วิธีเลิกสูบบุหรี่ตามแบบ อีวาน ปาฟลอฟ (Ivan Pavlov)

เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ มีการจัดงานสังสรรค์ของศิษย์เก่าโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยและศิษย์เก่าโรงเรียนสุรนารีรุ่นปีการศึกษา 2506 ที่ กทม. มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่าแปดสิบคน ซึ่งสิริรวมอายุกันทั้งหมดแล้วก็ร่วม 5,600 กว่าปี อายุเฉลี่ย 69-70 ปี นอกจากนี้ ยังมีคุณครู 4 ท่านที่อายุเฉลี่ย 80 ปีเศษ ทุกท่านกรุณามาร่วมงานด้วยเป็นสิริมงคลแก่บรรดาลูกศิษย์แก่ๆ ทั้งปวง

ในขณะที่สังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน ระลึกถึงวันเวลาเก่าๆ ผู้เขียนสังเกตเห็นเพื่อนเก่า 2-3 คน มักเลี่ยงออกไปข้างนอกเป็นระยะๆ แล้วก็กลับเข้ามารวมกลุ่มกันอีก จึงสอบถามไปด้วยความเป็นห่วงว่ามีปัญหาทางสุขภาพอะไรหรือเปล่า? แต่ได้รับคำตอบมาว่าออกไปสูบบุหรี่เพราะงานสังสรรค์จัดในห้องปรับอากาศจึงสูบบุหรี่ในห้องสังสรรค์ไม่ได้ ผู้เขียนจึงถามว่าปัจจุบันนี้ราคาบุหรี่ซองละเท่าไร เพราะจำได้ว่าว่าเมื่อสมัยก่อนตอนที่พวกเรายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมบุหรี่ ราคาซองละ 3.50 บาท และบุหรี่ที่มีก้นกรองราคาซองละ 5 บาท

ครับ ! จากปากคำของเพื่อนก็คือ เขาสูบบุหรี่ซองละ 125 บาท แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรนักเพราะก็พอมีเงินเอาไปเผาเป็นควันเข้าไปทำร้ายอวัยวะภายในของตัวเองมาตั้ง 50-60 ปี จนอายุร่วม 70 ปีแล้วก็ไม่ได้จะเลิกสูบบุหรี่แต่อย่างใด แม้ว่าภายในใจก็อยากจะเลิกสูบบุหรี่นะครับ เนื่องจากคนในครอบครัวรังเกียจ เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่ โดยที่ตัวเองไม่ได้สูบนั้นมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนสูบบุหรี่เองเสียอีก ซึ่งในครอบครัวของคนสูบบุหรี่ก็คือลูกเมียและหลานตัวน้อยๆ นั่นเอง

ดังนั้น เรื่องการสนทนาจึงกลายเป็นเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งก็แปลกที่ใครต่อใครในกลุ่มหันมากะเกณฑ์ให้ผู้เขียนบอกวิธีเลิกบุหรี่ให้เพื่อนขี้ยา 2-3 คนให้ที โดยอ้างว่าผู้เขียนในอดีตก็สูบบุหรี่จัดแต่ก็เลิกได้เด็ดขาดไปร่วม 30 ปีแล้ว ซึ่งผู้เขียนได้ออกตัวว่าการเลิกสูบบุหรี่ของผู้เขียนนั้นเป็นเรื่อง “ระบบทับพฤติกรรม” เสียมากกว่าและการเข้าสู่ระบบนี้เป็นไปตามทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) ของอีวาน

Advertisement

ปาฟลอฟ นักจิตวิทยาและสรีรวิทยาชาวรัสเซีย ซึ่งคนที่เรียนวิชาจิตวิทยาต้องรู้จักทุกคน

ผู้เขียนเมื่อตอนเรียนเรื่องทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิมในวิชาจิตวิทยาก็รู้สึกขำๆ ว่า นายอีวาน ปาฟลอฟ ออกจะเป็นคนตลกๆ ที่ทำการทดลองโดยจับสุนัขมาขังไว้ และก่อนจะให้อาหารสุนัขทุกครั้ง อีวาน ปาฟลอฟ ก็จะสั่นกระดิ่งแล้วจึงให้อาหารสุนัข ซึ่งคนที่เลี้ยงสุนัขคงทราบดีเมื่อสุนัขจะได้กินอาหารนั้นสุนัขทุกตัวจะมีน้ำลายไหลออกมา

การทดลองของปาฟลอฟคือการทำให้เสียงกระดิ่งนั้นเป็นเงื่อนไขให้สุนัขรู้ว่าจะได้กินอาหาร ซึ่งเมื่อทำการทดลองได้ระยะหนึ่งจนสุนัขเคยชินกับระบบเสียงกระดิ่งก่อนที่จะได้กินอาหารจนกระทั่งเมื่อมีการสั่นกระดิ่งเมื่อใดสุนัขตัวที่ถูกขังทดลองตัวนั้นก็จะน้ำลายไหลออกมาทุกครั้งโดยไม่จำเป็นว่าจะได้กินอาหารจริงๆ แบบว่าคนสามารถควบคุมพฤติกรรมของสุนัขได้ด้วยการสั่นกระดิ่งเพื่อทำให้สุนัขที่ถูกฝึกมาดีแล้วน้ำลายไหลได้ทุกเวลา ซึ่งทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับในวงกว้างทั่วไปและมีการอ้างอิงถึงทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิมของปาฟลอฟกันอย่างกว้างขวาง

Advertisement

act02100859p2

สุนัขสต๊าฟตัวหนึ่งที่ผ่านการทดลองทฤษฎีของปาฟลอฟ

ผู้เขียนได้อ้างอิงทฤษฎีของปาฟลอฟในเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ของผู้เขียนเมื่อ พ.ศ.2532 กล่าวคือ ผู้เขียนได้เข้ารับการอบรมในวิทยาลัยการทัพเรือรุ่น 23 เป็นเวลาร่วมปีในกองบัญชาการกองทัพเรือในพระราชวังเดิม ซึ่งในการอบรมนี้จะมีออดเสียงเป็นสัญญาณการเข้าห้องบรรยาย ออดเสียงให้สัญญาณพักระหว่างชั่วโมง ตลอดจนออดเสียงสัญญาณจบการบรรยาย ซึ่งจากออดเสียงพักระหว่างชั่วโมงนี้เป็นสัญญาณที่ผู้เขียนกับบรรดานักสูบบุหรี่ทั้งจะมารวมกลุ่มกันที่ระเบียงเพื่อสูบบุหรี่กันเป็นงานมหกรรมทุกช่วงเวลาพัก แบบว่าออดเสียงสัญญาณพักระหว่างชั่วโมงคือสัญญาณการสูบบุหรี่ซึ่งผู้เขียนเกิดความเคยชินอยู่ร่วมปี

ครั้นผู้เขียนจบการอบรมจากวิทยาลัยการทัพเรือและกลับเข้าไปสอนหนังสือตามเดิมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยไม่มีออดเสียงสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อไม่มีออดเสียงสัญญาณผู้เขียนก็เลยลืมสูบบุหรี่ไปเลยโดยอัตโนมัติ เมื่อผ่านไป 3-4 วัน ผู้เขียนก็เลยเลิกสูบหรี่โดยเด็ดขาดตั้งแต่นั้นมา เรียกได้ว่าเลิกสูบบุหรี่ได้โดยความประมาทแท้ๆ

เมื่อผู้เขียนเล่าความจริงเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ประกอบกับทฤษฎีของปาฟลอฟให้บรรดาเพื่อนเก่าฟังแล้วก็ถูกติฉินจากบรรดาเพื่อนๆ ที่กล่าวหาว่าผู้เขียนปล่อยมุขพูดเล่นในเรื่องที่เพื่อนขอให้ช่วยแก้ปัญหาการติดบุหรี่ให้ ถึงแม้จะยืนยันว่าประสบกาณ์ที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังนั้นเป็นเรื่องจริงทุกประการก็ตาม ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ แม้กระทั่งเรื่องการลงประชามติเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้วนั้น ก็ยังมีเพื่อนเก่า 2-3 คนโทรศัพท์สัพยอกผู้เขียนว่า ผลการลงประชามติที่ทราบกันแล้วนั้นสามารถอธิบายตามทฤษฎีของปาฟลอฟได้หรือไม่ ?

ผู้เขียนได้ยืนยันไปอย่างหนักแน่นว่า “ได้ครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image