ปัญญาของโพชฌงค์ โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดไม้รวก อำเภอท่าเรือ แสดงมารวิชัย ฝีมือนายคำ พ.ศ.2370 สติสัมโพชฌงค์เท่าทันกายและจิต อุเบกขาสัมโพชฌงค์ตัดภพตัดชาติ

โพชฌงค์เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นใหม่ ไม่มีคำที่ใกล้เคียงในสมัยก่อนพุทธกาล พุทธศาสนิกชนจำนวนมากคุ้นเคยกับคำนี้ว่าเป็นบทสวดที่ทำให้หายจากความเจ็บป่วย ความคุ้นเคยในฐานะที่เป็นข้อปฏิบัติมีน้อย ส่วนหนึ่งคงเพราะรู้สึกว่าไกลเกินตัว

โพชฌงค์แปลตามพยัญชนะคือองค์ประกอบของการตรัสรู้ซึ่งมี 7 ประการได้แก่สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา

มหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวถึงการเจริญโพชฌงค์ไว้ในหมวดธัมมานุปัสสนา ส่วนในอานาปานสติสูตรซึ่งอาศัยเฉพาะลมหายใจก็มีกล่าวไว้ทั้งในกายานุปัสสนาและหลังสติปัฏฐาน 4 การกล่าวถึงนั้นเป็นไปโดยย่นย่อ

สำหรับการปฏิบัติในขั้นของโพชฌงค์ จิตจะน้อมไปสู่แต่ละองค์ประกอบที่เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตด้วยปัญญา เมื่อปัญญาขั้นสูงเข้าร่วมด้วย ปรากฏการณ์นั้นก็จะมีอาการที่เรียกว่า “สัมโพชฌงค์”

Advertisement

โพชฌงค์ 7 จึงเป็นจิตที่มีปัญญาสังเกตพิจารณาอาการของสติและสมาธิที่สูงแล้ว

สติสัมปชัญญะในสติปัฏฐานจะเป็นสติสัมโพชฌงค์ ถ้าองค์ประกอบอื่นๆ เกิดขึ้นก็จะพัฒนาเป็นสัมโพชฌงค์ในทำนองที่คล้ายคลึงกัน

เราอาจสังเกตได้ว่าองค์ประกอบของโพชฌงค์มีการเรียงตามลำดับของสมาธิจิต โดยที่สตินั้นเป็นองค์ประกอบที่ต้องมีอยู่เสมอ

สติมาจากการรับรู้กายและความรู้ตัวทั่วร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้ทางอายตนะ

ธรรมวิจยะมาจากการสังเกตสิ่งที่อยู่ในจิต สามารถแยกแยะกุศลธรรมและอกุศลธรรมและพิจารณาเลือกข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง คำนี้มักแปลไว้ว่าการเลือกเฟ้นธรรม

วิริยะเป็นความเพียรหรือการประคองการปฏิบัติ จิตเห็นภาวนามยปัญญา

ปีติ ปัสสัทธิและสมาธิเป็นอาการที่เกิดขึ้นมากขึ้นเมื่อผ่านปฐมฌาน เป็นองค์ประกอบที่เข้าใจยากและมักตีความไม่ตรงกัน

ปีติในปฐมฌานเป็นปีติที่อ่อน เกิดขึ้นในฌานที่ยังมีวิตกและวิจาร เกิดจากความสงบสงัดที่เรียกว่าวิเวก เป็นความสดชื่นซึ่งอาจทำให้ติดใจ บางทีเรียกว่าปราโมทย์

ปีติในทุติยฌานมีความชัดเจนมาก มีความซาบซ่านเมื่อจิตแผ่ไป เป็นความสั่นเสทือนทั่วร่างกายซึ่งตรงกับคำว่าผรณาปีติ ปีตินี้มีกำลังและเป็นความสุขที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเพลิดเพลิน สำหรับปีติและปราโมทย์ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญอาจกำหนดหรือเพ่งให้เกิดได้

ปัสสัทธิเป็นความสงบระงับที่เย็นกายและเย็นใจ กายปัสสัทธิเป็นความสงบระงับทางกายที่เกิดกับอาการของจิตคือเวทนา สัญญาและสังขาร เกิดขึ้นระหว่างทุติยฌานและตติยฌานเมื่อปีติระงับไป อาจนับเป็นปีติชนิดหนึ่งที่ละเอียดอย่างยิ่งแต่ผู้ปฏิบัติสร้างไม่ได้ ส่วนจิตปัสสัทธิเป็นความสงบเย็นทางใจซึ่งเกิดตามมา

สมาธิเป็นความสงบที่ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์เดียวหรือเอกัคคตา เจือสุขในตติยฌาน

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเจตวงศ์ (ร้าง) ปทุมธานี
พระเจ้าสุทโธทนะประกอบพิธีแรกนาขวัญ
เจ้าชายสิทธัตถะทรงสำเร็จปฐมฌานใต้ต้นหว้า พระฉาย
ส่องสว่างเที่ยงตรง

อุเบกขาเป็นความสงบที่วางเฉยหรือเป็นกลาง มีความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตที่เป็นอุเบกขาเกิดชัดในจตุตถฌาน สติมีความบริสุทธิ์ ส่วนในสติปัฏฐาน อุเบกขาเป็นอุบายปัญญา

การเจริญโพชฌงค์เป็นขั้นตอนของวิปัสสนาก่อนเข้าถึงอริยมรรคในจิต สมาธิต้องจดจ่อเป็นอัปปนาสมาธิซึ่งเทียบได้กับปฐมฌานและดังนั้นจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในขั้นปฐมฌานจิตจะมีวิตก วิจาร ปีติ สุขและเอกัคคตาผสมกันไป จากนั้นจึงเหลือปีติ สุขและเอกัคคตาในทุติยฌาน เอกัคคตาเป็นสมาธิที่มีเพียงอารมณ์เดียว ไม่มีอารมณ์อื่นแทรก

อัปปนาสมาธิไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาครอบงำและทำให้จิตเห็นสภาวะที่สำคัญเกิดขึ้นตามมา โพชฌงค์ 7 ก็คือสภาวะนั้น ถ้าปัญญาเจริญขึ้นร่วมกับสภาวะใดก็จะสร้างสัมโพชฌงค์ในสภาวะนั้น

องค์ประกอบของโพชฌงค์ข้างต้นจึงมี 2 ด้านได้แก่ด้านที่เป็นโพชฌงค์ซึ่งสะท้อนว่าการปฏิบัติน่าจะถูกทางแล้วและอีกด้านที่เป็นกิเลสอันละเอียด ปัญญาจะช่วยให้รู้จักกิเลสเหล่านี้และเลือกเดินทางได้ถูกต้อง

จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง สมณะบรมโพธิสัตว์ทรงสดับเสียงพิณ
วิริยสัมโพชฌงค์เปรียบเข้ากับพิณสามสาย
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน)

1.สติสัมโพชฌงค์

สติตั้งมั่นและทำให้จิตรับรู้ถึงความเป็นอนิจจัง สติสัมปชัญญะที่มากขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ ปัญญาจะทำให้เห็นอนิจจังทั้งทางกายและจิต หลวงพ่อพุธ ฐานิโยบอกว่าจิตจะมีสติเป็นผู้นำ

2.ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

กุศลธรรมและอกุศลกรรมมีปรากฏตั้งแต่ในสติปัฏฐานและสัมมัปปธาน ผู้ปฏิบัติสังเกตว่าข้อธรรมใดใช้งานได้ดีและจะเพิ่มส่วนที่ขาดได้อย่างไร สามารถเห็นกุศลธรรมเกิดขึ้นและดับไป ไม่ติดกุศลธรรมที่ผุดขึ้น ปัญญาจะเฟ้นหาสภาวะของอนิจจัง ทุกขังและอนััตตา

3.วิริยสัมโพชฌงค์

เป็นการประคองการปฏิบัติในทางสายกลาง สัมมัปปธาน 4 มีข้อหนึ่งที่อาศัยความเพียรในการภาวนาซึ่งต้องสังเกตพิจารณาให้พอเหมาะแก่การปฏิบัติ ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป มิให้ขาดความสม่ำเสมอหรือฝืนทรมานกายสังขาร ปัญญาจะทำให้ความเพียรเป็นวิริยสัมโพชฌงค์

4.ปีติสัมโพชฌงค์

การให้ความสนใจกับปีติซึ่งน่ายินดีทำให้รับรู้ถึงสภาวะอนิจจังไม่ง่าย ปัญญาจะใช้ปีติสอนจิตให้เห็นสภาวะอนิจจังอยู่เสมอแต่ไม่ติดใจในปีตินั้นๆ

5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เมื่อเกิดปัสสัทธิ กายมีความสงบระงับ จิตก็จะสงบระงับตามมา ในระดับของอัปปนาสมาธิ ปัสสัทธิเป็นกายปัสสัทธิหรือความสงบระงับของเวทนา สัญญาและสังขาร การเจริญโพชฌงค์ปกติอยู่ในชั้นนี้ ปัญญาจะสอนให้เห็นว่าปัสสัทธิอันน่ายินดีก็ไม่เที่ยง

6.สมาธิสัมโพชฌงค์

จิตตั้งมั่นไม่ซัดส่าย สมาธิให้ความสงบนิ่ง จะมีมากถ้าไม่มีวิตก วิจารและปีติแทรก สำหรับในระดับของอัปปนาสมาธิ จิตมีความสงบตั้งมั่นระดับหนึ่ง ในระดับตติยฌานขึ้นไป จิตมีความตั้งมั่นโดยไม่มีปีติปรากฏ ปัญญาจะสอนว่าความตั้งมั่นเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง

ในอรรถกถาจะอธิบายในแง่ของความฉลาดในการประคองสมาธิเพื่อให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ โดยอาศัยนิมิตที่ให้ความสงบและที่ให้อารมณ์ที่ไม่ฟุ้งซ่านออกไป

7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์

เมื่อจิตตั้งมั่นในปฐมฌานหรืออัปปนาสมาธิ อุเบกขาเกิดขึ้นจากความสงบวิเวกแต่เจือด้วยสุขและองค์ฌานอื่นๆ ปัญญาจะสอนให้สังเกตหรือวางเฉยอย่างเป็นกลาง ส่วนในจตุตถฌาน อุเบกขาจิตเกิดขึ้นจากวิราคะซึ่งไม่เกาะสิ่งใด ปัญญาจะสอนว่าอุเบกขาที่เป็นการเพ่งเฉยก็ไม่เที่ยง

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดม่วง อินทร์บุรี
พระเจ้าอโศกมหาราชนมัสการพระอุปคุต
การเข้าหาสัตบุรุษและการคบกัลยาณชนเป็นงานภายนอกของโพชฌงค์

อัคคิสูตรมีการกล่าวถึง “การเจริญโพชฌงค์ตามกาล” ซึ่งแนะให้ปฏิบัติเหมาะสมกับสภาพของจิตด้วย สภาพของสมาธิจิตมี 2 ลักษณะหลักได้แก่จิตหดหู่และจิตฟุ้งซ่าน สัมโพชฌงค์ที่ใช้ควรให้เหมาะสมแก่สภาพในขณะนั้น

จิตหดหู่เป็นอาการของจิตที่ท้อถอยและ “ส่งใน” ควรใช้องค์ประกอบที่ช่วยให้จิตขยันยินดี ได้แก่ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์

จิตฟุ้งซ่านเป็นอาการของจิตที่ซัดส่ายและ “ส่งนอก” ควรใช้องค์ประกอบที่ช่วยให้จิตสงบระงับได้แก่ปัทสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ผู้ที่ไม่มีฌานอาจเห็นโพชฌงค์บางส่วนไม่ชัดบ้างแต่ก็เห็นทั้งหมดได้ในอัปปนาสมาธิ ส่วนผู้ที่มีฌานจะเจริญปัญญาโดยอาศัยโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นชัดมากน้อยในฌานนั้นๆ แต่ต้องเจริญโพชฌงค์ให้ครบถ้วน

ผู้ที่มีฌานอาจเห็นโพชฌงค์ตามกำลังของฌานซึ่งอาจไม่เหมือนกับผู้ที่มีสมาธิในขั้นอัปปนาสมาธิหรือปฐมฌาน เช่นเมื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์และสมาธิสัมโพชฌงค์อาจไม่มีวิตก-วิจาร ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์อาจอาศัยจิตปัสสัทธิ ไม่ใช่กายปัสสัทธิเป็นต้น

การเจริญโพชฌงค์อาจมีลักษณะย่อยที่พิเศษตามบทบาทของกายและจิตได้อีก งานของโพชฌงค์ก็มีทั้งที่เป็นการปฏิบัติทางจิตและที่มิใช่การปฏิบัติทางจิต

สำหรับการปฏิบัติทางจิต การเจริญโพชฌงค์เป็นการใช้ปัญญากับองค์ประกอบของโพชฌงค์ให้เป็นสัมโพชฌงค์ จึงเป็นวิปัสสนาที่ใช้ในสติและสมาธิ

ส่วนในชีวิตประจำวัน การดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญาจัดเป็นงานภายนอกของโพชฌงค์

เมื่อประเมินได้ว่าตนมีจิตที่วุ่นวายก็พยายามเลี่ยงความวุ่นวายและเข้าหาผู้ที่มีจิตสงบ ถ้าติดความสงบและมีปัญญาน้อยก็พยายามสดับธรรมและเข้าหาผู้ที่มีปัญญา มีการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับหลักศีลธรรม

สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นในจิตบวกกับการดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญาจะทำให้เข้าใกล้มรรคสัมมาทิฏฐิ สมาธิก็จะกลายเป็นสัมมาสมาธิ สติจะเป็นสัมมาสติ วิริยะจะเป็นสัมมาวายามะ วิตก-วิจารหรือความคิดก็จะเป็นสัมมาสังกัปปะ

ทั้งงานภายในและงานภายนอกของโพชฌงค์จะอำนวยให้จิตเข้าถึงอริยมรรคและอริยผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image