พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : เมือง การปิดเมืองและภัยพิบัติโควิด-19

การพูดถึงการปิดประเทศ และการปิดเมืองในฐานะหนึ่งในมาตรการรับมือกับภัยพิบัติโควิด-19 (ไม่ว่าโควิด-19 จะเข้าเกณฑ์ภัยพิบัติที่เป็นทางการของรัฐบาลหรือไม่) และการปิดเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสนใจทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

การปิดประเทศเราอาจจะสนใจเรื่องของระบบการเข้าออกประเทศ การทำวีซ่า ใบตรวจโรค แต่ในเรื่องของการปิดเมืองนั้นเราอาจจะต้องทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของพื้นที่เมือง และความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับโรคระบาดกันเสียก่อน

ในเอกสารล่าสุดของ World Economic Forum COVID Action Platform เรื่อง How cities around the world are handling COVID-19 – and why we need to measure their preparedness เขียนโดย Robert Muggah หัวหน้าทีมด้านการพัฒนาสังคม และ Rebecca Katz ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพและความมั่นคงระดับโลก Georgetown University (17 มีนาคม 2563) ได้ชี้ว่า เรื่องที่เราควรสนใจก็คือคนในโลกนี้เกินครึ่งตอนนี้อาศัยอยู่ในเมือง และเมืองนั้นเป็นทั้งศูนย์กลางด้านธุรกิจและการเคลื่อนย้ายในทุกๆ ด้าน ซึ่งในแง่นี้เมืองก็ยิ่งเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ความเสี่ยงนั้นขยายผลมากขึ้น

ความหนาแน่นซึ่งเป็นส่วนสำคัญของคุณลักษณะของความเป็นเมืองนั้นมีผลสำคัญทำให้การระบาดของโรคไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีความหนาแน่นคนก็ยิ่งติดต่อสัมผัสกันได้มากขึ้น และในส่วนของเศรษฐกิจนั้นมีการประเมินกันว่า เมืองในโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 เมืองใหญ่ๆ นั้นสร้างรายได้ให้โลกถึงสองในสามของรายได้ทั้งหมด ด้วยความเป็นจุดศูนย์กลางและจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของผู้คน ทุน ทรัพยากรและความมั่งคั่ง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมการปิดเมือง หรือผลจากการระบาดที่ทำให้การเคลื่อนที่ทำได้ยาก หรือถูกจำกัดมีผลต่อเศรษฐกิจของเมืองและของโลกอย่างที่เราได้ประสบกับตามาแล้ว

Advertisement

เมื่อพูดเรื่องเมืองก็ต้องบอกว่าเมืองลำดับรองๆ ก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเช่นกัน อย่างที่เราเห็นในกรณีของประเทศไทยนั้น รายงานการติดเชื้อที่ค้นพบ (ต้องย้ำว่าค้นพบ เพราะการเข้าถึงการตรวจยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งจากเครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่พร้อม ราคาการตรวจที่ยังแพง และเกณฑ์การตรวจที่ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่ อย่างกรณีของกลุ่มการระบาดที่มาจากสนามมวยนั้น ค้นพบโดยบังเอิญ เพราะนักแสดงที่ติดเชื้อไปตรวจเอง และยังไม่เข้าเกณฑ์)

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ โดยภาพรวมจากการระบาดหลายครั้งที่ผ่านมานั้น มักจะเริ่มที่บริเวณพื้นที่รอบนอกของเมือง และเริ่มฟักตัวและกระจายออกมาจากบริเวณของพื้นที่ชานเมืองใหม่ (peri-urban) ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่มีส่วนผสมทั้งย่านที่พักอาศัยและแหล่งงาน ก่อนที่จะกระจายระบาดเข้าสู่ศูนย์กลางของเมือง และจากนั้นก็จะแพร่กระจายไปทั่วเครือข่ายของการติดต่อเคลื่อนย้ายด้วยว่าศูนย์กลางเมืองมีลักษณะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของระบบโลก

ใช่ว่าเมืองนั้นจะเป็นแต่ศูนย์รวมของปัญหา เพราะในความเป็นจริงแล้ว การจัดการโรคระบาดและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนบ่อยครั้งก็เริ่มจากการแก้ปัญหาเมืองนี่แหละครับ เช่น ในกรณีของการมีการประชุมใหญ่เรื่องของการสาธารณสุขในระดับโลก (International Sanitary Conference 1851) ก็มีขึ้นในเมือง เพื่อหาหนทางในการสร้างมาตรฐานในการจัดการโรคอหิวาต์ ไข้เหลือง และกาฬโรค หรือแม้กระทั่งส่วนหนึ่งของการเกิดระบบผังเมืองในอังกฤษก็เกิดจากการพยายามแก้ปัญหาความแออัดของพื้นที่ย่านชาวจีนกลางเมือง

Advertisement

หรือในกรณีการวางระเบียบเมืองนิวยอร์กก็พบว่า ระบบสุขภาวะที่ดีมากับการจัดบ้านเรือนที่ดีไม่แออัด

จากการศึกษาวิจัยพบว่าเมืองที่มีลักษณะที่เปิดกว้างทางความเห็นและการบริหารโปร่งใส เน้นความร่วมมือกันทุกภาคส่วน (ซึ่งต่างจากคำสั่งให้ร่วมมือกัน แต่หมายถึงเคารพความเท่าเทียมกันของผู้เข้าร่วมเครือข่ายภาคี) และมีระบบการตอบสนองต่อปัญหาอย่างครบด้านจะมีสมรรถนะในการจัดการภัยพิบัติโรคระบาดได้มาก โดยเฉพาะในกรณีของสถานการณ์ในปัจจุบัน การตอบสนองต่อปัญหาของไต้หวันและสิงคโปร์ รวมทั้งอีกหลายประเทศถูกยกให้เป็นต้นแบบในการทำงาน จากการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม และเน้นเรื่องของการตรวจหาไวรัส การสอดส่องดูแลค้นหาผู้ติดเชื้อ การมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง การสื่อสารที่ไม่ปกปิดข้อมูล การรีบแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมา และการปกป้องชุมชนโดยการสร้างระยะห่างแบบที่เรียกว่า social distancing และมีภาวะผู้นำที่ตรงกับสถานการณ์ที่ต้องการการตัดสินใจที่ฉับพลันและทำทันที เพื่อให้การระบาดไม่เพิ่มแบบก้าวกระโดด และไม่เพิ่มภาระให้ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถในการพร้อมรับมือกับภัยพิบัติโรคระบาดจำเป็นจะต้องพึ่งพาสมรรถนะของเมืองและการบริหารเมืองในการป้องกัน ค้นหา ตอบสนอง และดูแลผู้ป่วยให้ได้นั่นแหละครับ

ในอีกด้านหนึ่งเมืองที่มีความยากจน ความเหลื่อมล้ำ มีคนจนเมืองที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น รวมทั้งการไม่มีระบบและแนวคิดในการจัดนำเอาทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และแบ่งปันความมั่งคั่งและผลจากการพัฒนาเมืองจะมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก

สําหรับประเทศไทยนั้น ผมคิดว่าเรามีปัญหาที่ซับซ้อนมากในเรื่องของการเตรียมเมืองและประเทศในการจัดการกับภัยพิบัติโรคระบาดในรอบนี้ ซึ่งในเรื่องนี้จะไม่ขอพูดในระดับประเทศในแง่ของการขาดระบบการคัดกรองตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในครั้งก่อนๆ

ประการแรก เมืองของไทยมีลักษณะของเมืองโตเดี่ยว และการพัฒนาที่เน้นเมืองเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะเมืองหลวง ดังนั้น กรุงเทพฯจึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และเป็นเมืองที่ดึงเอาทรัพยากรทุกอย่างมากระจุกเอาไว้มากที่สุด

การปิดกรุงเทพฯจึงทำได้ยากมาก รวมทั้งความคิดและนโยบายในการให้ทำงานที่บ้าน

เพราะคนน่าจะเกินครึ่งของกรุงเทพฯเขามี “บ้าน” ในความหมายของ “ภูมิลำเนา” นอกกรุงเทพฯ

ดังนั้น การที่มีการปิดที่ทำงานหรือให้ทำงานที่บ้าน พวกเขาก็จะต้องกลับภูมิลำเนาของเขา เพราะนั่นคือบ้านของเขา

และถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ การปิดที่ทำงานสำหรับคนจำนวนไม่น้อยในภาคบริการที่ได้เงินเป็นรายวัน พวกเขาก็ขาดรายได้ ดังนั้น เขาก็อยู่รอดในเมืองได้ยาก หลักพิงสำคัญของเขาคือการกลับภูมิลำเนา

ความพยายามในการเลื่อนสงกรานต์เพราะไม่อยากให้คนกลับบ้านในแง่การเคลื่อนย้ายไปพร้อมกับความเสี่ยงในโลกระบาดนั้น จึงทำให้สงกรานต์เริ่มตั้งแต่วินาทีของการประกาศให้ทำงานที่บ้านสำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่เปราะบางในเมือง เพราะไม่มีรายได้และอยู่คนเดียว และยิ่งทำให้ระยะเวลาของสงกรานต์ที่แท้จริงยาวนานขึ้นไปอีก

ถ้าพูดกันแบบตลกร้ายก็คือ ในสถานการณ์ที่ระบบการตรวจสอบไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ การทำให้ประชากรในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดและตรวจเจอมากที่สุดหายไปมากขึ้น ก็ทำให้การตรวจเจอทำได้ยากขึ้น เพราะต่างจังหวัดตรวจได้ยากขึ้น

ประการที่สอง ความเปราะบางในเมืองยังสะท้อนให้เห็นจากความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นว่า ระบบมาตรฐานที่พักอาศัยของเมืองของเรามันดีพอหรือไม่ อย่างกรณีการให้ทำงานที่บ้าน ในความเป็นจริงคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่เขาไม่ได้มีบ้านที่จะสามารถกักตัวเองได้อย่างแท้จริง พวกเขาอยู่ในสภาพของความแออัดที่อยู่กันหลายคน และย้อนไปในข้อที่แล้วก็คือ สถานะของการทำงานของเขาไม่มั่นคง เขาไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะเขาเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ หรืออยู่ในภาคบริการรายวัน

ในประการที่สาม ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาปรับวิธีคิดในเรื่องการพัฒนาเมืองและการวางผังเมืองของประเทศไทย โดยพิจารณาจากกรุงเทพฯ เป็นตัวอย่าง

ที่ผ่านมาระบบการวางผังเมืองในกรุงเทพฯ เน้นในเรื่องของฉากทัศน์ของการเน้นความหนาแน่นในเมือง โดยเน้นให้มีความแน่นของตึกในบริเวณเมืองด้วยเส้นถนนวงแหวนประมาณถนนรัชดา และเชื่อมต่อด้วยระบบการขนส่งมวลชน (mass transit) สมัยใหม่ เช่น รถไฟฟ้า ที่ต้องเน้นว่าถ้าไม่แน่นทั้งในรถและเมืองนั้นก็จะไม่คุ้มทุน

สิ่งที่เราเริ่มพบก็คือ นับจากกรณีของฝุ่น PM2.5 มาจนถึงเรื่องของโรคระบาดในรอบนี้ ความท้าทายสำคัญก็คือ ฝุ่นพิษมีความหนาแน่นมากในเมือง และในย่านพักอาศัยที่มีการก่อสร้าง และมีถนนที่เป็นคอขวด อีกประการหนึ่งก็คือ การขนส่งมวลชนขนาดใหญ่กลับทำให้การแพร่กระจายของโรคระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น มากกว่าจะเป็นคำตอบของเมือง โดยเฉพาะเมื่อเจอกับมาตรการ social distancing

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ชี้ว่าเวลาที่เราพูดถึงการปิดเมือง เราไม่พูดแต่ว่าผู้ว่าฯ สั่งปิดสถานบริการ หรือกิจการบางอย่างเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องใหญ่ก็คือ การตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ วิกฤต และโอกาสของเมือง ที่สัมพันธ์กับภัยพิบัติโรคระบาด โดยจะต้องลงไปพูดถึงการจัดพื้นที่และมาตรฐานบางอย่างของเมืองที่เข้มข้นขึ้นของเมือง และคำนึงถึงความเปราะบางของผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแต่มีส่วนในการสร้างสรรค์เมืองทั้งสิ้น

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image