ความอยากได้ในสัมผัส : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ความอยากได้ในสัมผัส : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
จิตรกรรมฝาผนังไม้สักกุฎีสงฆ์ วัดบางแคใหญ่ อัมพวา ชายมอญจีบสาวมอญ ชายฝรั่งเศสควบม้า

พระภิกษุในธรรมวินัยต้องถือพรหมจรรย์ที่มีระยะห่างจากการสัมผัสของเพศตรงข้าม ผู้ที่ยังเสน่หาและกระหายในทางกามมักจำต้องลาสิกขาก่อนเวลา แห่งที่ของพระภิกษุควรเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ไม่แวดล้อมด้วยสิ่งเร้าที่เป็นภัยต่อการปฏิบัติ

ความอยากได้ในกามเป็นกิเลสที่ยากอย่างยิ่งต่อการสละให้สิ้นไป การละเหตุแห่งทุกข์ให้หมดจดเป็นภารกิจสำคัญ มีพระบัญญัติเป็นกฎระเบียบสำหรับบรรพชิตและหมู่คณะ

ชาวพุทธเห็นความตายรออยู่เบื้องหน้า ผู้ออกบวชต้องสำรวมกายและใจมากกว่าผู้ครองเรือน อาศัยสติและสภาพแวดล้อมช่วยรักษาศีลพรหมจรรย์ เมื่อถึงฝั่งในศีลพระโสดาบันไม่หลงว่ากายเป็นตัวตนแล้ว จิตไม่ดิ้นรนหาสัมผัสทางกามและสามารถตัดกามส่วนที่จะนำไปสู่อบายได้ พระสกิทาคามีมีกามราคะเบาบางลง พระอนาคามีจึงจะละได้หมด

จิตมีสัญญาจดจำและสัญญาตีความที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน การเปลี่ยนความเคยชินของจิตย่อมยากอย่างยิ่ง

Advertisement

ธรรมชาติของจิตมีกามราคะเป็นสภาพเดิม มีประสาทสัมผัสที่คุ้นเคยกับรูปที่เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรสและได้แตะต้องลูบไล้ เมื่อสัมผัสผ่านทวารทั้งห้าก็มักเกิดความสุขความเพลิดเพลิน รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะนี้เรียกว่า “กามคุณ 5” หรือ “วัตถุกาม” ส่วนกิเลสที่ทำให้เกิดความอยากได้ ความกำหนัด ความหลงและความติดใจในกามจะเรียกว่า “กามกิเลส”

กามราคะเป็นความกำหนัดทางกาม เกิดขึ้นเมื่อจิตสัมผัสกับกามคุณ ส่วนกามตัณหาเป็นความทะยานอยากที่เกิดตามมา ความสุขในวัตถุกามคือกามสุข

การสัมผัสที่เป็นความใคร่และความกำหนัดทางเพศเป็นกามภพที่หยาบและเป็นความอยากที่ผูกติดพัวพันได้ง่าย การสัมผัสอื่นๆ อาจเป็นกามภพที่ละเอียดกว่านั้น เช่น การสัมผัสกลิ่น กายสัมผัสที่น่ายินดีและความรักสวยรักงาม เป็นต้น

Advertisement

กามคุณให้ความพอใจแก่ผู้เสพ การสัมผัสที่ทวารทั้งห้าจึงมีความติดและการดิ้นรนแสวงหาเกิดขึ้น การออกจากกามคุณจึงยากอย่างยิ่งทั้งๆ ที่รู้ได้ว่าการเสพกามคุณก็มีโทษภัยมาก

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เรียกกามคุณว่า “กามคุณห้า เบญจพิษ”

ปุถุชนไม่รู้จักแสงสว่างทางปัญญาจึงเห็นแต่ด้านบวกของกามคุณ แม้แต่ด้านบวกก็ยังเข้าใจอย่างผิดๆ หรือเกินจริง ทั่วไปมักเห็นว่าบรรพชิตเท่านั้นที่ควรละ ไม่เห็นเหตุผลที่มนุษย์ปกติควรปฏิเสธโลกแห่งการสัมผัส ถ้าจะแสวงหาบุญก็หวังให้ได้เสพกามคุณยิ่งๆ ขึ้นไป

ความยากในการหลุดออกจากกามราคะทำให้มีการอาศัยแนวปฏิบัติที่มีเป้าหมายเฉพาะ

อุบายภาวนาที่ใช้ละกามราคะเป็นการมีสติที่เป็นไปในกายซึ่งเรียกว่ากายคตาสติ

กายคตาสติมีตั้งแต่เบาจนถึงเข้มข้น ใช้สมาธิน้อยจนถึงใช้สมาธิมาก ถ้าต้องการเดินทางผ่านกามราคะซึ่งเป็นอนุสัยกิเลสอย่างจริงจังก็อาจต้องอาศัยอุบายภาวนาที่เข้มข้นและลึกถึงจิต

ความอยากได้ในสัมผัส : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
จิตรกรรมฝาผนังเรือนไม้สัก วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อัมพวา
พระภิกษุเพ่งอสุภะภายนอกเพื่อหน่ายกามราคะ

ในกายคตาสติสูตร กายคตาสติครอบคลุมกว้างขวางรวม 10 หมวด ซึ่งเราอาจสรุปให้ง่ายเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานและกายคตาสติที่เป็นฌาน

กายคตาสติที่เป็นกายานุปัสสนา ได้แก่ อานาปานสติ สติตามอิริยาบถ สัมปชัญญะทางกาย การพิจารณากายเป็นปฏิกูล การพิจารณากายเป็นธาตุและการพิจารณาซากศพ เหล่านี้ล้วนเป็นการเจริญสติให้เป็นไปในกายและทั่วทั้งกาย

กายคตาสติที่เป็นฌานเป็นการเจริญฌานที่ต้องเป็นไปในกายเท่านั้นและมีตั้งแต่ฌานหนึ่งถึงฌานสี่ จึงเป็นกายคตาสติขั้นสูงซึ่งไม่ใช่รูปฌานของพวกพราหมณ์โบราณ

ในภาคปฏิบัติ อุบายภาวนาที่มุ่งให้หลุดจากกามราคะมักเน้นที่การพิจารณากายให้เป็นธาตุ เป็นปฏิกูลและเป็นซากศพ

ทำไมกายคตาสติที่เน้นการพิจารณากายว่าเป็นธาตุ ปฏิกูลและซากศพป่าช้าจึงแก้ไขความอยากในกามคุณได้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักใคร่ทางเพศ

กามกิเลสครอบงำจิตให้หลงใหลในความเป็นตัวตน ความน่าทึ่งน่าตื่นเต้น สีสัน รสชาติ ไออุ่น ความสวยงามและสัณฐานเว้าโค้งต่างทำให้รู้สึกว่ากามคุณนั้นน่าใคร่หรือน่าอร่อยเพลิดเพลิน

อุบายภาวนาที่ทำให้เห็นความเป็นจริงว่ากามคุณไม่เที่ยงและไม่พึงยึดไว้จึงเป็นทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งคือการทำให้เห็นความเป็นโทษหรือความเป็นเบญจพิษนั่นเอง

การพิจารณากายและกายในกายเป็นการแยกรูปที่เป็นตัวตนให้กระจายออกเป็นกายย่อยๆ หลวงปู่หลุย จันทสาโร เรียกว่าการ “ม้างกาย” หรือการรื้อกายออกเป็นส่วนๆ ท่านเปรียบกายเสมือนบ้านและอุปาทานเสมือนนายช่าง การรื้อรูปที่ผนึกแน่นของกายให้รับรู้ลึกลงไปในจิตจึงเป็นอุบายที่ให้ผลมาก

เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วจึงพิจารณากายเป็นกายส่วนย่อยหรือเป็นอวัยวะต่างๆ ซึ่งที่เป็นหลัก ได้แก่ มูลกรรมฐาน 5 และอาการ 32 หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท กล่าวว่า ถ้าการพิจารณากายมีอารมณ์หรือความคิดอื่นแทรกก็ให้กลับไปเจริญสมาธิให้จิตสงบเสียก่อน ท่านอุปมาว่าการขึ้นต้นไม้ต้องขึ้นจากโคนไม้

มูลกรรมฐาน 5 เป็นการพิจารณาแยกกายเป็นผม ขน เล็บ ฟันและหนัง ส่วนอาการ 32 เป็นการพิจารณาแยกกายเป็นอวัยวะที่มีทั้งสิ้น 32 ชิ้นส่วน การพิจารณากายเป็นส่วนย่อยๆ อาจแตกต่างออกไปบ้าง มิได้บังคับเฉพาะที่อุบายใดอุบายหนึ่ง อาจพิจารณากายเป็นกระดูก 300 ท่อนหรือไม่กี่ท่อนก็ได้ตามกำลังของสติที่เจริญมา

การพิจารณากายส่วนย่อยต่างๆ เหล่านี้ประกอบด้วยธาตุสี่อัน ได้แก่ ดิน ไฟ ลมและน้ำ เป็นการพิจารณาให้จิตเห็นความเป็นจริงว่าร่างกายเป็นเพียงการประกอบกันของธาตุซึ่งในความเป็นจริงแล้วล้วนไม่เที่ยง กำหนดให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้และย่อมสลายไปในที่สุด

การพิจารณาธาตุนี้อาจไม่เพียงพอในการขจัดกามราคะ อุบายที่ชะงัดยิ่งขึ้นเป็นการทำให้จิตเห็นด้านที่ไม่ดีไม่งามของกายอันได้แก่การพิจารณากายว่าเป็นปฏิกูลไม่สะอาดและเป็นอสุภะซากศพที่ไม่สวยไม่งาม เน่าเปื่อยผุพัง

กรรมฐาน 2 หมวดหลังนี้เกี่ยวข้องกับการเจริญอสุภะซึ่งควรอาศัยหลังจากปฏิบัติอานาปานสติและธาตุกรรมฐานมาแล้ว หมวดแรกเป็นการพิจารณาอสุภะภายใน หมวดหลังเป็นการพิจารณาอสุภะที่ตายแล้วซึ่งมักเรียกเฉพาะว่าอสุภกรรมฐาน

ในการพิจารณากาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นหรือกระดูกเป็นปฏิกูล หลวงปู่หลอด ปโมทิโต กล่าวว่า เมื่ออวิชชาฉลาดกว่าเรา จิตจะไม่ยอมเห็นกายเป็นอาจม ราคะจะเบาบางลงเมื่อเห็น

การเพ่งซากศพเคยนิยมมากในอดีตและให้อสุภสัญญาที่ชัด มีทั้งรูปให้ปลงสังเวชและกลิ่นให้รับรู้ถึงความเน่าเหม็นน่ารังเกียจ เป็นการอาศัยอสุภะจากภายนอก ซากศพมีอยู่ในป่าช้าซึ่งพระภิกษุก็สามารถแผ่เมตตาและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้อย่างเป็นกิจวัตรด้วย

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แนะนำวิธีเจริญอสุภกรรมฐานจากซากศพไว้อย่างละเอียด โดยหลักคือการเพ่งซากศพในสภาพต่างๆ (อสุภะ 10) ต้องปฏิบัติให้เห็นและได้กลิ่นอย่างพอเหมาะก่อนแล้วจึงน้อมเข้ามาเพ่งในกายให้เป็นอสุภะตาม อสุภะภายในจะต้องเหมือนกับอสุภะภายนอก

ความอยากได้ในสัมผัส : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเทวราชกุญชร ปริศนาธรรมในปากเสือ
กามกิเลสเปรียบเสมือนเสือที่กัดแทะย่ำยีพรหมจรรย์
อสุภกรรมฐานจะช่วยให้พ้นได้

พระมหากัจจายนะได้แนะนำให้เข้าใจว่ากามคุณที่ปุถุชนเห็นนั้นเป็นการเห็นในแง่ที่เป็นคุณซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความกำหนัดยินดีขึ้น (อัสสาทะของรูป) ส่วนการเห็นความสกปรก ความไม่สวยงาม ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และแปรปรวนเป็นธรรมดานั้นเป็นการเห็นโทษของกามคุณ (อาทีนวะของรูป) การละได้จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อไม่ยึดในอารมณ์ทางกามนั้นๆ (นิสสรณะจากรูป)

อุบายภาวนานี้เรียกว่า “กามาทีนวะ” เป็นการหยุดความอยากด้วยการเห็นโทษ เป็นหนึ่งในอนุปุพพิกถา 5 ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงก่อนอริยสัจซึ่งในช่วงพุทธกิจพรรษาแรกได้ช่วยให้ยสกุลบุตร ญาติมิตรรวมทั้งชาวมคธที่นำโดยพระเจ้าพิมพิสารบรรลุธรรมนับแสนคน

การเจริญฌานที่ให้จิตเกาะกามคุณในทางที่ยินดีในกามเป็นการขยายกิเลสให้ฝังลึกในจิตยิ่งขึ้น นับเป็นการปฏิบัติทางจิตแบบกามสุขัลลิกานุโยคที่เคยมีตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแต่กล่าวถึงกันน้อย จิตถูกฝึกให้จดจ่ออยู่กับความสุขทางกามหรือทางเพศโดยเชื่อไปว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง

ในทางตรงกันข้าม การเจริญฌานให้จิตเกาะอสุภสัญญาเพียงหน้าเดียวก็จะยังไม่เห็นความเป็นจริงที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ผู้ปฏิบัติอาจเข้าใจผิดว่าแค่นั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว

อสุภกรรมฐานที่ยังเป็นเพียงอสุภฌานหน้าเดียวนี้ต้องได้รับการแก้ไขหรือเจริญให้มีปัญญาเกิดขึ้น จนกระทั่งเห็นอสุภะว่าไม่เป็นอสุภะก็ได้ เห็นกายที่สวยหอมสะอาดสะอ้านว่าเป็นอสุภะก็ได้

การปฏิบัติที่มีอสุภะผุดขึ้นเองตามความเป็นจริงในสภาวจิตที่สมดุล ไม่รังเกียจและไม่ยินดีจึงจะนับว่าเกิดผลการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าปฏิบัติผิดวิธีอาจต้องเจริญอานาปานสติแทน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อใดสัตว์ทั้งหลายรู้อัสสาทะโดยอัสสาทะ รู้อาทีนวะโดยอาทีนวะและรู้นิสสรณะโดยนิสสรณะ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้นย่อมหลุดพ้นไปจากโลก

พระมหากัจจายนะอธิบายพระพุทธพจน์ไว้ว่าอัสสาทะเป็นการคิดทางคุณ อาทีนวะเป็นการคิดทางโทษ นิสสรณะเป็นการสลัดออกและเป็นอริยมรรค ผลคือมรรคญาณ อุบายเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นของอริยมรรค พระบัญญัติและคำชี้ทางของพระพุทธองค์เรียกว่าอาณัตติ

การเจริญกายคตาสติที่พิจารณาเห็นปฏิกูลและอสุภะถือเป็นอุบายสมถวิปัสสนาที่จะช่วยละกามราคะและทำให้เข้าถึงอนาคามีมรรคและอนาคามีผล

พระพุทธองค์ตรัสว่าเมื่อสมณพราหมณ์ผู้มีกายหลีกออกจากกามได้อีกทั้งไม่เสน่หาในกาม สามารถละกามได้ด้วยดี จะอุปมาเสมือนไม้ที่อยู่ห่างน้ำและแห้งเกราะแล้วซึ่งย่อมสีไฟให้ปรากฏได้

“เป็นผู้ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็นและเพื่อปัญญาตรัสรู้อันยิ่ง”

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image