7ข้อที่เราต้องบอกลูกหลาน เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้อง โดย กล้า สมุทวณิช

หากยังกล่าวอ้างว่า กิจกรรมรับน้องเป็นประเพณีอันดีงามที่ควรได้รับการสืบทอด ก็อาจจะต้องยอมรับว่าประเพณีอัน “ดีงาม” เหล่านั้นมีความตายเป็นส่วนควบในทุกๆ ปี ขึ้นกับว่าปีนี้มัจจุราชจะเยี่ยมเยือนงานรับน้องที่สถาบันไหน และท่านจะพรากชีวิตเด็กหนุ่มสาวที่เพิ่งผ่านชีวิตเข้าสู่รั้วอุดมศึกษาไปกี่คน ด้วยวิธีไหน อย่างไรเท่านั้นเอง

เราคงหมดหวังที่จะได้เห็นมาตรการเยียวยาหรือป้องกันอันใดจากกลไกของรัฐต่อประเพณีอันดีงามที่มีชีวิตของผู้เข้ามาใหม่ในสถาบันการศึกษาเป็นเครื่องสังเวยแบบสุ่ม หรือจะหวังให้สถาบัน “ระดับอุดมศึกษา” นั้นรับผิดชอบก็คงเหลือล้นพ้นวิสัย เพราะถ้าหากพวกเขาจะไม่โบ้ยใบ้ไม่รับผิดชอบโดยอ้างว่าได้ห้ามปรามแล้ว รูปเรื่องก็อาจจะออกมาเป็นว่ากิจกรรมเช่นนั้นอยู่ในการรับรู้ ไม่มีการบังคับ… แต่บุตรหลานของท่านอาจจะโชคไม่ดีหรือไม่พร้อมเอง

จึงควรจะต้องเป็นเราในฐานะที่เป็นพี่น้องพ่อแม่หรือผู้ปกครองของบรรดานิสิตนักศึกษาหน้าใหม่จะต้องระวังลูกหลานของเราเอง และต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรจะบอกสอนแก่ลูกหลานเรา หากเขาหรือเธอได้เป็นผู้แรกเข้าในมหาวิทยาลัย และจะต้องประสบกับประเพณีอันดีงามที่โหดเหี้ยมไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้น

หนึ่ง-การรับน้องเป็นเพียงการละเล่นชนิดหนึ่ง และอาจจะเป็นการเล่นที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งหากยอมเข้าร่วมการละเล่นเช่นนั้นแล้ว ก็เป็นความเสี่ยงภัยของเราเองด้วยส่วนหนึ่ง การเข้าร่วมในกิจกรรมรับน้อง ว่าไปแล้วก็คล้ายๆ กับการเล่นบันจี้จั๊ม ที่นอกจากจะได้เสี่ยงชีวิตพิสูจน์ความกล้าปลอมๆ ชั่ววูบแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ในชีวิตอีกแม้แต่น้อย

Advertisement

สอง-เราอาจจะถูกขู่ว่าไม่เข้าร่วมรับน้องแล้วเพื่อนจะไม่คบ ไม่มีโต๊ะนั่ง จริงอยู่ว่าในช่วงที่กำลังอยู่ในเทศกาลรับน้องอันฟูมฟายบ้าคลั่งนั้น ใครที่ไม่ยอมเข้าร่วมอาจจะได้รับการกดดันทางจิตวิทยาให้เพื่อนๆ ในรุ่นไม่คบ ไม่พูดคุย หรือมองดูเป็นตัวประหลาดบ้าง สำหรับผู้ที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมอาจจะต้องทนเดือดร้อนหรืออึดอัดใจในช่วงนี้สักระยะเวลาหนึ่ง แต่ขอรับรองว่าบรรยากาศเช่นนี้จะจบลงไม่นานหลังจากสิ้นกิจกรรมรับน้อง และยิ่งถ้ามีการสอบกลางภาคหรือปลายภาค ใครที่ทำคะแนนได้ดีหรือมีน้ำใจอัดเล็กเชอร์ถอดเทปมาพิมพ์ให้เพื่อนๆ เป็นวิทยาทานก็จะมีมิตรสหายมารุมล้อมให้เลือกคบเอง และเมื่อนั้นจะไม่มีใครจำได้อีกว่าใครร่วมหรือไม่ร่วมรับน้องอีกต่อไป ส่วนผู้ที่กลัวว่าจะไม่มี “โต๊ะนั่ง” ก็ขอแนะนำว่า ในห้องสมุดของคณะหรือมหาวิทยาลัยนั้นมีที่ทางและโต๊ะให้เรานั่งเสมอ

สาม-การบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามากน้อยตามแต่ระดับแห่งการบังคับและความรุนแรง เช่น การบังคับไม่ให้กลับบ้านหรือไม่ให้ออกจากห้องเรียนหรือสถานที่ทำกิจกรรม เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 310 แห่งประมวลกฎหมายอาญา การข่มขู่ให้ยอมกระทำการหรือไม่กระทำการ เป็นความผิดฐานข่มขืนใจตามมาตรา 309 หรือการกลั่นแกล้งรังแกให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ เป็นความผิดตามมาตรา 397

แต่เนื่องจากความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น การที่เราเข้าร่วมอาจจะถือว่าเป็นความยินยอมของเราเองที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอันจะร้องทุกข์ได้ กระนั้นความยินยอมนั้นก็สามารถยุติหรือถอนคืนได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากจะ “ยอม” ต่อไปแล้ว เราก็มีสิทธิโดยชอบที่จะเดินออกมา ซึ่งถ้าใครขัดขวาง ก็มีความผิดตามกฎหมายข้างต้น

Advertisement

สี่-เราอาจจะต้องยอมรับว่ากิจกรรมรับน้องของสถาบัน จะมีอาจารย์ส่วนหนึ่งที่รู้เห็นเป็นใจหรือเข้าข้างรุ่นพี่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอาจารย์บางส่วนใหญ่ในสถาบันก็มักจะสำเร็จการศึกษาจากที่นั่น ด้วยเหตุนี้อาจารย์ศิษย์เก่าผู้พร่องวุฒิภาวะบางท่านอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพี่โต๊ะ หรือพี่ว้ากตลอดกาล แต่แน่นอนว่าจะต้องมีอาจารย์อีกส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อทราบแล้วก็ควรจะหาอาจารย์ผู้มีวิจารณญาณเหล่านั้นให้พบและปรึกษาท่านหากเห็นว่าอาจได้รับอันตรายหรือความเดือดร้อนเกินสมควรจากการเล่นสนุกในประเพณีนี้

แต่หากในที่สุดพบว่า แม้แต่อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นดีเห็นงามหรือไม่เอาธุระกับกิจกรรมนี้ ก็อาจจะต้องถือว่าเป็นโชคร้ายของเราจริงๆ

ห้า-ความสัมพันธ์พิเศษหรือคอนเน็กชั่นในการทำงานในอนาคตเป็น “รางวัล” ที่เอาไว้อวดอ้างให้เข้าร่วมในกิจกรรมรับน้อง แต่เรื่องจริงคือ “คอนเน็กชั่น” เหล่านี้ ส่วนใหญ่หากเป็นเรื่องที่ไม่ได้สร้างเอง ก็จะมาจากต้นทุนทางสังคมของพ่อแม่วงศาคณาญาติ หรือถ้าเป็นเรื่องที่สร้างได้เอง ก็มักจะได้แก่ผลการศึกษาของเรา การฝึกงานที่นายจ้างจะได้เห็นแวว หรือไม่ก็ความสนิทสนมเห็นฝีมือรู้นิสัยซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังกิจกรรมรับน้องทั้งสิ้น ไม่มีใครเลือกเฟ้นคนเข้าทำงานในบริษัทเพราะเต้นไก่ย่างเก่งแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การ “เล่นสี” หรือความลำเอียงเชิงสถาบันในบางวงการ “แบบไทยๆ” นั้นมีอยู่ในทางความเป็นจริง แต่การนับ “สี” เขาก็พิจารณาเพียงว่าจบมาในสถาบันตาม “สี” นั้นๆ หรือเปล่าเพียงเท่านั้น ไม่มีการไปไล่ย้อนถึงว่าเคยผ่านการรับน้องมาหรือไม่เพียงใด

และสำคัญกว่านั้น คือเราต้องถามตัวเองว่า เราประสงค์ “ความสัมพันธ์พิเศษ” เป็นทางลัดในการหางานหรือประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างนั้นจริงๆ หรือ

หก-หากเราเป็นผู้โชคร้ายที่จะต้องสังเวยชีวิตหรือร่างกายให้แก่ประเพณีรับน้องอันดีงามแล้ว รุ่นพี่และรุ่นเพื่อน หรือทางสถาบันนั้นอาจจะมาร่วมงานศพบ้างสามสี่คืน ส่งพวงหรีด หรือมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลบ้างประมาณสองสามสัปดาห์แรก หากผู้มีหน้าที่ต้องปลงศพเรา จุดธูปไหว้รูปขาวดำของเราบนหิ้ง หรือเฝ้าดูแลร่างกายอันไร้สัมปชัญญะหรือเสียหายของเราไปอีกยี่สิบสามสิบปีหรือชั่วชีวิตนั้น ได้แก่พ่อแม่พี่น้องผู้ปกครอง และคนที่เรารักเพียงเท่านั้นเอง

และสุดท้ายประการที่เจ็ด-เราสามารถเดินออกมาจากการละเล่นรับน้องเมื่อไรก็ได้ที่เราระลึกถึงเหตุผลหกข้อที่กล่าวไปข้างต้น ไม่มีผู้ใดมีอำนาจห้ามปรามหรือบังคับรั้งเราได้ เว้นแต่เราจะให้ความยินยอมหรือสยบยอมแก่เขาเอง

 

คลิกอ่านข่าว ...รับน้อง ม.ดัง ให้ดำน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย จมน้ำเน่า ปอดติดเชื้อสาหัส นอน ICU ยังไร้คนรับผิดชอบ

คลิกอ่านข่าว …พ่อน้องบอสลุยร้อง ‘บิ๊กตู่’ ออกกฎหมายควบคุมรับน้อง เผยยังห่วงอาการปอดติดเชื้อ-สมอง (คลิป)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image