กรณี ไพบูลย์ สยอง สนธิกับ เสียว ย่อม “เสยียว”

ความพยายามขยายผลจากจำนวน 15 ล้านเสียงที่ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ โดยการประกาศจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

เริ่มมี “ความหวาดเสียว”

ไม่ใช่หวาดเสียวเพราะการออกมา “ปฏิเสธ” อย่างน้อยก็จาก 1 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ 1 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

หากแต่ “หวาดเสียว” จากมุมมอง และ “การวิเคราะห์”

Advertisement

โดยเฉพาะบทสรุปอันรวบรัดยิ่งจาก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ที่ว่า “การเสนอประเด็นนี้อาจจะเกิดความเคลือบแคลงสงสัย”

มากด้วยความ “ละเอียดอ่อน”

1 เป็นความละเอียดอ่อนต่อการตีความประชามติ “รัฐธรรมนูญ” 1 เป็นความละเอียดอ่อนต่อสถานะและการดำรงอยู่ของ “คสช.”

Advertisement

กระหึ่มแห่งเสียง “สืบทอดอำนาจ” เริ่มมี “ความเด่นชัด”

ประการสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ มิได้เด่นชัดในเชิง “วาทกรรม” และการกล่าวหา หากเป็นความเด่นชัดอันมี “รูปธรรม” รองรับ

จึงต้อง “หวาดเสียว” แทนนายไพบูลย์ นิติตะวัน

 

ต้องยอมรับว่า บทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก็อีหรอบเดียวกันกับบทบาทของ นายวันชัย สอนศิริ และบทบาทของ นายเสรี สุวรรณภานนท์

เรียกตามสำนวนลาวก็ต้องว่า “ลูกแหล่ง ตีนมือ”

เห็นได้จาก การชงและเดินเรื่องอันเกี่ยวกับ “รถโบราณ” ซึ่งจอดนิ่งสนิทอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เป็นการชงเรื่องให้ “ดีเอสไอ” ไป “ขยายผล”

ขยายผลทำให้มติของมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเดือนมกราคมที่ให้เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

มีอันต้อง “สะดุด” กลายเป็นเรื่องยาวมากระทั่งถึงเดือนสิงหาคม

เห็นได้จากการชงเรื่องและเดินเรื่องกล่าวหาต่อ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในเรื่องอาบัติ ปาราชิกและข้องแวะอยู่กับคดีความ

เป็นการชงเรื่องให้ “ดีเอสไอ” ไป “ขยายผล”

ขยายผลกระทั่งมีการออก “หมายเรียก” และพัฒนาไปสู่การออก “หมายจับ” และความพยายามในการรุกเข้าไปภายในวัดพระธรรมกาย ส่งผลให้เรื่องของวัดพระธรรมกายกับเรื่องของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ดำรงอยู่ในลักษณะของคนละเรื่องเดียวกัน

นี่คือผลงานของนายไพบูลย์ นิติตะวัน

 

ความเสียวอย่างยิ่งในความพยายามที่จะพัฒนาและต่อยอด “ประชามติ” ไปสู่การจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปนั้นเกิดขึ้นภายในจุดอ่อนและช่องโหว่หลายประการ

1 การเอ่ยชื่อบุคคลที่ต้องการให้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ตามรัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติว่าสามารถเสนอชื่อได้ 3 ชื่อ แต่มีเงื่อนไขกำหนดด้วยว่า จะต้องได้รับความยินยอมจาก “เจ้าตัว”

คำถามก็คือ ชื่อที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ปรารถนานั้น “ยินยอม” หรือไม่

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญการเสนอชื่อจะทรงความหมายก็เมื่อพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกเข้ามาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส.

นั่นก็คือ ไม่น้อยกว่า 25 คน

คำถามก็คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน มั่นใจหรือไม่ว่าพรรคประชาชนปฏิรูปจะได้รับเลือกจากประชาชนเข้ามาไม่น้อยกว่า 25 คน

เพียงแค่นึกก็ “สยอง” อย่างยิ่งแล้ว

ประเด็นอยู่ที่ว่า อาการสยองมิได้บังเกิดแก่ประชาชนโดยทั่วไป หากกระทั่งเจ้าตัวที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาชูเป็น “โลโก้” เรียกแขกนั้นจะเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยหรือไม่

เมื่อสยองมาสนธิเข้ากับเสียวย่อมกลายเป็น “เสยียว”

นับจากนี้เป็นต้นไปกระทั่งมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะยิ่งมากด้วยความระทึกเป็นอย่างสูง

 

บทสรุปอันเป็น “ข้อสังเกต” ด้วยท่วงทำนองของทหารของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา จึงไม่ควรมองข้าม

ท่านเคยเป็น “แม่ทัพภาคที่ 1” ท่านเคยเป็น “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก” และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “มวยหลัก”

“การเสนอประเด็นนี้อาจเกิดความเคลือบแคลง สงสัย”

นั่นก็คือ สงสัยต่อ “รัฐธรรมนูญ” นั่นก็คือ เคลือบแคลงต่อ “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image