สู่เดือนที่สามของสงคราม! : สุรชาติ บำรุงสุข

สงครามยูเครนเริ่มต้นด้วยการบุกของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือสงครามเริ่มต้นเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาด้วย “สงครามตามแบบเต็มรูป” อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และวันนี้ สงครามได้ก้าวเข้าสู่เดือนที่สาม

สงครามขนาดใหญ่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวยูเครนอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะภาพของการสังหารหมู่ที่มีการตรวจพบมากขึ้นในหลายพื้นที่ เกิดการเดินทางของผู้อพยพชาวยูเครนจำนวนมากออกจากพื้นที่การรบ จนกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน อีกทั้งภาพการโจมตีของกองทัพรัสเซียอย่างไม่จำแนกต่อเป้าหมายพลเรือน ตลอดรวมถึง การข่มขืนของทหารรัสเซียที่กระทำต่อเด็กและสตรีชาวยูเครน

ขณะเดียวกัน ก็เป็นสองเดือนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเองอย่างมาก อันเป็นผลจากการถูกแซงชั่น และการตัดเศรษฐกิจรัสเซียออกจากวงจรทางการเงินของโลก แม้รัฐบาลมอสโคว์จะพยายามโฆษณาว่า การแซงชั่งของโลกตะวันตกมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมรัสเซียไม่มากนัก ในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบดังกล่าวกำลังมีมากขึ้นกับทั้งชีวิตทางเศรษฐกิจและชีวิตของคนในรัสเซีย

ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ “ปฎิบัติพิเศษทางทหาร” ของประธานาธิบดีปูตินเป็น “ภาพลบ” ต่อสถานะของรัสเซียอย่างยิ่ง จนทำให้ผู้นำรัสเซียถูกประนามว่าเป็น “อาชาญกรสงคราม” หรืออาจประเมินได้ว่า เป็นสองเดือนที่รัสเซีย “แพ้การเมือง” ในเวทีโลก และนำไปสู่การต่อต้านสงครามของรัสเซียในหลายประเทศ รวมทั้งเกิดการต่อต้านภายในสังคมรัสเซียเอง แม้รัฐบาลมอสโคว์จะมีการควบคุมทางการเมือง และการควบคุมข่าวสารอย่างเข้มงวดก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมรับรู้ถึงสงครามและความสูญเสียของกองทัพรัสเซีย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้ระยะเวลาจะผ่านไปถึงสองเดือนแล้ว แต่ความคาดหวังของประธานาธิบดีปูตินที่จะยึดประเทศยูเครน โดยเฉพาะการยึดเมืองหลวงที่เคียฟ ยังไม่เป็นจริงแต่อย่างใด กองทัพรัสเซียอาจจะประสบความสำเร็จในการยึดพื้นที่ในส่วนของดอนบาส ที่อยู่ภาคตะวันออกของยูเครน และสามารถเข้าควบคุมพื้นที่หลักของเมืองมาริอูโพลได้ แต่ยังไม่สามารถยึดโรงงานเหล็ก ที่กองกำลังของยูเครนและประชาชนส่วนหนึ่งหลบซ่อนอยู่ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นสองเดือนที่กองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จทางทหารตามที่คาดหวังไว้ในเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพรัสเซียต้องประสบความสูญเสียในการรบอย่างหนักทั้งในส่วนของยุทโธปกรณ์และชีวิตของกำลังพล

ปฎิบัติการทางทหารของรัสเซียครั้งนี้ ไม่เป็นชัยชนะสำหรับประธานาธิบดีปูติน ซึ่งในด้านหนึ่ง เป็นเพราะปัญหาทางทหารภายในของกองทัพรัสเซียเอง ในอีกด้านหนึ่ง เป็นผลการประมาณการทางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เพราะรัสเซียไม่คิดมาก่อนว่า กองทัพยูเครนและกองกำลังป้องกันดินแดนจะต้านทานการรุกทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถผลักดันให้กำลังรบรัสเซียต้องถอนตัวออกไปจากพื้นที่บางส่วน

การต้านทานอย่างเหนียวแน่นและเข้มแข็งของยูเครน เป็นผลจาก “ขวัญและกำลังใจ” ของกำลังพลและประชาชนที่ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจจากผู้นำอย่างประธานาธิบดีเซเลนสกี และอีกส่วนเป็นผลจากความต้องการในการรักษาเอกราชของประเทศ จนสองเดือนที่ผ่านมากลายเป็น “ชัยชนะของยูเครน” ในอีกแบบหนึ่ง

Advertisement

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยที่กองทัพรัสเซียไม่อาจเอาชนะในทางทหารได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า อำนาจกำลังรบของฝ่ายยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องของรถถัง และปืนใหญ่

นอกจากนี้ ความไม่สำเร็จทางทหารดังที่กล่าวแล้ว น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญบังคับให้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจปรับยุทธศาสตร์ทหาร ด้วยการเน้นการทำสงครามในพื้นที่ของดอนบาสเป็นหลัก ซึ่งอาจมีนัยถึงการยึดพื้นที่ของดอนบาสทั้งหมด ด้วยข้ออ้างส่วนหนึ่งว่า เป็นพื้นที่ที่คนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่เป็นหลัก และคนเหล่านี้ถูกรัฐบาลยูเครนรังแก กองทัพรัสเซียมีความจำเป็นต้องรุกเข้ายึดพื้นที่แถบนี้เพื่อปกป้องชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวรัสเซียเหล่านี้ ดังนั้น สงครามดอนบาสในเดือนที่สามน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นจุดชี้ขาดที่สำคัญของสถานการณ์สงครามในยูเครน

ในอีกมุมหนึ่ง คำกล่าวของผู้นำทหารของรัสเซียที่ต้องการขยายพื้นที่การควบคุมทางภูมิรัฐศาสตร์จากภาคใต้ของยูเครนไปสู่มอนโดวา ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านนั้น ได้สร้างความน่าวิตกทางด้านความมั่นคงอย่างมาก เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณโดยตรงของการขยายพื้นที่สงครามออกไปจากยูเครน อันอาจทำให้เสถียรภาพของยุโรปที่ถูกกระทบจากสงครามยูเครนแล้ว ถูกกระทบมากขึ้น ซึ่งหากสงครามชุดใหม่เกิดขึ้นตามคำกล่าวของผู้นำทหารรัสเซียแล้ว เสถียรภาพและความมั่นคงทั้งของยุโรปและของโลกจะยิ่งมีปัญหามากกว่านี้อย่างแน่นอน

คงต้องยอมรับในอีกด้านว่า ผลจากการเปิดสงครามของประธานาธิบดีปูติน กลายเป็น “ผลด้านกลับ” ที่ทำให้รัฐยุโรปทั้งหลายมีความเป็นเอกภาพในการต่อต้านรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด และขณะเดียวกัน สงครามยูเครนเป็นเสมือน “การชุบชีวิต” ขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (หรือเนโต้) ให้ฟื้นกลับขึ้นมามีบทบาทด้านความมั่นคงอีกครั้ง เพราะหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นแล้ว หลายฝ่ายมีทัศนะคล้ายคลึงกันว่า เนโต้เป็นองค์กรที่หมดภารกิจไปแล้ว แม้จะมีการดำรงอยู่ขององค์กร แต่ก็ไม่มีภัยคุกคามที่ชัดเจนรองรับ จนเกิดข้อถกเถียงอย่างมากถึงความจำเป็นในการมีองค์กรเนโต้สำหรับอนาคตด้านความมั่นคงของยุโรป

แต่ผลจากการเกิดสงครามยูเครนทำให้รัฐยุโรปมีความเห็นตรงกันที่จะใช้เนโต้เป็น “หัวหอก” ในการรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซีย และผู้คนในหลายประเทศมีความคาดหวังว่า หากประเทศของตนถูกกองทัพรัสเซียบุกแล้ว องค์กรเนโต้จะใช้อำนาจตาม “มาตรา 5” เพื่อคุ้มครอง แม้แต่ประเทศที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางมาอย่างยาวนาน เช่น สวีเดน และฟินแลนด์ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของเนโต้

คนในสังคมของประเทศทั้งสองมีทัศนะที่ไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขากังวลกับการขยายสงครามของรัสเซีย และเกรงว่า หากรัสเซียประสบความในการยึดครองยูเครนได้จริงแล้ว ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงอาจตกเป็น “เหยื่อสงคราม” ของรัสเซียได้ในอนาคต ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีคนในสองประเทศดังกล่าว จะสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกของเนโต้ และหวังว่า ซีโต้จะเป็น “เกราะป้องกันสงคราม” จากการคุกคามทางทหารของรัสเซีย… สงครามของประธานาธิบดีปูตินกลายเป็นแรงผลักดันโดยตรงให้เกิดความต้องการที่เข้าร่วมกับเนโต้

ในอีกด้าน โลกต้องเผชิญกับทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตยูเครนพร้อมกันไป ซึ่งในส่วนของสงครามยูเครนนั้น ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤต 4 ชุด ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร และวิกฤตปุ๋ย และเห็นชัดอีกว่า วิกฤตทั้งสี่นี้ได้กลายเป็นปัญหาการเมืองภายในของหลายประเทศ อันเป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะเดียวกันก็เกิดความขาดแคลนอาหาร หรืออาหารมีราคาแพงมากขึ้น พร้อมกันนี้ปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตรก็มีราคาสูงขึ้นด้วย จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ ทั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจเดิมจากโควิดยังไม่ทุเลาลงแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สงครามยูเครนได้สร้าง “วิกฤตเศรษฐกิจการเมือง” ชุดใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับรัฐคู่สงครามเท่านั้น หากยังมีผลกระทบอย่างมากกับรัฐบาลในหลายประเทศด้วย… การเดินทางสู่เดือนที่สามของสงครามยูเครนคือ การทำให้วิกฤตของโลกเป็น “มหาวิกฤต” นั่นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image