ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : ดวงตาของฌาน

ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : ดวงตาของฌาน : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

ในฌานสูตรมีพระพุทธพจน์ว่าอาสวะสิ้นไปเพราะอาศัยฌานทั้งหลาย

ฌานเป็นปัจจัยของการบรรลุธรรม ทว่าทำไมพราหมณ์โบราณที่เป็นฤๅษีดาบสและเจริญฌานในสมัยก่อนพุทธกาลจึงไม่สามารถเห็นอริยธรรมได้เลย

ทำไมกิเลสหรืออาสวะของผู้บำเพ็ญเพียรเหล่านั้นจึงไม่อาจสิ้นไปและทำอย่างไรผู้มีฌานจึงจะเห็นสภาวะความเป็นจริงแห่งอริยสัจจนถ่ายถอนอาสวะให้หมดสิ้นได้

การเพ่งของฌานแบบพุทธและฌานแบบอัญญเดียรถีย์นั้นแตกต่างกันมาก ฤๅษีดาบสเพ่งสัญญาไม่ว่าสัญญานั้นจะเป็นรูปหรืออรูปทั้งนี้เพื่อให้จิตดิ่งเข้าสู่ความสงบนิ่งหรือเข้าสู่อารมณ์แห่งอัตตา

Advertisement

ในขณะที่การเพ่งแบบพุทธเป็นการเพ่งเพื่อเข้าใจสภาวะ มีการเจริญสติอย่างมีสัมปชัญญะ การเดินมรรคเป็นไปเพื่อเห็นและรู้แจ้งในไตรลักษณ์ มิได้มุ่งสู่อัตตาซึ่งไม่มีจริง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “การเพ่งแบบม้ากระจอก” และ “การเพ่งแบบม้าอาชาไนย” นั้นแตกต่างกัน ในการเพ่งแบบม้าอาชาไนย เมื่อเพ่งผู้ที่ถูกจองจำก็จะเห็นการจองจำ เมื่อเพ่งคนที่เสื่อมจะเห็นความเสื่อม เมื่อเพ่งโทษจะเห็นความเป็นโทษ

ม้ากระจอกเป็นม้าที่ทื่อ ม้าอาชาไนยเป็นม้าที่ฉลาดรู้ทาง

Advertisement

ผู้มีฌานสามารถมีดวงตาที่เห็นปรากฏการณ์ทางจิต เพียงแต่จะเห็นสิ่งที่ถูกเห็นอย่างไร

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ได้บรรยายธรรมตอนหนึ่งว่าข้อปฏิบัติเป็นของที่มีอยู่ทุกเมื่อ กล่าวคือเป็น “อกาลิโก” ท่านยกตัวอย่างพราหมณ์มานพ 16 ท่านซึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาเห็นแจ้งด้วยปัญญาทั้งขั้นต่ำ ขั้นกลางและขั้นสูงจนสิ้นสงสัย

พราหมณ์คณะนี้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีและเป็นฤๅษีสอนไตรเพทและจิตตภาวนาริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ได้เดินทางไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงแนวทางหลุดพ้นซึ่งเรียกกันว่า “โสฬสปัญหา”

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดไชยทิศ
พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกและทรงเปิดโลกให้เห็นกันได้ทะลุภพ
เกิดผู้ปรารถนาพุทธภูมิมากมาย

เมื่อประมาณปี 2539 ท่านพระอาจารย์ หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ได้เมตตาหยิบหาหนังสือขนาดหนาเล่มหนึ่งยื่นให้ผู้เขียนโดยมิได้กล่าวคำใดๆ หนังสือเล่มนั้นชื่อ “โสฬสปัญหา” สมเด็จพระญาณสังวรฯ อดีตสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงบรรยายไว้

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ให้อรรถาธิบายในรายละเอียด ส่วนในพระสูตรโดยตรงสามารถหาศึกษาความลึกซึ้งเฉียบคมได้ในปารายนวรรค

วิสัชนาของพระพุทธองค์ที่มีต่อคำถามของพราหมณ์ฤๅษีคณะนี้มีความสำคัญทีเดียว เช่นท่านหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ผู้นำคณะได้ถามเรื่องนิมิตที่พราหมณ์พาวรีฝากไว้ซึ่งเกี่ยวกับที่สุดของวัฏฏะ (อชิตะ) ท่านหนึ่งถามสภาวจิตในภาพรวม (ภัทราวุธ) 3 ท่านถามเกี่ยวกับรูปฌาน (โตเทยยะ อุทัยและปิงคิยะ) และอีก 2 ท่านถามเกี่ยวกับอรูปฌาน (อุปสีวะและโปสาละ)

พระพุทธองค์ทรงตอบอชิตพราหมณ์ว่าอวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาทำให้ศีรษะตกไป โลกถูกหุ้มห่อด้วยอวิชชาและถูกฉาบทาด้วยตัณหา สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก ปัญญาเป็นเครื่องปิดกระแส นามรูปดับเพราะวิญญาณดับ สติและปัญญาจะดับไปด้วย ณ ที่นั้น

ทรงตอบภัทราวุธว่านรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง ทั้งขั้นต่ำ ขั้นกลางและขั้นสูง (เช่นภพขั้นกามภพ รูปภพและอรูปภพ) มารติดตามสัตว์ก็เพราะสิ่งที่สัตว์ยึดมั่นนั้น

ทรงตอบโตเทยยะว่าผู้หลุดพ้นคือผู้ที่ไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหาและข้ามพ้นความสงสัย

ทรงตอบอุทัยว่าโลกประกอบด้วยความเพลิดเพลิน ต้องละตัณหาให้ได้เด็ดขาดแล้วจึงสามารถกล่าวถึงนิพพาน บุคคลที่ไม่เพลิดเพลินในเวทนาทั้งภายในและภายนอก วิญญาณจึงดับ การหลุดพ้นที่บริสุทธิ์ต้องอาศัยอุเบกขาและสติที่มีธรรมเครื่องพ้นสำหรับทำลายอวิชชา

ทรงตอบปิงคิยมหาฤๅษีว่าชนทั้งหลายเดือดร้อนและประมาทเพราะรูป พึงละรูปให้ได้ มนุษย์ถูกตัณหาครอบงำจิต เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำ เพื่อที่จะละชาติชราให้เพ่งพิจารณาตัณหาที่ครอบงำจิต ให้ละตัณหาเพื่อไม่ให้เกิดอีก

ทรงตอบอุปสีวะว่าจงมีสติ เพ่งพิจารณาอารมณ์ของอากิญจัญญายตนะ จงละกามทั้งหลาย งดเว้นความสงสัยทั้งหลาย พิจารณาดูความสิ้นตัณหา บุคคลที่ปราศจากราคะในกามทั้งปวงให้ละสมาบัติอื่นแล้วอาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติน้อมใจไปในคุณธรรมชั้นสูง ไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกแล้วย่อมดับไป

ทรงตอบโปสาละว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีรูปสัญญาแล้ว ละรูปกายได้ทั้งหมดและถึงซึ่งอากิญฯ เมื่อรู้เหตุของอากิญฯ รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินผูกไว้ ให้ออกจากสมาบัตินั้นและเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นในสมาบัตินั้น

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดป่าพระเจ้า ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี
พระสารีบุตรรับเสด็จและได้รับการถ่ายทอดพระอภิธรรมจากพระพุทธองค์

โดยรวมแล้ว ผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีรูปฌานและผู้มีอรูปฌานเมื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวทางแล้วจะสามารถเห็นธรรมและบรรลุธรรมได้ดังที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ บรรยายไว้

สำหรับผู้ที่มีรูปฌานมักออกจากฌานสี่แล้วเจริญสติปัฏฐาน 4 และโพชฌงค์ 7 ตามสภาวจิต

สำหรับผู้ที่สำเร็จอรูปสมาบัติมีการให้ใช้อากิญฯ เป็นฐานการพิจารณา ประเด็นนี้ก็นับว่าน่าสนใจเพราะอากิญฯ มีอรูปสัญญาที่ละเอียดมาก เป็นอารมณ์ของความไม่มีของอรูปวิญญาณ แต่เนื่องจากยังมีอารมณ์หรือสัญญาจึงสามารถพิจารณาให้รู้แจ้งในสภาวะและเหตุแห่งสภาวะนั้นได้ว่าไม่เที่ยงและไม่ใช่ตนหรือของตน

อย่างไรก็ตาม เนวสัญญานาสัญญายตนะมิได้มีการกล่าวถึงในโสฬสปัญหา เนวสัญญาฯ มีสัญญาที่ละเอียดจนเหมือนไม่มีสัญญาจึงเชื่อว่ายากจะทำได้

ในอนุปทสูตร มีเนื้อหาว่าผู้ที่สามารถเจริญวิปัสสนาในเนวสัญญาฯ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น ในพระสูตรนี้มีกล่าวถึงการบรรลุอรหัตตผลของพระสารีบุตรซึ่งเจริญเนวสัญญาฯ และสัญญาเวทยิตนิโรธก่อนบรรลุธรรม

ส่วนอรรถกถามีความเห็นว่าพระสารีบุตรเจริญวิปัสสนาในเนวสัญญาฯ ได้เพราะสามารถเจริญสมถะและวิปัสสนาพร้อมกันในสมาบัติชั้นนี้

ในฌานสูตร พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับฌานทุกขั้นที่พระภิกษุเจริญวิปัสสนาต่อได้ ในรูปฌานให้พิจารณาขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ในอรูปฌานจนถึงอากิญฯ ก็ให้พิจารณานามขันธ์ 4 ที่มีอยู่ในฌานนั้นๆ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ฯลฯ

ส่วนเนวสัญญาฯ และสัญญาเวทยิตนิโรธยังเป็นอายตนะและอาศัยกัน มีสัญญาสมาบัติเพียงใดก็ตรัสให้สัญญาปฏิเวธเพียงนั้น

การเจริญวิปัสสนาในฌานเป็นอกาลิโก ผู้มีฌานสามารถอาศัยความคล่องในฌานและวิปัสสนาก้าวตรงไปให้ถึงฝั่งได้ทุกขณะ ไม่จำเป็นต้องเลือกยามเลือกเวลา

ผู้ปฏิบัติยังต้องละกามราคะและสลัดออกซึ่งความยึดถือในภพของฌาน เงื่อนไขเหล่านี้เป็นสังโยชน์ที่ทำให้การเจริญวิปัสสนาในฌานของพราหมณ์มานพส่งผลต่อการบรรลุธรรมอย่างรวดเร็ว

การอยู่ในฌานต้องมีสติรับรู้ จิตตื่นหรือมิได้หลับ สติจะกั้นกระแสทางอายตนะ ดวงตาภายในยังสามารถเห็นปรากฏการณ์ทางจิตได้หากไม่เกาะสัญญาอย่างทื่อๆ การเกาะสัญญาแบบม้ากระจอกจะทำให้ดวงตาของฌานถูกบดบังเพราะมุ่งแต่เพ่งสัญญาที่กำหนดไว้หรือผุดขึ้นมา

ในการสังเกตปรากฏการณ์ทางจิต เมื่อเกาะสัญญาถึงระดับที่จิตสงบระงับแล้วอาจจะสร้างโอกาสของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ สัญญาที่จิตจำไว้อาจเกิดขึ้นและดวงตาอาจเห็นสัญญานั้นในจิต

สัญญามีประโยชน์ในขั้นสมาธิภาวนา ในคิริมานนทสูตร สัญญาที่พุทธสาวกใช้มีอนิจจสัญญา อสุภสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา อานาปานสติเป็นต้น ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการละ สัญญาจึงมีประเภทที่ควรเจริญให้จิตเห็นตามความเป็นจริงด้วย

การเจริญวิปัสสนาในฌานเป็นการพิจารณาธรรมที่ใกล้จิตนอกสำนึก จิตจะรับรู้และจดจำไว้ อุบายปัญญาจะมีผลต่อจิตผ่านสัญญาที่ใช้ ความเข้าใจของจิตที่มีมากขึ้นๆ และอาจทำให้ปัญญาผุดขึ้นเมื่อจิตสงบ

จุดสำคัญคือการแยกแยะระหว่างสัญญาและปัญญา ความสามารถในการแยกแยะอยู่ที่ความเข้าใจของจิตด้วย ผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยประสบการณ์เฉพาะตน

สัญญาและปัญญาต่างเป็นสมมุติ แต่สัญญาที่มีนั้นอาจมิใช่ปัญญา สัญญาเป็นเครื่องยึด ปัญญาเป็นเครื่องละ ถึงเห็นก็สักแต่เห็น ไม่ตามเห็นแบบฌานทั่วไป

ฌานของพระอริยสาวกและฤๅษีดาบสจึงแตกต่างกันอย่างยิ่ง

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ เคยกล่าวถึงความสงบ 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นความสงบจากความคิดที่นำโลภะ โทสะและโมหะเข้ามา อีกแบบหนึ่งเป็นความสงบที่เข้ามาอยู่กับสติและปัญญา

หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก กล่าวถึงความเป็นปัจจัยของฌานว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ความสงบจะทำให้รู้ความจริงนี้ได้ เมื่อสำรวมอินทรีย์เป็นหนึ่งเดียวฌานก็จะเกิดขึ้นและเป็นบาทของวิปัสสนา

ผู้มีฌานมีความสงบซึ่งอาจเว้นจากกิเลสได้ในขณะที่สงบ แต่ก็จะเพลินในสงบ การติดอยู่ในฌานทำให้ไม่รับรู้สภาวธรรม อรูปฌานขั้นสูงจะหลงติดในสัญญาที่อ่อนละเอียด

ผู้ที่เจริญฌานมาบ้างย่อมพร้อมต่อการเดินทางสู่อริยมรรค ไม่มีความจำเป็นต้องรอหรือเสียเวลาไปกับฌานสุข สติและปัญญาที่เกิดกับสมาธิจึงจะเป็นมรรค ไม่ใช่ฌานเพียงลำพัง

เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามมรรควิธี ดวงตาของฌานที่เคยตามเห็นสัญญาก็จักละสัญญาแล้วพบกับปัญญาที่มาจากส่วนลึกของจิต

ฌานทั้งหลายเป็นการเพ่งและละเลยสิ่งที่ไม่เพ่ง ถึงจุดหนึ่งก็ต้องละเพราะเป็นสมุทัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image