ถ้าชีวิตคือเรื่องเล่า เราจะเชื่อเรื่องไหนดี

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้ผ่านไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ผมได้อ่านเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อธิบายผลการเลือกตั้งว่า “ประชาชนกลัวการพรากความรัก ความเมตตา … ความเป็นมนุษย์ … ความสำนึกรักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไปจากสังคมไทย” ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าจึงไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. สักคนเดียว นัยที่ต้องการสื่อคือ คณะก้าวหน้าถูกปฏิเสธ เพราะสนับสนุนการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่หวังจะพราก “สิ่งที่ดี” ไปจากสังคม การปฏิเสธคณะก้าวหน้าหมายถึงการปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มของคนรุ่นใหม่ดังกล่าว ส่วนผมสงสัยว่า จริงหรือที่คนรุ่นใหม่ต้องการพราก “สิ่งที่ดี” เหล่านั้น

เรื่องเล่าจากคณะก้าวหน้าเองคือคำกล่าวขอโทษที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. ในจังหวัดใดเลยจาก 42 จังหวัดที่ลงสมัคร แต่กระนั้น คณะก้าวหน้าได้รับคะแนนรวมทั้งหมด 2.6 ล้านคะแนน และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกสภา อบจ. ได้รับเลือกตั้ง 55 คนใน 18 จังหวัด คณะก้าวหน้าจึงจะทำงานการเมืองในระดับพื้นฐาน คือระดับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่อไป

เรื่องเล่าจากคอลัมน์ประจำของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งสรุปได้ดังนี้ กำแพง “บ้านใหญ่” ยังแน่นปึ๊ก … ทีมสีส้มของคณะก้าวหน้าหลุดเป้า ทำได้เพียงเขย่าโรงพิมพ์แบ็งค์ “บ้านใหญ่” พลังคนรุ่นใหม่ยังไม่แรงพอที่จะเจาะด่านธรรมชาติของการเมืองระดับท้องถิ่น ระบบอุปถัมภ์ยังครองสังคมต่างจังหวัด เครือข่าย “หัวคะแนน” ยังทรงอิทธิพล เหล่านี้มีผลต่อฐานการเมืองของนักเลือกตั้ง “ขาใหญ่” ในพื้นที่ แต่นั่นไม่เท่ากับปัจจัยสนับสนุนทั้งเสบียงกรัง อิทธิพลอำนาจมืด และอำนาจรัฐ เรื่องเล่าเรื่องหลังนี้คงไม่ถูกใจคนที่เล่าเรื่องแรกข้างต้น เพราะอภิปรายผลการเลือกตั้งกันไปคนละทาง

ผู้อ่านจะคล้อยตามเรื่องเล่าเรื่องใดดี

Advertisement

อันที่จริงเรื่องเล่านั้นเล่ากันมาตลอดที่มนุษย์ได้มีการสื่อสารกัน ในสมัยดึกดำบรรพ์ เรื่องเล่าหรือกระบวนทัศน์หลักได้แก่การเล่าว่าโลกไม่มีกฎ ทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัยของเบื้องบน แต่น้ำพระทัยของเบื้องบนเองก็ไม่มีกฎ ผู้ถือกระบวนทัศน์แบบนี้หากมีคัมภีร์หรือตำราให้อ่านก็คงตีความตามตัวอักษร หรืออาจเปลี่ยนแปลงข้อความในคัมภีร์ไปตามแต่ใจ ความหมายขัดแย้งไม่ถือว่าสำคัญ ข้อความบางข้อความอาจจะมีมนต์ขลัง เป็นคาถาอาคม ถ้าไม่ถือคัมภีร์ก็ถือเรื่องผีหรือจิตวิญญาณ จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่มีอยู่ทุกแห่งหรือในทุกปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ในเวลาต่อมา เรื่องเล่าหลักจะเปลี่ยนเป็นตรงหันข้าม คนในยุคนี้กลับเล่าว่าเอกภพมีกฎตายตัว มีกฎนิรันดร ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงกฎของเอกภพได้ด้วยตนเอง ในยุคนี้จึงมีเจ้าสำนักเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด ใครอยากได้ความจริงต้องไปฝึกฝนกับเจ้าสำนักที่ตนพอใจ และหันหลังให้เจ้าสำนักอื่น ๆ ทั้งหมด

ผู้ถือกระบวนทัศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความก็จะยึดหลักการตีความของเจ้าสำนักเป็นหลัก ใครเป็นศิษย์หลายสำนักถือว่าเลวมาก ถูกตำหนิว่าเหยียบเรือสองแคม คบไม่ได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากขาดข้อพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ และขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้จึงไม่ก้าวหน้าและอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ไม่ดีพอ

Advertisement

ต่อมาเรื่องเล่าหลักได้ย้อนกลับไปยังน้ำพระทัยเบื้องบน และมองว่าชีวิตในโลกให้ได้แต่เพียงความสุขเจือความทุกข์ ความสุขในโลกหน้าต่างหากที่เที่ยงแท้ถาวร คนจำนวนมากจึงยินดีทำทุกอย่างเพื่อโลกหน้าตามที่ศาสดาสอน ผู้ถือกระบวนทัศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะคล้อยตามคำสอนของศาสดาหรือของผู้สืบทอด

มาถึงยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะเชื่อในความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเหตุผล

ผู้ถือกระบวนทัศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็จะตีความให้สอดคล้องกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หากเรื่องใดตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้จริง ๆ ก็จะอธิบายว่าเป็นเรื่องที่พระเจ้าแทรกไว้ในคัมภีร์เพื่อทดลองความเชื่อและความศรัทธาในพระองค์

กระบวนทัศน์หรือความเชื่อยุคปัจจุบันก็ไม่เที่ยง บ้างวนกลับไปสงสัยในสัจธรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่รู้ได้ด้วยกฎตรรกะและกฎคณิตศาสตร์ ผู้คนจำนวนมากเห็นว่าสัจธรรมรู้ได้ด้วยการหยั่งรู้ ด้วยฌาณ ฯลฯ มากกว่าด้วยตรรกะ ผู้ที่เชื่อเช่นนี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็มีแนวโน้มที่จะตีความแบบพหุนิยม ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีที่สุด อีกทั้งยึดถือนโยบายเปิดรับความรู้ให้กว้างที่สุด (Reread all, Reject none)

ที่เล่ามาข้างต้น แสดงการเปลี่ยนไปมาหรือบางทีก็ผสมผสานกันระหว่างเรื่องเล่าในแต่ละยุคสมัย บางยุคสมัยเน้นการถือโชคลาง บา

ยุคยึดถือวิทยาศาสตร์ และบางยุคถืออะไรก็ได้ที่ยังประโยชน์ เกี่ยวกับยุคสมัยและเรื่องเล่านั้น ผมอยากแนะนำให้อ่านหนังสือ 3 เล่มที่เขียนโดยนักเขียนชาวอิสราเอล ชื่อ ยูวัล โนอาห์ ฮารารี เล่มแรกเขาเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ชื่อเรื่องว่า Sapiens (แปลว่าผู้ฉลาด) เล่มที่สองเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ ชื่อเรื่องว่า Homo Deus (แปลว่ามนุษย์พระเจ้า) และเล่มที่สามเกี่ยวกับ 21 บทเรียนสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 (21 Lessons for the 21th Century) ทั้งสามเล่มมีเรื่องเล่าที่ผู้เขียนเก็บรวบรวมมา หรือแต่งเองก็มาก

เพื่อให้เข้ากับบริบทการเมืองของยุคสมัย ขอนำความในบทที่ 20 ของหนังสือเล่มที่สามมาย่อสู่กันฟังสักเล็กน้อย บทนี้มีชื่อว่า “ความหมาย: ชีวิตไม่ใช่เรื่องเล่า” (ดูจะย้อนแย้งกับบทความนี้เลยทีเดียว) ฮารารียกเรื่องภควัทคีตามาเล่าเพื่อบอกว่า คนเราเกิดมาเพื่อทำตามหน้าที่ ยกเรื่อง The Lion King มาเพื่อย้ำว่าซิมบาได้เรียนรู้ความหมายแห่งชีวิตโดยกลับมาทวงความยุติธรรมจากลุงที่ฆ่าพ่อ และสืบทอดหน้าที่เจ้าแห่งสรรพสัตว์ให้แก่ลูกเพื่อทำให้วัฏจักรแห่งชีวิตสืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด

เรื่องเล่าทางวักรวาลวิทยาบางเรื่องกลับเป็นเชิงเส้น ไม่เป็นวัฏจักร เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับคนดีที่ตายแล้วจะตรงขึ้นสู่สวรรค์ ส่วนนรกมีไว้สำหรับคนชั่ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของชาวยิวสมัยพระเจ้าซาโลมอน การอพยพลี้ภัยและตกระกำลำบากบนเส้นทางอันยาวนานกว่าสองพันปีของชาวยิวที่มาถึงจุดต่ำสุดที่ค่ายกักกันของนาซี ก่อนที่จะได้ครอบครองดินแดนแห่งพันธะสัญญา ดินแดนแห่งสันติภาพ และจะได้เป็นประทีปแห่งจิตวิญญาณของโลก

เรื่องเล่าทางการเมืองก็มี เช่น เรื่องเล่าของขงจื้อที่ว่าการยึดมั่นในคุณธรรม จารีตประเพณี และมารยาทอันดีงาม จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เรื่องเล่าของคอมมิวนิสต์เกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างกระฎุมพีกับชนชั้นกรรมาชีพ ที่ควรจะลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายหลังในการสร้างสวรรค์แห่งความเสมอภาคให้เกิดขึ้นบนแดนดิน เรื่องเล่าเกี่ยวกับธงไตรรงค์ (tiranga) ของอินเดียที่แสดงถึงความหวังและปณิธานของชาวอินเดีย เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาติ ในปี ค.ศ. 2017 รัฐบาลอินเดียจึงสร้างเสาธงสุง 350 ฟุต เพื่อชักธงขนาดยักษ์ (กว้าง 78 ฟุต ยาว 115 ฟุต) ขึ้นที่เมืองอัตตารีประชิดพรมแดนปากีสถาน เพื่อให้ชาวเมืองลาฮอร์ของปากีสถานมองเห็น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับฟาสซิสต์สมัยมุสโสลินีก็น่าสนใจ คำคำนี้มาจากภาษาลาตินว่า fascis หมายถึงไม้หลายลำที่มามัดรวมกัน ฟาสซิสต์หมายถึงการมัดรวมชาวอิตาลีไว้ด้วยกันในลัทธิชาตินิยม ลัทธิชาตินิยมแบบอ่อนหวังให้ชาวอิตาลีมีความภักดีต่อครอบครัว เมือ

ที่ตนอยู่อาศัย ทวีปยุโรป หรือต่อมนุษยชาติ และรวมถึงประเทศอิตาลีด้วย แต่ฟาสซิสต์เรียกร้องความภักดีอันเต็มเปี่ยมต่ออิตาลีเท่านั้น ส่วนลัทธินาซียิ่งแล้วใหญ่ นอกเหนือชาตินิยมแบบฟาสซิสต์แล้ว นาซีมีจักรกลการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิผลสูงมากจนทำให้ชาวเยอรมันนาซีมีเรื่องเล่าอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่น ๆ ลืมได้เลย เรื่องเล่านั้นเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของชาวอารยัน (หมายถึงชาวเยอรมันที่มีเชื้อชาติอันบริสุทธิ์)

เรื่องเล่าของพวก ISIS ก็เด็ดขาดไม่แพ้กัน พวกเขาเชื่อว่าการก่อการร้ายที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน เป็นการแก้แค้นแทนมุสลิมที่เสียชีวิตเพราะเหตุทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบฝรั่งเศสในซีเรีย พวกเขาเชื่อว่าคนฝรั่งเศสที่ถูกฆ่าย่อมตกนรก ส่วนมุสลิมที่สละชีวิตเพื่อปกป้องพระศาสนาย่อมขึ้นสู่สวรรค์ในทันที เรื่องเล่าเช่นนี้ทำให้ฮารารีสงสัยว่า หากได้ขึ้นสวรรค์จริง ก็เป็นเรื่องดีซึ่งไม่ควรมีการแก้แค้นชาวฝรั่งเศสที่ทำให้เกิดเรื่องดีเช่นนี้!

เขามีความเห็นว่า เมื่อนักการเมืองมีเรื่องเล่าทำนองว่า “ขอให้ประชาชนเสียสละเพื่อกอบกู้คุณธรรมกลับคืนสู่ชาติอันยิ่งใหญ่ของเรา” ก็อย่าเพิ่งเชื่อ

แล้วจะให้เชื่ออะไร ฮารารีตอบว่า เชื่อเมื่อมองเห็นความทุกข์ เชื่อเมื่อได้ปฏิบัติวิปัสสนาจนเห็นด้วยตนเอง เมื่อปี ค.ศ. 2000 เขาได้มีโอกาสฝึกวิปัสสนากับโกเอ็นกาอยู่ 10 วัน เขาบอกว่าใน10 วันนั้น เขาได้เรียนรู้จากการดูลมหายใจมากกว่าหลาย ๆ ปีที่ได้เรียนจากตำราในมหาวิทยาลัย หลังจากนั้น เขาจะใช้เวลากับการทำสมาธิภาวนาวันละ 2 โมง และการเข้าเงียบปีละ 1 หรือ 2 เดือน การฝึกเช่นนี้ช่วยในการค้นคว้าของเขาจนเขาสามารถเขียนหนังสือ 3 เล่มที่เล่าถึงข้างต้น การฝึกสมาธิภาวนามิใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราไม่อยากหลงอยู่กับเรื่องเล่าโดยไม่สังเกตดูตัวเราเอง ดูความทุกข์และเวทนาด้วยประสบกการณ์ตรงของเราเอง ก็เกรงว่าเรื่องเล่าบรรดามีจะมาครอบงำเราให้อยู่ในโมหะจริตอยู่ร่ำไป

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image