บทเรียน จากอดีต เกาะสมุย เมษายน 2558 กัมปนาท ระเบิด

ถูกต้องแล้วที่ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 มอบหมายให้ทีมงานนำเหตุการณ์เกาะสมุยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 มาวิเคราะห์

เพราะว่ามี “ลักษณะ” และ “สภาพ” น่าศึกษา

น่าศึกษาเพราะ 1 เป็นเหตุการณ์ที่มีการเผาสหกรณ์สุราษฎร์ธานี ขณะเดียวกัน ก็มีเหตุคาร์บอมบ์ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย

น่าศึกษาเพราะมีการ “ตั้งธง” ตั้งแต่หลังกัมปนาทแห่ง “ระเบิด”

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็น “โฆษก” ระดับนายพลตรี ไม่ว่าจะเป็น “นักการเมือง” ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงตั้งธงชี้ไปว่าเป็นเรื่องของ “ผู้สูญเสียอำนาจ”

ทั้งยังดึง “พ่อใหญ่” ระดับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่แล้วเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำหน้าที่ของตนไปตามกระบวนการของพยานหลักฐาน “ผู้ต้องหา” ล้วนแต่โยงสายยาวไปยัง 3 จังหวัดชายแดน

Advertisement

เหมือนๆ กับ “ระเบิด” ย่านรามคำแหงปลายปี 2549 ต่อต้นปี 2550

อาจเพราะอยู่ในบรรยากาศหลัง “รัฐประหาร” กระแสของสังคมจึงพุ่งความสงสัยไปยังพรรคเพื่อไทย ไปยังคนเสื้อแดง

แต่เมื่อจับ “มือระเบิด” ก็หงายหลังกันเป็นแถว

มีสมมุติฐานอันเป็นความเชื่ออย่างยิ่งว่า กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้จะไม่ขยายปฏิบัติการออกนอกพื้นที่

ถามว่าอะไรคือ “เหตุผล”

เพราะว่าการวางระเบิด วางเพลิงในลักษณะอันเป็น “กระบวนการ” เช่นนี้จำเป็นต้องมีฐานอย่างที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา สรุป

“ต้องมีศักยภาพพอสมควร”

ไม่เพียงศักยาภาพในการเคลื่อนย้ายของ ในการพกพาของมา หากที่สำคัญเป็นอย่างมากต้องมีเครือข่ายมวลชน

แต่กรณีที่รามคำแหงช่วงปลายปี 2549 ต่อต้นปี 2550 คือกรณีศึกษา

เช่นเดียวกับ กรณีวางเพลิงสหกรณ์สุราษฎร์ธานี และคาร์บอมบ์ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล บนเกาะสมุย เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 คือกรณีศึกษา

บทสรุป คือ มีความเป็นไปได้

หากมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นปฏิบัติการอันมาจากกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีอันปะทุขึ้น 17 จุดใน 7 จังหวัด ระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม เท่ากับเป็น “การขยายผล” และสำแดงศักยภาพ

ประเด็นก็คือ ทำไมต้องเป็นจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คําถามนี้อาจแย้งกับ “ทางโน้ม” ของการจับกุมและเชิญตัวบุคคลจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะจากจังหวัดตรัง ไม่ว่าจะจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะจากจังหวัดราชบุรี ไม่ว่าจะจากจังหวัดอ่างทอง

แต่ “คำถาม” ก็เหมือนกับเป็น “สมมุติฐาน” 1

หากพิจารณาจากบทสรุปอันมาจาก แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านความมั่นคงและการทหารแห่งสำนักไอเอสเอส-เจนส์

ประสานเข้ากับบทสรุปของอดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศรภ.

แอนโทนี เดวิส ระบุว่าต้องใช้คนเข้าร่วมปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 30 คน อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศรภ. ระบุว่าต้องใช้คนมากกว่า 20 คนเป็นอย่างต่ำ

นี่ย่อมมิใช่เรื่องของ “มือสมัครเล่น”

นี่ย่อมมิใช่ปฏิบัติการ “ทางทหาร” ที่ไม่เคยผ่าน “ประสบการณ์” หรือไม่เคยมี “บทเรียน” ทางด้านการปฏิบัติมาก่อน

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของ “ขบวนการ”

เมื่อเป็นขบวนการ 1 ต้องมีการจัดตั้ง ทั้งมิได้เป็นการจัดตั้งอย่างหละหลวม หากแต่ต้องเป็นการจัดตั้งเข้มในลักษณะของ “ทหาร”

ที่สำคัญ 1 ต้องมีเครือข่าย มีมวลชน เป็นฐานรองรับ

เป็นไปไม่ได้หรอกที่ “มือสมัครเล่น” จะสามารถปฏิบัติได้พร้อมกัน 17 จุดภายใน 7 จังหวัด อย่างมีกัมมันตะ

ปฏิบัติการระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม ท้าทาย “คสช.” ท้าทายกลไกทางด้าน “ความมั่นคง” อย่างแน่นอน

การไล่ล่าตัว “ผู้กระทำ” มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่ก็ต้องดำเนินการอย่าง “มืออาชีพ” เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ ต้องวางอยู่กับ “ความเป็นจริง” ไม่น่าจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาด หรือทางการเมืองมากลบเพื่อผ่านพ้นไป

เพราะ “ผลสะเทือน” ปฏิบัติการนี้ยากที่จะใช้วิธีการง่ายๆ ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image