โครงการบัณฑิตคืนถิ่น มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อตั้งมาแล้ว 37 ปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2522 เป็นวันมงคลในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาจารึกภาคตะวันออก) จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยความร่วมมือของคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมพระฉายาลักษณ์ เพื่อจำหน่าย นำเงินรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นกองทุนเริ่มแรกสำหรับเก็บดอกผล เพื่อพระราชทานเป็น “ทุนการศึกษา” แก่เยาวชนผู้ขัดสน ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งได้ทรงพระกรุณา พระราชทานชื่อทุนว่า “ทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”

ต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบเพิ่มขึ้น เห็นควรขยายโครงการทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาให้มั่นคงกว้างขวางขึ้น จึงดำเนินการจดทะเบียนเงินกองทุนดังกล่าวขึ้นเป็น “มูลนิธิ” และได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ตามชื่อทุนเดิมที่ได้รับพระราชทานแล้ว ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิฯด้วย

มูลนิธิฯ ได้เริ่มให้ทุนการศึกษาแก่ “นักเรียน” และ “นักศึกษา” ทุกระดับที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตั้งแต่ “ประถมศึกษา” ถึงระดับ “อุดมศึกษา” โดยเริ่มให้ทุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2558) รวม 34 ปี ให้ทุนการศึกษาไปแล้ว 26,546 ทุน เป็นเงินกว่า 326 ล้านบาท

Advertisement

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ : 1) เพื่อให้ทุนอุดหนุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุกระดับการศึกษา 2) เพื่อร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ 3) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ จัดทัศนศึกษาหรือจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ 4) ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

กองทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีรายได้จากการบริจาคและการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ออกจำหน่ายและจากสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่จัดทำโดยมูลนิธิฯ เช่น นามานุกรม วรรณคดีไทย ตราแผ่นดิน ตราราชสกุลและสกุล อักษรพระนามและนามย่อ เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถสั่งซื้อ ทาง Internet ได้ที่ website:www.nalin.com และหาซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายหนังสือใหญ่ๆ ทั่วไป

เช่น มูลนิธิสายใจไทย ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านภูฟ้าทุกสาขา ร้านจิตรลดา ร้านนายอินทร์ทุกสาขา บริษัท นานมี บุ๊คส์ จำกัด กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

Advertisement

อนึ่ง “โครงการบัณฑิตคืนถิ่น” ถือกำเนิดคราวที่พระองค์ท่านพระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ตชด. เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2531

“…อย่างเรานั้นมีโอกาสที่ดีมาก มีอาหารการกินที่ดีทุกอย่าง อยากได้อะไรก็ได้ และยังมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นจะได้รับการศึกษาคงจะไปไม่ถึงระดับที่เราได้ ส่วนที่เราได้รับก็เป็นการศึกษาพิเศษ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นบุคคลพิเศษ ได้โอกาสดีกว่าคนอื่นก็เท่ากับประชาชนทั้งชาติ สนับสนุนให้ทุนมาให้ศึกษาได้ถึงระดับอุดมศึกษา ก็จะต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องทำอะไรตอบแทน เพื่อให้เพื่อนร่วมชาติสนับสนุนเราได้มีโอกาสที่ดีขึ้นกว่านี้…”

จากพระราโชวาทดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เยาวชนไทยที่ควรอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนอีกเป็นจำนวนมาก ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เพื่อนำความรู้ไปใช้พัฒนาท้องถิ่นของตน ดังพระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้ เมื่อ 27 เมษายน 2531

“…อยากจะตั้งกองทุนแล้วก็สนับสนุนให้นักเรียนเหล่านั้น เลือกเอาจากโรงเรียนในเขตที่จะหาโอกาสในการศึกษาต่อได้ยาก ให้ได้รับการศึกษาต่อ พอเป็นตัวอย่าง อาจจะมีกฎข้อบังคับบางประการให้ต้องกลับมาเป็นผู้ช่วยทำความเจริญให้หมู่บ้านหรืออะไร?…การที่นักเรียนได้เรียนต่อก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเอง คือ เมื่อมีความรู้มากขึ้น ควรจะมีโอกาสได้เลือกงาน มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง ที่จะทำประโยชน์แก่ตนเองและทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้มากขึ้น…”

มูลนิธิมีปณิธานที่จะสืบสานพระราชดำรินี้ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีวิชาชีพขึ้นในระดับอุดมศึกษา ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น จึงเห็นควรสนับสนุนโครงการของสถาบันอุดมศึกษาที่มีลักษณะเอื้ออำนวยให้เยาวชน ซึ่งอยู่ใน “ถิ่นทุรกันดาร” ได้เข้าเรียนหลักสูตรที่ปลูกฝังความรู้ ความคิด ความสามารถ ตลอดจนเจตคติที่นำมาสู่ความสามารถกลับไปสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ “ท้องถิ่นของตนเอง” เป็นหลักการสำคัญ

“ทุนการศึกษา” สำหรับนิสิตนักศึกษาในโครงการ ซึ่งมาจากครอบครัวในถิ่นทุรกันดารจะได้รับพระราชทานทุนการศึกษาตลอดระยะเวลา 4-6 ปี ของหลักสูตรปริญญาตรี คนละ 60,000 บาทต่อปีการศึกษา เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมีเงื่อนไขว่า “จะต้องกลับไปทำงานหรือประกอบอาชีพที่ท้องถิ่นของตน หรือท้องถิ่นทุรกันดารอื่นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว

พระนามและรายนามคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีดังนี้…

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์, ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการ, ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน ประธานกรรมการ, นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รองประธานกรรมการ คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร กรรมการ, รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมปัญญา กรรมการ, คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการ, นายเดโช สวนานนท์ กรรมการ, นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการ, นายสมศักดิ์ วิราพร กรรมการ, นายทรงฤทธิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กรรมการ, นายสมเกียรติ ชอบผล กรรมการ, นางโฉมฉาย เหล่าสุนทร กรรมการและเหรัญญิก, นางวัลลิยา ปังศรีวงศ์ กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก, ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ กรรมการและเลขานุการ, นายสุพจน์ จิตสุทธิญาณ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ, นายจิรัสสา คชาชีวะ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ, คุณชวลี อมาตยกุล กรรมการกิตติมาศักดิ์, นางชญานุตม์ อินทุดม กรรมการกิตติมาศักดิ์, น.ส.อรวรรณ แย้มพลาย กรรมการกิตติมาศักดิ์, นายอภิชัย จันทรเสน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

สำหรับในปีการศึกษา 2558 ที่ผ่านมามูลนิธิมีผลการดำเนินงานที่สำคัญๆ ดังนี้

1.ให้ทุนการศึกษาทุกระดับ ทั่วประเทศจำนวน 668 ทุน เป็นเงินกว่า 25 ล้านบาท

2.จัดโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แก่เด็กอนุบาล ปัจจุบันมีโรงเรียนผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ 15,100 แห่ง

3.เนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน 2559 มูลนิธิฯ โดยความร่วมมือสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมและบริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิมพ์หนังสือทางวิชาการออกเผยแพร่ 7 เรื่อง เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าว

ในวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ก่อนการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครั้งที่ 1/2559 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ในฐานะเลขานุการมูลนิธิฯ ได้นำความกราบบังคมทูลเบิกตัวผู้สนับสนุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อรับพระราชทานของที่ระลึกโล่และเข็ม สธ. โดยมีผู้ที่รับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 16 ราย ผู้รับพระราชทานโล่ 4 ราย ผู้รับพระราชทานเข็ม สธ. จำนวน 94 ราย เช่น 1.นายประสงค์ บุญยะชัย บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด 2.นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา บริษัทนานมีบุคส์ จำกัด 3.นายสุรักษ์ พานิชย์เจริญ บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย จำกัด 4.ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 5.นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร 6.ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา 7.นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ผู้เขียนเชื่อว่า คนไทยหัวใจพุทธ ผู้มีจิตศรัทธาและใจบุญคงเห็นด้วยกับโครงการดีๆ อย่างนี้ จึงใคร่ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ทูลเกล้าฯถวายทุนการศึกษา เพื่อพระราชทานผ่านมูลนิธิฯ ให้แก่นิสิตนักศึกษา “ผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร” เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ระดับอุดมศึกษา และนำไปพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดของเขาในโอกาสต่อไป โดยแสดงความจำนงบริจาคได้ 3 ทาง คือ

– เช็ค สั่งจ่ายมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการพัฒนาบัณฑิตคืนถิ่น

– ธนาณัติ ในนามมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการบัณฑิตคืนถิ่น (สั่งจ่ายตู้ ปณ.ตลิ่งชัน)

– โอนเงิน เข้าบัญชีออมทรัพย์ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการบัณฑิตคืนถิ่น เลขบัญชี 067 215 305 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาจิตรลดา ประเภทออมทรัพย์ เชิญชวนร่วมด้วยช่วยกันทำบุญกับบัณฑิตคืนถิ่น… “การศึกษาช่วยสร้างชาติ” นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image