การเดินทางของ “เก้าอี้ตัวนั้น”… ในวันที่ 6 ตุลาฯ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของการครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในปีนี้มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง แต่หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจก็คือการปรากฏตัวของ “เก้าอี้ตัวนั้น” ในฐานะ “ประธาน” ของประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ

สิ่งที่ผมพยายามจะนำเสนอในวันนี้คือ การเดินทางอันยาวนานของเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ “ปรากฏตัว” ในฐานะ “ประธาน” ของ “ความทรงจำ” ที่ “คนรุ่นหลังเดือนตุลาฯ” มีให้เหตุการณ์ในเดือนตุลาฯ

1.ประวัติศาสตร์ที่พูดไม่ได้ และสมุดภาพเดือน

ตุลาฯ-ผมเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2531 ผมจำบรรยากาศในช่วงนั้นได้ดีว่าการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ โดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นั้นไม่สามารถพูดได้มาก

Advertisement

มีหลายเรื่องที่น่าสนใจในช่วงนั้น แม้ว่าเหตุการณ์จะล่วงมาประมาณทศวรรษเดียวในช่วงนั้น

หนึ่ง คือ การรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวที่จุฬาฯ จัดก่อนหน้าเดือนตุลาฯ อาจจะด้วยสองเหตุผลใหญ่ที่ได้ยินมา คือ เป็นช่วงสอบและปิดภาคเรียน คนอาจไม่มาถ้าจัดตรงวัน และสอง คือ เป็นที่รับรู้ว่างานรำลึกใหญ่จะต้องจัดที่ธรรมศาสตร์ ทั้งที่เรารู้กันว่าในเหตุการณ์นั้นมีคนจากจุฬาฯเข้าร่วมไม่ใช่น้อย และที่ถูกจับกุมในฐานะแกนนำนักศึกษา และที่เข้าป่าก็มีรุ่นพี่ของเราไม่ใช่น้อย อาทิ ที่ได้ยินชื่อในขณะนั้นคือ สุธรรม แสงปทุม ที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียง และเขียนหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กเรื่องราวเหตุการณ์ในยุคนั้น หรือสุรชาติ บำรุงสุข ที่เป็นอาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์ (ตอนนั้นลาศึกษาต่อปริญญาเอก)

สอง ในวันที่มีการจัดงานรำลึกของจุฬาฯ จำได้ว่าห้องที่จัดงานนั้นล้น เราได้ยินการถ่ายทอดเสียงจากอีกห้องหนึ่ง เราได้ยินการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าขบวนการกระทิงแดง ว่าเขาได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ในส่วนของเขาไว้หมดแล้ว กับอาจารย์ท่านหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ในรูปแบบบทสัมภาษณ์ และเขาจะยินยอมเปิดเผยเมื่อเขาเสียชีวิตแล้ว

Advertisement

ในการนั่งฟังในห้องที่มีเสียงถ่ายทอดสด ผมจำได้ว่า ผมได้รับฟังเรื่องราวเพิ่มเติมจากอาจารย์ของคณะของผมอีกท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ที่เข้าร่วมเหตุการณ์ (ท่านเสียชีวิตแล้วในตอนนี้) จำได้ว่าท่านเล่าบรรยากาศเหตุการณ์ให้ฟังด้วยเสียงสั่นเครือว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ในฐานะเด็กที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวกับตัวเหตุการณ์ เพราะตอนเหตุการณ์เกิดขึ้นนั้นผมอายุสักห้าขวบเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือผมตกใจมากว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์ความรุนแรงในแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และถ้าเทียบกับบรรยากาศความสงบเรียบร้อยภายใต้ยุคพลเอกเปรม และการเข้าสู่ยุคการเมืองของน้าชาติตอนต้นที่ทุกอย่างดูจะไปได้สวยในเรื่องประชาธิปไตย ผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

สาม การปะติดปะต่อความทรงจำของเหตุการณ์นั้นอ้างอิงได้กับสิ่งพิมพ์และสมุดภาพต่างๆ ที่ถูกนำมาวางขายในงานรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และการจัดงานนั้นเป็นการจัดงานร่วมกันของงาน 14 ตุลาฯ 16 และ งาน 6 ตุลาฯ 19 สมุดภาพเหล่านั้นไม่มีในห้องสมุด และในยุคก่อนอินเตอร์เน็ต การจะค้นคว้าเรื่องราวเหล่านี้ทำได้ยากเย็น

หากเราพยายามมองการเดินทางของ “ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ” ในแบบเส้นตรง เราก็อาจจะมองว่าการเดินทางอันยาวนานของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นั้น เป็นเรื่องของการพยายามสถาปนาการจดจำเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องที่จะต้องถูกพูดถึงของสังคมในฐานะ “ความจริง” ที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริง” ว่าเหตุการณ์ในวันนั้น ใครได้ทำอะไรลงไปบ้าง และมีใครเสียชีวิต มีใครสูญหาย และจะมีการรำลึก รวมทั้งการคืนความจริงและความยุติธรรมในเหตุการณ์นั้นอย่างไร

รูปธรรมของประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯในฐานะ “ข้อเท็จจริง” ก็คือ เรื่องของการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง การบันทึกประวัติศาสตร์ การสร้างประติมากรรม การจัดงานรำลึกย้อนหลัง การพูดในสิ่งที่พูดไม่ได้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ยังมีการดำเนินการรำลึก และการพยายาม “ไม่ลืม” สิ่งเหล่านั้น และผลักดันให้เหตุการณ์วันนั้นมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ชาติ และแบบเรียน รวมทั้งความทรงจำสาธารณะของผู้คนให้ได้

2.ประวัติศาสตร์บาดแผล และการทดลองจำในยุคแรก-ในอีกกระแสหนึ่งของการรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นั้นสนใจในเรื่องของการตั้งคำถามอีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของการตั้งคำถามว่า ทำไมการจดจำประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์จึงทำได้ยากเย็น และความยากเย็นนี้ สะท้อนถึง “ลักษณะพิเศษ” ของตัวเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั่นก็คือ มันเป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่มีลักษณะ “จำไม่ได้ ลืมไม่ลง”

เรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ชุดนี้อาจไม่ใช่เรื่องของการเรียงลำดับเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงแบบประวัติศาสตร์ชุดแรก แต่เป็นเรื่องของการตั้งคำถามกับ “ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น” โดยเฉพาะผลของเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่ตกอยู่กับพวกเขาเองไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ – (ธงชัย วินิจจะกุล มีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามในเรื่องนี้)

คำถามสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการจดจำในฐานะวีรชน หรือผู้ที่ควรจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

แต่เป็นการตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนรุ่นต่อไปสามารถเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้นจากมุมมองของหลายๆ ฝ่ายที่เข้าร่วมเหตุการณ์ในวันนั้นได้ ไม่ว่าในวันนั้นคนเหล่านั้นจะยืนอยู่ตรงไหนในสังคม ทั้งฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นเหยื่อ และในฝ่ายของผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายกระทำความรุนแรง

เราเคยเห็นข้อถกเถียงของคนที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ถึงการเสนอว่าจะจำเหตุการณ์นี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นของธงชัย วินิจจะกูล เกษียร เตชะพีระ หรือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามถึงการเขียนประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯในแบบที่มีการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ของยุกติ มุกดาวิจิตร เมื่อครั้งที่งานรำลึก 6 ตุลาฯ นั้นถูกจัดอย่างเป็นระบบมากขึ้นกว่าการผนวกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ที่พ่วงกับงาน 14 ตุลาฯ

3.ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของ “เก้าอี้” – “มานี” และ “เจ้าโต” – แม้ว่าคำว่า “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” จะเป็นชื่องานเขียนรวบรวมผลงานของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่กล่าวถึงเรื่องราวที่ไม่ค่อยได้รับการบันทึกเอาไว้ในเหตุการณ์6 ตุลาฯ แต่ผมอยากจะขอหยิบยืมชื่องานของอาจารย์สมศักดิ์ มาตั้งประเด็นถึงการมาถึงของ “ความทรงจำ” ของ “คนรุ่นหลังเดือนตุลาฯ” ที่มีต่อเหตุการณ์เดือนตุลาฯ

ความน่าสนใจของเหตุการณ์เดือนตุลาฯที่ถูกจดจำโดยคนรุ่นหลังเดือนตุลาฯนั้นมีความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ความทรงจำของพวกเขามี “อิสระโดยสัมพัทธ์” กับตัวเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้งในแง่ของความถูกต้องของข้อเท็จจริง และเรื่องราวที่พวกเขาต้องการที่จะนำมารับใช้ต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันของพวกเขา ในยุคที่เราสามารถค้นหาภาพเหตุการณ์และเรื่องราวมากมายของเหตุการณ์วันนั้นในโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว

เราอาจจะแบ่งยุคของการสร้างประวัติศาสตร์หลังเดือนตุลาคมออกเป็นสองยุคใหญ่ๆ

ยุคที่หนึ่ง คือ การทำให้เหตุการณ์เดือนตุลาฯนั้นเป็นฉากหลังของเรื่องราวอื่นๆ ที่ต้องการจะเล่า แทนที่จะเป็นประธานของเรื่อง เช่นการเล่าเรื่องผีในลิฟต์ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการตายจากเหตุการณ์นองเลือดในวันนั้นผ่านภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยสยองขวัญ

หรือการเล่าเรื่องราวรักกุ๊กกิ๊ก ที่เกิดขึ้นจากการที่นักศึกษาหนุ่มตกบันไดพลอยโจนเข้าป่าไปพบรักกับนางเอกที่ยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ในภาพยนตร์เรื่องฟ้าใสใจชื่นบาน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประวัติศาสตร์ของความทรงจำในสองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการตอกย้ำตัวเหตุการณ์ในฐานะประธานของเรื่อง และการค้นหาข้อเท็จจริง แต่เป็นการตอกประทับเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่จะถูกนึกถึงต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น (คงเดช จตุรัศมี ก็นิยมที่จะเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ความขัดแย้งของบ้านเมืองเอาไว้ในภาพยนตร์ของเขาในหลายเรื่องเช่นเดียวกัน)

ยุคที่สอง คือ การทำให้เหตุการณ์เดือนตุลาฯนั้นโลดแล่นไปในความทรงจำของคนรุ่นใหม่ผ่านการประดิษฐ์เรื่องราวที่น่าสนใจอย่างเฟซบุ๊กเพจ “มานี มีแชร์”

มานี เป็นตัวละครที่โด่งดังมาจากตำราเรียน ซึ่งคนที่เกิดในปี 2515 เป็นต้นมาจะต้องเรียนตำราเรียนนี้ (ซึ่งถ้าเขาจะเรียนจริงๆ ก็คงจะประมาณ 2521) และมีการวิเคราะห์กันมานานแล้ว (ดูงานของ นิธิ เอียวศรีวงศ์) ว่าเป็นตำราเรียนที่สอดแทรกอุดมการณ์ความเป็นชาตินิยมของรัฐไทยไว้อย่างน่าสนใจ เพราะได้สร้างเรื่องราวของมานีและผองเพื่อน รวมทั้งหมาชื่อเจ้าโต เอาไว้เป็นเสมือนชุมชนหมู่บ้านในอุดมคติของเด็กไทย

เรื่องราวน่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อตัวการ์ตูนมานีและเจ้าโต

รวมทั้งผองเพื่อนปรากฏตัวมาอีกครั้งในช่วงที่เมืองไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในสงครามสีเสื้อ เมื่อไม่นานมานี้ และจำเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่าง คน สัตว์ สิ่งของ

นั่นก็คือ มานี เจ้าโต และ “เก้าอี้” ตัวนั้น

พึงสังเกตว่า “แชร์” นั้น อาจจะหมายถึงทั้งการแบ่งปันเรื่องราว ในฐานะเรื่องราวบนเฟซบุ๊ก หรือ แชร์ อาจจะหมายถึงเก้าอี้ (หรืออาจจะหมายถึงประธานของเรื่องราว)

ในเรื่องราวมานีมีแชร์นั้น เราจะเห็นความตื่นตัวทางการเมืองของเจ้าโต ซึ่งออกจะสมาทานความคิดทางการเมืองชุดหนึ่ง และเราจะเห็นวิธีการที่มานี เด็กผู้หญิงที่ดูเรียบร้อยนั้นใช้วิธีฟาดเก้าอี้กับเจ้าโต

ความรุนแรงของมานีที่มีต่อเจ้าโตนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนับสนุนแต่อย่างใด แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่โดนใจผู้คนบางกลุ่มไม่น้อย ท่ามกลางบรรยากาศความเกลียดชังทางการเมืองที่เกิดขึ้นของทุกฝ่ายในสงครามสีเสื้อในช่วงที่ผ่านมา

และเรื่องหนึ่งที่มีการโยงเกี่ยวกันก็คือ การฟาดเก้าอี้นั้นน่าจะมีส่วนจากการดึงเอาเรื่องราวมาจากชุดภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ที่เป็นภาพของการที่มีคนคนหนึ่งเอาเก้าอี้ฟาดกับศพของนักศึกษาที่ถูกแขวนคอที่ต้นมะขามในสนามหลวง เหตุการณ์ในวันนั้น

ประเด็นที่ท้าทายก็คือ เรากำลังมองว่าศิลปะร่วมสมัยนั้นสะท้อนสิ่งที่เกิดจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 อย่างถูกต้องเที่ยงตรง และช่วยให้เรารำลึกถึงเหตุการณ์จริงได้แค่ไหน

หรือเรากำลังตั้งคำถามใหม่ๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ศิลปะร่วมสมัยนั้นจะพาเราไปในวันข้างหน้า และเราจะประกอบสร้างความจริงใหม่ๆ จากประสบการณ์ชีวิตของเราวันนี้จากเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างใหม่นี้อย่างไร? เพราะสิ่งที่เรากำลังจะทำให้มันเกิดคืออนาคตผ่านการประกอบเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ที่มีความหมายสำหรับเรา

ไม่ใช่ความถูกต้องจากความทรงจำในอดีตโดยตัวของมันเอง

4.วันที่เก้าอี้มี “ตัวตน” – ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เราจะเริ่มเห็นว่าความสนใจของประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 นั้น ขยับเคลื่อนมาที่เรื่องราวของภาพเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าภาพของปืน และภาพของทหารที่บังคับให้นักศึกษาถอดเสื้อและนอนราบลงไป

ภาพการฟาดเก้าอี้ และความสนใจรอยยิ้มของเด็กที่ยืนมุงเหตุการณ์กลายเป็นเรื่องราวที่คนจำนวนไม่น้อยในวันนี้สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะคนเหล่านี้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 โดยตรง

และอาจไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่สนใจ “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นในวันนั้น เพราะพวกเขาอาจจะ “รู้แล้ว” แต่พวกเขาไม่ได้สนใจที่จะ “บันทึก” หรือ จะ “จำ” ในความหมายในแบบที่คนรุ่นนั้นต้องการให้จำ

ไม่ใช่ว่าพวกเขา “จำไม่ได้-ลืมไม่ลง” แต่พวกเขาต้องการจะจำในแบบใหม่ และไม่ใช่จะจำในแบบที่รัฐต้องการให้จำ ไม่ว่ารัฐนั้นจะเป็นรัฐเผด็จการ หรือรัฐประชาธิปไตย

แต่พวกเขามีอิสระโดยสัมพัทธ์ที่จะจดจำเรื่องราวเหล่านั้นผ่านสิ่งที่ส่งต่อมาถึงเขาด้วยจินตนาการแบบใหม่ ที่แม้ยึดโยงกับเหตุการณ์ในวันนั้น แต่ก็มีอิสระที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าในแนวทางของเขา

ผมเสนอว่าสิ่งหนึ่งที่เขาสนใจจะจำก็คือ คนรุ่นหลังเดือนตุลาฯ สนใจยึดโยงและจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นในฐานะของประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังซึ่งกันและกัน และพยายามจะถามว่าพวกเขาจะก้าวพ้นสิ่งนั้นไปได้อย่างไร

การที่เก้าอี้กลายเป็นประธานของความจดจำ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อที่รำลึกงาน 6 ตุลาฯ เราไม่ลืม ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นภาพคนฟาดช่อกุหลาบ แล้วเขียนว่า Give Flower, Not Chair หรือเสื้อที่รำลึกงาน 6 ตุลาฯ-จุฬาฯมองอนาคต ที่มีภาพเก้าอี้อยู่ในเสื้อ ทำให้เราต้องมานึกถึงการเดินทางอันยาวนานของเก้าอี้ตัวหนึ่ง ที่มีชีวิต และกำหนดเรื่องราวจำนวนมากจากรุ่นสู่รุ่น และการทำให้เสื้อยืดกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรือนร่างของผู้คนที่สวมใส่ และถูกจับจ้อง รวมทั้งถูกยึดโยงกับเหตุการณ์นี้

ท่านยังมีเวลาที่จะจับจองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สามารถสร้างและสืบสานเรื่องราว 6 ตุลาฯ 19 ต่อไปได้ ทั้งการสนับสนุนเสื้อยืดและการเข้าร่วมงานของทั้งสองมหาวิทยาลัยในวันที่ 6 ตุลาคมนี้

แล้วพบกันครับ …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image