7 สิงหา ลงประชามติ สู่ประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

แฟ้มภาพ

นับถอยหลังอีก 4 วัน ก็จะมีการทำประชามติ โหวต “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งกำลังมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง มีการรณรงค์ในโค้งสุดท้าย

เมื่อผู้เขียนได้อ่านหนังสือ “การเมืองไทยและประชาธิปไตย” โดยศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และหนังสือ “สื่อสารทางการเมือง” ของ ดร.นันทนา นันทวโรภาส แล้ว พบว่าเนื้อหาจากทั้งสองเล่มเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอหยิบยกบางส่วนมาให้ได้ทัศนา

รัฐ : เกิดจากมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จนกลายเป็น “สังคม” ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความ “ขัดแย้ง” ในหลายเรื่องในแง่มนุษย์ต่างคนต่างจิตต่างใจ แม้แต่ตัวเราเองก็ขัดแย้งตลอดเวลา เมื่อมนุษย์อยู่ด้วยกันมากกว่า 2 คนขึ้นไปก็กลายเป็นสังคมเล็กๆ เพราะอยู่ด้วยกันต้องมี “กฎเกณฑ์” ต่างๆ ว่าด้วยในเรื่อง “ความสัมพันธ์” เพื่อขยายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น มีขัดแย้ง ซึ่งจำเป็นต้องหาข้อ “ยุติ” มิฉะนั้นจะกลับไปสู่สภาพ “ธรรมชาติ” เดิมๆ นั่นคือการแก้ปัญหาโดยใช้ “กำลัง” เช่นเดียวกับสัตว์ทั่วๆ ไปที่จะแย่งอาหาร แย่งตัวเมีย แต่ “มนุษย์” สร้าง “วัฒนธรรม” (Culture) ให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อจะจัดการกับความสัมพันธ์และความขัดแย้ง ซึ่งไม่ทำอะไรหรือมีอะไรเลย ก็จะเกิดการใช้กำลัง ห้ำหั่นกันจนทวีคูณขึ้น จึงเกิดความจำเป็นในการ “จัดระเบียบสังคม” โดยบุคคลซึ่งมีกำลังเหนือกว่าบุคคลอื่นในสังคม “บุคคล” เหล่านี้ จะใช้กำลังที่มีอยู่ทำลายให้ทุกคนยอมรับอยู่ใต้อำนาจ จากนั้นก็จัดการกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นในสังคม กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะครอบคลุมเรื่องต่อไปนี้

ความเป็น “รัฐ” ปกครองโดยคณะบุคคลเรียกว่า “รัฐบาล” จัดระเบียบโดยมีกฎเกณฑ์ กฎหมาย เป็นรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. และมีผู้ให้ความเป็นธรรมโดย “ศาล” รัฐมี 3 รูปแบบตามระบอบการเมืองการปกครอง ได้แก่ 1) รัฐที่เป็นเอกรัฐ (Unitary State) เช่น ไทย 2) สหพันธรัฐ (Federation) เช่น สหรัฐอเมริกา 3) สมาพันธรัฐ (Confederation) เช่น สหภาพยุโรป (ยูโร)

Advertisement

ระบบการปกครองแบบที่นิยมกันมากที่สุดคือ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตัวแทน (representative democracy) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะกลายเป็น “บุคคล” ซึ่งใช้ “อำนาจรัฐ” รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น “ประชาชน” เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ “เป็นตัวแทน” ของตน โดยเบื้องต้นจะมีการเลือกตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย กฎระเบียบ เรียกว่า “รัฐสภา” ในบางระบบก็อาจจะมีเลือกตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ “บริหารประเทศ” โดยเป็น “หัวหน้าฝ่ายบริหาร” โดยตรง แต่มีกำหนดระยะเวลาไม่ใช่อยู่ถาวรโดยการสืบเชื้อสาย

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่ปกครองโดยประชาชน แต่ประชาชนมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐเอง เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ที่สำคัญ คือจุดประสงค์ของระบบนั้น ประชาชนต้องมีส่วนในการเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า ผู้ใช้อำนาจรัฐที่เกิดขึ้นนั้น ประชาชนเป็นผู้ให้การ “อนุมัติ” เท่ากับประชาชนเป็นเงาของอำนาจ จึงเป็น “รัฐบาล” ของประชาชน แต่ “รัฐบาล” ดังกล่าวจะถูกจับตามองตลอดเวลา ให้ออกกฎหมาย กฎระเบียบ ใช้การ “กำหนดนโยบายและทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อ “ตนเอง” และพรรคพวก

ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น จึงกล่าวถึงรัฐบาลในลักษณะนี้ว่า “รัฐบาลของประชาชน” (government of the people) โดยประชาชน (by the people) และเพื่อประชาชน (and for the people)

Advertisement

ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ถือได้ว่าเป็น “ทางออกที่ดีที่สุด” ของระบบการเมือง ในแง่การใช้อำนาจรัฐ การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ…”แต่ต้องเข้าใจว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นก็มีจุดบกพร่อง เป็นต้นว่าการใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน แม้จะถูกต้องตามธรรมเนียม ประเพณี โดยการใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก แต่ก็มีการเตือนว่า อาจจะเกิด “ทรราชแห่งเสียงข้างมากได้” เป็นต้นว่า พระ กับ ชี อย่างละ 5 รูป กับโจร 100 คน สมมุติว่าจะปล้น “บ้านเศรษฐี” โจรโหวตชนะตลอดเวลา จึงมีคำกล่าวว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเมืองที่ดี แต่เป็นระบบการเมืองที่ได้ผลหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือระบบการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบที่เลว แต่ระบบอื่นเลวกว่า ดังนั้นจึงถือได้ว่า “เป็นระบบการเมืองการปกครองที่เลวน้อยที่สุด”

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งตัวแทนนั้น โดยมีต้นแบบหรือแม่แบบ พบว่ามี 2 ระบบ คือ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย “ระบบรัฐสภาอังกฤษ” กับ “ระบบประธานาธิบดี” ได้แก่ สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นก็เป็นการผสมผสานระหว่าง 2 ระบบ ซึ่งทั้ง 2 ระบบดังกล่าว อย่างระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอังกฤษ เร็วนี้ที่ผ่านมา กรณีการโหวตประเทศอังกฤษออกจาก “อียู” ทำให้นายกรัฐมนตรี “คาเมรอน” ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตัวประธานาธิบดีเองแพ้โหวต จึงทำให้รัฐสภาอังกฤษมีการโหวตสรรหาได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ เธเรซ่า เมย์ เป็นนายกรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามมติของประชาชน ด้วยโหวตเสียงข้างมาก 51% ต่อ 49% สิ่งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีของการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอังกฤษ การปกครองแบบประชาธิปไตยมีจุดเด่น คือ มีการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง มีสิทธิมีเสียง ซึ่งต่างจากระบบเผด็จการ และในขณะนี้มีกระแสการเรียกร้องให้มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในการปกครอง และการควบคุมหรือจำกัดอำนาจโดยเฉพาะอำนาจเผด็จการโดยคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว

ที่ผ่านๆ มาในประเทศไทยเรา ซึ่งมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีการกล่าวถึงบ่อยๆ ครั้ง มักจะมุ่งเน้นไปในเรื่อง “การเลือกตั้ง” การมี “สภานิติบัญญัติ” การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาล” การ “ยุบสภา” ฯลฯ แต่ตัวแปรหรือที่ขาดหายไปจากการวิเคราะห์ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น คือ “อุดมการณ์เสรีนิยม” (liberalism) อุดมการณ์เสรีนิยมนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกตั้งแต่ “รุสโซ มองเตสกิเออ ล็อค” เพื่อหาหลักของ “ลัทธิเสรีนิยม” คือ เสรีภาพ (freedom) และความเสมอภาค (equality) ยังจะเห็นได้ว่า “เสรีภาพและความเสมอภาค” นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของ…อุดมการณ์หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 ซึ่งพูดได้คือ “เสรีภาพ สมภาพและภราดรภาพ” (liberty, equality and fraternity) อุดมการณ์เสรีนิยมนี้จึงเป็นอุดมการณ์ขั้นพื้นฐานของ “ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย” กล่าวคือ เป็นอุดมการณ์ที่ให้น้ำหนักกับความเป็น “มนุษย์” ซึ่งต้องมีศักดิ์ศรี มีสิทธิเสรีภาพ เช่น เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ที่สำคัญคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมือง ฯลฯ ขณะเดียวกัน “มนุษย์” ที่ถือกำเนิดมาในโลกนี้ แม้จะแตกต่างกันในฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ แหล่งกำเนิดและชาติกำเนิด แต่ก็ต้องมี “ความเสมอภาค” กัน โดยเป็นประชาชนที่เท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และเสมอภาคในทางการเมือง บนพื้นฐานอุดมการณ์เสรีนิยม ได้แก่ “เสรีภาพและความเสมอภาค” ก็นำไปสู่การปกครองที่ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” เข้าลักษณะ “เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์” ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ของตนในการบริหารประเทศ ทั้งในสภานิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ

การพัฒนาสถาบันการเมืองก็ได้นำไปสู่กระบวนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ กระบวนการออกกฎหมาย นอกจากนั้นก็มีการพัฒนาสถาบันบริหารซึ่งต้องรับผิดชอบ ต่อการบริหารบ้านเมืองในรูปของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลใช้อำนาจระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหาข้อ “ยุติ” ความขัดแย้งในทางการเมืองและกฎหมาย ในเฉพาะอย่างเรื่องเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญและการปกครอง” จนนำไปสู่หลักการสำคัญคือ “หลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล” ในที่สุด

จากการใช้ดุลอำนาจรัฐของ 3 องค์กรดังกล่าวเกิดการพัฒนาถ่วงดุลอำนาจ (balance of power) และการแบ่งแยกอำนาจ (separation of Power) : ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ การถ่วงดุลและการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งได้มาจากอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในลักษณะระบบเผด็จการ ซึ่งได้มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้น จะต้องทำเพื่อประชาชน แก่ประชาชน ซึ่งระบอบได้เจริญเติบโตบนพื้นฐานอันสำคัญ คือ “เสรีภาพและเสมอภาคของประชาชน” ที่ประสบความสำเร็จหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ออสเตรีย นิวซีแลนด์ และยุโรป หลายประเทศ หากมีการออกแบบระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือกฎหมายฉบับใดที่มองข้ามอุดมการณ์ หรือลัทธิเสรีนิยมที่กล่าวมาแล้ว เป็นการละเมิดหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ของระบอบประชาธิปไตยโดยตรงก็จะเกิดการต่อต้าน แต่ที่สำคัญเมื่อพูดถึงระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือระบบประชาธิปไตย จะต้องนึกถึงอุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งเป็นหลัก “เสรีภาพและความเสมอภาค” พึงระวังอย่ามองข้ามการพูดแต่กรอบโครงสร้างและกระบวนการหรือการทำงาน จะทำให้มองเห็นภาพผิดจากสิ่งที่ควรจะเป็นและดูเหมือนในหลายสังคมที่กำลังพัฒนาจะมุ่งเน้นไปในรูปแบบสรุปอย่างง่ายว่า “ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง” หรือ…”การเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตย” เมื่อมีการเลือกตั้งประชาธิปไตยก็เกิดขึ้น และมีการกล่าวอ้างโดยสภานิติบัญญัติเสมือนหนึ่งคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ให้ภูมิคุ้มกันผู้กล่าวอ้างนั่นก็คือ “ข้าพเจ้ามาจากการเลือกตั้ง” ทั้งๆ ที่คำกล่าวอ้างไม่เป็นจริงในทางเนื้อหาหรือในความเป็นจริง ประชาธิปไตยปกครองโดยวิถีรัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่ทำงานได้ผล แต่ระบบดังกล่าวนี้จะทำได้ผลนั้น จะต้องประกอบด้วยข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย นั่นคือ “กฎกติกา หรือรัฐธรรมนูญ” เพื่อจะให้ระบบการเมืองการปกครองตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ (Constitution nation) สามารถดำเนินการไปได้อย่างได้ผล ดังนั้น “ประชาธิปไตย” เป็นเรื่องการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิเลือกผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศ ทั้งในสภานิติบัญญัติ บริหาร และในบางประเทศ ประชาชนยังมีสิทธิที่จะเลือกตุลาการ ดังนั้น การมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ระบอบการปกครอง แบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามที่กล่าวข้างต้น และต้องมีตัวแปรอื่นประกอบด้วย

การปกครองอะไรก็ตาม เป็นเรื่องของการใช้อำนาจ การใช้อำนาจซึ่งเป็นอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น สามารถส่งผลดีผลเสียต่อคนในสังคมได้ การใช้อำนาจเป็นการใช้อำนาจรัฐมีขอบข่ายกว้างขวาง สามารถสร้างความเสียหายอย่างมหันต์ได้ต่อชีวิตและทรัพย์สินและต่อสิทธิเสรีภาพ (การประหารชีวิต การยึดทรัพย์ การจำคุก) จึงจำเป็นต้องมีการถ่วงดุลเพื่อมิให้อำนาจตกอยู่ในมือคนคนเดียว การแบ่งแยกอำนาจ ในโครงสร้าง และการถ่วงดุลจึงเป็นหัวใจสำคัญ

กล่าวโดยสรุป คุณลักษณะของระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็คือ 1.การมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง (elected government) 2.การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Participation) 3.การประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน (right, freedom and equality) 4.การเคร่งครัดต่อหลักนิติธรรมในการออกกฎหมาย ในการใช้กฎหมาย และการวางนโยบาย กล่าวคือ การธำรงไว้ซึ่งวิถีทางของรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (The rule of law) และผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ 5.ผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองและประชาชนต้องมีจริยธรรม (ethics) ทางการเมือง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิต้องมีจริยธรรมและมารยาททางการเมือง โดยมีหิริโอตตัปปะ เช่น การแสดงน้ำใจนักกีฬาด้วยการลาออก เมื่อบริหารงานผิดพลาด และที่สำคัญในการอภิปรายหรือการแสดงออกนั้นต้องธำรงไว้ซึ่งเป็นผู้ดีทางการเมือง ไม่กล่าวข้อมูลเท็จเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง 6.การอภิปรายและการปฏิบัติทางการเมือง ต้องอยู่บนพื้นฐานความสุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อธำรงไว้ซึ่งกฎหมาย หลักนิติธรรม และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงสามารถจะธำรงอยู่ได้ และสามารถพัฒนาความจำเริญ (viability) อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน (Sustainability) ได้

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงต้องมีความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) ซึ่งมีสองส่วน คือในส่วนที่เข้าสู่ตำแหน่งการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม ปลอดการโกง ซื้อเสียงเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งปลอม ความชอบธรรมในส่วนที่สอง คือ ผลการปฏิบัติงานของผู้ใช้อำนาจรัฐ (performance) ถ้าผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีความชอบธรรมทางการเมือง บริหารประเทศด้วยความสามารถ แก้วิกฤตเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รักษาความเรียบร้อยในสังคมได้ดี ยกระดับศีลธรรม จริยธรรมสูงขึ้น เพิ่มพูนความรู้และระดับการศึกษาของประชาชน สุขภาพอนามัยดีขึ้น บริหารประเทศโดยชอบธรรมตามครรลอง มีหลักนิติธรรม ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือฝ่ายตุลาการที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะมีความชอบธรรมทางการเมือง สองมิติ คือ “การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ และผลงานจากการใช้อำนาจรัฐ”

การที่จะได้ความชอบธรรมในแง่ของผลงาน มีหลักการสำคัญ คือ จะต้องเดินตามแนวปรัชญาการเมือง การบริหาร อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป นั่นคือ “หลักธรรมาภิบาล” (good governances) : ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อใหญ่ๆ คือ : ความชอบธรรม (legitimacy) ความโปร่งใส (transparency), การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation), ความรับผิดชอบ ที่ตรวจสอบได้โดยประชาชน (accountability) ประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency, effectiveness), ซึ่งว่าด้วยหลักการบริหาร และการปฏิบัติที่ต้องนำไปใช้ทั้งในส่วนของการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น และส่วนของการบริหาร อันได้แก่ “ระบบราชการ” : ผู้ใช้อำนาจรัฐคนใดที่ไม่สามารถจะธำรงไว้ซึ่ง “ประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล” ได้ อาจจะดำรงอยู่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถหนีสัจธรรมแห่งโลก คือ “กฎแห่งกรรม” ได้ผลตามมา คือ ตก “จากตำแหน่ง” อำนาจ การสูญเสียทรัพย์ เกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากมาย

ผู้เขียนเองขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศที่มีสิทธิ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้ “สิทธิ” ของความเป็น “ประชาชนคนไทย” ร่วมมือร่วมใจ ไปลงคะแนนเสียงประชามติ ตัดสินใจด้วยตนเอง ด้วยวิจารณญาณเมื่อท่านได้อ่าน “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับเต็มแล้ว มี 2 ช่องเท่านั้น ด้วยการกากบาทลงในช่อง “รับ” หรือ “ไม่รับ” ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 16.00 น. ณ คูหา ตามที่ กกต.แต่ละจังหวัดแจ้งส่งไปยังบ้านท่าน อนาคตของประเทศไทยอยู่ที่ “ปลายปากกา” ของประชาชนทุกคนนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image