ประชาธิปไตยแบบเถียงให้รู้เรื่อง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สัปดาห์นี้อยากจะเล่าเรื่องของแนวคิดในเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) หรือที่อยากจะโหนกระแสโดยเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบเถียงให้รู้เรื่อง” แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับรายการเถียงกันให้รู้เรื่องโดยตรงหรอกครับ แค่ขอยืมคำมาขายของ เอ้ย.. มาเขียนงานสัปดาห์นี้ให้ไม่ตกกระแสเสียมากกว่า

แต่จะว่าไปแล้ว ในยุคสมัยนี้เราก็จะพบรายการโทรทัศน์ในแบบของการตัดสินและประกวดประขันกันมากขึ้น ในบริบทสังคมไทยที่ดูจะได้รับความนิยมมากกว่าในแนวของการตัดสินประกวดร้องเพลง ที่จะมีกรรมการมาคอยตัดสินชี้ขาด แต่ก็ด้วยความเป็นสังคมแบบไทยๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ รายการตัดสินร้องเพลงส่วนมากกลับไม่มีการฟ้องร้องกัน ถ้าเทียบกับการประกวดนางงาม หรือเถียงกันให้รู้เรื่อง

อาจเป็นไปได้ว่า รายการประกวดร้องเพลงนั้นเป็นโลกแห่งอุดมคติแบบไทยๆ กล่าวคือ ต่อให้ได้รางวัลชนะเลิศ ก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจริงๆ บางทีคนที่ได้ที่สอง หรือเข้ารอบลึกๆ บางคนในบางปีก็อาจจะประสบความสำเร็จในวงการจริงๆ มากกว่าก็ได้

หรืออาจเป็นเพราะรายการร้องเพลงนั้นมีการประกวดกันหลายเวที และมีโลกยูทูบให้สามารถเปิดเป็นช่องทางได้จริงในการเข้าสู่วงการ ดังนั้นคนที่มีความสามารถจริงจึงไม่ต้องออกมาโวยวายกับผลการตัดสินมากนัก เพราะช่องทางการเข้าสู่วงการของนักร้องในวันนี้ดูจะเปิดกว้างมากขึ้น

Advertisement

ที่พูดออกนอกเรื่องมากมายนี้ก็ไม่มีอะไรมากครับ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาสาระหลักในเรื่องประชาธิปไตยแบบเถียงให้รู้เรื่องมากนัก เพียงแค่อยากจะบอกว่า ความสำคัญในเรื่องของการเถียงกันให้รู้เรื่องในทางการเมืองนั้นมันอาจจะไม่เหมือนกับเรื่องของการประกวดร้องเพลงมากนัก ดังนั้นการจะจำลองโลกของความขัดแย้ง และ/หรือการแข่งขันกันในทางการเมืองมาสู่การเถียงกันแค่สองฝ่ายนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และความไว้เนื้อเชื่อใจกันที่จะมีให้กับกรรมการสองท่านและพิธีกรเองก็อาจจะไม่ใช่เรื่องอุดมคติมากนัก โดยเฉพาะกับฝ่ายที่รู้สึกว่าตนนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการถกเถียง

หรือจะว่าไป หน้าที่ของกรรมการในโลกแบบเถียงให้รู้เรื่องอาจจะไม่ใช่การทำหน้าที่ตัดสิน แต่ต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้คู่ขัดแย้งเองเห็นถึงความสลับซับซ้อนของปัญหามากขึ้น ชี้แจงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ความซับซ้อนต่างๆ นั้นอาจจะชี้ชวนให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ และนั่นก็คือเส้นแบ่งที่บางมากสำหรับเรื่องของการเถียงกันให้รู้เรื่อง และการเถียงกันให้ชนะหรือแพ้แบบโต้วาที หรือแบบที่เถียงกันในสภาแล้วตัดสินกันด้วยจำนวน ทั้งจากกรรมการและจากตัวกลุ่มที่เถียงกันเองว่าจะวัดกันด้วยจำนวนเท่ากับความถูกต้องแต่เพียงเท่านั้น

ภารกิจของการเถียงกันให้รู้เรื่องในสังคมน่าจะอยู่ที่การเปิดให้เถียง และจับใจความที่เถียงกันให้รู้เรื่อง และมองว่าประชาชนคือผู้ตัดสินในตอนสุดท้าย ดังนั้นกรรมการและพิธีกรก็อาจจะต้องมองว่าจะช่วยกันซักถามให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจหรือผู้ชมนั้นได้เห็นทั้งข้อมูล มุมมอง และความตั้งใจและจริงใจในการนำเสนอประเด็นของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น และอาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องที่เราไม่ค่อยจะคุ้นชินกันก็คือ สังคมจะอยู่กันท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างไร การตัดสินใจสาธารณะจะสามารถนำเอาประเด็นที่เกิดความขัดแย้งกันมาตัดสินใจร่วมกันได้อย่างไร

Advertisement

และเมื่อเกิดการตัดสินใจในแต่ละเรื่องไปแล้ว เกิดมีฝ่ายที่แพ้และชนะ พวกเขาจะอยู่ต่อในสังคมได้อย่างไร

กลับมาที่เรื่องของประชาธิปไตยแบบเถียงกันให้รู้เรื่องครับ ในทางรัฐศาสตร์นั้นมองว่าเป็นเรื่องของการค้นคว้า และแสวงหาคำตอบทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการตัดสินใจสาธารณะให้มันดีขึ้น โดยเน้นไปที่เรื่องของสิทธิ โอกาส และสมรรถภาพของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจสาธารณะนั้นว่าเขามีส่วนร่วมไหม (หรือมีตัวแทนที่เข้ามาร่วม) โดยที่การมีส่วนร่วมนั้นมันหมายถึงว่าในการถกเถียงดังกล่าว หรือปรึกษาหารือกันนั้นแต่ละฝ่ายจะต้องมีความหมายและความสำคัญในการถกเถียงกันในเรื่องนั้นๆ (ไม่ใช่เรียกมาแค่รับฟังแล้วเรียกว่ามีส่วนร่วมแล้ว หรือประเภทถามง่ายๆ เร็วๆ หยาบๆ ว่า ตกลงมีใครจะเถียงไหมแล้วก็ตัดบทไป)

ในอีกแง่หนึ่ง เราสามารถเข้าใจประชาธิปไตยแบบเถียงให้รู้เรื่องได้ ในฐานะที่เราเป็นพลเมือง ที่เมื่อจะมีการตัดสินใจทางการเมืองใดๆ เกิดขึ้น เราก็จะต้องมีช่องทางที่จะนำเสนอความคิดเห็นของเราออกไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด เพราะในประชาธิปไตยในหลายๆ แห่งก็มีกลไกที่ทำหน้าที่ดังกล่าว อาทิ การเขียนจดหมายไปถึงตัวแทนของเราในสภาท้องถิ่น การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุยกันที่ศาลาประชาคม หรือแม้กระทั่งการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยแบบเถียงให้รู้เรื่องนั้นแตกต่างจากประชาธิปไตยในแบบอื่นๆ ก็คือการที่เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้พูดคุยถกเถียงกัน และในการเถียงกันนั้นก็หมายถึงการที่แต่ละฝ่ายมีโอกาสและบรรยากาศที่จะพูดคุยกันได้ และได้เผชิญหน้ากับความคิดเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย อนึ่งการถกเถียงกันนั้นไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงการใช้เหตุผลในแบบที่เราคุ้นชินเท่านั้น คือเหตุผลที่ต้องอ้างถึงส่วนรวม แต่สิ่งที่นำมาสู่การถกเถียงหรือถกแถลงกันนั้น อาจจะหมายถึงการสื่อสารที่มีได้ในหลายรูปแบบที่ไม่มีการใช้กำลังบังคับ และที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันเป็นความคิดเห็นที่มันสะท้อนบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ข้างในของแต่ละคนออกมา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างชีวิตหรือมุมมองส่วนตัวของคนคนหนึ่งกับหลักการที่ใหญ่กว่านั้น รวมไปถึงความพยายามที่จะทำความเข้าใจกับคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้แชร์มุมมองของคนที่ถกแถลงในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นเรื่องราวที่เรานำมาเถียงกันให้รู้เรื่องอาจจะมีมากกว่าเรื่องของการพูดแบบมีเหตุมีผลอ้างส่วนรวมเท่านั้น ไปสู่เรื่องของเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน เรื่องของคำเปรียบเปรย เรื่องของอารมณ์ขัน เรื่องของคำประกาศในแนวพิธีกรรม หรือแม้กระทั่งคำนินทา หรือข้อเสนอบางอย่าง แต่เรื่องที่ไม่สามารถนำมาพูดคุยกันก็คือ การข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่ง การโกหก การบิดเบือน และคำสั่ง

เว้นเสียแต่ว่าสิ่งที่เราห้ามนั้นมันอาจจะนำไปสู่ผลที่จะทำให้เรามาเถียงกันให้รู้เรื่องได้ เช่นการเปิดประเด็นว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งสาธารณะนั้น เขาถูกล้อเลียนว่าอย่างไร หรือถูกกล่าวหาอย่างบิดเบือนว่าอย่างไร แล้วเรานำเอาประเด็นเหล่านั้นมาถกเถียงกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเรื่องนั้นๆ

สิ่งที่สำคัญก็คือ ความแตกต่างของการสื่อสารในวิถีแบบเถียงกันให้รู้เรื่องนั้นต่างจากการบิดเบือน หรือการสื่อสารทางการเมืองในแบบที่มุ่งหวังทางยุทธศาสตร์ (strategic) มากกว่าความมุ่งหวังที่จะสื่อสารกันให้รู้เรื่องจากทุกฝ่าย (communicative) หรือพูดอีกอย่างก็คือ การสื่อสารแบบยุทธศาสตร์นั้นอาจจะเน้นไปที่การครอบงำความคิดเห็นของเรา มากกว่าเพียงการแจ้งให้เราทราบว่าเขาคิดอะไร

ในอีกด้านหนึ่ง การเถียงกันให้รู้เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของฝ่ายผู้ที่ต้องการจะสื่อสารเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายที่รับสารนั้นจะต้องรับสารที่เข้ามาด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง ด้วยความเต็มใจที่จะเข้าร่วมค้นหาทางเลือกใหม่ๆ หรือพยายามเข้าใจว่าข้อเสนอของฝ่ายอื่นนั้นมันมีประโยชน์ ประเด็น และคุณค่าอะไรบ้าง สิ่งนี้จะแตกต่างจากการสื่อสารทางการเมืองในแบบที่เรามักจะเห็นกันว่าคนแต่ละฝ่ายต่างยึดมั่นในสารของตนเอง และไม่ยอมปรับเปลี่ยน หรือขยับจุดยืนของตัวเองเลย

ประเด็นท้าทายของประชาธิปไตยแบบเถียงกันให้รู้เรื่องนั้นไม่ใช่การชนะกันของแต่ละฝ่าย แต่หมายถึงการที่จะทำให้เกิดบรรยากาศที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจุดยืนจากเดิมได้ ดังนั้นในการมาเถียงกันให้รู้เรื่องนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญทั้งตัวกระบวนการสนทนา และผลของการสนทนาด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการที่จะเถียงกันให้รู้เรื่องนั้น เราอาจจะฝันไปถึงเรื่องราวใหญ่ๆ เรื่องราวสาธารณะ ที่เรียกว่าปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเถียงให้รู้เรื่องอาจจะมาจากเรื่องเล็กๆ ที่เป็นเรื่องสาธารณะ (minipublic) ที่อาจจะเป็นเรื่องที่คนตั้งแต่ยี่สิบคนถึงสองพันคนนั้นได้รับผลกระทบ และคนเหล่านั้นมารวมตัวกันเพื่อที่จะตั้งประเด็นที่จะจัดการกับเรื่องดังกล่าว บางกรณีก็เป็นเรื่องของการสุ่มเลือกประชากรให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือมีการสุ่มเลือกคนเข้าไปตัดสินข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น หรือมีการร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องของการวางผังเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งการถกแถลงกันนั้นจะต้องมีเป้าหมายทั้งในแง่ของการพูดคุยกันในหลายๆ มุมมอง เพื่อเพิ่มความเข้าใจและทำให้การตัดสินใจมันรอบด้านขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องราวของการเถียงกันให้รู้เรื่องนั้นอาจจะเป็นประเด็นที่ท้าทายมาก เมื่อมีการพยายามจะยกระดับการพูดคุยจากวง หรือประเด็นเล็กๆ ที่ได้กล่าวถึงไป ไปเป็นเรื่องที่ใหญ่โตขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้โดยอัตโนมัติ และแต่ละกรณีก็แตกต่างกันไป

และก็ต้องระมัดระวังด้วยว่า เราจะไม่แทนค่าการเถียงให้รู้เรื่องโดยเชื่อว่าบ้านเมืองไม่ต้องมีการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ หรือมีช่องทางการเมืองอื่นๆ เช่นการเลือกตั้ง การมีนักการเมือง มีการปกครองท้องถิ่น โดยเห็นว่าแค่มีรายการทีวีแบบเถียงกันให้รู้เรื่องแล้วก็มีสถานีโทรทัศน์ที่เราวางใจ ส่วนบ้านเมืองจะมีทหารปกครองก็ได้ไม่เป็นไร เพราะมันก็เข้าอีหรอบเดียวกับที่ประเทศอย่างจีนเชื่อว่าพวกเขามีระบบการจัดการบ้านเมืองในระดับท้องถิ่นเรื่อยมาจนถึงระดับพรรคส่วนกลาง โดยไม่ต้องมีประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ได้ คำถามที่ท้าทายก็คือ ประชาธิปไตยแบบเถียงกันให้รู้เรื่อง/ปรึกษาหารือ กับประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นมันจะทำงานร่วมกันและเสริมกันได้อย่างไร ในทางหนึ่งเราอาจจะรู้สึกไม่สบายใจกับประชาธิปไตยตัวแทนในแง่ของจำนวนว่าเถียงยังไง ถ้าโหวตก็ชนะตลอด

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือก็อาจจะมีคนที่มีความชำนาญในการพูดที่เก่ง เถียงเก่ง หรือโหนเก่งกว่าคนอื่นได้เช่นกัน มิพักต้องนึกถึงประเด็นที่ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะค้นพบว่า ในการที่เราอ้างว่าเราพูดกันแล้วทุกเรื่องทุกมุม เราสามารถหลุดพ้นจากการครอบงำหรือเราไม่กล้าที่จะพูดในบางเรื่อง

จะโดยที่เราจงใจ หรือกลัว หรือนึกไม่ถึงก็อาจจะเป็นได้

และในวันนี้การเถียงกันให้รู้เรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่ขยายวงไปจากจินตนาการของเราในการสร้างโลกอุดมคติตามทฤษฎี หรือมองว่าโทรทัศน์เป็นโลกที่สามารถหาคำตอบสาธารณะได้ มาสู่ประเด็นท้าทายว่าในโลกอินเตอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ความเห็น ทรรศนะ และเหตุผลนั้น เราจะสามารถพัฒนาไปสู่การเกิดการเถียงให้รู้เรื่องได้ไหม และใครคือ “ตัวกลาง” ที่จะช่วยทำหน้าที่ให้เกิดการถกเถียงและสื่อสารที่รับรู้เข้าใจความหลากหลาย ความเกี่ยวเนื่อง และความสลับซับซ้อนของเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเมื่อพูดถึงคำว่าใครนี้ อาจไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงคนที่เก่งฉกาจคอยตัดสินถูกผิด แต่อาจหมายถึงกระบวนการ platform หรืออัลกอริทึ่มต่างๆ ที่จะนำพาให้เกิดการถกเถียงให้รู้เรื่องก็อาจเป็นได้

โดยที่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของคอมพิเตอร์อัจฉริยะที่คิดแทนเราได้ แต่เป็นกระบวนการที่จะนำพาเอาความหลากหลายต่างๆ มาร่วมกันให้กลายเป็นคำตอบสาธารณะที่เราฝันว่ามันจะไปให้ถึงได้ต่างหาก

หมายเหตุ : บางส่วนพัฒนามาจาก John Dryzek and Simon Niemyer. 2012. What is Deliberative Democracy? Centre for Deliberative Democracy and Global Governance. (http://deldem.weblogs.anu.edu)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image