พระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ประเทศไทยเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาสามารถประดิษฐานมั่นคงอย่างไม่ขาดตอน รวมทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในความบริสุทธิ์ของพระศาสนามาแต่อดีต

สภาพเช่นนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ตามเงื่อนไขและความรู้ความเข้าใจของสังคมที่วิวัฒน์ไปตลอดเวลา

เพราะในขณะที่พระพุทธศาสนามีบทบาทมากในประเทศไทย ดินแดนแห่งนี้ก็ไม่เคยว่างเว้นจากลัทธิวัตถุนิยมเช่นกัน

เหตุการณ์มากมายในยุคหลังที่เกิดกับพระภิกษุที่มีชื่อเสียงและมีสานุศิษย์มากมายได้สร้างความเป็นห่วงว่าพระพุทธศาสนาในประเทศนี้ได้เสื่อมลงแล้วอย่างรวดเร็ว การออกนอกรีตนอกรอยเกิดขึ้นซ้ำๆ บ้างก็หนีไปพักร้อนในต่างประเทศ บ้างก็มีคดีความติดตัวในขณะดำรงสมณเพศ บ้างก็หมกมุ่นอยู่กับพุทธพาณิชย์ การระดมเงินทองและการสร้างเครื่องรางของขลังอย่างเอาจริงเอาจัง

Advertisement

ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเริ่มบอกว่าพระภิกษุที่เคร่งครัดและน่าศรัทธาในปัจจุบันมีน้อยแล้ว บางท่านเห็นว่าการเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศได้บุญมากเพราะจะช่วยสืบสานพระศาสนาได้เมื่อพระพุทธศาสนาที่แท้จริงในประเทศไทยของเราต้องสูญหายไปจริงๆ

ที่จริง สภาพการณ์นี้เป็นสภาพการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จนบางยุคชาวพุทธไม่เชื่อว่าพระภิกษุที่บรรลุพระนิพพานนั้นมีจริงๆ ต้องนับถือพระศรีอาริยเมตไตรยแทนก็มี

ในยุคอดีต ผู้ปกครองอาณาจักรสยามยกย่องพระพุทธศาสนามาก ส่วนใหญ่อาจสนับสนุนปริยัติธรรม แต่ก็มีบางสมัยที่ส่งเสริมการปฏิบัติ ส่วนในช่วงที่ผู้ปกครองสนใจลัทธิพราหมณ์และเรื่องทางโลกอย่างมากก็มิได้ละเลยพระพุทธศาสนา

Advertisement

ความแตกต่างกันที่มีมากก็ตรงที่ประชาชนทั่วไปในยุคนั้นๆ ยังศรัทธาในพระศาสนาและให้ความเคารพพระภิกษุอย่างยิ่ง แม้สำหรับผู้กระทำความผิดถ้าเข้าสู่ผ้าเหลืองก็มักอภัยหรือเว้นผิดให้

แต่ภายใต้โลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากความรุ่งเรืองของลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยมอย่างกว้างขวางยิ่ง พระภิกษุก็มิใช่ข้อยกเว้น

การต่อสู้ระหว่างพระพุทธศาสนาและลัทธิวัตถุนิยมตะวันตกจึงเข้มข้นไม่น้อยไปกว่าในอดีตที่สังคมมีความขาดแคลนทางวัตถุ

ในขณะที่อิทธิพลของลัทธิวัตถุนิยมมีมากขึ้นทั้งในระดับผู้บริหารประเทศและประชาชนทั่วไปนั้นก็ยังมีชาวพุทธจำนวนมากที่เชื่อว่าพระนิพพานสามารถเข้าถึงได้จริงแม้แต่ในชาติเดียวหรือเพียงไม่กี่ชาติ

อย่างน้อยประชาชนส่วนใหญ่น่าจะยังเชื่ออยู่ว่าสังคมอยู่อย่างมีความสุขได้ด้วยความดี มิใช่ด้วยการแย่งชิงผลประโยชน์โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการว่าชั่วร้ายเพียงใด

นี่ก็หมายความว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนายังมีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ และผู้บริหารประเทศควรเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนในทางโลกและทางธรรมตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

คําถามที่น่าสนใจคือ ทำไมพระสงฆ์ปัจจุบันจึงสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเสื่อมศรัทธาและเป็นที่พึ่งสำหรับการสร้างความดีของผู้คนได้น้อยลง

ข้อสังเกตประการแรกได้แก่ ปัญหาเชิงคุณภาพของพระสงฆ์

พระภิกษุเคยเป็นที่พึ่งของประชาชน มิใช่เพียงเรื่องพิธีกรรมและการเผยแผ่พระศาสนา แต่ยังเป็นที่พึ่งอื่นๆ ด้วย เช่นเป็นทั้งผู้นำของชุมชนและผู้ให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชน

เมื่อเรามองไปในประวัติศาสตร์ ในยุคที่ศรีลังกาซึ่งพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองอย่างยิ่งต้องประสบปัญหาการขาดการสืบต่อสมณวงศ์ มีอาณาจักรเพียง 4 แห่งในยุคนั้นที่ศรีลังกามองหาที่พึ่ง นั่นคือที่ยะไข่ กรุงศรีอยุธยา อมรปุระอังวะ และมอญรามัญ

ความสำเร็จในการสืบสมณวงศ์ของศรีลังกาในครั้งนั้นสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในสยามได้เป็นอย่างดี และนั่นก็สะท้อนคุณภาพของพระสงฆ์ที่เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวพุทธในศรีลังกาด้วย

ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป คุณภาพของพระภิกษุก็เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขทางสังคม การครองเพศสมณะของพระภิกษุได้รับผลกระทบมากจากสงครามครั้งเสียกรุงให้พม่า แนวทางการปฏิบัติขาดตอนและสูญหายไปมากแม้ว่าจะเคยมีความพยายามส่งเสริมให้สืบต่อสายปฏิบัติจากกรุงเก่าก็ตาม

ตลอดระยะเวลานั้น ลัทธิวัตถุนิยมตะวันตกกลับเข้มแข็งมากกว่าและได้มีอิทธิพลทั้งต่อประชาชนและพระภิกษุซึ่งสังคมคาดหวังไว้สูงว่าจะช่วยสืนสานพระศาสนาด้วย

จนกระทั่งเมื่อราว 100 กว่าปีมานี้เองที่เริ่มมีการชำระวิธีปฏิบัติและนำไปสู่ช่วงงอกงามของวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมและไม่ยากจนเกินไป ส่งผลให้ในช่วง 40-60 ปีมานี้มีความสนใจการปฏิบัติธรรมกันมาก

ความเข้มแข็งของพระภิกษุที่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติยังคงมีอยู่และนับว่าโดดเด่นและมีเทคนิคการปฏิบัติที่หลากหลายไม่ด้อยไปกว่าที่ใดในโลก

ปัญหาอยู่ที่จำนวนพระสงฆ์มิได้สะท้อนความรุ่งเรืองของพระศาสนา

ในขณะที่ฆราวาสเข้าหาการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น พระภิกษุกลับแตกต่างกันอย่างมากในการใช้ชีวิตแบบบรรพชิต

พระภิกษุที่มีปฏิปทาสูงส่งและหาได้ยากยังมีอยู่มากโดยเป็นที่เลื่อมใสของชาวพุทธจำนวนมาก ในขณะที่ส่วนที่เสพวัตถุนิยมกลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเสื่อมศรัทธา

ในอดีต พระภิกษุตั้งแต่ยุคก่อนกรุงเก่ามีความสนใจคาถาอาคมและเครื่องรางของขลังมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากอิทธิพลของพราหมณ์และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเป็นที่พึ่งของคนทั่วไปที่ต้องการที่พึ่งที่ง่ายและรู้สึกไม่ปลอดภัยจากสงครามซึ่งเคยมีอยู่บ่อยครั้ง

ในปัจจุบัน พระภิกษุที่สนใจคาถาอาคมยังมีอยู่บ้าง แต่มิได้สนใจการเจริญฌานอันสงบเหมือนพระภิกษุในอดีต จึงมักมีภาพของการอวดอ้างความขลังเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ผู้ที่เข้าพึ่งพระศาสนาโดยบวชเป็นพระภิกษุด้วยเหตุผลต่างๆ แต่เวลาผ่านไปอาจมิได้สนใจการปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส ทำให้กลายเป็นปัญหาคุณภาพของบุคลากรสงฆ์

ข้อสังเกตประการต่อมาได้แก่ บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของพระภิกษุ

วัดเคยเป็นแหล่งความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ต่อมาบทบาทของพระสงฆ์ในเรื่องทางโลกก็ลดลงไปตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม โรงเรียนถูกกำหนดให้แยกออกจากวัดและบทบาทของพระภิกษุเองก็ถูกตัดขาดจากระบบการศึกษาสมัยใหม่

ในทางโลก ประชาชนได้หันไปพึ่งรัฐสวัสดิการ การเอื้อประโยชน์จากรัฐและโอกาสจากโลกาภิวัตน์

วงการศึกษาของพระสงฆ์ได้พยายามปรับตัวด้วยการให้พระภิกษุสามเณรเรียนรู้เรื่องทางโลกมากขึ้น มีการให้ปริญญาขั้นสูงแก่พระภิกษุที่บวชเรียนไปจนถึงฆราวาสที่สนใจ

การปรับตัวนี้เป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่วงการสงฆ์ที่ผู้บวชเรียนสามารถมีอนาคตได้หากในภายหลังจะลาเพศบรรพชิตไปประกอบอาชีพแบบคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การปรับบทบาทของพระสงฆ์ดังกล่าวยังคงเป็นการปรับตัวเชิงปริมาณและเป็นการปรับตัวเข้าหาเรื่องทางโลกเป็นหลัก

พระภิกษุจำนวนหนึ่งได้หันไปเผยแผ่ศาสนาในเชิงสังคมและกลายเป็นนักปฏิบัติการทางสังคมแบบกลายๆ จำนวนหนึ่งต้องแทรกความบันเทิงและความตลกเข้าไปกับคำสอน

สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์และอาจสอดคล้องกับยุคสมัยมากกว่าบทบาทดั้งเดิมที่เน้นวิทยาคมและรอให้ประชาชนเข้าวัด

ทว่า พระภิกษุนั้นจำเป็นต้องรักษาและพัฒนาความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติจนกระทั่งเข้าสู่ธรรมขั้นสูง จึงจะเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนได้ดีจริง

คำตอบเกี่ยวกับบทบาทหลักของพระภิกษุจึงอยู่ที่ความเชี่ยวชาญหรือความเข้มแข็งในทางธรรมเป็นสำคัญ

ข้อสังเกตประการต่อมาได้แก่ บทบาทและคุณภาพของผู้นำคณะสงฆ์

ผู้นำสงฆ์ในยุคกรุงเก่าแยกการปกครองออกเป็น 2-3 คณะ ต่อมาภายหลังได้รวมเป็นการปกครองเดียว จึงได้ผ่านยุคที่เคยแยกออกจากกันมานานแล้ว จะแยกออกจากกันเช่นให้เป็นแบบคามวาสีและอรัญวาสีก็คงไม่ได้อีก

พระสงฆ์ในปัจจุบันได้รับการสรรเสริญจากฝ่ายปกครองบ้านเมืองด้วยยศพระเหมือนเช่นในอดีต โดยมียศถาบรรดาศักดิ์และคำเรียกนำหน้าเป็นสัญลักษณ์ ยิ่งนานวันพระสงฆ์ยิ่งนิยมการเรียกตามยศพระแทนการเรียกขานแบบโบราณ

การกำหนดให้สมณศักดิ์มิได้มาจากการยอมรับในปฏิปทาและความมั่นใจด้านการปฏิบัติ เพราะมีข้ออ้างว่าภูมิธรรมนั้นวัดกันไม่ได้และเป็นเรื่องเฉพาะตน

ทว่า ยศพระกลับกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับอายุของการบวชเรียน การระดมทุนทรัพย์ และการสร้างถาวรวัตถุหรือโครงการขนาดใหญ่

การไต่เต้าตามเส้นทางอาวุโสและเส้นสายคล้ายแบบราชการมักให้โอกาสแก่พระภิกษุที่ทุ่มเทให้กับเรื่องลาภยศและมิได้ให้เวลาสำหรับการปฏิบัติ

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ บทบาทของภาครัฐซึ่งสามารถหนุนช่วยในเรื่องทิศทางและการบริหารจัดการได้

ความพยายามสนับสนุนพระศาสนาคงมีอยู่มาก แต่ภาครัฐมิได้เอาจริงกับปัญหาความเสื่อมในวงการพระสงฆ์ ภาครัฐยังคงมองการปกครองสงฆ์แบบรัฐข้าราชการ

จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เคยมีการกวาดล้างพระภิกษุที่ยกตนเหนือคนทั่วไป เช่นการอวดอุตริมนุสธรรมมาแล้วซึ่งครั้งใหญ่ที่ถึงขั้นเสียเลือดเนื้ออย่างน่าเศร้าสลดเกิดในพม่าภายหลังรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง

สำหรับเมืองไทยในอดีต ยังไม่มีการจารึกไว้ว่าเคยมีการกวาดล้างกันขนานใหญ่หรือไม่ แต่หวังว่าคงไม่เกิดความน่าเศร้าใดๆ ในอนาคต

เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ผู้บริหารประเทศยังมักสนใจเปลือกนอกมากกว่าการเผยแผ่ธรรมที่ความสำคัญอยู่ที่การฟังธรรม การสนทนาธรรม และการปฏิบัติธรรม

ล่าสุดเราจะเห็นกระแสการยอมรับผ้ายันต์ที่เกลือกกลั้วธุรกิจ ในขณะที่กลับละเลยปัญหาการปิดสถานีวิทยุเสียงธรรมและการเผยแผ่ธรรมในระดับประเทศทั้งที่เคยกระทำได้มาก่อน จนกระทั่งพระภิกษุสายปฏิบัติจำนวนหนึ่งถึงขั้นต้องประกาศ ?คว่ำบาตร? นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการ กสทช.

ภาครัฐไม่ควรปล่อยปละความไม่ชอบที่เบียดบังพระศาสนาให้เป็นเรื่องของพระสงฆ์เอง ไม่ควรมองพระสงฆ์ที่แสดงตนเพื่อประโยชน์สาธารณะว่ากระทำสิ่งที่มิใช่กิจของสงฆ์ แต่กลับยกย่องพระภิกษุที่เติบโตจากพุทธพาณิชย์และความงมงายนอกพระพุทธศาสนา

รัฐบาลคงต้องคิดถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการประพฤติผิดเกี่ยวกับศาสนาอย่างเป็นระบบเสียแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image