เบร็กซิท : ทางออกสำหรับอังกฤษ โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

เมื่อประชามติของประชาชนในสหราชอาณาจักร (United Kingdom หรือ Great Britain) ได้ผลที่ผิดความคาดหมายของวงการต่อรองและผลโพลว่าสหราชอาณาจักรสมควรออกจากการเป็นสหภาพยุโรป ความปั่นป่วนจึงได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในตลาดทุนและตลาดเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีความคาดหมายว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบอย่างมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009

การตัดสินใจประชาชนครั้งนี้ นักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์มักมองว่าผิดเพราะห่วงเรื่องการเปิดเสรีการค้าการลงทุนว่าจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง และมองการออกจากสหภาพยุโรปเป็นการหันเหออกจากกระแสโลกาภิวัตน์

แต่หากมองจากภาพใหญ่ ความเข้าใจของนักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นอาจมองคลาดเคลื่อนและการตัดสินใจของประชาชนในครั้งนี้อาจนับเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในระยะยาวสำหรับสหราชอาณาจักรเอง

สหราชอาณาจักรซึ่งชาวไทยนิยมเรียกตามชื่อดั้งเดิมว่าอังกฤษ มาจากจักรภพอังกฤษที่ได้รวมอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์นานมากแล้ว จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1922 มีส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์แยกออกไปเหลือไอร์แลนด์เหนือไว้

Advertisement

จากผลประชามติ ประชาชนในอังกฤษและเวลส์ให้ออกจากสหภาพยุโรป ส่วนในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ คะแนนเสียงของประชาชนที่ต้องการให้อยู่กับสหภาพยุโรปมีมากกว่าส่วนที่ต้องการให้ออก

ดังนั้น ในสกอตแลนด์ซึ่งเคยมีประชามติเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ และได้ผลเสียงส่วนใหญ่ที่ยังคงให้อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อ จึงมีกระแสว่าจะให้ประชามติอีกครั้งหรือไม่ และถ้าออกก็คงไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแทน

ประชามติของเบร็กซิท (Brexit) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชน มิใช่กระบวนการทางกฎหมาย การดำเนินการต่อไปจึงต้องผ่านรัฐสภาของสหราชอาณาจักร และผ่านการเจรจากับสหภาพยุโรป

Advertisement

ความไม่ชัดเจนจึงมีอยู่ว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรและจะมีผลทางกฎหมายจริงๆ เมื่อใด สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ การแยกตัวของรัฐต่างๆ ในสหภาพโซเวียตแต่ก่อนก็ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้

รัฐสภาของสหราชอาณาจักรจะต้องพิจารณารายละเอียดก่อนหรือพร้อมๆ กับผลการเจรจากับสหภาพยุโรปซึ่งรัฐสภาอาจมิได้เห็นชอบไว้ก่อนอย่างเพียงพอ

ตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ที่สหราชอาณาจักรลงนามเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการออกจากสมาชิกภาพว่า ให้มีการเจรจากันมีกำหนด 2 ปี สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษคงต้องดำเนินการตามนั้น แต่ถ้าช้าความไม่ชัดเจนต่างๆ ก็จะสร้างปัญหาให้กับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

ในช่วงที่ยังมีสถานะในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นๆ ได้ นอกจากนี้สถานะใหม่ที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรปจะย้อนไปที่สนธิสัญญาเดิมฉบับใด จะมีสถานะเป็นตลาดร่วมได้หรือไม่ หรือต้องเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแบบประเทศทั่วๆ ไป

ส่วนสหภาพยุโรป ถ้าความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ความเสี่ยงทางการเมืองที่ฝ่ายคัดค้านสหภาพยุโรปและมาตรการรัดเข็มขัดก็อาจระบาดออกไปมากขึ้น

ทางออกของสหราชอาณาจักรภายหลังประชามติมีความชัดเจนว่ารัฐบาลและรัฐสภาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกระทำตามเจตนารมณ์ของประชามติ แต่ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่จะนำไปสู่ผลเสียต่ออนาคตในทางเศรษฐกิจ

การรวมกลุ่มของสหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มที่มีสาเหตุสำคัญมาจากอดีตและนับว่าใหม่กว่าเครือจักรภพอังกฤษมาก

ในทางเศรษฐกิจ การรวมเป็นตลาดเดียวที่ทำให้เกิดสหภาพยุโรปและเขตเงินตราสกุลเดียว หรือเขตยูโร มาจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวมิได้คุกคามเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกเหมือนที่เคยกังวลแล้ว

ในทางการเมือง การรวมเป็นสหภาพยุโรปมาจากประสบการณ์ความแตกแยกที่นำไปสู่สงครามโลกและหวังว่าการผนึกกำลังกันเป็นสหภาพจะทำให้เข้มแข็งและเป็นเอกภาพ เป้าหมายดังกล่าวนี้ยากที่จะใกล้เป้าหมายสูงสุดใกล้กับความเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพราะรากฐานแตกต่างกันอย่างยิ่ง จึงกลายเป็นการฝืนเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการเมืองที่สูงเกินไป

การมีสถาบันคล้ายรัฐบาลและรัฐสภากลางของสหภาพยุโรปก็กลายเป็นแหล่งออกกฎระเบียบมากมายแบบรัฐราชการที่เทอะทะ ขาดประสิทธิภาพ และมิได้สร้างความเข้มแข็งอย่างเพียงพอ

เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเศรษฐกิจยุโรปตะวันตกอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การรวมกลุ่มเป็นสหภาพยุโรปและเขตยูโรเข้าสู่ระยะที่เป็นขาลง

การรวมกลุ่มที่หมายมั่นไว้สูงจึงนับว่าได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว กรีซอยากออกจากเขตยูโร แต่ออกไม่ได้ ตุรกีเริ่มไม่สนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในขณะที่สหภาพยุโรปเองก็ไม่มั่นใจว่าตุรกีจะสร้างปัญหาให้เหมือนกรีซหรือไม่

ในแง่นี้ สหราชอาณาจักรจึงนับว่าโชคดีที่ออกจากสหภาพยุโรปได้ก่อนที่ปัญหาผู้อพยพซึ่งเป็นวิกฤตระยะยาวจะรุนแรงมากไปกว่านี้จนกระทั่งสหราชอาณาจักรแบกรับไว้ได้ยาก

สำหรับสหราชอาณาจักร ระดับขั้นของการรวมกลุ่มที่เหมาะสมคือขั้นที่เป็นกลุ่มตลาดร่วม (Common market) กล่าวคือมีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน หรืออาจมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่เสรีบ้างก็พอเหมาะแล้ว

การเปิดเสรีเต็มที่ในตลาดแรงงานและการเคลื่อนย้ายประชากรยังมีความเสี่ยงอยู่มากและยากที่จะดูแลควบคุม เนื่องจากความรุนแรงในตะวันออกกลางมีแนวโน้มขยายตัวและยากต่อการจำกัดพื้นที่ที่เป็นสมรภูมิเหมือนอย่างในอดีต

สหราชอาณาจักรมีความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ไม่ด้อยไปกว่าประเทศที่เป็นแกนในสหภาพยุโรป เศรษฐกิจมีการเติบโตได้ค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป การออกจากกลุ่มจึงน่าจะกระทบสหภาพยุโรปมากกว่าที่จะกระทบสหราชอาณาจักร

นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าสหราชอาณาจักรจะเสียหายในทางเศรษฐกิจอย่างมากจากการเปิดเสรีเป็นตลาดเดียวกับสหภาพยุโรปควรยอมรับว่าผลประโยชน์จากการรวมเป็นตลาดเดียวนั้นมีการกีดกันการค้าและการลงทุนสำหรับประเทศนอกกลุ่มที่อาจให้ประโยชน์มากกว่าด้วย

ถ้าการรวมกลุ่มกับยุโรปตะวันตกเป็นสิ่งที่ดีในทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ก็ควรอธิบายว่าทำไมต้องรวมกลุ่มเฉพาะกับสหภาพยุโรปเท่านั้น การรวมกลุ่มกับเอเชียตะวันออกหรือภูมิภาคอื่นไม่มีประโยชน์และไม่เป็นโลกาภิวัตน์หรือไม่ อย่างไร

โดยหลักแล้ว ค่าเสียโอกาสโดยสุทธิจากการออกจากสหภาพยุโรปนั้นมิได้มากนัก ในระยะยาวสหราชอาณาจักรสามารถปรับทิศทางไปสู่การค้าและการลงทุนร่วมกับประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก

สหราชอาณาจักรมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นเศรษฐกิจที่มีความเชี่ยวชาญในหลายสาขาการผลิตและการบริการ

ความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพภายในประเทศอาจมีมากขึ้นในระยะยาวซึ่งน่าจะส่งผลดีเมื่อเทียบกับการเดินตามรอยผู้กำหนดนโยบายร่วมที่กรุงบรัสเซลส์

ภายใต้สหภาพยุโรป รัฐบาลอังกฤษอาจสะดวกอยู่บ้างถ้าบางนโยบายประสบความลำบากในทางการเมืองเพราะอาจอาศัยเวทีนโยบายร่วมของสหภาพยุโรป ทว่า ความเป็นเอกภาพภายในสหราชอาณาจักรจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ถ้าหากเวทีของสหภาพยุโรปมีความสำคัญมากขึ้น

สมาชิกรัฐสภายุโรปมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือเป็นเขตประเทศ ในอังกฤษมีเขตแบ่งออกหลายเขต สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้นานๆ เข้าก็จะเป็นผู้แทนของสหภาพยุโรป ถ้าเป็นฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับสหภาพยุโรปในปัจจุบันก็อยากให้ออกเป็นอิสระ แต่ถ้าสนับสนุนสหภาพยุโรปก็อยากร่วม

ระบบการเลือกตั้งและระบบตลาดเดียวของสหภาพยุโรปจึงมีความโน้มเอียงที่จะสร้างความไม่เป็นเอกภาพและลดความเป็นชาติของประเทศสมาชิก

ทางออกของสหราชอาณาจักรภายหลังเบร็กซิทอาจมีความยุ่งยากในแง่ของกระบวนการทางกฎหมาย แต่ในทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างของระบบตลาดสามารถดำเนินไปได้ดีถ้าความไม่ชัดเจนต่างๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

ในระยะยาว สหราชอาณาจักรมีช่องทางที่ดีที่จะฟื้นฟูความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในสหราชอาณาจักร การปฏิรูปทางการเมืองและการบริหารภาครัฐภายในสหราชอาณาจักรน่าจะเป็นทางออกที่ให้ประโยชน์อย่างมาก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือจักรภพ (Commonwealth) ก็คงจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาให้เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้

บนเวทีการเจรจาทางการค้า สหราชอาณาจักรสามารถมีบทบาทเด่นในองค์การการค้าโลกและเวทีใหม่ๆ ในอนาคตได้ แม้ว่าอาจยังคงเสียเปรียบทางด้านอุตสาหกรรม แต่ในภาคบริการน่าจะมีความเข้มแข็งซึ่งในแง่นี้ความร่วมมือด้านการลงทุนและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในสาขาบริการคงจะกลับมาได้รับความสนใจจากภาครัฐมากขึ้น

ผลกระทบทางลบที่มีต่อธุรกิจทางการเงินอาจเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ แต่ก็อาจไม่มากเท่าที่คาดคะเนกันว่าจะมีการโยกย้ายสำนักงานของสถาบันการเงินออกจากอังกฤษอย่างมาก

ในระยะสั้น คาดกันว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวและอาจถึงขั้นถดถอยในปีหน้า การพยุงเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องพึ่งนโยบายทางการเงิน เนื่องจากรัฐบาลยังต้องควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐต่อไป

จากการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งผิดความคาดหมายของตลาด

อย่างไรก็ตาม เราคงจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเล็กน้อย พร้อมกับการปล่อยสภาพคล่องผ่านมาตรการ QE ในเวลาอีกไม่นานนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image