สรุปบทเรียน โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผู้ใช้สิทธิให้ความเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ ทั้งตัวร่างและคำถามพ่วง เป็นคำตอบยืนยันว่าการบริหารจัดการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังทรงอิทธิพลและทำงานได้ผล

เพิ่มความชอบธรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติและแม่น้ำอีก 4 สายในการจัดการประเทศต่อไปตามวันเวลาที่กำหนด จนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่และต่อจากนั้น

ผลที่ออกมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ไม่ว่าใคร ฝ่ายไหนจะพอใจหรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับว่านี่คือเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องให้ความเคารพ

ผู้ให้ความเห็นชอบด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปก็ตาม เพราะต้องการเห็นความสงบ เบื่อหน่ายนักการเมืองและพรรคการเมือง กลัวผีทักษิณ ชอบศรัทธา คสช. หรือต้องการให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมป ซึ่งประการหลังนี้ คสช.และรัฐบาลยืนยันชัดเจน รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านการรับรองก็จะจัดเลือกตั้งตามเวลาที่ให้สัญญาไว้

Advertisement

ไม่ว่าการตัดสินใจของผู้ลงประชามติจะเป็นด้วยเหตุผลข้อใดดังที่กล่าวมาก็ตาม โดยเนื้อหาสาระแล้วสะท้อนว่าผู้ให้ความเห็นชอบเห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตยในกำกับ ในห้วงเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากนี้

คิดว่าประชาธิปไตยในกำกับจะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปได้ดีกว่าปล่อยให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนแสดงเองโดยลำพัง

ประเด็นมีว่า บทบาทระหว่างตัวแสดงที่จะได้มาภายหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับผู้กำกับจะไปด้วยกันอย่างไร ทำให้เกิดสมดุลระหว่างเลือกตั้งกับแต่งตั้งได้หรือไม่ หรือจะเกิดสภาพรัฐบาลเป็ดง่อย นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นจนเกิดความรุนแรงตามมา

Advertisement

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นตัวชี้ว่าแนวทางตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประชาธิปไตยในกำกับ กับความเป็นจริงแห่งยุคสมัยนี้สอดคล้อง ไปด้วยกันได้จริงหรือไม่

สังคมไทยกำลังเริ่มต้นบททดลองทางการเมืองเก่าหรือใหม่ก็ตาม อีกครั้ง

เมื่อผลการลงประชามติออกมาเช่นนี้ เมื่อป่าวประกาศความเชื่อมั่นในประชาชนว่ามีความคิด มีสำนึกแห่งความถูกต้อง จึงต้องให้โอกาสทุกคนรับบทเรียนจากการตัดสินใจร่วมกัน

ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของคนไทยและสังคมไทย

อย่างน้อยที่สุดช่วยปลุกเร้าความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คน ให้สนใจปัญหาและอนาคตของสังคมโดยรวมมากขึ้น ขณะเดียวกันเพิ่มความเคยชินและความเข้าใจเรื่องการลงประชามติจากที่ผ่านมา

แม้ว่าในอดีตการลงประชามติจะเคยมีมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังเป็นกระบวนการทางการเมืองที่สังคมไทยไม่คุ้นชินเท่าที่ควร เพราะไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นเหตุการณ์ปกติ

ขณะที่ในหลายประเทศที่การเมืองเป็นประชาธิปไตย มาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิด ด้วยการลงประชามติเกิดขึ้นบ่อย ทั้งในประเด็นระดับภาพรวมของประเทศ และในประเด็นระดับรองลงไปซึ่งสังคมไทยแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย

การลงประชามติในครั้งนี้ เกิดข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการทำประชามติที่ควรจะเป็นยิ่งกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา

สาเหตุเพราะการออกกฎหมายการลงประชามติบังคับใช้อย่างเข้มงวด ขณะที่การปิดกั้นการแสดงออกของฝ่ายคัดค้านเป็นไปอย่างเข้มข้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนของทุกฝ่าย ควรใช้โอกาสที่ผ่านมาทำให้การลงประชามติเป็นกระบวนการทางการเมืองปกติ ภายใต้บรรยากาศที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์ ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาของสังคมให้มากขึ้น

สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้าภายหลังการลงประชามติในครั้งนี้ มีคำถามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการลงประชามติว่าการเมืองไทยหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

โครงสร้างทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ บทบาทอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังดำรงอยู่ต่อไป โดยแสดงผ่านตัวแทนที่จะได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิก 250 คน มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและกำกับรัฐบาลให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาถูกเรียกร้องการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกว้างขวาง

ฉะนั้นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปจึงขึ้นอยู่กับการแปลความเจตจำนงของประชาชนในการลงประชามติครั้งนี้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไร

สรุปบทเรียนการใช้อำนาจ ท่าทีที่แสดงออก ลดบรรยากาศแห่งความกลัว ความไม่ปลอดภัย ไม่เลือกปฏิบัติ และเปิดช่องให้ความเห็นต่างมีช่องทางแสดงออกมากกว่าที่ผ่านมาเพียงไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image