กาลครั้งหนึ่ง…นานมาแล้ว แฝดสยาม (13) เงินไหลนอง ทองไหลมา โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ท่านผู้อ่านที่เพิ่งเปิดมาประสบพบตำนานระดับโลกตรงนี้ ผู้เขียนขอฉายหนังย้อนกลับให้ทราบว่า แฝดชายอิน-จัน ที่ลำตัวติดกัน (Cojoined Twins) จากปากน้ำแม่กลอง สมุทรสาคร แห่งสยามประเทศ อายุราว 18 ปี ได้ถูกพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) และกัปตันเรือชาวอเมริกัน ชื่อ เอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) เช่าเอาตัวไปแสดง คนประหลาดตัวติดกัน ในยุโรปและอเมริกา มีสัญญา 2 ปี 6 เดือน

เด็กแฝดจากเมืองแม่กลองคู่นี้เกิดมาตัวเชื่อมติดกันด้วยท่อนเนื้อ เมื่อโตขึ้นท่อนเนื้อตรงหน้าอกนี้ (หรือจะเรียกว่ากระดูกอ่อน) จะขยายตัวตามอายุ ยาวสุดประมาณ 6 นิ้ว วัดเส้นรอบวงของท่อนเนื้อตรงนี้ได้ประมาณ 4 นิ้ว (ดูภาพ)

ฝรั่งนำไปทำโฆษณาว่า เป็นอสุรกาย (Monster) บ้างก็เรียกว่าสุดยอดสิ่งประหลาดที่มีชีวิต (The Greatest Living Curiosities) หรือ Siamese Double Boys เพื่อปลุกเร้าให้คนมาเสียเงินดูตัวเป็นๆ ทำเงินเลี้ยงตัวได้ในอเมริกา

ตระเวนโชว์ตัวมาซะโชกโชน ไปแสดงโชว์ในอังกฤษนาน 15 เดือน ชีวิตมีหวาน มีขม มีรัก มีโศก เก็บเงินได้พอสมควร โดนเจ้านายฝรั่งอมค่าตัวไปบ้าง ผ่านมาเกือบ 3 ปี อายุจะครบ 21 ปีบริบูรณ์ แฝดหนุ่มฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้แบบเข้าที่เข้าทาง

Advertisement

การแสดงที่เป็นธุรกิจที่ผ่านมา แฝดหนุ่มพบว่า นางซูซาน คอฟฟิน ที่เป็นเสมือนเถ้าแก่เจ้าของกิจการ ตุกติกเรื่องการเงินตลอด ทำให้ชีวิตฝืดเคืองไม่น้อย จะขอเจรจาด้วยก็บ่ายเบี่ยง

เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2435 อิน-จันส่งจดหมายไปหานางซูซาน คอฟฟิน ประกาศแยกทาง ไม่ขอร่วมงานอีกต่อไป แฝดหนุ่มจะขอทำธุรกิจโชว์ตัวเองในอเมริกา แต่ก็ยังมีทีมงานเดิม คือ นายแฮริสคอยประสานงานให้

นางซูซานโกรธจัด เพราะถือว่ากัปตันคอฟฟิน สามีนักเดินเรือ ไปเอาตัวแฝดมาจากเมืองแม่กลองมาทำเงินในอเมริกา

Advertisement

นับแต่นั้นมา คนประหลาดตัวติดกันจากสยาม ถือได้ว่าหลุดพ้นจากสัญญาธุรกิจทั้งปวงที่เคยทำไว้ในเมืองสยาม เมื่อราว 3 ปีก่อน

1 มิถุนายน พ.ศ.2375 ณ เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก คือกำหนดการรอบปฐมทัศน์ที่จะเปิดแสดงตัว โดยเป็นธุรกิจของตัวเอง ไม่มีเถ้าแก่มาหักค่าหัวคิวให้หงุดหงิดอีกต่อไป เรียกให้โก้ว่า เป็นการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจใหม่ เพื่อต้องการให้มีผลกำไรมากขึ้น

พาหนะที่ใช้เดินทางเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นายแฮริสทำหน้าที่เป็นคนกลาง เจรจาขอซื้อม้าและรถเทียมม้าจากนางซูซานด้วยเงิน 103 เหรียญ ส่วนช่างซ่อมรถม้าที่ชื่อ นายทอม ไดเออร์ ที่ติดตามคณะมาตลอดก็ไม่จ้างต่อ เปลี่ยนเป็นนายโทมัส ครอกเกอร์ (Thomas Crocker) มาทำหน้าที่แทนเพราะเรียกค่าจ้างรายเดือนถูกกว่า

พื้นที่ที่จะตระเวนโชว์ตัว เก็บเงินในช่วงแรก คือบริเวณรัฐทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา คือ นิวยอร์ก เพนซิลวาเนีย เวอร์จิเนีย นิวเจอร์ซี่ ทั้งหมดนี้ทีมงานจะร่อนเร่พเนจรไปในช่วง 6 เดือน ถ้าเป็นสุภาษิตไทยโบราณ เรียกว่าเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านครับ คือแสดงไปเรื่อย ได้เงินมากบ้างน้อยบ้าง ก็อดออมสะสมไปทีละเล็กละน้อย ไม่ดูถูกเงินแม้น้อยนิด

วันเวลาผ่านไป อิน-จันพบว่าตัวเองชื่นใจ มีเงินรายได้แบบคนมีอันจะกิน เดินยิ้มทั้งวัน กินก็อิ่ม นอนก็หลับ ทุกคนในทีมงานพลอยมีความสุขกับธุรกิจตรงนี้ นายแฮริสมีทักษะทางการบัญชี เลยทำให้รายรับ รายจ่ายมีความชัดเจนสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับ ว่าสมุดบัญชีรับ-จ่ายของอิน-จัน ปัจจุบัน ซึ่ง คุณอริยา จินตพานิชการ นำมาเรียบเรียงไว้ในหนังสือ คู่กันนิรันดร ซึ่งผู้เขียนขอถ่ายทอดมาบางส่วน

ค่าซิการ์ 500 มวน ราคา 9 เหรียญ ค่าเช่าเรือพายที่น้ำตกไนแองการา 4.31 เหรียญ ค่าม้าชื่อ บ็อบ 72.50 เหรียญ ค่าสูทแบบผ้าบาง 13.50 เหรียญ ค่าหนังสือ ค่าปืนพกยี่ห้อลักกี้ 2 กระบอก ค่าปืนไรเฟิล 1 กระบอก ฯลฯ

รายรับ รายจ่าย ทุกอย่างปรากฏในบัญชี

ที่น่าสนใจที่สุดคือ ค่าซิการ์ ซึ่ง อิน-จัน ไม่ได้สูบซิการ์ แต่ด้วยความเป็นนักธุรกิจสู้ชีวิต อิน-จัน ซื้อซิการ์ไปจำหน่ายพร้อมตั๋วเข้าชมการแสดง พอทำกำไรได้ระหว่างการเดินทาง เรียกว่ามีสายเลือดของนักธุรกิจอัดแน่นเต็มตัว

ชีวิตของแฝดหนุ่มที่อายุครบ 21 ปีในอเมริกา ผันตัวเองจากคนเลี้ยงเป็ด หาปลา แถวปากน้ำแม่กลอง ไปตระเวนใช้ชีวิตทำธุรกิจในอเมริกา เดินทางไปเมืองเล็กเมืองใหญ่ไปหมด

บัญชีรายจ่ายค่าเช่าเรือพายที่น้ำตกไนแองการา 4.31 เหรียญ บ่งบอกว่า อิน-จัน ตระเวนขึ้นไปเหนือสุดของรัฐนิวยอร์ก และเดินทางไปถึงน้ำตกไนแองการาที่เป็นน้ำตกขนาดมหึมาที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้ไปชมแล้วเดินทางทะลุเข้าไปในแคนาดา ทั้งตอนเหนือและตอนใต้ นับว่าคนประหลาดตัวติดกันคู่นี้คือ นักเดินทางระดับโลกที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสเช่นนี้

ส่วนค่าสูทแบบผ้าบางนั้น ตอนอยู่อเมริกา แฝดอิน-จัน ใส่สูทในบางโอกาส แต่ยังคงไว้ผมเปียยาวถึงกลางหลัง เท่ชะมัด

ธุรกิจการโชว์ตัวที่เรียกว่าโชว์ประหลาด (Freakshow) ในอเมริกาได้สร้างความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้ใหญ่ ความคิดอ่านหล่อหลอมเด็กจากท้องนาสยามให้เป็นหนุ่มอเมริกันไปแล้ว การแสดงบนเวที มีการหยอกล้อพูดคุยกับคนดู สร้างความบันเทิงได้ มีลูกเล่น ลูกฮาทุกครั้งทุกที่แสนประทับใจ

อิน-จัน มีเพื่อนอเมริกัน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในธุรกิจหลากหลาย เพราะแฝดเป็นผู้มีอัธยาศัยดี และมีเพื่อนสนิทมากเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งชื่อ เจสซี เกรฟส์ (Jesse Graves) เขียนจดหมายติดต่อกัน ปรึกษาหารือ ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ตลอดเวลา แต่อีกใจหนึ่งก็ยังหวนระลึกถึงนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลองทุกเมื่อเชื่อวัน

อิน-จัน ถึงแม้จะตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกัปตัน และนางซูซาน คอฟฟินแล้ว แต่ก็ยังต้องง้อและแอบรอคอยว่ากัปตันคอฟฟินที่เดินเรือไปเมืองสยามจะมีข่าวมาจากนางนากหรือไม่ แม่และพี่น้องในครอบครัวที่บ้านแพริมน้ำที่แม่กลอง สบายดีหรือไฉน ?

อิน-จัน ทนไม่ไหวใจจะขาด จึงขอร้องให้นายแฮริส (ที่ทำหน้าที่เลขา) มีจดหมายหลายฉบับไปหานายเดวิส (เลขานางคอฟฟิน) เพื่อวิงวอนขอทราบข่าวจากแม่ที่บ้าน

แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

สันนิษฐาน ตรงนี้ได้ว่านางคอฟฟินยังโกรธแฝดอิน-จัน ที่แยกตัวออกไปแบบไม่กรวดน้ำคว่ำขันให้แก่กัน แฝดหนุ่มมองไม่เห็นหนทางที่จะได้รับข่าวจากแม่เลย ช่วงเวลานั้นเป็นยุคสมัยในหลวง ร.3 ของสยามครับ

สยามประเทศยังไม่มีระบบไปรษณีย์ ถ้าอิน-จันส่งจดหมายมา ก็ไม่ทราบจะจ่าหน้าซองยังไง บ้านเลขที่ ทะเบียน ตรอกซอกซอย ก็ยังมิได้กำหนด ข้อสำคัญคือ ไม่มีบุรุษไปรษณีย์ ไปรษณีย์สยามมาเริ่มต้นในสมัยในหลวง ร.5 ครับ

เรื่องความกินแหนงแคลงใจ เรื่องเงินส่วนแบ่งที่ผ่านมา ยังเป็นหนามยอกอก ระหว่างแฝดกับ นางคอฟฟิน ตามบันทึกประวัติศาสตร์ พบว่ายังมีการเขียนจดหมายต่อว่าต่อขานกันไป-มาอีกหลายฉบับแบบเผ็ดร้อน ในลักษณะกล่าวหาซึ่งกันและกัน อุปสรรคใหญ่คือ การไม่ได้พบหน้าและไม่ได้แสดงหลักฐานการเงินแบบเปิดเผยต่อกัน เพราะต้องเดินทางตลอดเวลา ข้อมูลทุกอย่างติดต่อทางจดหมายเท่านั้น

ท่านผู้อ่านคนไทย คงเห็นตรงกันนะครับว่า กิจการไปรษณีย์ในอเมริกายุคนั้น มีประสิทธิภาพสูงมากและเชื่อถือได้

เรื่องราวความขัดแย้งบานปลายถึงขนาด มีการไปสืบค้นขุดคุ้ยว่า เมื่อ 3 ปีก่อนตอนที่นายฮันเตอร์ และกัปตันคอฟฟิน ไปทำสัญญาเช่าตัวแฝดมาแสดงนั้น แฝดได้ลงนามเองหรือเปล่า สัญญาเช่าตัวนานแค่ไหนกัน ข้อความในสัญญาหมกเม็ดซ่อนปมอะไรไว้ และนางนากได้รับเงิน 1,600 บาท แล้วหรือไม่ ?

เรื่องราวเหล่านี้บานปลาย ที่คนไทยใช้ศัพท์ Go So Big แปลแบบสำนวนไทยว่า ไปกันใหญ่ (สำนวนนี้ใช้แบบขำๆ สำหรับคนไทยนะครับ ฝรั่งไม่รู้เรื่อง)

และแล้วอยู่มาวันหนึ่ง อิน-จันก็ได้รับจดหมาย ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2375 จากกัปตันเฮล (อดีตผู้จัดการส่วนตัวของแฝดที่ขอแยกทางไปก่อน) ข้อความว่า

กัปตันคอฟฟินกำลังเดินทางจากบอสตันในคืนนี้เพื่อมาพบคุณ

กัปตันคอฟฟินไม่ได้พบอิน-จัน มาราว 2 ปี เพราะต้องไปเดินเรือทะเล ที่จะเดินทางมาพบเพื่อเคลียร์ปัญหาที่คาใจเรื่องเงินรายได้ และมาเกลี้ยกล่อมให้แฝดหนุ่มกลับมาร่วมงานกันใหม่อีกครั้ง คราวนี้จะพาไปแสดงตัวที่ปารีส พร้อมทั้งยืนยันว่าสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาลสยามนั้นระบุว่า จะนำตัวแฝดออกมาแสดงเป็นเวลา 7 ปี ส่วนที่บอกกับนางนากว่าจะนำตัวมาแสดง 2 ปีครึ่งนั้น ก็เพื่อให้นางนากสบายใจเท่านั้น

ด้วยการชี้แจงของกัปตันคอฟฟินเช่นนี้ เหมือนเอาน้ำมันสาดเข้ากองไฟ อิน-จันขยะแขยงการพูดคุยกับกัปตันคอฟฟินสุดสุด เพราะเพิ่งตาสว่างว่าโดนแหกตามาตลอด

กัปตันคอฟฟินไม่ย่อท้อลงทุนตื๊ออยู่นาน แต่ทุกอย่างสายเกินแก้ แฝดสยามตั้งสติแล้วประกาศเลิกคบค้าเด็ดขาดกับกัปตันคอฟฟิน

การเจรจาแบบแตกหักของคอฟฟินกับอิน-จันตรงนี้ อาจจะมีฉากน้ำเน่าแบบนิยาย บ้านทรายทอง ของสยาม มีอิจฉาตาร้อน มีสงสาร มีรักมีโศก กลายเป็นเจ้าคิดเจ้าแค้น

กัปตันคอฟฟิน เมื่อได้รับการปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใยจากอิน-จัน จึงพกเอาความแค้นไประบาย ไปปล่อยข่าวกับผู้คนทั้งหลาย ตีฆ้องร้องป่าวว่าไอ้อิน-จัน มันสำมะเลเทเมา เที่ยวซ่องโสเภณี ติดการพนันงอมแงม ความประพฤติเสื่อมเสีย

ทั้งหมดเพื่อการแก้แค้น อิน-จัน ที่ไม่กลับมาร่วมงาน

มีเกร็ดประวัติแบบตลกร้ายที่ขอนำมาแทรกอีกเรื่องครับ

ในระหว่างตระเวนโชว์ตัวในอเมริกา วันหนึ่ง นายแฮริสที่ทำหน้าที่เพื่อนของแฝด ได้ไปยื่นเรื่องต่อสภารัฐเวอร์จิเนีย เพื่อขอยกเว้นภาษีการแสดง โดยเขียนคำร้องว่าเป็นการแสดงของมนุษย์ประหลาดจากสยามนี้ มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน แต่ละครั้งจะมีคนดูในเมืองเล็ก เมืองใหญ่จำนวนไม่เท่ากัน

นายแฮริสบรรยายในคำร้องต่อทางการรัฐเวอร์จิเนีย แบบนักอ้อนมืออาชีพต่อไปว่า บางเมืองที่ไปไม่มีคนดู ที่ผ่านมาคนอเมริกันที่มาดูการแสดง ล้วนเป็นคนชั้นล่างแบบบ้านๆ คณะของแฝดมิได้ไปเปิดการแสดงในโรงแรมโก้หรูแต่อย่างใด แถมยังทวงบุญคุณอีกว่า เป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนแบบที่หาดูที่ไหนไม่ได้

ผู้เขียนคิดว่า ฟังดูแล้ว ก็มีเหตุมีผลน่ารับฟังนะครับ

การยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นประเด็นร้อนฉ่าทันที เพราะคำตัดสินจะส่งผลต่อธุรกิจหลายแขนง

และแล้ว ข่าวลึกลับชิ้นหนึ่งไปปรากฏในหนังสือพิมพ์โดยบรรยายความทำนองว่า ไอ้เจ้าแฝดอิน-จัน คนประหลาดนี้แหละ กัปตันคอฟฟินและนายฮันเตอร์เป็นคนไปซื้อตัวเป็นๆ มาจากสยาม เพื่อมาแสดงตัวหาเงินนะ คนรับเงินก้อนนี้คือ แม่ของเด็ก ไม่เห็นจะต้องยกเว้นภาษีให้มันเลย

เรื่องที่ทำให้เรื่องราวบานปลายออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง เพราะเกิดการตีความต่ออีกว่า แฝดอิน-จัน มีสถานะเป็นทาสหรือไม่ ?

กระแสต่อต้านที่โผล่มาแฉว่า เด็กแฝดคู่นี้แม่เค้าขายมาทำเงินในอเมริกาตรงนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากกัปตันคอฟฟิน ที่ผิดหวังจากการเจรจารื้อฟื้นธุรกิจกับอิน-จันนั่นเอง

เอกสารของนายออเซอร์ (Joseph A. Orser) ยังระบุอีกว่า การปรากฏตัวเป็นๆ ของอิน-จัน เวลานั้นในอเมริกา เป็นการจุดประกายความคิดให้กับสังคมคนอเมริกันได้พอสมควร เพราะอเมริกาอยู่ในระยะฟักตัว สร้างรัฐชาติขึ้นมา เหมือนเด็กกำลังตั้งไข่ พากเพียรเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้ มนุษย์บนโลกใบนี้ ยังไม่มีโอกาสเดินทางมากนัก มีแต่ภาพเขียน และบอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวหนังสือ

อิน-จัน คือสิ่งมีชีวิตที่แสนมหัศจรรย์ที่สุด ที่ไม่มีใครในอเมริกาเคยเห็นมาก่อน (ชาวสยามในสมัยนั้นมาจนทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครเคยเห็น) แถมมาใช้ชีวิตเคียงคู่ ปรับวิถีชีวิตเข้ากับคนอเมริกันได้เป็นอย่างดี จึงกลายเป็นมนุษย์มีค่าที่น่าเมียงมอง

เหมือนกับทุกวันนี้ที่เราดูหนังที่มีมนุษย์ต่างดาว มีสัตว์ประหลาดจากนอกโลก มีหุ่นยนต์พูดได้มาร่วมกับคน แสดงพ่นไฟแปลงร่าง เหาะไปมา แบบเรื่องอวตาร ทำนองนั้นแหละครับ

ท่านผู้อ่านกรุณาอย่าลืมนะครับว่า กัปตันคอฟฟิน คนนี้แหละคือกัปตันที่เดินเรือไป-มา จากสยามไปยุโรป ไปอเมริกา บรรดามิชชันนารีและแพทย์อเมริกันยุคแรกที่เข้ามาทำงาน เผยแผ่ศาสนาและรักษาคนเจ็บป่วยในสยามให้รอดตายจำนวนมากนั้น มีกัปตันคอฟฟินเป็นผู้ประสานงานอยู่หลังฉาก

มีคนอเมริกันกล่าวในขณะที่คนอเมริกันผิวขาว อยากดูลำตัวประหลาดของอิน-จัน จากสยามนั้น พวกคนอเมริกันเชื่อว่าคนสยามคงอยากสำรวจตรวจร่างกายของคนอเมริกันที่ไปทำงานในสยามมากกว่าเสียอีก

ชีวิตเริ่มมั่งมีศรีสุข คณะจึงเดินทางลงไปรัฐทางใต้อเมริกา ตัวอย่างเช่น การไปแสดงที่รัฐเคนตักกี มีกำไร 413 เหรียญ ไปแสดงที่รัฐเทนเนสซีและอลาบามามีกำไร 1,105 เหรียญ ไปแสดงที่มิสซิสซิปปีกำไร 2,433 เหรียญ นี่เป็นผลจากการทำธุรกิจเอง คุมบัญชีเอง นับว่าเม็ดเงินดังกล่าว

มีรายการจ่ายเงินค่าทำฟันให้ทันตแพทย์ ซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ค่าตัดผม ทุกเดือนด้วย

ชีวิตของเด็กเลี้ยงเป็ดจากเมืองแม่กลองในอเมริกายังต้องเดินต่อไป แฝดเดินทางไปตามที่สวรรค์ลิขิตมาให้ แบบไม่มีทางคาดเดาได้

กรุณาติดตามตอนต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image