อนาคตของพื้นที่สาธารณะ ในวิกฤตโควิด-19 : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อนาคตของพื้นที่สาธารณะ ในวิกฤตโควิด-19 : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

ได้รับความกรุณาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบเอกสารที่เป็นการระดมสมองของนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม การผังเมือง และการจัดการสิ่งแวดล้อมจากหลายประเทศ ที่มาระดมสมองทำการสำรวจว่าอนาคตของพื้นที่สาธารณะในวิกฤตโควิด-19 นั้นจะเป็นอย่างไร (Honet-Roses, Jordi. Et al. 2000. The Impact of COVID-19 on Public Space: A Review of Emerhing Questions. April 2020. https://doi.org/10.3129/osf.io/rf7xa.) เลยขอนำมาส่วนที่ผมคิดว่ามีประเด็นน่าจะช่วยกันขบคิดว่าอนาคตของพื้นที่สาธารณะ

ที่มาที่ไปที่อยากจะชวนคิดก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาการปิดเมือง (บ้างก็เรียกว่า lock down) ไม่ว่าจะปิดเลย หรือปิดบางส่วน รวมไปถึงมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) นั้นมีผลกระทบกับเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องของพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่กำหนดความโดดเด่นและชีวิตของเมือง และพลเมือง เพราะที่ผ่านมาอาจจะเรียกได้ว่าการบริหารจัดการโควิดนั้นมองการรวมตัวกัน/ความหนาแน่นว่าเป็นที่มา/สาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาด

ในวันนี้เราจึงต้องกลับมาคิดเรื่องของบทบาทหน้าที่ และการปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับการที่เราคงจะต้องอยู่กับวิกฤตไวรัสโควิดนี้จนกว่าจะมีวัคซีน หรืออาจจะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนเมืองให้มีความยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น โดยมองวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนเมืองและพื้นที่สาธารณะไปในรูปแบบใหม่ๆ มากกว่ากลับไปเป็นแบบเดิม

Advertisement

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ซึ่งเอกสารไม่ได้พูดถึง)ก็คือ การพูดถึงพื้นที่สาธารณะจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่เราสามารถร่วมกันคิดและเรียกร้องจากรัฐให้มีการจัดหาและเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ในกระแสที่เต็มไปด้วยการสั่งการจากรัฐให้เราปฏิบัติตัวตามแนวทางแบบรัฐอำนาจนิยมเวชกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่ผมได้อธิบายเอาไว้ในงานเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน)

1.มิติด้านการออกแบบพื้นที่สาธารณะ : แม้ว่าเราควรจะเริ่มคิดจากเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแนวคิดก่อน แต่คนส่วนมากมักจะสนใจเรื่องที่เป็นรูปธรรมในด้านการออกแบบมากกว่าการคิดในภาพรวม ซึ่งในด้านนี้สิ่งที่ทำให้เราต้องคิดกันใหม่ก็คือ เราจะออกแบบถนนใหม่อย่างไร เราจะเปิดพื้นที่ให้มีการเดินและมีการใช้พื้นที่จักรยานมากขึ้นไหม เราจะทำให้มีพื้นที่สีเขียวที่มีความร่มรื่นมากขึ้นไหม และเราจะขยับเข้าสู่เศรษฐกิจที่มีมลพิษทางอากาศน้อยลงหรือไม่ (โดยเฉพาะจากควันพิษต่างๆ) ซึ่งส่วนหนึ่งก็เริ่มมีการคิดกันแล้วว่าทางเท้าจะต้องกว้างขึ้นไหม และการข้ามถนนจะเปลี่ยนไปไหมเพื่อให้เรามีระยะห่างทางสังคมมากขึ้น และลดพื้นที่ของรถยนต์ลง (กรณีของมิลานนั้นเริ่มแล้ว) และอีกหลายเมืองก็เริ่มคิดเรื่องของการปรับปรุงถนนเพื่อรองรับการขี่จักรยานในระยะทางที่ยาวขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในวิธีการที่จะทำให้การเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะนั้นไม่ได้อยู่ในมือของรัฐ บริษัทออกแบบ/ที่ปรึกษา และผู้รับเหมา คือการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในแบบ “นครานิยมเชิงยุทธวิธี” (Tactical Urbanism) หรือแปลง่ายๆ ว่าส่งเสริมลักษณะการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่คนในพื้นที่นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยกันพินิจพิจารณากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ในรายละเอียด และการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของคนในพื้นที่/ชุมชนและเห็นผลจากความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยใช้วัสดุหรืออุปกรณ์จากในพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่การลงทุนขนาดใหญ่จากนอกพื้นที่ที่อาจจะมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ต่อรองด้วยอำนาจท้องถิ่นไม่ได้ รวมทั้งยังเน้นความร่วมมือร่วมใจกันในท้องถิ่น การร่วมมือกับธุรกิจในพื้นที่ และไม่ได้เน้นการแสวงหากำไรแบบสุดขั้ว (Wikipedia : Tactical Urbanism บางทีเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงเมืองแบบช่วยกันทำเอง DIY Urbanism หรือการเปลี่ยนแปลงเมืองแบบจรยุทธ Guerrilla Urbanism แต่ Urbanism ควรแปลว่านครานิยมทั้งที่แปลแล้วก็ไม่มีความหมายอะไร แต่มันหมายถึงความเชื่อและปฏิบัติการบางอย่างในการสร้างและใช้ชีวิตในเมือง เหมือนสังคมนิยม สตรีนิยม อะไรเช่นนั้น)

แนวคิดการเปลี่ยนแปลงเมืองแบบที่ร่วมกันทำในระดับท้องถิ่นจะมีส่วนทำให้เกิดการต่อสู้ต่อรองกับวิธีคิดแบบที่เปลี่ยนเมืองด้วยโครงสร้างใหญ่จากส่วนกลางซึ่งอาจจะกระทบเมืองในระยะยาวโดยคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ มาสู่การมองเอาละแวกย่านต่างๆ เป็นศูนย์กลาง เช่น การต่อรองไม่ให้มีถนนขนาดใหญ่ผ่ากลางเข้าไปในพื้นที่ชุมชนในกรณีบาเซโลน่า และแนวคิดเช่นนี้มีผลทำให้เกิดการพยายามรักษาพื้นที่ในระดับละแวกย่าน (และจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับพลวัตรของพื้นที่ และพลวัตรทางอำนาจของพื้นที่ด้วยว่าจะมีการแบ่งปันพื้นที่กันอย่างไร) และทำให้ประชาชนในละแวกย่านพอจะต่อรองกับพันธมิตรรัฐ-นักออกแบบ-ธุรกิจใหม่ๆ ได้บ้าง

อีกเรื่องหนึ่งของการออกแบบที่มีความสำคัญก็คือเราจะเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพในฐานะหลักการสำคัญในการออกแบบเมือง แต่สิ่งท้าทายคือเราจะคำนึงถึงเรื่องสุขภาพในระยะยาวไหม หรือแค่เอาช่วงการระบาดโควิดเท่านั้นเอง รวมทั้งเรื่องของพื้นที่สีเขียว (green space) ซึ่งในวันนี้เราอาจจะต้องคิดถึงเรื่องที่ว่า พื้นที่สีเขียวนั้นจะมีหน้าที่อะไรกับเราด้วย นอกเหนือจากความรื่นรมย์ และความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่จริง ดังกรณีของการปิดเมืองที่พื้นที่ขนาดใหญ่ถูกห้ามใช้ บางทีสวนขนาดเล็กอาจจะกลับมามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น หรืออาจจะเป็นเพียงซอกมุม หรือพื้นที่โล่งที่ไม่ต้องกว้างมากนัก แต่ต้องตอบโจทย์พื้นที่สีเขียว สุขภาพ และการเว้นระยะห่างได้ด้วย (และก็เป็นคำถามสำคัญว่าเราจะจัดหาพื้นที่สวนขนาดเล็กได้มากแค่ไหน บนเงื่อนไขของการผลักใครออกจากพื้นที่บ้าง) รวมทั้งการร่วมกันคิดในเรื่องของการจัดลำดับและชนิดของพื้นที่สีเขียว ว่าจะมีแบบไหนบ้าง

ในอีกด้านหนึ่งเรื่องพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่นั้นก็เป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเลย หรือมองว่าไม่มีอนาคต จากงานในสัปดาห์ก่อนๆ ของผมที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะขนาดใหย่นั้นมีบทบาทในแง่ของอารยธรรม และการดึงดูดดการท่องเที่ยว และจิตวิญญาณของเมือง/พลเมืองในเทศกาลต่างๆ แต่ในวันนี้เรามองพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ในฐานะที่เป็นพื้นที่อันตรายของการแพร่ระบาดโรค และห้ามผู้คนทำกิจกรรมในพื้นที่เหล่านั้น หรือแม้กระทั่งมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งที่เราอาจจะหลงลืมไปว่า บทบาทของพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่นั้นมีบทบาทกับความยั่งยืนและการพื้นสภาพอย่างรวดเร็ว (resilience) เป็นอย่างมาก เช่น ในการใช้ป้องกันภัย หรือการหาพื้นที่ขนาดใหญ่ในการแปรสภาพเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักพิงในกรณีภัยพิบัติ และเรื่องของพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่นี้เราก็ไม่ควรละเลยที่จะกล่าวถึงเรื่องของพื้นที่ศาสนสถาน พื้นที่เอกชนและพื้นที่ราชการและสถานศึกษาด้วย

ในส่วนสุดท้ายของการออกแบบนั้นคำถามที่สำคัญก็คือเรื่องของการเคลื่อนที่/คมนาคม ที่จะต้องพิจารณาทั้งในแง่ของการเคลื่อนที่ในระดับปัจเจกบุคคล การแบ่งปันกันในเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งเรื่องของการขนส่งสาธารณะต่างๆ ซึ่งประเด็นท้าทายไม่ได้อยู่แค่เรื่องของการออกแบบ แต่อยู่ในเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น และความเป็นธรรมในการใช้และเข้าถึงด้วย

อาทิ การที่คนจนจะต้องออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากกว่าคนรวยที่อาจจะทำงานอยู่ในบ้าน และคนจนก็จะต้องติดเชื้อจากการให้บริการและโดยสารรถสาธารณะมากกว่าคนมีตังค์ และกระแสที่คนจำนวนหนึ่งอาจหันไปใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งนอกจากทำต้นทุนการบริหารรถสาธารณะสูงขึ้นแล้ว อาจทำให้ต้องเลิกกิจการไปได้โดยไม่มีคนอุ้มด้วย

2.มิติด้านการใช้พื้นที่สาธารณะ : ดังที่ได้กล่าวไปแล้วบางส่วนว่า คนจน (กว่า) ในสังคมมักจะมีแนวโน้มที่จะใช้พื้นที่สาธารณะมากกว่าคนที่พอจะมี และมีทางเลือกในการไม่ใช้น้อยกว่า เพราะไม่ได้มีบ้านและพื้นที่ส่วนตัวอื่นๆ ในการใช้ได้มากนัก ดังนั้น คนที่มีน้อยกว่าในสังคมมักจะเสี่ยงในการติดเชื้อและไม่ปลอดภัยสูงกว่า ทีนี้คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าการทำงานจากบ้านกลายเป็นแนวปฏิบัติใหม่มากขึ้น คนที่พอมีนั้นเขาก็อาจจะมีทางเลือกในการอยู่บ้านมากขึ้น ละเลยพื้นที่สาธารณะได้เพิ่มขึ้น และพื้นที่สาธารณะอาจจะถูกละเลย หรือปรับเปลี่ยนมากขึ้น ขณะที่คนมีน้อยก็อาจจะไม่ได้รับการดูแลมากขึ้น หรืออาจจะเปราะบางมากขึ้น เช่น คนเร่ร่อน คนไร้บ้านที่ถูกกวาดเก็บในช่วงเคอร์ฟิว หรือหากจะมีมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นในการใช้พื้นที่สาธารณะ

ในอีกด้านหนึ่ง ความแตกต่างในการใช้พื้นที่สาธารณะของกลุ่มคนและชนชั้นนั้นก็มีส่วนสำคัญในการออกแบบพื้นที่ อาทิ คนพอมีและทำงานในเศรษฐกิจใหม่/เศรษฐกิจสร้างสรรค์อาจจะใช้สวน/พื้นที่สาธารณะในการพักผ่อน แต่คนไม่ค่อยพอมี อาจไม่มีที่ไป หรือมองพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักพิงและรอคอยความหวังในการรับความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ในการวางนโยบายและในการออกแบบนั้นจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายในการใช้งานและความสัมพันธ์ของชีวิตท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในการใช้ชีวิตในเมืองของผู้คนด้วย ซึ่งในการเข้าใจความซับซ้อนและจำเป็นของการใช้พื้นที่สาธารณะนี้เองทำให้เราต้องมาคิดว่า จากข้อจำกัดในการใช้ชีวิตในวิกฤตโควิดนั้น ใครจะถูกกันออกจากพื้นที่ได้มากกว่ากัน หากเงื่อนไขของความหนาแน่นน้อยมีผลต่อการออกแบบและการวางแนวปฏิบัติในการใช้พื้นที่สาธารณะ อีกทั้งความรับรู้ที่จะมีต่อการใช้พื้นที่สาธารณะ และชีวิตสาธารณะจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ความเข้าใจร่วมกันของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ภายในอาคารก็เป็นเรื่องสำคัญ และที่จะละเลยไม่ได้ก็คือเรื่องของการตั้งคำถามกับมาตรการใหม่ๆ ในการออกแบบและการอนุญาตก่อสร้างอาคาร จากเดิมในบ้านเราที่เน้นการเว้นระยะระหว่างพื้นที่เช่น กั้นหน้ากั้นหลัง และพื้นที่สีเขียวในบริเวณอาคาร/สิ่งปลูกสร้าง ผมคิดว่าในอนาคตทางสำนักโยธาธิการและผังเมืองอาจจะต้องพิจารณาเรื่องเงื่อนไขอื่นๆ ในการจัดการกับโรคระบาดและสุขอนามัยของพลเมืองด้วย

แต่ทั้งนี้ในการกำหนดเงื่อนไขมาตรการการใช้พื้นและอาคารนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือเรื่องของการจัดการกับเสรีภาพของประชาชนพลเมือง ทั้งการห้ามทำกิจกรรม การกำหนดมาตรฐานใหม่ รวมทั้งการใช้ข้อมูลต่างๆ และแอพพลิเคชั่นในการติดตามตัวผู้คน จะเห็นว่าในแต่สังคมที่การตอบรับเรื่องนี้แตกต่างกัน ตั้งแต่การถูกสั่งการทางเดียวแบบจีน หรือการตั้งคำถามเรื่องขอบเขตอำนาจของรัฐบาลที่ต่างระดับกันในการปิดพื้นที่ และสิทธิของประชาชนในการใช้พื้นที่

และในอนาคตอันใกล้อาจรวมไปถึงเรื่องของการห้ามชุมนุมในพื้นที่สาธารณะด้วยเงื่อนไขด้านการสาธารณสุขด้วย

3.มิติด้านความเหลื่อมล้ำที่ไม่เท่าเทียมและการกีดกัน/ผลักออกจากพื้นที่สาธารณะ (Inequalities and Exclusions) : อย่าลืมว่าพื้นที่สาธารณะนั้นอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกในการนันทนาการของคนพอจะมี แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะมีนั้นพวกเขาอาจมีความจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากกว่า ทั้งในแง่การทำมาหากิน และการพักผ่อนหย่อนใจ (รวมทั้งการไม่มีที่จะไป ในแง่ของการพึ่งพิง) โดยเฉพาะคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และแรงงานต่างด้าวที่มักใช้พื้นที่สาธารณะในการพักผ่อนหย่อนใจ อาจจะถูกจำกัดพื้นที่มากขึ้น ข้อมูลส่วนนี้ยังรวมไปถึงว่าการจำกัดการใช้พื้นที่สาธารณะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะที่มีกับผู้หญิง

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยก็คือการใช้เงื่อนไขทางกฎหมายและการสาธารณสุขเข้ากวดขันและจัดระเบียบกับกิจกรรมภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการมากขึ้น โดยเฉพาะหาบเร่แผงลอย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นรายได้ก็ลดลง และในอนาคตก็อาจจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ในการรักษาความสะอาดมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการถูกผลักออกได้ง่ายขึ้น เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างแผงมากขึ้น การกำหนดเงื่อนไขการประกอบการที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และรายได้อาจลดลง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำ แต่อาจจะต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แสวงหาความร่วมมือ และปรึกษาหารือระหว่างชุมชน รัฐ และกิจการเหล่านั้นให้เข้าใจร่วมกันมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้เกิดเงื่อนไขการผลักออกจากพื้นที่ให้กับผู้ที่เปราะบางเหล่านั้น

ในท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่สาธารณะอาจจะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมโยงของเมืองต่างๆ ในระดับโลกมากขึ้น ทั้งในแง่ของการกำหนดเงื่อนไขการเคลื่อนที่ เดินทางและมาตรการต่างๆ ในการกำหนดมาตรฐานการพักอาศัย ซึ่งอาจมีผลต่อการเข้าถึงพื้นที่ และการเคลื่อนย้ายคนและทุน รวมทั้งต่อการตัดสินใจในการเคลื่อนที่ และมีผลต่อความเชื่อมโยงของเมืองทั้งในเมืองระดับโลกานคร (global cities) และเมืองระดับรองลงมา การที่เมืองบางเมืองถูกปิดแบบปิดเกาะจริงๆ อย่างภูเก็ต อาจทำให้เกิดการตัดสินใจในการเข้าถึงและพักอาศัยมากขึ้น และมีผลถึงเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตในทุกระดับ

สุดท้ายสิ่งที่เอกสารสำรวจไม่ได้กล่าวถึงมากก็คือ การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะว่าใครควรจะเข้ามามีบทบาทมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจมองได้ว่าในหลายประเทศในโลกนั้นเขาคิดเรื่องการบริหารจัดการเมืองและการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะบนฐานของประชาธิปไตย คือ เมื่อรัฐบาลในระดับเมืองเขามาจากประชาชน และมีกลไกการทำงานที่ผ่านการปรึกษาหารือกับประชาชนและตัวแทนประชาชนอย่างลงหลักปักฐาน การคิดในเรื่องมาตรการต่างๆ ก็จะมีความเข้าอกเข้าใจและรอบคอบ รวมทั้งรัฐบาลกลางเองก็รู้ว่าจะเข้ามาสั่งการมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ในบ้านเรา ผู้บริหารที่รับผิดชอบในระดับเมืองนั้นยังถูกส่งจากส่วนกลาง และในกรณีของกรุงเทพมหานครก็อยู่ในอำนาจในสภาวะยกเว้นทางการเมืองและการบริหาร อีกทั้งการรวบอำนาจจากส่วนกลางในสถานการณ์นี้แต่ก็อยากให้ท้องถิ่นมีความยืดหยุ่นและอิสระในการจัดการพื้นที่้ก็ทำให้ความสับสนและวุ่นวายในการสั่งการมากอยู่สักหน่อย

ดังนั้นเราก็คงจะต้องตระหนักถึงเงื่อนไขการบริหารจัดการเมืองและพื้นที่สาธารณะที่มีส่วนร่วมอย่างเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น และนำเขามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาในการพูดถึงสถานะและทิศทางของเมืองและพื้นที่สาธารณะในยุควิกฤตโควิด-19 และต่อไปหลังจากนี้ เพื่อไม่ให้นำเอาความสำเร็จบางส่วนเสี้ยวของเหตุการณ์นี้ท่ามกลางความท้าทายและบทเรียนมากมายในการบริหารจัดการในช่วงนี้มาเป็นเงื่อนไขในการรวบอำนาจและละเลยการกระจายอำนาจที่จะต้องเกิดขึ้นตามเจตจำนงของการปฏิรูปการเมืองและความต้องการของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image