ่งที่เป็นประโยชน์มากคือการศึกษาความคิดและแนวทางก่อนพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่าเป็นอย่างไร ทำไมการใฝ่หาหนทางหลุดพ้นก่อนหน้านั้นจึงไม่บรรลุผล

การศึกษาเหล่านี้สามารถอาศัยเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอนและพระพุทธประวัติ แม้แต่ชาดกบางตอนก็มีประโยชน์ในการเทียบเคียง ทั้งหมดนี้ล้วนปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาซึ่งมีเนื้อหามากมายและเข้าถึงยากมากในอดีต

พระสงฆ์และกูรูรวมทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงมีคุณูปการมาโดยตลอด นับจากช่วงประมาณปี 2489 อาจารย์เสถียร โพธินันทะได้ให้ความรู้อย่างมากในแนวประวัติศาสตร์วิเคราะห์ ท่านรอบรู้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและมีความใกล้ชิดกับอดีตพระอาจารย์สุชีโวภิกขุ (สุชีพ ปุญญานุภาพ) ผู้ซึ่งได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นกูรูพระไตรปิฎก หลังจากนั้นก็มีท่านอื่นสนใจตามมาบ้าง

Advertisement

ในปัจจุบัน การศึกษาพระไตรปิฎกเป็นไปได้โดยสะดวกและมีงานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยด้านพันธุกรรมสมัยใหม่ด้วย การตีความวรรณกรรมและคัมภีร์แบบในอดีตย่อมไม่เพียงพอ การศึกษาจำต้องอาศัยความรู้หลายด้านประกอบกัน

เมื่อเรามองย้อนไปตั้งแต่สมัยพุทธกาลและก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ชมพูทวีปแถบลุ่มน้ำคงคาเป็นดินแดนที่กำลังเติบโตและสนใจปัญญาความรู้อย่างมาก ลัทธิต่างๆ ผุดขึ้นมากมายเพื่อให้คำตอบเกี่ยวกับชีวิต

ทว่าธรรมก่อนพุทธกาลเหล่านี้มิได้เป็นธรรมนำเข้าของผู้รู้ชาวอารยันผิวขาว การบำเพ็ญธรรมก็มิใช่เช่นกัน

Advertisement

ในอดีตมักมีความเชื่อว่าภูมิความรู้ในอินเดียโบราณมาจากการเข้ามาของชาวอารยัน ที่จริงอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิปัญญาในชมพูทวีปและรุ่งเรืองมาก่อนหน้านั้น มีความเจริญเต็มที่ในช่วง 4,000-5,000 ปีที่แล้วและครอบคลุมดินแดนที่กว้างใหญ่อย่างยิ่ง

แหล่งอารยธรรมนี้เคยปรากฏหลักฐานการปฏิบัติทางจิตและมิใช่ฝีมือของชาวอพยพ หากเกิดจากชนพื้นเมืองหรือชาวทราวิฑ หลักฐานที่นำเสนอโดยทีมของศาสตราจารย์ไรช์ก็ชี้ว่าชนพื้นเมืองที่นั่นเป็นบรรพบุรุษพื้นฐานของชาวเอเชียใต้ปัจจุบันและที่สำคัญคือมีร่องรอยพันธุกรรมของชนเผ่าอิหร่านยุคหินกลางก่อน 12,000 ปีที่แล้วผสมกับชนเผ่าทางอันดามันซึ่งมีมากทางตอนใต้

ราว 3,800 ปีก่อน ชาวอารยันค่อยอพยพเข้ามายึดครองดินแดนแถบนั้น ส่วนที่มิได้อพยพตามเข้ามาได้อาศัยอยู่ในอิหร่านตะวันออกและอัฟกานิสถานซึ่งก็มีร่องรอยของอารยธรรมสินธุ ในยุคใกล้เคียงกันนั้นมีชนผิวเหลืองได้เข้ามาผสมกับชาวทราวิฑด้วยแต่กระจายอยู่แถบดินแดนทางตะวันออกต่อจากแคว้นวัชชี อังคะและมคธ ชนผิวเหลืองนี้มีบรรพบุรุษมาจากชนเผ่าไท-ไต

การศึกษาล่าสุดบอกว่าชาวอารยันมีสายพันธุกรรมมาจากชนเผ่าเร่ร่อนยัมนายาในเขตทุ่งหญ้ายูเรเซีย ชนเผ่าบรรพบุรุษนี้มีผิวสีอ่อน ร่างกายแข็งแรงและขึ้นชื่อว่าโหดร้ายอย่างยิ่ง

ชาวอารยันนิยมการบูชายัญชีวิตของผู้อื่นและได้บัญญัติคัมภีร์พระเวทสำหรับบวงสรวงเทพเจ้า เกิดพราหมณ์พระเวทที่เป็นเจ้าพิธีกรรม แต่ก็มีนักบวชต่างๆ ปฏิบัติอยู่ป่ามาแต่ดั้งเดิม

หลังจากจัดตั้งศูนย์กลางที่อาณาจักรกุรุเมื่อประมาณ 2,900 ปีที่แล้ว ชาวอารยันจึงค่อยรุกดินแดนต่อจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา มีการปะปนกับชาวพื้นเมืองและได้สร้างระบบวรรณะทั้งสี่ขึ้น โดยกำหนดให้พราหมณ์เป็นวรรณะที่สูงที่สุดและวรรณะที่ต่ำกว่าต้องรับใช้วรรณะที่สูงกว่า

ชาวทราวิฑเป็นผู้รักความสงบ มีอารยธรรมสูงกว่าแต่ไม่เหนียวแน่นจึงพ่ายแพ้ต่อชาวอารยัน กลายเป็นทาสผู้รับใช้หรืออยู่ในวรรณะศูทรซึ่งต่ำที่สุด บ้างอยู่นอกระบบวรรณะ จำนวนมากหนีไปตามป่าเขาและอินเดียตอนใต้

ก่อนพุทธกาลราว 100 ปี ดินแดนแถบลุ่มน้ำคงคาซึ่งมีชนพื้นเมืองอาศัยหนาแน่นกว่าเริ่มมีเศรษฐกิจและการปกครองที่เข้มแข็ง ธรรมชาติที่แท้ของชีวิตกลายเป็นโจทย์ที่สำคัญและอยู่นอกกรอบคิดของพระเวท คัมภีร์พระเวทซึ่งมีครบเป็นไตรเพทแล้วมิได้ให้ความกระจ่างและมีไสยเวทปะปนมาก ยุคอุปนิษัทแห่งการแสวงหาทางปัญญาจึงได้ถือกำเนิดขึ้น

ในยุคนี้ พระเวทยังเป็นความรู้พื้นฐานของพราหมณ์ทั่วไป ปรัชญาและประสบการณ์ส่วนบุคคลเริ่มมีความสำคัญ เกิดคัมภีร์ย่อยๆ และสำนักครูอาจารย์มากมาย ผู้ใฝ่ธรรมสนใจการบำเพ็ญบุญรวมทั้งการบรรลุหลุดพ้นหรือโมกษะ

พราหมณ์เริ่มปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปอยู่ร่วมกับพระพรหม มักเชื่อเรื่องอาตมันและเห็นว่าการปฏิบัติให้บรรลุถึงอาตมันสูงสุดหรือพรหมันยังต้องขึ้นอยู่กับลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า อย่างไรก็ตามมีนักบวชบางส่วนที่เห็นว่าการหลุดพ้นสามารถรอพระพุทธเจ้าที่จะมาอุบัติได้

นักบวชที่สนใจความรู้ใหม่ต้องศึกษาจากครูอาจารย์ที่ให้ความรู้แบบพรตนิยมซึ่งมักมีแหล่งตามป่าเขาและบริเวณเขตห่างไกลจากศูนย์กลางอริยวัตรเดิม มีคัมภีร์บางฝ่ายกล่าวว่าริมฝั่งแม่น้ำคงคามีนักบวชประจำอยู่มากและมีน้ำใสเหมาะสำหรับการชำระบาปตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย

เราอาจเรียกนักบวชเหล่านี้ว่าพราหมณ์โบราณเพราะมีหลายลัทธิและการปฏิบัติทางจิตก็มักย้อนไปถึงยุคก่อนเกิดพระเวท (อาจารย์เสถียร โพธินันทะเรียกว่าสมณะ แยกออกจากพราหมณ์พระเวทและพวกลัทธิวัตถุนิยมสุดขั้ว)

พราหมณ์พระเวทมีรากความรู้มาจากพราหมณ์โบราณที่ไม่สำเร็จฌานและเมื่อมีอำนาจก็ได้สร้างระบบวรรณะทั้งสี่ขึ้น พราหมณ์โบราณที่ปฏิเสธระบบวรรณะได้แยกออกไป ส่วนหนึ่งออกวิเวกและบำเพ็ญธรรมเป็นสมณะดาบส มักไม่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน อีกส่วนหนึ่งคือพวกเดียร์ถีย์และปริพาชกซึ่งมักอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ (เดียรถีย์เป็นคำย่อจากอัญญเดียรถีย์หรือเดียรถีย์อื่นๆ)

สมณะเป็นนักบวชผู้สงบวิเวก ห่มผ้าที่แตกต่างจากผู้ครองเรือน ฤาษีเป็นดาบสแบบชีไพรในป่า ชฏิลเป็นดาบสที่มัดมวยผล ภายหลังจากเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลีและห่มผ้าย้อมฝาดอย่างบรรพชิต พราหมณ์และเดียรถีย์เรียกพระองค์ว่าเป็นสมณะ ส่วนพระอาจารย์ทั้งสองของพระองค์เป็นดาบสที่สืบทอดมาจากพราหมณ์โบราณ

ปริพาชกเป็นนักบวชที่เสาะหาศิลปความรู้ ปกติแต่งกายมิดชิด เดียรถีย์เป็นพวกนักบวชไม่นุ่งผ้า มีผมเผ้ารุงรังและปฏิเสธพระเวท ได้แก่นิครนถ์ อาชีวกและอเจลกเป็นต้น นิครนถ์เปลือยหรือใช้ผ้าผืนเดียว อาชีวกและอเจลกเป็นปริพาชกเปลือยโดยมีสาวกนุ่งห่มขาว อาชีวกอาศัยผ้าพาดผืนเดียว อเจลกเป็นพวกเปลือยจริงๆ

นิครนถ์หรือศาสนาเชนมีตำนานยาวนานที่อาจแต่งขึ้นภายหลังสมัยพุทธกาล ประวัติที่ชัดเจนมีนิครนถ์กุมารบุตร (ปารศวนาถ) เป็นเจ้าลัทธิแต่ไม่ปรากฏชื่อในพระไตรปิฎก เดิมมิได้กำหนดว่านักบวชนิครนถ์ต้องเปลือยจึงจะบรรลุโมกษะได้ ต่อมาศิษย์คือนิครนถ์นาฏบุตรหรือมหาวีระ ได้เปลี่ยนแปลงให้พวกที่จะบรรลุธรรมต้องเป็นนักบวชเปลือย อีกพวกและสตรีห่มขาวได้

นิครนถ์กุมารบุตรดูเหมือนมีบทบาทมากบริเวณแคว้นชายขอบเช่นวัชชี มัลละ สักกะ โกลิยะ มคธและโกศล มีการระบุว่าพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดานับถือนิครนถ์กุมารบุตร แต่น่าเชื่อถือเพียงระดับหนึ่งเพราะศากยวงศ์น่าจะศรัทธาฤาษีดาบสเป็นอย่างยิ่ง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดจันทบุรี เสาไห้ แสดงเนมิราชชาดก
การบริจาคทานและการบำเพ็ญศีล สิ่งใดประเสริฐกว่ากัน

ส่วนเจ้าลัทธิทั้งหกซึ่งดึงดูดความสนใจในช่วงระยะนั้นล้วนไม่นับถือพระเวทและมิใช่พวกดาบส ได้แก่ปูรณกัสสป (อาชีวก-ศิษย์มักขลิโคศาล) มักขลิโคศาล (อาชีวก-ศิษย์นิครนถ์กุมารบุตร) ปกุทธกัจจายนะ (อาชีวก-วัตถุนิยมไวเศษิกะ) อชิตเกสกัมพล (วัตถุนิยมสุดขั้ว) สัญชัยปริพาชก (ไม่มีความเชื่อที่แน่นอน) และนิครนถ์นาฏบุตร บ้างไม่เชื่อเรื่องบุญบาป โลกเที่ยง พรากชีวิตได้ บ้างเชื่อเรื่องตายแล้วสูญ ไม่มีกตัญญู บ้างไม่เชื่อเรื่องกรรมหรือผลของกรรม ส่วนนิครนถ์นาฏบุตรเชื่อเรื่องกรรมแต่เป็นลัทธิกรรมเก่า ไม่มีมโนกรรมและไม่มีเหตุปัจจัยของกรรม ปูรณกัสสปและมักขลิโคศาลมาจากทาส ส่วนใหญ่น่าจะมาจากวรรณะพราหมณ์แบบทราวิฑ

อาจารย์เสถียร โพธินันทะกล่าวว่าฤาษีหรือดาบสส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่ากรรมมีจริง โดยทั่วไปคำสอนของนักบวชจึงนับว่าไม่ไปทางเจ้าลัทธิแบบวัตถุนิยมสุดขั้วและพวกอาชีวก ทว่ายอมรับเรื่องบุญบาป มีการแยกธรรมเป็นฝ่ายขาวและฝ่ายดำแล้ว แต่ยังไม่มีธรรมที่ไม่ดำไม่ขาวแบบพุทธ

อย่างไรก็ตาม คำสอนทั้งหลายล้วนไม่เห็นเหตุปัจจัยหรือปัจจยาการ ยังเชื่อในความเป็นนิรันดร์ซึ่งแตกต่างจากทางพุทธที่สิ่งทั้งหลายเกิดดับเมื่อเหตุของมันเกิดดับเป็นธรรมดา จึงเป็นไปได้ที่เมื่อครั้งพระสารีบุตรได้ฟังธรรมโดยย่อจากพระอัสสชิจึงเกิดปัญญาญาณว่าเป็นสัจจธรรมแท้ซึ่งไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

การผูกติดเรื่องธรรมกับชาติเป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ ความคิดหลักยังเชื่อว่าผู้คนเกิดมาอย่างไรจักต้องเป็นเช่นนั้น ความประพฤติไม่มีผล แม้แต่ลัทธิที่เชื่อเรื่องกรรมก็สอนว่าสิ่งที่เป็นในชาตินี้มาจากชาติที่แล้วและส่วนที่ทำในชาตินี้คือสิ่งที่จะให้ผลในชาติหน้า

พราหมณ์พระเวทผูกยึดชาติกำเนิดกับธรรมเข้าด้วยกัน การเลี้ยงชีพก็ผูกกับชาติ พราหมณ์เท่านั้นที่สื่อถึงพระผู้เป็นเจ้าและบรรลุธรรมได้ ลัทธินอกพระเวทก็สับสนเรื่องชาติกับธรรม ปูรณกัสสปและมักขลิโคศาลสอนว่าผู้ที่เป็นโจรหรือทำงานชั้นต่ำมีชาติดำ ภิกษุที่เชื่อเรื่องกรรมมีชาติเขียว นิครนถ์มีชาติแดง สาวกของอาชีวกมีชาติเหลือง อาชีวกมีชาติขาว เจ้าลัทธิอาชีวกมีชาติขาวสุด ส่วนพราหมณ์พระเวทมิได้กล่าวไว้ซึ่งเป็นไปได้ว่าจัดเป็นกลุ่มที่มีชาติเขียว

ในสมัยนั้น หลักกุศลธรรมคงมีความเข้าใจที่หลากหลายและมักคุ้นเคยกับการแบ่งแยกตามชาติกำเนิด ธรรมและอธรรมยังนับว่าปะปนกัน ถ้ามองย้อนจากปัจจุบัน กุศลธรรมมีการไม่เบียดเบียนหรืออหิงสาเป็นพื้นฐาน ทานเป็นการบริจาค ศีลเป็นการละเว้นการกระทำที่เชื่อว่าบาป ธรรมเป็นการออกจากชีวิตแบบปุถุชน ถือคำสัตย์ มีเมตตากรุณา ไปจนถึงการภาวนาให้พ้นทุกข์

พราหมณ์พระเวทภาวนาด้วยการสวดบูชาพระผู้เป็นเจ้า ดาบสภาวนาให้เกิดความสงบทางจิต ปริพาชกแสวงหาปัญญาความรู้ นิครนถ์ปฏิบัติให้หลุดจากโลกทางวัตถุ

ธรรมก่อนพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ยังมิใช่ความรู้ใหม่ ยังวัดความก้าวหน้าในธรรมด้วยความสุดโต่งของศีลและลักษณะของศีลภายนอก การบำเพ็ญธรรมยังขาดบุญที่มีสติและมีปัญญา ยังต้องตระหนักว่าสิ่งใดใช่ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ สนใจเหตุของปัจจัยและผลของปัจจัยนั้น

อิทธิบาทที่ขาดคือวิมังสา ไม่ว่าจะเดินเส้นทางใดก็ต้องมีการไตร่ตรองว่าให้ผลอย่างแท้จริงหรือไม่

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น จึงเป็นที่รับรู้ว่าธรรมก่อนพุทธกาลล้วนมิใช่หนทางที่จะให้แสงสว่างแห่งสัจจธรรม ผู้คนสามารถเลือกเจริญไปในทางธรรมได้ตลอดเวลา

 

สายพันธุกรรมของชนชาวอารยธรรมสินธุ (IVC) อายุ 4,500 ปี

ที่มา: Shinde and others, “An ancient Harappan genome .. ,” Cell, October, 2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image