ที่เห็นและเป็นไป : ขอแค่ ‘อย่าเห็นเป็นเหยื่อ’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ขอแค่ ‘อย่าเห็นเป็นเหยื่อ’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เห็นและเป็นไป : ขอแค่ ‘อย่าเห็นเป็นเหยื่อ’

ทันทีหลังปีใหม่ ภารกิจของทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน จะต้องหาวิธีตั้งรับโดยใช้ความตื่นตัวสูงสุดต่อ “โควิด-19” ที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะกลับมาระบาดใหม่ ในอัตราเร่งที่จะก่อปริมาณมากกว่าเดิมหลายเท่า

เนื่องจาก 2 สาเหตุคือ เชื้อกลายพันธุ์ที่ชื่อ “โอมิครอน” เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า เป็นปรากฏการณ์ที่ยืนยันแล้วในหลายประเทศ และเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถล็อกดาวน์ปิดเมืองในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ได้อีก พร้อมกับความอัดอั้นของการทำธุรกิจการค้า และการใช้ชีวิตที่ถูกบล็อกให้อยู่ในพื้นที่จำกัดเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมมายาวนาน ทำให้การเฉลิมฉลองและการท่องเที่ยวในทุกหนแห่งคลาคล่ำด้วยผู้คน ซึ่งเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการรับเชื้อจากกันและกัน

ซึ่งตัวเลขที่แถลงอย่างเป็นทางการก็เป็นอย่างนั้น ในคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในบางจังหวัดที่ภาคอีสานและใน กทม.

Advertisement

จึงไม่เกินคาดเดาว่าหลังการเฉลิมฉลองแบบเต็มคราบ สุดฤทธิ์สุดเดช ปลดปล่อยกันเต็มที่ หนีไม่พ้นจะต้องระบาดครั้งใหญ่

คำถามก็คือ จะเกิดอะไรขึ้น

มีคำตอบอยู่ 2 แบบตามฤทธิ์ของ “โอมิครอน”

Advertisement

หนึ่ง มีการประเมินกันว่า “โอมิครอน” จะเป็น “โควิด” สายพันธุ์ที่ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ป่วยไข้ด้วยอาการรุนแรง รักษาให้หายง่าย และน่ายินดีกว่านั้นคือ ใครที่รับเชื้อ “โอมิครอน” จะเท่ากับฉีดวัคซีนชั้นดีไปกระตุ้นภูมิต้านทานให้ป้องกันความเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์อื่นด้วย และเมื่อมีการระบาดอย่างกว้างขวางก็เท่ากับเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้เกิดขึ้น

ผู้รู้บางคนมีความหวังถึงขนาดว่า “โอมิครอน” จะพลิกสถานการณ์โควิดจากภัยร้ายแรง มาเป็นเพียง “ไข้ตามถิ่น” เหมือนไข้หวัดทั่วไปที่มนุษย์อยู่ร่วมได้อย่างเป็นปกติ แค่รักษากันไปตามอาการ

สอง มองว่า “โอมิครอน” จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์แบบไหน ที่ทำให้ “โควิด” ทั้งแพร่ระบาดแบบ “โอมิครอน” และรุนแรงอย่าง “เดลต้า” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ หายนะครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งน่ากลัวอย่างยิ่ง

วงการแพทย์ของโลกยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าผลจะออกมาแบบไหน

แต่องค์การอนามัยโลก “WHO” ออกมาแนะนำว่า “ไม่เฉลิมฉลอง ดีกว่าตาย” ด้วยความกังวลว่า “โอมิครอน” จะสร้าง “สึนามิโควิดขึ้นมาคร่าชีวิตผู้คน”

ในความแตกต่างของการเชื่อมั่นโลกในแง่ดี กับการกระตุกเตือนด้วยมุมมองในด้านร้ายนี้

รัฐบาลไทยเราเลือกที่จะใช้มุมมองในด้านดีสร้างกำลังซื้อในช่วงปีใหม่ โดยหลับตาข้างหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็นในมุมที่จะส่งผลในด้านร้าย

แต่หากถามว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มีข้อมูล มีความรู้พอที่ทำให้เชื่อเช่นนั้นจริงหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เลย”

เป็นที่รู้กันว่าทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างตระหนักถึงความเสี่ยงจากการหลับหูหลับตาปล่อยให้จัดเทศกาลฉลองกันแบบพร้อมจะหลุดโลกไปทั่วประเทศ แล้วอาศัยคำเตือนแบบไม่จริงจังเป็นข้ออ้างเพื่อปกป้องหากเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้น ทำนอง “เตือนแล้วไม่ฟังกันเอง”

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่างการยอมให้ผู้คนได้ทำมาหากินเพื่อเปิดระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้ กับการควบคุมเพื่อไม่ให้โควิดระบาดรุนแรงจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขจะรองรับได้

การบริหารในสถานการณ์ที่ต้องรับผิดชอบทั้ง 2 ด้าน ให้ดำเนินไปด้วยกันอย่างลงตัวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นี้ จะต้องใช้ศิลปะในการบริหารจัดการ และสำนึกในความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยิ่ง

คำถามก็คือ เชื่อมั่นแค่ไหนว่าความสามารถในการบริหารจัดการประเทศอย่างมีศิลปะอันเหมาะสมจะมีอยู่ในยุคสมัยแบบนี้

มั่นใจได้แค่ไหน

หากเกิดความเลวร้ายขึ้นจะทำอย่างไร พึ่งพาผู้มีอำนาจทั้งหลายได้หรือ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image