เก็บตกเลือกตั้งอเมริกา 2020 : สองนคราประชาธิปไตย และอนาคตของการเมืองแบบประนีประนอม

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นั้นใช้เวลายาวนานมากในการนับคะแนน และประกาศผลคะแนนเบื้องต้นได้ในรอบนี้ เรียกได้ว่าต้องรอจนกระทั่งคืนวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน กว่าที่สำนักข่าวต่างๆ จะกล้าประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

เป็นอันว่า โจ ไบเดน (Joseph Robinette Biden Jr.) อดีตวุฒิสมาชิกที่ครองตำแหน่งยาวนาน 36 ปีของมลรัฐเดลาแวร์ และรองประธานาธิบดีสองสมัยในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รับเลือกตั้งให้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนถัดไป และโดยกำหนดการแล้ว ไบเด็นจะเข้าพิธีสาบานตนเข้าสู่ตำแหน่งในเดือนมกราคม

ชัยชนะในรอบนี้ของไบเดนเป็นชัยชนะที่ไม่ได้ได้มาง่ายนัก และสำหรับผมเองก็เชื่อว่ามันเป็นเพียงแค่การถอยกลับจากความสุดโต่งของทรัมป์นิดหน่อย ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ประการแรก ชัยชนะรอบนี้ที่อธิบายง่ายที่สุดก็คือคะแนนจากไปรษณีย์ที่ท่วมท้นมหาศาลในรอบนี้เนื่องจากวิกฤตโควิดเป็นคุณกับไบเดนและเดโมแครตในภาพรวม เพราะหลายรัฐนั้นคะแนนการนับจากพื้นที่ทรัมป์จะชนะ แล้วมาถูกไบเดนไล่ตามและพลิกไปในที่สุด

Advertisement

ประการที่สอง ชัยชนะรอบนี้ถ้ามองในภาพรวม ไบเดนชนะจริงเพราะชนะทั้งในแง่ของมลรัฐ (ผ่านคณะผู้เลือกตั้ง electoral college) และชนะคะแนนรวมทั้งประเทศ (popular vote) ไม่เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมาที่ผู้ชนะศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นชนะจากคณะผู้เลือกตั้ง แต่ไม่ชนะผลคะแนนรวมทั้งประเทศ

ถ้าจะอธิบายระบบการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาอย่างง่าย ก็คงจะต้องบอกว่า มันเป็นระบบที่ไม่ได้เป็นระบบแบบบ้านเราที่นับเสียงทุกเสียง แต่เขานับเสียงผ่านตัวแทนมลรัฐ เพราะรากฐานเขาเป็นสหพันธรัฐ (federal system) ที่เกิดจากการรวมอาณานิคมย่อยๆ หรือมลรัฐร่วมกันประกาศเอกราชเหนืออังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมเดิม

Advertisement

ดังนั้น เมื่อเราไปเลือกตั้ง เราจะไปลงทะเบียนก่อนว่าเราจะไปเลือก แล้วเมื่อไปถึงคูหา (หรือส่งไปรษณีย์ไป) เราก็จะไปเลือกคณะผู้เลือกตั้งที่เขาจะไปทำหน้าที่แทนเรา ดังนั้น เมื่อคะแนนผู้เลือกตั้งออกมา ไปในทางใด ผู้สมัครประธานาธิบดีก็จะได้คะแนนเสียงทั้งมลรัฐนั้นเลย แม้จะชนะกันเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

นี่คือหัวใจสำคัญ และสีสันของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หมายถึงว่าการเมืองของสหรัฐนั้นยังมีมิติของการเมืองเชิงวัฒนธรรม ของพวกเขาอยู่ด้วย เราจะเห็นว่าในการประกาศตัวลงสมัคร หรือการหาเสียงนั้น บรรดาผู้สมัครประธานาธิบดีจะต้องลงไปหาเสียงในพื้นที่เล็กๆ ด้วย ไม่ใช่ที่มลรัฐใหญ่ๆ เท่านั้น

ในแง่นี้เราอาจจะมองให้ดีว่าการเลือกตั้งสหรัฐนั้นมีมลรัฐใหญ่ที่จะต้องกำชัยให้ได้แน่ๆ 4 รัฐ คือ แคลิฟอร์เนียทางตะวันตก (55 เก้าอี้ของคณะผู้เลือกตั้ง) เท็กซัสทางใต้ (38) นิวยอร์ก (29) และฟลอริดาทางตะวันออก (29) ซึ่งในมิตินี้เราจะพบว่าแคลิฟอร์เนียกับนิวยอร์กมักจะไปในทางเดโมแครต ดังนั้น รีพับลิกันจึงต้องทำยังไงก็ได้ที่จะไม่ต้องเสียในส่วนนี้ไป

มลรัฐที่น่าสนใจต่อมาก็คือ มลรัฐที่มีเสียงระดับกลางๆ คือ 10-20 คนของคณะผู้เลือกตั้ง ในรอบที่แล้วที่ทรัมป์ชนะและในรอบนี้ที่ทรัมป์แพ้ก็คือการพลิกผันในคะแนนของรัฐเหล่านี้แหละครับ ไม่ว่าจะเป็น วิสคอนซิน (10) มิชิแกน (16) และเพนซิลเวเนีย (20) ในรอบนี้พูดง่ายๆ คือตะปูตัวสุดท้ายที่ตอกย้ำความพ่ายแพ้ของทรัมป์คือ เพนซินเวเนีย ที่ทรัมป์นำในตอนแรก และวิสคอนซิน กับมิชิแกน โดยวิสคอนซินและมิชิแกนนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่าพวกตอนกลางของประเทศ มีปัญหามากมายคืออุตสาหกรรมหนักของประเทศถดถอย ความเหลื่อมล้ำยากจนเพิ่มขึ้นในสมัยโอบามา ตอนนั้นเลยสะวิงไปทางทรัมป์ นอกจากนี้ แอริโซนา (11) ก็พลิกกลับมาที่ไบเดนในรอบนี้

ประการที่สาม การเลือกตั้งในรอบนี้จะพบว่า “สองนคราประชาธิปไตย” ของอเมริกาก็ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่สองนคราประชาธิปไตยของอเมริกามีลักษณะที่สลับซับซ้อนอยู่มาก

1.พื้นที่ทางตะวันออกและตะวันตกของประเทศ คือฝั่งแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน และฝั่งตะวันออก คือเพนซินเวเนีย นิวยอร์ก และมลรัฐที่เรียกว่า “นิวอิงแลนด์” เลือกไบเดน แต่รัฐตรงกลางๆ และทางใต้ ที่มีความเป็นเกษตรสูงกว่าเลือกไบเดน

2.สองนคราประชาธิปไตยอเมริกายังเกี่ยวพันกับเรื่องของพื้นที่เมืองกับชนบทในมล
รัฐด้วย เมื่อเราพิจารณาคะแนนระดับมลรัฐเอง ส่วนมากแล้วพื้นที่เมืองของมลรัฐนั้นจะเลือกไบเดน/เดโมแครต และพื้นที่ชนบทจะเลือกทรัมป์/รีพับลิกัน นอกจากนั้นพัฒนาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งในรอบนี้คือ พื้นที่ชานเมืองนั้นหันมาเลือกไบเดนอย่างมาก จากข้อมูลคือไบเดนได้คะแนนพื้นที่ชานเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิง มากกว่าสมัยฮิลลารี และการได้คะแนนชานเมือง โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิงชานเมือง (แม่ของลูกตัวน้อยทั้งหลาย) เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ได้ชัยชนะใน เพนซินเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน และจอร์เจีย กับแอริโซนา แบบหืดขึ้นคอ

นอกจากนี้แล้ว โดยแนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีนั้น ตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองในพื้นที่ที่เคยเป็นฐานเสียงของรีพับลิกันก็กลายเป็นเดโมแครตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

3.สองนคราประชาธิปไตยในอเมริกานั้นยังเกี่ยวพันกับผิวสีอยู่มาก นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและเพศสภาพ ประเด็นในรอบนี้ที่สำคัญก็คือเรื่องของผิวสีด้วย โดยเฉพาะเรื่องของกรณีจอร์จ ฟลอย ที่นำไปสู่การปะทุ/ปะทะของความขัดแย้งทางสีผิวที่แอบซ่อนมานาน แต่ความซับซ้อนในเรื่องนี้ก็คือ คนผิวสีจำนวนไม่น้อยก็ยังเลือกทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าพวกเขาได้พ้นจากความเป็นผิวสีทางลบ คือพวกเขาดิ้นรนหลุดพ้นจากสภาพเดิมของพวกเขาได้ในกติกาที่เป็นอยู่ ดังนั้น กติกานี้จึงเป็นสิ่งที่รับได้ ไม่ควรต้องไปเปลี่ยนอะไรมากนัก และพวกผิวสีที่ดิ้นรนไม่สำเร็จพวกพวกนั้นก็ไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือมากนัก เพราะการช่วยเหลือย่อมมาจากภาษีของพวกเขา และเป็นภาระของพวกเขาที่จะต้องดูแลคนกลุ่มนี้

ชายแต่งกายคล้ายอับบราฮัม ลินคอร์น ก็มา / AFP

ประการที่สี่ โดยภาพรวมแล้ว เรื่องสำคัญที่กำหนดประเด็นข้อถกเถียงและเหตุผลในการเลือกในรอบนี้ก็คือเรื่องของนโยบายการจัดการโควิด การจัดการเศรษฐกิจในยุคโควิด สีผิว และนโยบายต่างประเทศ แต่ต่อให้เราเห็นว่าทรัมป์นั้นออกจะหลุดโลกและสุดโต่ง คะแนนของทรัมป์คือ ร้อยละ 47.7 และไบเดนที่ชนะนี่คือ 50.6 (ตัวเลขอาจขยับอีกนิดหน่อย) นั่นหมายความว่า ไบเดนเองนี่ได้ใจของคนอเมริกาแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น และทรัมป์ก็เกือบชนะเช่นกัน

พูดง่ายๆ ก็คือ นี่คือการประนีประนอมขั้นสูงสุดแล้ว ก็ยังได้อยู่แค่นี้ ตัวไบเดนเองแทบจะไม่มีความโดดเด่นอะไรมาก แม้ว่าจะชูธงเรื่องการประนีประนอม นั่นหมายความอีกอย่างว่าไบเดนนั้นได้มาเพราะคนจำนวนหนึ่งที่เลือกทรัมป์ถอยออกมา แต่ก็นิดเดียว และอาจจะแพ้ได้ เมื่อดูคะแนนในวุฒิสภาเองก็แทบจะอยู่พอดีๆ กัน

ไบเดนนั้นเป็นคนที่อยู่ในระบบการเมืองอเมริกันมานาน เขาเป็นวุฒิสมาชิกในมลรัฐเล็กๆ คือเดลาแวร์ตั้งแต่อายุ 29 จนกระทั่งออกมาเป็นรองประธานาธิบดีให้โอบามา

ในมุมนี้สำหรับคนที่คุ้นเคยกับการเมืองวัฒนธรรมของอเมริกัน ไบเดนนี่คือสะท้อนความเป็นระบบการเมืองแบบอเมริกันแบบดั้งเดิม คือเป็นคนที่คร่ำหวอดในวงการ เดินสายกลางๆ ประนีประนอมกับทุกฝ่าย มาจากมลรัฐเล็กที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งประเทศใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา

สีสันของไบเดนในรอบนี้ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเลือก กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ซึ่งเป็นสตรีชาวผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ กมลา เป็นวุฒิสมาชิกของแคลิฟอร์เนียแบบป้ายแดง เพิ่งชนะเข้ามาเมื่อสองปีกว่าๆ ก่อนหน้านั้นเป็นอัยการในอำเภออาลาเมดา อำเภอซานฟรานซิสโก และเมืองซานฟรานซิสโก ว่าไปแล้ว ไบเดนก็เหมือนกับจะมาแนวเดิมคือ มีโอบามาอีกคนหนึ่งมาพ่วงคะแนนครับ แต่รอบนี้หนักกว่ามาก เพราะแม้ว่ากมลาจะไม่ได้แรงขนาดแซนเดอร์ และวอร์เรน แต่กมลานี่เคยตอกลุงโจหน้าหงายมาแล้วในช่วงไพรมารี ของเดโมแครตสมัยยังแข่งกันรับการเสนอชื่อจากพรรค แต่สุดท้ายลุงโจก็เลือกกมลามาเป็นทีมเพื่อลงสมัครประธานาธิบดีแข่งกับทรัมป์ แล้วก็ไปซัดกับลุงเพนซ์ในดีเบตรองประธานาธิบดี

แฟ้มภาพรอยเตอร์

อีกมิติที่สำคัญในรอบนี้ก็คือ โควิดที่ทำให้ไบเดนนั้นไม่ต้องหาเสียงมาก พูดมากก็พลาดมาก เหมือนกับที่แกเคยพลาดมาหลายครั้งสมัยเสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดี รอบนี้ก็เกือบไปแล้วเหมือนกันในโค้งสุดท้าย และที่สำคัญไบเดนนี่แกถือไพ่ว่าคะแนนเสียงในรอบนี้คือใครก็ได้ที่ไม่ใช่ทรัมป์

ความประนีประนอมของไบเดนอยู่ที่การไม่เน้นไปที่การเพิ่มระบบประกันสุขภาพ ไม่ส่งเสริมค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่เก็บภาษีมาก นี่คือจุดที่ทำให้ฝ่ายที่เลือกรีพับลิกันสบายใจ พูดง่ายๆ คือ ไม่เอาฝ่ายซ้ายในพรรค และไม่ก้าวล่วงสถาบันแห่งเสรีภาพการแสวงหาความมั่งคั่งในอเมริกามากนัก รวมทั้งกมลาเองก็ไม่ใช่สายโหดมากในพรรคถ้าเทียบกับพวกแซนเดอร์ กับวอร์เรน แต่กระนั้นก็ยังคงพยายามประนีประนอมกับฝ่ายก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่ในเรื่องของการส่งเสริมเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน พูดง่ายๆ ก็คือ แม้การเมืองเรื่องรัฐสวัสดิการอาจไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่จะสะท้อนความก้าวหน้าของไบเดน แต่อย่างน้อยการเมืองเรื่องพลังงานสะอาดก็ยังคงเป็นส่วนที่ยังพอจะยึดโยงเอาฝ่ายก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่ของอเมริกาเอาไว้ได้บ้าง

แต่กระนั้นก็ดีผมคิดว่าระบบการเมืองอเมริกัน แม้จะทำให้ทรัมป์หลุดออกไปได้ แต่ฐานเสียงของทรัมป์นั้นยังแน่นหนามาก และยังทำให้การขยับของสังคมไปในระดับก้าวหน้านั้นเป็นไปได้ยาก จนถึงวันนี้ก็คือการกลับมาสู่จุดกลางๆ ในแง่นี้ผมจึงไม่ได้รู้สึกว่าการวิเคราะห์ว่าท่าทีของอเมริกาที่มีต่อไทยจะเปลี่ยนอะไรไปมาก เพราะเงื่อนไขท่าทีที่อเมริกาจะมีต่อไทยนั้นมันขึ้นกับระดับประชาธิปไตยและเสรีภาพของไทยเอง และความเกี่ยวโยงของไทยกับจีนที่เป็นคู่แข่งสำคัญทางอำนาจในทุกด้านของสหรัฐอเมริกาต่างหาก

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image