การเดินทางในอริยสัจ : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดจันทบุรี เสาไห้ พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์ ชฏิลสามพี่น้องและศาสนิกชน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 สิ่งที่ยากมากสำหรับชาวพุทธคือการปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจอริยสัจ 4 นั้นกระทำได้อย่างไร

ในคืนวันตรัสรู้ พระพุทธองค์ตรัสว่าอริยสัจมีจำนวน 4 ข้อ ไม่มากและไม่น้อยกว่านี้ ทรงค้นพบจนถึงระดับที่ละเอียดสุดว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุปัจจัยของทุกข์ อะไรคือการดับไปของทุกข์ และอะไรคือวิธีปฏิบัติให้การดับไปของทุกข์นั้นเกิดขึ้น

ทรงทบทวนปฏิจจสมุปบาทในช่วงสัปดาห์แรกของการเสวยวิมุติสุข เมื่อทรงแสดงพระธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ก็ทรงแสดงอริยสัจ ต่อมาทรงโปรดยสกุลบุตร ภัททวัคคีย์กุมารและชฏิลสามพี่น้องก็ล้วนแสดงอริยสัจ

สำหรับชาวพุทธ การฟังธรรมและปฏิบัติธรรมที่เป็นอริยสัจถือว่าสำคัญยิ่งเพราะเป็นแก่นของการเจริญปัญญา พระพุทธองค์ตรัสว่าปัญญินทรีย์หรือความแก่กล้าทางปัญญาเห็นได้ที่อริยสัจ 4

Advertisement

การเจริญอริยสัจ 4 เป็นการฝึกให้จิตเข้าใจอริยสัจซึ่งปรากฏเด่นชัดในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจึงเป็นแม่แบบที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคียดาบส ในครั้งนั้นพระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม จากนั้นทรงทยอยสอนกรรมฐานเดี่ยว ผู้ที่เหลือจึงออกบิณฑบาต ใช้เวลารวม 5 วัน ต่อจากนั้นคือวันที่ 6 พระองค์ทรงแสดงเพิ่มเติมด้วยอนัตตลักขณสูตรเพื่อการบรรลุอรหัตตผล

พระสูตรแรกทำให้เข้าใจอริยสัจลึกถึงตัณหาที่ละเอียดว่าไม่เที่ยงและเป็นเหตุของทุกข์ พระสูตรที่สองทำให้พ้นจากอาสวะว่าส่วนละเอียดของแต่ละขันธ์ทั้งห้าล้วนเป็นอนัตตา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรประกอบด้วยการชี้โทษของแนวทางกามสุขที่เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยคและการชี้ความไร้ประโยชน์ของแนวทางสุดโต่งอีกด้านหนึ่งที่เรียกว่าอัตถกิลมถานุโยค ทรงสอนให้เดินสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางนี้ได้แก่อริยมรรคอันมีองค์แปด

เนื้อหาหลักเป็นการอธิบายโดยเริ่มจากกายและจิตไปที่กิเลส การดับกิเลสและวิธีปฏิบัติเพื่อดับกิเลส พระสูตรนี้ได้อธิบายเรื่อง (1) ทุกข์อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกายและจิต (2) เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์อันเป็นเรื่องของกิเลส (3) การดับทุกข์อันเป็นเรื่องของการดับไปของกิเลส และ (4) เครื่องปฏิบัติให้เกิดการดับไปของทุกข์หรือกิเลส ทั้งสี่นี้เรียกย่อๆ ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

อริยสัจในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรรวมทั้งในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงสอนกรรมฐานถึงระดับของพระอริยบุคคลขั้นสูง คำสอนมีรายละเอียดปลีกย่อยเป็นส่วนๆ

อริยสัจที่ทรงแสดงไว้สั้นที่สุดเป็นคำสอนแก่พระพาหิยะซึ่งเป็นนักบวชชราที่สำเร็จอรูปฌานและมีอินทรีย์พร้อม ครั้งนั้นทรงกระชับย่อไว้ที่การหยุดวิถีของกิเลสและที่อนัตตา

ที่จริงแล้ว ถึงแม้จะแปลธรรมจักรกันว่ากงล้อแห่งธรรม คำนี้เปรียบเสมือนการเดินทางของธรรม กงล้อในสมัยนั้นน่าจะหมายถึงการเดินทางเนื่องจากใช้ม้าเทียมพาหนะซึ่งมีกงล้อเป็นสัญลักษณ์ มิใช่กงจักรที่เป็นอาวุธของผู้ทรงอำนาจ พระสูตรนี้จึงเทียบได้กับการเดินทางในอริยสัจ

กรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระปัญจวัคคีย์เป็นกรรมฐานสำหรับผู้ที่เคยเจริญจิตตภาวนาและมีสมาธิที่พร้อมต่อการใช้งานแล้ว ทรงมิได้สอนข้อปฏิบัติอื่นก่อน การพิจารณาอริยสัจ 4 เป็นการเดินเข้ามรรคตรงสู่เส้นทางโลกุตระ

เทคนิคการพิจารณาอริยสัจตามธัมมจักกัปปวัตตนสูตรมี 4 ตอน เริ่มจากทุกข์ ไปสมุทัย นิโรธ และมรรค แต่ละตอนมี 3 รอบ รวมเป็น 12 อาการ เรียกว่า “ปริวรรต 3 อาการ 12” เมื่อครบแล้วไม่แจ้งก็กลับมาทวนใหม่ซ้ำไปเรื่อยๆ ให้จิตรับรู้หรือฟังอยู่เสมอ

ตอนแรกเป็นการกำหนดรู้ทุกขสัจ ควรกำหนดรู้และกำหนดรู้แล้ว รวมได้ 3 รอบ

ตอนที่สองเป็นการรู้ทุกขสมุทัย ควรละและได้ละแล้ว รวมได้ 3 รอบ

ตอนที่สามเป็นการรู้ทุกขนิโรธ ควรให้รู้แจ้งและได้รู้แจ้งแล้ว รวมได้ 3 รอบ

ตอนที่สี่เป็นการรู้มรรคที่นำไปสู่ทุกขนิโรธ ควรปฏิบัติและได้ปฏิบัติแล้ว รวมได้ 3 รอบ

ภาพสลักพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ศิลปะทวารวดีนครปฐม พุทธศตวรรษที่ 13
ปัญจวัคคียดาบส (ด้านขวา) ได้เป็นพระอริยสาวก (ด้านซ้าย)

การพิจารณาทุกข์เป็นจุดเริ่มที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะต้องกำหนดจากกายและจิต

ทุกข์ ที่กล่าวในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้นได้แก่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้น ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ฯลฯ บุคคลต้องการมิให้มีเกิดสิ่งเหล่านี้กับตน ความไม่ได้สิ่งที่ต้องการจึงเป็นทุกข์

โดยย่อในขั้นที่ละเอียด การยึดมั่นถือมั่นในกายและจิตหรืออุปาทานขันธ์ 5 จึงเป็นทุกข์

ในอายตนสูตรมีกล่าวอีกว่าอายตนะภายใน 6 หรือการเชื่อมต่อของประสาทสัมผัสเป็นทุกข์

ความทุกข์ยากลำบากถือแคบและไม่ตรงนัก ความทุกข์ในอริยสัจมีความหลากหลายและลึกซึ้งกว่ามาก ความยากจนถือเป็นโรค ถ้าเกิดความลำบากกายและลำบากใจก็จะกลายสภาพเป็นทุกข์

นางกีสาโคตมีเถรีต้องสูญเสียบุตรน้อย ความเศร้าโศกคร่ำครวญนั้นเป็นทุกข์

ยสกุลบุตรร้องว่าโลกนี้วุ่นวายและขัดข้องหนอ โลกที่กล่าวถึงเป็นทุกข์

ทีฆนขปริพาชกกล่าวถึงทิฏฐิที่เห็นว่าสิ่งนั้นเท่านั้นเหมาะหรือจริง สิ่งอื่นไม่เหมาะหรือไม่จริง ทิฏฐิที่แตกต่างกันทำให้เกิดการทุ่มเถียงวิวาท การละทิฏฐิไม่ได้ก็เป็นทุกข์

พระอุปจาลาเถรีกล่าวว่า ผู้เกิดแล้วย่อมประสบทุกข์ ความเกิดที่กล่าวถึงเป็นทุกข์

พระอุปจาลาเถรีกล่าวว่า โลกทั้งหมดเร่าร้อน หวั่นไหว สั่นสะเทือน โลกที่กล่าวถึงเป็นทุกข์

ดังนั้นโลก ชีวิต กายและจิตซึ่งเต็มไปด้วยความติดยึดต่างเป็นทุกข์

ผู้ฝึกฝนควรกำหนดทุกขสัจขึ้นพิจารณา ผู้ที่กำลังมีความทุกข์กายทุกข์ใจมักกำหนดทุกข์ได้ชัด ผู้ที่เห็นความสุขไม่ไกลไปจากความทุกข์เป็นผู้ที่กำหนดทุกข์อันละเอียดได้

เหตุแห่งทุกข์ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรได้แก่ตัณหา ตัณหาทำให้เกิดภพ พาโลกและบุคคลไปสู่ความอยากมีอยากได้ซึ่งมีทั้งตัณหาที่หยาบและละเอียด ความอยากจากการสัมผัสทางกามเรียกว่ากามตัณหา ความอยากที่เกิดในจิตที่ละเอียดและพระอรหันต์ต้องละได้แก่ภวตัณหาและวิภวตัณหา

นักบวชสมัยพุทธกาลจำนวนหนึ่งเช่นปัญจวัคคียดาบสมีการบำเพ็ญทางจิตมาก่อน จึงรู้จักภวตัณหาและวิภวตัณหาได้เร็ว

ทุกข์ที่เกิดจากการได้รับความสุขสลับไปสลับมากับความทุกข์จนน่าเบื่อหน่ายเป็นทุกข์จากวัฏสงสารหรือการเวียนว่ายตายเกิด ทุกข์นี้เกิดจากอาสวกิเลสที่มีรากลึกไปถึงอวิชชาเช่นกัน

เหตุแห่งทุกข์จึงเป็นตัณหาที่พร้อมด้วยอวิชชา ยังมิได้กล่าวแยกอวิชชาออกมา

นิโรธ เป็นความดับ ความสละ ความปล่อยวางและความไม่อาลัยในตัณหา เป็นส่วนของสภาวธรรมที่อธิบายว่าเมื่อกิเลสซึ่งเป็นเหตุของทุกข์ดับ ผลที่มาจากกิเลสก็จะดับไปด้วย การดับตัณหาจึงเท่ากับการดับทุกข์

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกล่าวถึงเรื่องนิโรธไว้โดยย่อ ส่วนมหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวไว้โดยรายละเอียดเกี่ยวกับจุดที่ตัณหาเกิดและการดับตัณหาที่จุดเกิดเหล่านั้น ในพระสูตรที่ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทจะกล่าวถึงการเกิดและการดับของอวิชชา ตัณหาและอุปาทานตลอดสายจนถึงกองทุกข์

ผู้ปฏิบัติเห็นตัณหาว่าเกิดขึ้นที่ผัสสะของวิญญาณการรับรู้ อายตนะและเวทนาซึ่งมีสัญญา เจตนาและความนึกคิดเชื่อมต่อกัน เมื่อเห็นหรือรับรู้ว่าเกิดที่ไหนก็ละหรือดับที่นั่น เช่นที่จิตสัมผัส ทวารการรับรู้ ความรู้สึกและความคิด ทุกข์ก็จะดับตามไปด้วย

มรรค ได้แก่ อริยมรรคอันมีองค์แปด ในมหาสติปัฏฐานสูตรมีคำอธิบายองค์มรรคไว้เพิ่มเติม การปฏิบัติให้จิตมีสติ สมาธิและปัญญาและครบตามที่ปรากฏในพระสูตรเป็นการปฏิบัติในทางสายกลางของอริยมรรค

การให้ความสนใจปัญหาทุกข์ที่มาจากตัณหาในระดับความรู้สึกนึกคิดในชีวิตประจำวันและการพิจารณาในกรรมฐานล้วนช่วยทำให้จิตรับรู้และเข้าใจอริยสัจ 4 มากขึ้น ผลของการปฏิบัติขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แนวทางหลักคือการให้จิตรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้งและเดินมรรคให้ตลอด

ในการปฏิบัติ เมื่อจิตตั้งมั่นดีก็อาจกำหนดทุกข์เช่นที่ลมหายใจ ธาตุสี่หรือแม้แต่ความรู้สึกสุขทุกข์ตามระดับจิตที่ละเอียดมากขึ้น หมั่นกำหนดทุกขสัจอย่างทั่วถึงจนเห็นความไม่เที่ยงของทุกขสัจ

เมื่อจิตเกิดความอยากความเพลิดเพลินต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกที่เป็นปีติและสุขก็ให้ละเพราะจิตที่ส่งออกนอกทุกขสัจเป็นตัณหาหรือทุกขสมุทัย ดึงจิตกลับมาที่การพิจารณาทุกขสัจ ไม่ส่งจิตตามทุกขสมุทัย ความรู้แจ้งในสภาวะของการละและดับไปของทุกขสมุทัยก็คือทุกขนิโรธ

การเจริญอริยสัจเป็นการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยมรรคและอริยผล การพิจารณาทุกข์นี้เป็นวิปัสสนา เมื่อจิตรวมเป็นเอกัคคตาจะนับเป็นสมถะ ทั้งสมถะและวิปัสสนาจะทำงานร่วมกันในอริยมรรค

ธรรมจักรที่เกิดขึ้นจะเคลื่อนไปข้างหน้าและบดทลายวัฏจักรการเดินทางของกิเลส

ธรรมจักรฐานดอกบัวและคชลักษมี ศิลปะทวารวดีนครปฐม ราวพุทธศตวรรษที่ 12
ความอุดมสมบูรณ์ ความดีและการเดินทางของธรรม

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ผู้เขียนทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์หลวงพ่อทิวา อาภากโร อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในขณะนั้นท่านมีอายุ 84 ปี 60 พรรษา ผู้เขียนได้รับเมตตาให้กราบเยี่ยมได้

ท่านได้ชี้แนะว่าพุทธสาวกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจล้วนหลุดพ้น ในคืนวันตรัสรู้พระพุทธองค์ทรงถอยกลับไปดูอดีต ทรงเห็นแต่การเกิดการตาย จากนั้นทรงเพ่งไปในอนาคตก็ทรงเห็นแต่การเกิดการตาย เมื่อทรงดูปัจจุบันจึงพบอริยสัจ 4 การเจริญอริยสัจในส่วนของทุกข์ สมุทัยและนิโรธก็เท่ากับเป็นการเจริญมรรค

“โพชฌงค์ 7 เป็นการหาทางไป … อริยสัจ 4 คืออริยมรรคและอริยมรรคคืออริยสัจ 4 ต้องทำซ้ำๆ จนมีผลต่อจิตใต้สำนึก”

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image