กองทัพกับรากฐานเผด็จการ ในรัฐธรรมนูญของละตินอเมริกา

คำสัมภาษณ์และงานหลายๆชิ้นของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ผู้ศึกษาบทบาทของกองทัพกับการเมืองมาอย่างยาวนาน ได้ทำหน้าที่เป็น “ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” ที่คอยหลอกหลอนให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่เคยเกิดในลาตินอเมริกา ว่าด้วยเรื่องบทบาทและการยึดอำนาจรัฐบาลและบริหารประเทศเสียเองของกองทัพในนามของการปฏิวัติรัฐประหาร

ผมอยากนำเสนอมิติหนึ่งในฐานะของเชิงอรรถของอาจารย์สุรชาติ โดยเฉพาะประเด็นบทบาทของกองทัพกับการเมืองในลาตินอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกเรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 1980 ที่ทหารเข้ามามีบทบาทสำคัญในทางการเมือง ผ่านการรัฐประหารและบริหารประเทศ ผมตีความแนวคิดของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่นำโดย Brian Loveman แห่งมหาวิทยาลัย San Diego State University ที่ให้ความเห็นในทำนองว่า การเมืองแบบเผด็จการในลาตินอเมริกา เป็นทั้งการเมืองในเรื่องของพัฒนาการและความสัมพันธ์ของรัฐต่อสังคมรวมทั้งวิวัฒนาการของกฏหมาย และ การเมืองเชิงวัฒนธรรมในแง่ของการต่อสู้ช่วงชิงและให้นิยามคววามหมายทางการเมืองบางประการโดยมีวัฒนธรรมเป็นสมรภูมิการต่อสู้

รากฐานสำคัญในการทำความเข้าใจบทบาทของทหารทางการเมืองนั้นจึงต้องเข้าใจความเป็นไปของสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาก่อนจะถึงวันที่ทหารยึดอำนาจ ซึ่งประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือการทำความเข้าใจตัวรัฐธรรมนูญ และ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม โดยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่ไม่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน แถมยังแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก (ตามที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เคยอภิปรายเอาไว้เอาไว้) แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ในประการแรก ความไม่เข้าใจของกองทัพเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ที่เป็นรากฐานของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไป และเรื่องนี้ไม่ใช่ว่ากองทัพไม่ปกป้องประชาชน เพราะในสังคมลาตินอเมริกานั้นกองทัพสมัยใหม่นั้นเป็นกองทัพในสาธารณรัฐอยู่แล้ว

Advertisement

เพียงแต่ว่าสำหรับกองทัพนั้น รัฐนั้นสำคัญกว่าประชาชน ในการปกป้องประชาชน (อย่าเพิ่งงงครับ)

เมื่อรัฐนั้นสำคัญกว่าประชาชน “ความมั่นคง” ที่กล่าวถึงก็ย่อมเป็นความมั่นคงของรัฐ และเมื่อรัฐนั้นมั่นคงประชาชนก็จะมั่นคงไปด้วย รัฐจึงต้องมาก่อน ความมั่นคงของรัฐ(ทั้งในแง่ขององค์กรใช้อำนาจ และ ชุมชนทางการเมือง)จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ภารกิจของรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญและจะต้องไม่ถูกฉุดรั้งหรือสกัดกั้นขัดขวางโดยความต้องการของภาคส่วนอื่นๆ หรือการเรียกร้องของปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่ง

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สังคมและประชาชนนั้นจะต้องดำเนินไปภายใต้ “ทิศทาง” บางประการที่รัฐนั้นกำหนดซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นเสมือนธรรมชาติที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน และรัฐจะเป็นผู้กำหนดเองถึงเส้นแบ่งและขอบเขตของกิจกรรมต่างๆว่าใครควรจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เฉกเช่นเดียวกับที่ประชาชนรวมทั้งชนชั้นนำก็คาดหวังและจับตาว่ารัฐจะมีนโยบายอะไรออกมาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาบ้าง

Advertisement

เมื่อแนวคิดในเรื่องรัฐเป็นเช่นนี้จึงไม่ค่อยจะแปลกใจนักว่าสังคมการเมืองที่รัฐนั้นนอกจากเป็นศูนย์กลางและผู้กำหนดเรื่องราวต่างๆแล้ว รากฐานแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยที่สังคมและประชาชนเป็นศูนย์กลางที่เกิดมาพร้อมกับสิทธิบางอย่างที่พรากไม่ได้จึงไม่มี หรือเป็นสิ่งที่คิดไม่ได้-คิดไปไม่เป็น (unthinkable) หรือกล่าวตามทฤษฎีก็คือ ไม่มีความคิดประเภทที่ว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจรัฐ เพื่อให้รัฐมีอำนาจที่จำกัดและมีชีวิตอยู่เพื่อและอยู่ภายใต้การยินยอมพร้อมใจของประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญนั้นมีขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจประชาชนเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมของประชาชนเอง และเพื่อรัฐ (หรืออธิบายว่า แทนที่จะพูดถึง limited government ก็เป็นเรื่องของ limited society และlimited citizen)

รัฐธรรมนูญในแบบรัฐนิยมจึงมองว่า ความดีงามของสังคม หรือ หน้าที่ทางศีลธรรมต่างๆย่อมจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่เป็นตัวอย่างและชี้นำสังคม และเมื่อเป็นเช่นนี้ “การเมือง” ในฐานะของกิจกรรมในสังคมที่เต็มไปด้วยเรื่องของการมีส่วนร่วมและเสรีภาพในการเห็นต่างหรือคัดค้าน (อย่างน้อยก็มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง) จึงเป็นเรื่องที่อันตรายในบางครั้งมากกว่าจะเป็นหัวใจของสังคมการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของรัฐที่มีภารกิจสำคัญคือการกำหนดทิศทางการเมืองและการบริหาร เมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องของทิศทาง การวางกฏระเบียบในทุกๆมิติของชีวิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐจะต้องทำ เช่นการอนุญาติหรือไม่อนุญาติให้ทำกิจกรรมใดบ้าง ดังนั้นการคัดค้านหรือเห็นต่างจากสิ่งที่รัฐทำนั้นจึงมักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่เคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ หรือเป็นพฤติกรรมของพวกไม่หวังดีและคอยต่อต้าน ด้วยวิธีคิดเช่นนี้การคัดค้านสิ่งที่รัฐทำในสังคมเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังท่าทีเป็นอย่างไรมาก ไม่ใช่คัดค้านแบบเน้นแต่สาระและเนื้อหาของการคัดค้าน โดยไม่ได้ดูถึงวิธีการแสดงความคิดเห้น หรือท่าทีที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น

และเมื่อการเห็นต่างและคัดค้านนั้นถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางรัฐและขัดขวางคุณงามความดีที่รัฐได้มอบให้ประชาชน ผู้กระทำการดังกล่าวอาจถูกตัดสินว่าจะต้องถูกให้ออกไปจากสังคมการเมืองนั้น เฉกเช่นเดียวกับการออกจากชุมชนแห่งความดีงามทางศาสนา

ตัวอย่างรูปธรรมในเรื่องที่ผมกล่าวมาก็คือการร่างรัฐธรรมนูญที่มักจะกำหนดบทบัญญัติกว้างๆว่า ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพอะไรบ้าง แต่สุดท้ายก็มักจะมีการให้เงื่อนไขเอาว่า เมื่อเกิด “สถานการณ์พิเศษ” (หรือสถานการณ์การปกครองด้วยจ้อยกเว้น) บางอย่างนั้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องถูกจำกัดเมื่อมีกฏหมายอื่นๆระบุเงื่อนไขความจำเป็นเอาไว้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐโดยเฉพาะทหารนั้นมักจะมีบทบาทในการตีความเรื่องนี้เสียเอง ซึ่งเรื่องนี้ชี้ว่าแม้รากฐานของสังคมลาตินอเมริกาจะพ้นออกไปจากสมบูรณาสิทธิราชย์แบบที่มีศูนย์กลางที่กษัตริย์ แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยรัฐในรูปแบบอื่นในนามของการปกป้องดูแลประชาชนก็ไม่ได้หมดไป และเกิดได้ในสังคมที่มีอุดมการณ์แบบขวา หรือ แบบซ้าย พูดง่ายๆก็คือความรู้สึกที่ไม่สามารถอกทนต่อความเห็นต่างทางการเมืองได้ (political intolerance) และความรู้สึกที่เชื่อว่ารัฐนั้นจะต้องนำพาสังคมไปสู่ความสิ่งที่ดีงามและจะไม่ทนต่อความแตกต่างหรือการคัดค้านนั้นเป็นมรดกตกทอดของอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ในแบบเดิม การปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง(ในฐานะความจริงที่ถูกต้อง)ให้แก่เยาวชนก็เป็นหนึ่งในภารกิจที่รัฐต้องทำ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาเอาไว้ซึ่ง “ชาติบ้านเมือง” หรือที่เรียกกันว่า res publica ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเมือง (political space) ที่รัฐเป็นผู้กำหนด รักษา และ ตีความ ซึ่งบางทีก็พูดถึง ผืนแผ่นดิน หรือ แผ่นดินพ่อ (fatherland)

ลักษณะของสังคมทางการเมืองแบบที่รัฐเป็นศูนย์กลางนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่เงื่อนไขสำคัญที่ลักษณะการปกครองแบบรัฐเป็นศูนย์กลางและสิทธิเสรีภาพของประชาเป็นเรื่องรองที่เกิดในสังคมลาตินอเมริกายุคการรัฐประหารโดยคณะทหารนั้นรุ่งเรืองเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขสามประการ หนึ่งคือระบบตุลาการนั้นไม่ได้มีไว้หรือไม่ได้มีประสิทธิภาพพอที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนสองคือการรวมศูนย์อำนาจและท้องถิ่นอ่อนแอ และสามคือการสร้างบทบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมว่าทหารจะต้องมีหน้าที่ในการสร้างหลักประกันให้กับระเบียบทางการเมืองภายในประเทศ

การที่ทหารถูกกำหนดและรู้สึกว่าตนจะต้องดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในประเทศด้วยนั้นจึงทำให้ทหารหรือกองทัพคิดว่าการแทรกแซงหรือใช้อำนาจทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญได้วางเจตนารมณ์เอาไว้ หรืออธิบายง่ายๆว่าพวกเขาไม่เคยมองว่าพวกเขาผิดกฏหมายหรือละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่เขามองว่ารัฐธรรมนูญมันถูกละเมิดมาก่อนนั่นแหละครับ เมื่อใดที่ความวุ่นวายเกิดขึ้นเขาก็มองว่ารัฐธรรมนูญมันถูกละเมิดแล้ว ศีลธรรมและความดีงามมันหายไปเมื่อเกิดความวุ่นวาย และนักการเมืองก็คือต้นตอของความวุ่นวายนั้น การเว้นวรรคหรือขจัดนักการเมืองและคนที่กระทำการต่อต้านพวกเขาก็เป็นเรื่องที่เป็นภารกิจที่พวกเขาต้องทำ

พูดอีกอย่างก็คอในสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความวุ่นวาย กองทัพก็จะทำตัวเป็นศาลเสียเอง เพราะเขาไม่ได้ไปขอคำสั่งจากใครในการแทรกแซงทางการเมืองแต่เขาจำต้องตัดสินใจเพราะเชื่อว่าไม่มีสถาบันไหนทำหน้าที่นั้นได้แล้ว และลึกๆเขาเชื่อว่าพวกเขาทำหน้าที่่ตามรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก โดยพิทักษ์รัฐธรรมนูญในความหมายอันสูงส่งก็คือจำต้องฉีกรัฐธรรมนูญที่ไม่ทำงานแล้วออกไปซะและรักษาระเบียบและความสงบสุขให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นการทำลายกฏหมายด้วยเงื่อนไขที่จำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งกฏหมายที่สูงกว่า หรือกฏหมายที่มองไม่เห็นในนามระเบียบทางการเมืองนั่นแหละครับ (political order) ซึ่งเรียกกันง่ายๆว่า “ความมั่นคงภายใน” หรือ internal security affairs นั่นแหละครับ และจะสังเกตว่ากองทัพมักมองว่ากิจการการรักษาความมั่นคงภายในนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเหนืออื่นใด และเป็นเรื่องที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

พูดง่ายๆทุกอย่างก็คือสิ่งที่กองทัพทำนั้นคือการทำตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแหละครับ เพียงแต่ว่าคำว่ารัฐธรรมนูญของเขาอาจไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจตรงกับคนอื่น หรือ เข้าใจตามแนวคิดของรัฐธรรมนูญเสรีนิยมประชาธิปไตยนั่นแหละครับ และการรักษาไว้ซึ่งสถาบันต่างๆของบ้านเมืองและขนบธรรมเนียมอันดีงามของชาติบ้านเมืองนี่แหละครับคือภารกิจตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

อธิบายง่ายๆการจะเข้าใจบทบาททหารในทางการเมืองในลาตินอเมริกาในช่วงดังกล่าวนั้น ส่วนสำคัญคือเรื่องของการทำความเข้าใจประเพณีทางรัฐธรรมนูญที่เน้นรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน (ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นรากฐานจากสมบูรณาญาสิทธิ์เดิม และ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นหนึ่งในมิติสำคัญของสาธารณรัฐที่เน้นความเป็นส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว) และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของทหารในจินตกรรมทางรัฐธรรมนูญแบบนั้น (ในความหมายนี้การทำความเข้าใจหรือวิพากษ์แต่มิติเรื่องชาติและการสร้างชาติไม่พอ ต้องเข้าใจมิติของการสร้างรัฐด้วย โดยเฉพาะคำว่ารัฐประชาชาติ nation state ว่าสองคำนี้มันต่างกันอย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ใช่สนใจแต่คำว่าชาติเท่านั้น)

อีกประการหนึ่งก็คือความสำคัญของทหารในการสร้างตนเองเป็น “ผู้พิทักษ์ชาติบ้านเมือง/แผ่นดินพ่อ” (ในฐานะตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาติ) นั้นต้องทำความเข้าใจด้วยว่า คำว่าชาติบ้านเมือง (la patria) (ผืนแผ่นดิน) เป็นสิ่งที่เป็นนิรันดร์และเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่บรรดานายทหารนั้นก็จะอ้างตนว่าเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นนิรันดรของชาติบ้านเมืองที่สืบเนื่องกันมานานราวกับตำนานเรื่องเล่า และความเป็นผู้พิทักษ์นี้ก็เปรียบเสมือนกองทักเป็นคณะสงฆ์ผู้พิทักษ์ความเป็นช่ติบ้านเมือง และนายทหารก็เปรียบเสมือนนักบวชแห่งลัทธิชาติบ้านเมืองซึ่งพวกเขาก็เต็มไปด้วยอคติและเป็นผู้ตัดสินซึ่งอัตลักษณ์ของพวกเขาและอัตลักษณ์ของชาติบ้านเมือง และด้วยบทบาทเหล่านี้จึงทำให้พวกเขาแทรกแซงการเมืองในนามของการอยู่เหนือการเมืองในแง่ของการเมืองแบบแบ่งฝักฝ่าย ซึ่งเป็นภาพกิจที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่ยากลำบากทั้งในการพิทักษณ์รักษาคุณค่าหลักและผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืืองอันเป็นนิรันดร์ท่ามกลางแนงกดดันภายในและภายนอกที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพิทักษ์รักษาชาติบ้านเมืองจึงมักจะมีความหมายควบคู่ไปกับการให้ความหมายใหม่กับผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ซึ่งจะต้องสถิตย์สถาพรและเป็นสิ่งข้ามการเวลา สิ่งนี้ก็จะหมายถึงภารกิจของการให้ความหมายกับประวัติศาสตร์ ของความรักและเสียสละต่อชาติบ้านเมือง และของผลประโชน์ของประเทศชาติ ในแง่นี้สถาบันการศึกษาของทหารก็จะต้องปลูกฝังความคิดที่รักชาติและต่อต้านการเมืองแบบฝักฝ่ายแบบเดิมให้กับบรรดานายทหารรุ่นต่อๆไปในการพิทักษ์รักษาบ้านเมืองนี้เอาไว้

อย่างไรก็ตามใช่ว่าทางออกจากการครอบงำของทหารทางการเมืองจะหมดไป เพราะในหลายประเทศนั้นสิ่งที่ทำกันนั้นก็มีตั้งแต่การยกเลิกกองทัพซึ่งทำได้ยาก มาจนถึงการให้คำจำกัดความใหม่ของกองทัพตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ การพัฒนาระบบการศึกษาในโรงเรียนทหาร และการทำให้ทหารนั้นรู้จักและสัมผัสกับโลกภายนอกค่ายทหาร แต่ทั้งหมดนี้ทำได้ไม่ง่ายนักถ้าเราไม่เข้าใจความเป้ฯมาและคำจำกัดความของรัฐธรรมนูญในทางประวัติศาสตร์ของสังคมลาตินอเมริกาเองนั่นแหละครับ

ส่วนทหารนั้นถอยออกจากการเมืองเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลังจากทศวรรษที่ ๑๙๘๐ จนทำให้รัฐประหารและการแทรกแซงของทหารในทางการเมืองยังเป็นเรื่องปกติที่น่ารังเกียจในสายตาชาวโลกแถวทวีปอาฟริกาและประเทศอีกแห่งแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไรอันนี้ก็จะขอไม่พูดถึงในสัปดาห์นี้นะครับ

(หมายเหตุ ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Brian Loveman. The Constitution of ‘Tyranny’: Res Publica and Authritarian Politics in Latin America. Unpublished paper presented at the conference on “Res Publica: East and West”, Dubrovnik, Yogosavia. 10-14 October 1988. และ For la Patria: Politics and the Armed Forces in Latin America. Wilmington, DL: SR Books.)

(มติชนรายวัน อังคารที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ หน้า ๑๖)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image