14 ม.ค.2563 ครบรอบปีระบาดของโควิด-19

ไทยเป็นชาติแรกนอกประเทศจีนที่ติดเชื้อ “ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019” (และเป็นที่มาของชื่อ “โควิด-19” ต่อมา) เมื่อวันที่มกราคม 2563 หลังจีนที่พบรายแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และรายงานให้องค์การอนามัยทราบทันทีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562

จากนั้น วันที่ 5 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลกจึงแถลงเป็นทางการให้ทุกประเทศเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่รุนแรงเสียยิ่งปอดอักเสบหรือนิวโมเนีย และอาจเสียชีวิตได้เฉียบพลัน พร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันต่างๆ อย่างละเอียด

จากเว็บไซต์ทางการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าทำการคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินในเส้นทางที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่นทันที ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ก่อนการแถลงขององค์การอนามัยโลกสองวันด้วยซ้ำ

ผู้เขียนพิเคราะห์ดูการคัดกรองของกรมควบคุมโรคระหว่างวันที่ 3 ถึง 13 มกราคม 2563 ไม่พบทั้งลูกเรือและผู้โดยสารคนใดที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต ติดเชื้อ “ไวรัสอู่ฮั่น” (โควิด-19) มีแต่ Influenza A, B, C, Haemophilus influenzae และ Coronavirus OC43 (สายพันธุ์เก่า) จนกระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2563 จึงพบ “Novel coronavirus 2019” (โควิด-19) ใน
ผู้ป่วย 1 ราย:

Advertisement

“ตั้งแต่วันที่ 3-14 มกราคม 2563 ผู้โดยสารเครื่องบินในเส้นทางที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ต จำนวน 70 เที่ยวบิน ผู้เดินทางและลูกเรือได้รับการคัดกรอง ทั้งสิ้น 11,163 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยาม 15 ราย นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าตามนิยามไปรับการตรวจรักษา ที่โรงพยาบาลรัฐ 2 ราย (ภูเก็ตและเชียงใหม่) และสถาบันบำราศนราดูร 4 ราย รวม 6 ราย ไม่พบผู้ป่วยอาการ รุนแรง ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและได้กลับบ้านแล้วจำนวน 9 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ Novel coronavirus 2019 ในผู้ป่วย 1 ราย” (https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/situation/situation-no11-140163.pdf)

กระทรวงการท่องเที่ยวฯขณะนั้น ยังคงเปิดเว็บไซต์เชิญชวนคนทั่วโลกให้มาเที่ยวเมืองไทย สอดคล้องกับสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เผยยอดนักท่องเที่ยวจากจีนระหว่าง 1 มกราคม 2563 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ามี “1.1 แสนคน…เฉพาะที่มาจากอู่ฮั่น 2,038 คน และจากกว่างโจว 2,256 คน” (7 กุมภาพันธ์ 2563 ย้อนหลังไปhttps://www.js100.com/en/site/news/view/82713) น่าจะสูงที่สุดในโลก ในขณะที่หลายประเทศ “ล็อกดาวน์ข้ามชาติ”

เข้าใจได้ เพราะก่อนที่นายสีจิ้นผิงจะสั่งปิดสนามบินนานาชาติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ไม่กี่วัน กว่า 5 หมื่นคนของนักท่องเที่ยวจีน ล็อตสุดท้าย “หลุด” มา ในจำนวนนั้นกว่าครึ่งเข้าไทย อีกราว 2.5 หมื่นคน กระจายตามประเทศย่านอาเซียน โดยสิงคโปร์รับกว่าพันคน นอกนั้นเพียงหลักสิบถึงหลักร้อยเท่านั้น

Advertisement

ไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจที่ทำรายได้เกือบ 20% ของจีดีพี (สูงสุดในอาเซียน) และคาดว่าปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 40-42 ล้านคนอาจมีส่วนให้ผู้นำรัฐบาลในปลายเดือนมกราคม 2563 สับสน ยืนยันจากท่าทีของรองนายกฯ และกำกับกระทรวงสาธารณสุขคือนายอนุทินที่พูดว่า “ไวรัสตัวใหม่ (Coronavirus 2019) เป็นไข้หวัดธรรมดา” (https://www.youtube.com/watch?v=_onf32i-Rm4)

นึกถึงผู้ใหญ่ลีปี 2504 ที่พูดว่า “สุกรคือหมาน้อยธรรมดา!

นายดอน รองนายกฯอีกท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า “คนไทย 64 คนที่เมืองอู่ฮั่นสบายดี” (https://www.thairath.co.th/news/politic/1757345)

กรณีของ “ดอน” สวนทางกับคลิปวิดีโอจากคนไทยในเมืองอู่ฮั่นที่ครวญว่า “กว่ารัฐบาลจะส่งเครื่องบิน
มารับ อาจได้กระดูกกลับไป” เพราะอู่ฮั่นขณะนั้นร้านรวงพากันปิดเกือบทั้งเมืองจนใกล้ร้างแล้ว สื่อต่างประเทศช่วงนั้นรายงานว่ามีการอพยพของชาวเมืองอู่ฮั่นกว่า 5 ล้านคน (จาก 11 ล้านคน) ไปตายดาบหน้าที่เมืองและมณฑลใกล้เคียง

กว่ารัฐบาลไทยจะเพิ่งส่งเครื่องบินไปรับคนไทยที่ติดค้างในอู่ฮั่นกลับก็หลังจากสิบกว่าประเทศได้คิวแรกๆ ขนคนของพวกเขาเสร็จในเดือนมกราคมนั้นแล้ว

อย่างไรก็ดี ความมีวินัยเคร่งครัดของคนไทยที่สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง (social distancing) กินช้อนกลาง ล้างมือ พูดง่ายๆ การ์ดไม่ตก การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศถือว่าประปราย ยังไม่ทันสิ้นเดือนมกราคม 2563 อันดับติดเชื้อโควิด-19 เป็นที่ 2 รองของไทยจากจีนจึงถูกประเทศอื่นๆ ทยอยชิงไปครอง

ไทยยังคงต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2563 ก่อนจำต้องปิดสนามบินนานาชาติ และล็อกดาวน์ตัวเองในปลายเดือนมีนาคม 2563

เหตุมาจากการจัดการแข่งขันชกมวยที่เวทีลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 โดยเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกเป็น “โปรโมเตอร์” แม้ พลเอกอภิรัชต์ ผบ.ทบ. ขณะนั้นได้ปรามแล้ว (ถูกปลดจากเจ้ากรมพอเป็นพิธี ก่อนจะกลับมานั่งตำแหน่งเดิมเมื่อเดือนก่อนสิ้นปี 2563)

การแพร่เชื้อโควิด-19 จากสนามมวยลุมพินีครั้งนั้น พบได้ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เมื่อยอดติดเชื้อพุ่งถึงหลักร้อย (188 ราย) วันแรก ผู้ว่าฯกทม. ประกาศ “ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ” วันที่ 18 มีนาคม 2563 โดยไม่แจ้งล่วงหน้า คิวรถสถานีหมอชิตและหัวลำโพงแน่นทันทีคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านนับแสนแห่กันกลับบ้านเกิดกันแทบไม่ทัน กรุงเทพฯถนนโล่ง

รัฐบาลตอบรับมาตรการล็อกดาวน์ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)” ในวันรุ่งขึ้น (19 มีนาคม 2563) พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ตามมาด้วยเคอร์ฟิว

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังลามต่อเนื่องก่อนเริ่มนิ่งที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,442 และยอดผู้เสียชีวิตสะสมที่ 56 ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สถานการณ์ล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลายในอีกหลายเดือนต่อมา

แต่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มขยับ กลับมีการระบาดระลอกใหม่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกแถลงการณ์เมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ว่า พบผู้ติดเชื้อ 548 รายที่ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร แต่แม้ไม่พูดถึง “ล็อกดาวน์” ในทางปฏิบัติที่แบ่ง “พื้นที่ควบคุม” 2 โชนกว่าครึ่งประเทศด้วยมาตรการคุมเข้ม สถานการณ์ไม่ต่างจากระลอกแรก เพียงแต่ยังไม่มีเคอร์ฟิว

จากนั้นยอดติดเชื้อสะสมขึ้นหลักร้อยต้นๆ ต่อเนื่องแทบทุกวัน จนทะลุ 10,053 คน และเสียชีวิตเพิ่มจาก 59 รายเป็น 67 ราย เมื่อวันสุดสัปดาห์เสาร์ที่ 9 มกราคม 2564 นี้เอง

สาเหตุพบว่ามาจากมาตรการป้องกันการนำเข้าแรงงานเถื่อนนับหมื่นนับแสนจากประเทศเพื่อนบ้านถูกละเลยมาช้านานตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด-19

ยังไม่นับการปล่อยให้คนไทยนับพันข้ามเขตประเทศไปทำมาหากินในบ่อนของประเทศที่ติดชายแดนไทย

นอกจากนี้ยังมีบ่อนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯย่านหลักสี่ ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างดี

รัฐบาลการ์ดตกซ้ำซาก!

หลัง 1 ปีผ่านไป คนไทยทั้งประเทศเริ่มกลัวโควิด-19 น้อยกว่ากลัวอดตายหลังผู้ใหญ่อยู่บ้านเฉยๆ เด็กๆ ไม่ต้องไปโรงเรียน พ่อค้าแม่ขายมีรายได้ลดลงแต่หนี้นอกระบบเพิ่ม SME พัง สถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศ โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานบริการนวดแผนไทย โรงงาน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ถูกปิดจาก
คำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)”

น่าเสียดายที่สถานการณ์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เริ่มจะฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่กลับต้องมาเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่

รัฐบาลเองขณะนี้ก็ไม่แน่ใจว่า “ล็อกดาวน์” หรือต่อให้เรียกว่าจำกัด “พื้นที่ควบคุม” (โซนนิ่ง) สามารถหยุดหรือยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 หรือเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจกันแน่ เพราะต้องไม่ลืมกันว่าว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลการ์ดตก ขาดวินัย การแพร่เชื้อของไวรัสตัวนี้ไม่เคยพลาดที่จะปรากฏให้เห็นตามมาอย่างคงเส้นคงวาเสมอ

ในทางกลับกัน การสวมหน้ากากของผู้ชุมนุมอย่างเคร่งครัดของ “ม็อบ” ทั้งในช่วงธันวาคม 2562-มีนาคม 2563 และช่วง กรกฎาคม-ต้นธันวาคม 2563 กลับไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 เลย ทั้งๆ ที่บางครั้ง “เบิ้มๆ” นับหมื่นนับแสน ระยะห่าง (social distancing) ก็ค่อนข้างต่ำ

จึงไม่อาจกล่าวเป็นอย่างอื่นว่า สาเหตุการติดเชื้อโควิด-19 มาจากรัฐบาลที่การ์ดตกในทุกมิติ

และมาตรการต่างๆ ที่มาจาก ศบค. ส่งผลให้เศรษฐกิจพังยับ ประชาชนสุจริตหมดทางทำมาหากินกันถ้วนหน้าโดยปริยาย

ยังไม่นับการใช้สถานการณ์ “โควิด-19” นี้มา “ล่อเป้า” เพื่อให้สภาความมั่นคงแห่งชาติชงเรื่องให้รัฐบาลประกาศการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอย่างซ้ำซาก ผิดฝาผิดตัว และหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ เมื่อเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ

ยังไม่นับผลกระทบทางสังคม อาทิ พฤติการณ์ ปล้น จี้ ฆ่าชิงทรัพย์ การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่ตามมา
จนน่าวิตกว่า ปี 2564 บ้านเมืองจะพ้นจากวิกฤต “ห่ากินเมือง” ที่ยืดเยื้อนี้ได้อย่างไร?

ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image