มรรคและอริยมรรค : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

มรรคและอริยมรรค : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดโพธิ์ชัยนาพึง เลย พระพุทธเจ้าทรงสอนมนุษย์และเทวดา (เอื้อเฟื้อภาพโดย รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน)

อริยมรรคอันมีองค์แปดจำแนกได้เป็น 3 ส่วนคือศีล สมาธิและปัญญาและเรียกอีกอย่างว่า “อริยอัฏฐังคิกมรรค” สติปัฏฐานหรือโพธิปักขิยธรรมเป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ทางสายนี้ใช้คำบาลีว่า “เอกายนมรรค”

ท่านพระอาจารย์มหาสี สยาดอ วิปัสสนาจารย์สำคัญของพม่าแปลเอกายโนว่าทางสายเดียวที่ไม่มีทางแยก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) แปลคำนี้ว่าทางสายเอกด้วยกันและประสานกัน

ในช่วงแห่งพุทธกิจ มีนักบวชนอกพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งกล่าวว่าพุทธสาวกเจริญพรหมวิหารและโพชฌงค์ พวกตนก็เจริญอย่างเดียวกัน

จึงน่าสนใจว่าการปฏิบัตินอกพระพุทธศาสนาที่กล่าวอ้างว่าเหมือนกันนั้นเหมือนกันจริงหรือไม่ ทำไมจึงมิใช่หนทางที่จะเกิดอริยมรรคตามมา

Advertisement

ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ฤๅษีดาบสและชฎิลบำเพ็ญตบะใฝ่หาความยิ่งของจิต มักเจริญฌานไปจนสุดทางของตนโดยไม่มีปัญญาเข้าร่วม พวกอาชีวกและอเจลกเป็นปริพาชกที่หน่ายบาปด้วยตบะทางกาย เลียมือ ไม่เอามารยาท ยึดกฎทางกายที่ไม่มีประโยชน์ ถือทุกกรกิจแต่ก็ทำได้เป็นบางช่วงเวลา พวกนิครนถ์ปฏิบัติทั้งทางจิตและทางกาย ถ้าเป็นการเจริญฌานก็ไปถึงรูปฌาน ถ้าเป็นศีลก็เป็นศีลพรตแต่ไม่ถึงการทรมานร่างกาย พวกอเจลกถือว่านิครนถ์ไม่เคร่งเท่าตน

การปฏิบัติก่อนพุทธกาลเป็น “มรรคเดี่ยว” อาชีวกและอเจลกเชื่อในมรรคเดี่ยวของศีลทางกาย ฤาษีดาบสและชฎิลเชื่อในมรรคเดี่ยวของฌาน นิครณถ์เชื่อในมรรคเดี่ยวทั้งสองมรรคอย่างละครึ่งทาง ทั้งหมดล้วนเป็นอัตตกิลมถานุโยคในการละทิ้งกามสุข

การเจริญฌานก่อนพุทธกาลเป็นการให้จิตเกาะสัญญาจนกระทั่งสัญญาสงบละเอียดลงไป เมื่ออัญญเดียรถีย์จำนวนหนึ่งอ้างว่าพวกตนก็ปฏิบัติแบบเดียวกับพุทธสาวก มีการเจริญพรหมวิหาร (เช่นกรุณาและอุเบกขา) และโพชฌงค์ (เช่นปีติ สมาธินิมิตและอุเบกขา) สัญญาที่ใช้นั้นก็ยังมีไว้เพียงเพื่อความนิ่งของจิตเท่านั้น ปัญญาพิจารณามิได้มีบทให้ทำงาน

Advertisement

สัญญาในพรหมวิหารเป็นเครื่องมือของฌาน โพชฌงค์ที่อ้างก็คือองค์ฌาน

การปฏิบัติทางจิตในพระพุทธศาสนามีความพิเศษที่แตกต่างออกไป มิได้มุ่งให้จิตเกาะสัญญา ถ้ามีการใช้สัญญาก็เพื่อช่วยยกระดับสมาธิให้เกื้อกูลต่อการทำงานของปัญญา

มีการอาศัยการสำรวมกาย วาจาและใจในชีวิตประจำวันร่วมกับการปฏิบัติทางจิตที่มิให้ทุกข์หรือกิเลสครอบงำจิต ปัญญาเป็นส่วนผสมหลักของการเจริญมรรคซึ่งมีทั้งศีล สมาธิและปัญญา

ศีลเป็นสติที่ทำให้ศีลลึกถึงใจ สมาธิทำให้เข้าถึงตัณหาและอาสวะที่ละเอียด ปัญญามีบทให้เกิดความเข้าใจในจิตเสมอ จิตสามารถละกิเลสได้ทั่วถึงจากหยาบจนถึงละเอียด

ทางสายกลางของศีล-สมาธิ-ปัญญาในพระพุทธศาสนามาจากการผสมองค์ประกอบของมรรคซึ่งมีปัญญาและอาจเรียกว่า “มรรคผสม” การปฏิบัติจะส่งผลให้องค์ประกอบทั้งแปดทำงานร่วมกันมากขึ้นๆ จนเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งเรียกว่า “อัฏฐังคิกมรรค”

นั่นคือ ในขณะที่มรรคเดี่ยวของฤาษีดาบสเป็นมรรคของฌานซึ่งอาศัยสัญญา มรรคผสมของชาวพุทธเป็นมรรคของปัญญาซึ่งอาศัยสติ สมาธิและปัญญา

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดอ่างศิลา ชลบุรี พระอัครสาวกนั่งถวายอยู่งาน
“สารีบุตรแนะนำโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำอริยผลให้บริบูรณ์”

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามีการเจริญสติ สมาธิและปัญญาโดยเริ่มต้นจากฐานที่มีส่วนผสมเหล่านี้มากน้อยแตกต่างกันไปบ้าง ในระดับเบื้องต้น การปฏิบัติมักเริ่มแยกจากกันตามความเชี่ยวชาญที่สืบทอดกันมา

ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ทิวา อาภากโร แนะนำให้ฝึกฝนมรรคเบื้องต้นทั้งสามส่วนตั้งแต่ต้นๆ จนกระทั่งทำงานร่วมกันเป็นมรรคผสม จากนั้นจึงมีการเข้ามรรคเป็นอริยมรรค

แนวทางการปฏิบัติธรรมก่อนเกิดอริยมรรคมี 2 แนวทาง ได้แก่สมถวิปัสสนาและวิปัสสนากรรมฐาน แนวทางแรกอาศัยการเจริญสมาธิเป็นหลักก่อนค่อยเจริญปัญญาตาม ส่วนแนวทางหลังอาศัยการเจริญปัญญาก่อนหรือควบคู่กันกับการเจริญสมาธิ อริยมรรคเกิดขึ้นได้จากทั้งสองแนวทาง

สมถวิปัสสนาเหมาะสำคัญผู้ที่ต้องการความสงบทางจิตหรือเคยเจริญฌานมาบ้างแล้ว การอบรมตามแนวทางนี้มีความยากเพราะผู้สอนต้องสำเร็จฌานและมีความเชี่ยวชาญในวาระจิต

วิปัสสนากรรมฐานอาศัยการเจริญสติเป็นเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญฌานมาก่อนหรือขาดสภาพที่เอื้อต่อการเจริญสมาธิ ผู้ครองเรือนควรมีสติและสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันและมักขาดโอกาสและสภาพแวดล้อมที่มีความวิเวก

พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกที่มีความเป็นเลิศทางฤทธิ์ เจริญอิทธิบาท 4 อโลกสัญญา ฌานแปดและอมิตตเจโตสมาธิตามคำสอนของพระพุทธองค์ พระอนุรุทธเป็นเลิศทางทิพยจักษุ เจริญสติปัฏฐานมาตั้งแต่ต้นโดยไม่มีประวัติของการเจริญฌานมาก่อนบวช พระมหากัสสปะเป็นเลิศทางธุดงค์และช่ำชองในกายคตาสติ

ส่วนพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกที่มีความเป็นเลิศทางปัญญา ดวงตาเห็นธรรมรวดเร็วยิ่ง สำเร็จฌานแปดและฌานเก้า (สัญญาเวทยิตนิโรธ) แล้วบรรลุธรรม เชี่ยวชาญทั้งสมถะและวิปัสสนา

อานาปานสติเป็นกายานุปัสสนายกเว้นเป็นไปเพื่ออานาปานสติสมาธิและฌาน กายคตาสติก็อาจเปลี่ยนเป็นเพียงอสุภสัญญาเฉยๆ ได้ถ้าไปเจริญแบบฌาน

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี แสดงปฐมเทศนา
การทยอยเห็นธรรม ปริศนาพระปัญจวัคคีย์ไม่ครบห้า

การเจริญปัญญาเริ่มได้ด้วยการฟัง การอ่านและการคิดวิเคราะห์ ปัญญาความรู้จะเป็นมรรคเมื่อมีผลต่อจิต การภาวนาจึงเป็นการปฏิบัติที่จำเป็น การภาวนาเริ่มจากสมาธิหรือสติก่อนก็ได้แต่ต้องมีส่วนผสมของการอาศัยปัญญาเป็นลำดับจึงจะเป็นแนวทางของศีล สมาธิและปัญญา สัมมาทิฏฐิเป็นองค์ประกอบที่จะชี้ชัดถึงความเป็นอริยมรรค

สัมมาทิฏฐิอาจแบ่งได้ 3 ขั้นคือขั้นก่อนการเจริญปัญญา ขั้นเจริญปัญญาและขั้นที่เป็นมรรค

ขั้นก่อนการเจริญปัญญาเป็นขั้นของความรู้ความคิด มีศรัทธายอมรับเกี่ยวกับกรรมและผลของกรรม เรียกว่ากัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ การเจริญฌานที่ให้สงบก่อนวิปัสสนาอาจนับเป็นฌานสัมมาทิฏฐิ ทั้งสองประเภทนี้ยังไม่ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิจากการปฏิบัติทางจิต

ขั้นของการเจริญปัญญาเป็นขั้นวิปัสสนา จิตเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงตามลำดับ เกิดปัญญาระหว่างการปฏิบัติ ขั้นนี้เรียกว่าวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ

ขั้นที่เป็นองค์มรรค อริยมรรคเกิดขึ้นหรือรวมตัวเป็นหนึ่งที่จิต เรียกว่ามรรคสัมมาทิฏฐิ พระอริยบุคคลเป็นผู้ที่มีมรรคสัมมาทิฏฐิ

ที่กล่าวนี้เป็นความเข้าใจจากพระสูตร ส่วนการเดินทางสู่อริยมรรคนั้นต้องอาศัยการเลือกแนวทางและประสบการณ์ว่าการภาวนาควรอาศัยการผสมมรรคอย่างไร ควรผสมด้วยอนุสติใดหรือสัญญาชนิดไหนและควรประคองไว้อย่างไรจึงจะขัดเกลากิเลสหรือปมทางจิตของตนได้

กายานุปัสสนาหมวดต่างๆ ในสติปัฏฐาน 4 เป็นตัวอย่างของการผสมมรรคเข้ากับอนุสติ จากนั้นผู้ปฏิบัติยังจะต้องผสมสติ สมาธิและปัญญาเข้าด้วยกันอีก สำหรับแนวทางสมถวิปัสสนา การเลือกสัญญาในการเจริญสมาธิจะมีความสำคัญและยังคงต้องผสมเข้ากับสติและปัญญาด้วย

การปฏิบัติของชาวพุทธจะอาศัยปัญญาทำงานโดยมีสติและสมาธิเข้าร่วม ส่วนสัญญาของฤาษีดาบสจะช่วยพักหรือเว้นเฉพาะการขยายกิเลสในขณะปฏิบัติ

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดทองนพคุณ ปริศนาธรรมฝีมือพระกสิณสังวร
กิจของพระภิกษุบนเส้นทางก้าวสู่โลกุตระ

ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร มีบางตอนที่สะท้อนปัญหาการตีความการเป็นอริยมรรคพอสมควร ท้ายที่สุดโบราณาจารย์ในอรรถกถาให้มติว่าสติปัฏฐาน 4 เป็นส่วนเบื้องต้น (บุพพภาค) ของเอกายนมรรค ส่วนอริยมรรคเป็นมรรคที่มีปัญญาแตกฉานแล้ว โลกุตรมรรคไม่มีการปะปน (มิสสกะ) กับโลกียมรรค

ในเถรคาถาของพระมหากัสสปะ มีรจนาไว้ว่าสติปัฏฐานเป็นพระศอ ศรัทธาเป็นพระหัตถ์และปัญญาเป็นพระเศียร

พระปฏิบัติสายวัดป่าของไทยมักเน้นการประสานกันของมรรคซึ่งเรียกว่า “มรรคสมังคี” มรรคสมังคีเกิดเมื่อจิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญซึ่งบังคับให้เกิดไม่ได้

การรวมกันของปัญญา สมาธิและสตินับเป็นมรรคสมังคีอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดในอัปปนาสมาธิจะเป็นอริยมรรคสมังคีครั้งแรก เป็นโสดาปัตติมรรคและเกิดโสดาปัตติผล อริยมรรคสมังคีและอริยผลสมังคีจะเกิดขึ้นต่อไปอีกกับการเดินทางที่เหลือ

หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโย ได้อธิบายการเกิดอริยมรรคในจิตว่าสัมมาสมาธิเป็นจิต องค์ประกอบ 7 ประการที่เหลือเป็นอาการของจิต

ท่านกล่าวว่าอริยมรรคสมังคีเป็นภูมิจิตและเป็นการประชุมลงขององค์มรรคทั้งแปดในจิต กล่าวคือสัมมาทิฏฐิ (จิตเป็นผู้เห็น) สัมมาสังกัปโป (จิตเป็นผู้ดำริ) สัมมาวาจา (จิตเป็นผู้นึกและกล่าว) สัมมากัมมันตะ (จิตเป็นผู้คิดทำการงาน) สัมมาอาชีโว (จิตเป็นผู้คิดเลี้ยงชีวิต) สัมมาวายามะ (จิตเป็นผู้มีความหมั่นเพียร) และสัมมาสติ (จิตเป็นผู้ระลึก) ได้รวมเข้ากับองค์สัมมาสมาธิ จิตเป็นเอกัคคตาและเรียกเป็นเอกมรรค

พระวิปัสสนาจารย์อาจอธิบายการเกิดขึ้นของอริยมรรคตามลำดับโสฬสญาณ 16 ขั้นซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการปฏิบัติที่ขยายเพิ่มลำดับก่อนและหลังวิปัสสนาญาณ 9 เมื่อผ่านวิปัสสนาญาณขั้นที่ 9 (ลำดับโสฬสญาณที่ 12) ซึ่งเห็นไตรลักษณ์ครบก็จะเข้าถึงโคตรภูญาณ เกิดดวงตาเห็นธรรม เกิดมรรคญาณและผลญาณ ครั้งแรกเรียกว่าโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผล

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาต้องอาศัยโพธิปักขิยธรรม มีการผสมมรรค เดินมรรคและประคองมรรคที่เกิดขึ้นตลอดการเดินทาง สมถะและวิปัสสนาเป็นปฏิบัติวิธีที่เกื้อกูลต่อกัน

มีกิเลสเป็นคู่ต่อสู้ มีเวลาเป็นโอกาสและมีกรรมเป็นเครื่องตัดสิน

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image