สุจิตต์ วงษ์เทศ : กรุงเทพฯ มิวเซียม ไม่มีใน กทม.

พระบรมมหาราชวังของกรุงเทพฯ อยู่บริเวณย่านการค้าเรียกบางจีน สมัยกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี (ภาพเขียนจาก Journal of An Embassy to the Courts of Siam And Cochin China. John Crawfurd. Oxford University Press, 1967)

กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ไม่มีกรุงเทพฯ มิวเซียม จัดแสดงประวัติศาสตร์สังคม บอกความเป็นมาหัวนอนปลายตีน กิน ขี้ ปี้ นอน ของผู้คนร้อยพ่อพันแม่ และความเป็นเมืองแม่น้ำลำคลอง ร้อยซ่องพันซอย
เมืองหลวงในโลกที่มีประชากรเป็นสิบล้านคน (ทั้งในและนอกทะเบียนบ้าน) มักมี มิวเซียมประวัติศาสตร์สังคม บอกพัฒนาการความเป็นมาของเมืองหลวงนั้นๆ นอกจากเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกระบบแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคุณค่าและมูลค่ามหาศาลอยู่ด้วย
กทม. มีทั้งทุน, ทรัพยากร, และพื้นที่หรืออาคารเก่า ที่จะสร้างสรรค์กรุงเทพฯ มิวเซียม ได้มาตรฐานสากล แต่ไม่ทำ

ผู้บริหาร กทม. หลายยุคหลายสมัย ทั้งข้าราชการประจำและนักการเมืองท้องถิ่น คุยโม้จะทำกรุงเทพฯ มิวเซียม ทันสมัยใหญ่โตอย่างโน้นอย่างนี้ให้เหมือนนานาชาติสากล
ดีแต่พูด แล้วไม่ทำ กลับทำสิ่งยังไม่ควรทำ คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ประจำเขต ทั่ว กทม. โดยฝากไว้ตามอาคารสถานที่ต่างๆ ทั้ง วัด, โรงเรียน, บ้านเอกชน, และของเขตเองบางเขต ฯลฯ
วิธีทำง่ายๆ แต่ลงทุนไม่ง่าย (เพราะใช้งบฯ มาก แล้วเงินทอนไม่น้อย)
เสร็จแล้วเชิญผู้ว่า กทม. (พรรคประชาธิปัตย์ มาจากเลือกตั้ง) ทำพิธีเปิดอย่างโอ่อ่าตอนเช้า โดยหัวคะแนนเกณฑ์คนในชุมชนมาประดับบารมีมากมาย

พอตกเย็นคนงาน กทม. ก็ทำพิธีปิดคนเดียวแบบเงียบๆ เหงาๆ บางแห่งปิดตายตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ยังไม่เคยเปิดอีกเลย
หลายแห่งต้องยกให้วัดและโรงเรียนดูแลต่อไปตามยถากรรม จะมีเหลือในความดูแลของ กทม. บ้างหรือไม่? อีกกี่แห่งไม่รู้? ไม่เคยดู จึงไม่เคยเห็น
กรุงเทพฯ มิวเซียมซึ่งเป็นแกนหลัก แต่ กทม. ไม่ทำ กลับไปทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นประจำทั่วทุกเขต
ถ้าเปรียบกับคน เสมือนสร้างอวัยวะทุกส่วนเฉพาะภายนอก เช่น แขน, ขา, มือ, ตีน ฯลฯ โดยไม่สร้างลำตัวและหัวใจ เลยไม่มีชีวิตและจิตวิญญาณ

กทม. ล้มเหลวบริหารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ
แล้ว “ป้อมมหากาฬ” จะรอดหรือ?

มติชนมีรายงานล่าสุด ทั้งในฉบับรายวันและออนไลน์ กล่าวถึงกรุงเทพฯ มิวเซียมสรุปว่า
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัล ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กทม. ทั่วกรุงเทพฯ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เสียงบประมาณไปมากมาย แต่ไม่สามารถให้ความรู้กับประชาชน ทั้งยังขาดซึ่งจิตวิญญาณ ไม่มีชีวิตชีวา

Advertisement

“น่าเสียดายที่ กทม.ทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ พังหมด เสียเงินไปไม่รู้เท่าไหร่ พอเจ้าหน้าที่ราชการมาดูแล จ้างบริษัทออแกไนเซอร์รับเหมา ก็ขาดจิตวิญญาณ”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร ยังกล่าวอีกว่าตัวอย่างความล้มเหลวจากการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กทม. สามารถเชื่อมโยงกับกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่ง กทม. พยายามเข้าไปบริหารจัดการ โดยการไล่รื้อชุมชน เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ ในขณะที่ชาวบ้านร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครพยายามผลักดันให้เป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”

“สิ้นหวังกับ กทม.จริงๆ คิดดูว่าถ้าเข้าไปจัดการป้อมมหากาฬ จะรอดหรือ ผลงานด้านวัฒนธรรมที่ผ่านมาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าล้มเหลวทั้งสิ้น คิดแต่จะทำให้เป็นเมืองตุ๊กตา ไม่มีคน ไม่มีความลึกซึ้ง เพราะตัวเองไม่มีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้” ศาสตราจารย์ศรีศักรกล่าว

Advertisement
วิถีชีวิตชาวบางกอกในอดีต ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นบ้านของครอบครัว รศ.วราพร สุรวดี
วิถีชีวิตชาวบางกอกในอดีต ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นบ้านของครอบครัว รศ.วราพร สุรวดี

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

กรณี รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง วัย 80 ปี ผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก เปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาท โดยขอระดมทุนรายละ 100 บาท หรือตามกำลัง เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์

รายงานข่าวในมติชนรายวันและออนไลน์ สรุปว่าเนื่องจากเจ้าของที่ดินดังกล่าวมีแผนสร้างตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งจะบดบังทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวลงอย่างสิ้นเชิง รวมถึงห่วงว่าจะส่งผลกับโครงสร้างของอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีหลายหลัง ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ด้วย ได้ตัดสินใจทำจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล
รศ. วราพรจึงติดต่อขอซื้อที่ดินซึ่งมีราคา 40 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนตัวมัดจำแล้ว 30 ล้านบาท มีกำหนดชำระส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายนนี้

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ประกอบด้วยที่ดินตามโฉนด 2 แปลง รวม 1-0-6 ไร่ เป็นของตกทอดตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงมารดาของ รศ. วราพร คือนางสอาง สุรวดี (ตันบุญเต็ก) เมื่อท่านถึงแก่กรรม ตัวบ้านจึงถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยความสนใจส่วนตัวในด้านศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งต้องการรักษาสถาปัตยกรรมและข้าวของเครื่องใช้อันล้ำค่าของชาวบางกอกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
ต่อมาได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คืออาคารพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 หลัง อีกทั้งข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายใน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก

ผู้สนใจร่วมบริจาค สามารถโอนเข้าบัญชี น.ส. วราพร สุรวดี (โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัส จามจุรี เลขที่บัญชี 407-061757-2 รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โทร. 0 2233 7027

 

บรรยากาศร่มรื่นที่พิพิธภัณฑ์อยากเก็บไว้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงห่วงการสร้างอาคารสูงในย่านเก่าอย่างเจริญกรุง-บางรัก
บรรยากาศร่มรื่นที่พิพิธภัณฑ์อยากเก็บไว้เป็นปอดของคนกรุงเทพฯ จึงห่วงการสร้างอาคารสูงในย่านเก่าอย่างเจริญกรุง-บางรัก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image