เอกวาดอร์ ประเทศที่เป็นข่าวฮือฮาน่าสนใจ

ร้านขายยาออนไลน์สัญชาติอังกฤษ ที่เน้นขายสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ชายที่มีชื่อว่า “From Mars” ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 86 ประเทศ เพื่อศึกษาและพิสูจน์สถิติความยาวของอวัยวะเพศชายว่าประเทศไหนจะมีองคชาตยาวเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากโฆษกของทางร้านขายยานี้เน้นว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องเคยสงสัยในหลายๆ ครั้งว่าองคชาตของพวกเขาใหญ่เพียงพอไหม ซึ่งขนาดองคชาตสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นใจและภาพลักษณ์ทางจิตใจของผู้ชายโดยทั่วไปในโลก

ทางร้าน From Mars จึงได้จัดทำการสำรวจและจัดอันดับเกี่ยวกับขนาดของอวัยวะเพศชายโดยรวบรวมข้อมูลจากระบบของกูเกิลจาก 86 ประเทศ แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย จากนั้นจึงเรียงอันดับจากขนาดที่ยาวที่สุดไปถึงสั้นที่สุดจำนวน 86 อันดับด้วยกัน จากผลการสำรวจและคำนวณค่าเฉลี่ย ปรากฏว่า ผู้ชายที่มีค่าเฉลี่ยความยาวขององคชาตในขณะแข็งตัวเต็มที่ที่ยาวที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผู้ชายจากประเทศเอกวาดอร์ แห่งทวีปอเมริกาใต้ (6.93 นิ้ว), แคเมอรูน แห่งทวีปแอฟริกา (6.56 นิ้ว), โบลิเวีย แห่งทวีปอเมริกาใต้ (6.5 นิ้ว), ซูดาน แห่งทวีปแอฟริกา (6.48 นิ้ว) และเฮติ แห่งทวีปอเมริกาเหนือ (6.3 นิ้ว)

สำหรับอันดับที่ 7 มีถึง 3 ประเทศ เพราะมีค่าเฉลี่ยความยาวของอวัยวะเท่ากัน ได้แก่ แกมเบีย คิวบา และเนเธอร์แลนด์ ด้วยขนาดเฉลี่ย 6.25 นิ้ว ส่วนชาวอเมริกันได้อันดับที่ 59 (5.35 นิ้ว) แต่ชาวอังกฤษเองอยู่อันดับที่ 66 (5.17 นิ้ว) ส่วนชาวออสเตรเลียอยู่ในอันดับที่ 43 (5.69 นิ้ว) ส่วนอันดับของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย อยู่ในอันดับที่ 56 (5.4 นิ้ว) ญี่ปุ่น อันดับที่ 61 (5.34 นิ้ว) เกาหลีใต้ อยู่อันดับที่ 65 (5.18 นิ้ว) จีน อยู่ในอันดับที่ 68 (5.15 นิ้ว) สิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 77 (4.54 นิ้ว) และไทย อยู่ในอันดับที่ 80 (4.51 นิ้ว) โดยมีกัมพูชา อยู่อันดับท้ายสุดด้วยค่าเฉลี่ย 3.95 นิ้ว

สำหรับประเทศเอกวาดอร์ที่ได้แชมป์ผู้ชายที่มีอวัยวะเพศโดยเฉลี่ยแล้วยาวที่สุดโลกนั้นเป็นประเทศที่น่าสนใจมากทีเดียวตั้งแต่ชื่อของประเทศแล้ว กล่าวคือเอกวาดอร์เป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ที่มีเส้นศูนย์สูตรพาดผ่านอันเป็นที่มาของชื่อประเทศกล่าวคือ คำว่า “เอกวาดอร์” มาจากภาษาสเปน “Ecuador” ที่แปลตรงตัวว่า เส้นศูนย์สูตร (เส้นศูนย์สูตรเป็นเส้นสมมุติที่เป็นเส้นวงกลมใหญ่แบ่งโลกออกเป็นสองซีกเท่าๆ กัน คือ เส้นที่ลากผ่านศูนย์กลางวงกลมในแนวทิศตะวันตก-ตะวันออก และตั้งฉากกับแกนหมุนของโลก)

Advertisement

ประเทศเอกวาดอร์ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีเนื้อที่ 283,561 ตารางกิโลเมตร (ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) มีอาณาเขตจรดประเทศโคลอมเบียทางทิศเหนือ จรดประเทศเปรูทางทิศตะวันออกและทิศใต้ และจรดมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตก เอกวาดอร์ยังมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะกาลาปาโกสในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ไปทางตะวันตกประมาณ 1,000 กิโลเมตร เมืองหลวงของประเทศคือกรุงกีโต

ประเทศเอกวาดอร์มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง โดยมีพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นหลายชนิดโดยเฉพาะที่หมู่เกาะกาลาปาโกสที่เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสัตว์หายากหนึ่งเดียวในโลก หมู่เกาะกาลาปาโกสเกิดจากการสะสมตัวของลาวาภูเขาไฟเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว มีพื้นที่ทั้งหมด 7,994 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ร่วม 10 เท่า) ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 59,500 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งมีความหลากหลายทางธรรมชาติ เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของโลก บางจุดก็แห้งแล้ง บางจุดก็เป็นป่าฝน เรียกได้ว่าอยู่บริเวณเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันหลากหลายที่สุด ซึ่งใน พ.ศ.2378 (ในสมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ชาร์ล ดาร์วินได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่เกาะแห่งนี้ 19 วัน เพื่อศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ และได้ตีพิมพ์หนังสือที่บันทึกเรื่องราวเดินทางของเขา เรื่อง “The Origin of Species by Means of Natural Selection” ซึ่งเป็นที่มาของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติอันเลื่องชื่อนั่นเอง ทำให้ชาวเอกวาดอร์มีความตระหนักรู้ถึงมรดกทางนิเวศวิทยาอันเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าวจึงมีรัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ฉบับ พ.ศ.2551 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกที่รับรองสิทธิของธรรมชาติ หรือสิทธิของระบบนิเวศอันมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

แต่ประเทศเอกวาดอร์กลับเป็นประเทศที่ไม่มีสกุลเงินเป็นของตัวเองเพราะใช้เงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” เป็นสกุลเงินหลักตั้งแต่ พ.ศ.2543 เป็นต้นมา เพราะรัฐบาลเอกวาดอร์ได้ใช้จ่ายเงินเกินตัวจากนโยบายประชานิยมจนถึงขั้นเกือบล้มละลายต้องไปขอกู้เงินจาก IMF ซึ่งทาง IMF ก็บังคับให้รัฐบาลเอกวาดอร์ปรับนโยบายทางเศรษฐกิจลอยตัวค่าเงิน และเลิกการตรึงราคาสินค้าทำให้ประเทศเอกวาดอร์ตกอยู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก สุดท้ายประชาชนหมดความเชื่อมั่นในสกุลเงินของเอกวาดอร์ทำให้รัฐบาลเอกวาดอร์จำต้องยอมใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแทนสกุลเงินของเอกวาดอร์

Advertisement

การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันสินค้าส่งออกจากเอกวาดอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผล และอาหารทะเลจึงมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้สินค้าเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันสู้กับประเทศอื่นได้เพราะเอกวาดอร์ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางของเอกวาดอร์จึงไม่มีอำนาจในการจัดการค่าเงินของตัวเองแต่ยังโชคดีที่เอกวาดอร์มีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่บริเวณที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและน้ำมันปิโตรเลียมเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศมานานร่วม 60 ปีแล้ว แต่ถึงกระนั้นหนี้ครัวเรือนของประชากรส่วนใหญ่ของเอกวาดอร์ก็สูงมากพอๆ กับประเทศไทยเลยทีเดียวเนื่องจากชาวเอกวาดอร์กว่า 1 ล้านคน ที่ออกไปทำงานที่ยุโรปต้องกลับบ้านเนื่องจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนของเอกวาดอร์เป็นจำนวนมากต้องขาดรายได้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดหนี้ครัวเรือนในเอกวาดอร์กันทั่วหน้า ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนลดลงมากเพราะรายได้ส่วนหนึ่งต้องนำไปชำระหนี้ จึงทำให้การเติบโตของการบริโภคโดยรวมมีข้อจำกัด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น ประเทศอันดับหนึ่งกับประเทศอันดับที่ 80 จึงออกจะเหมือนกันเอามากๆ ทีเดียวในด้านเศรษฐกิจของประเทศ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image