เส้นทางสู่ความฝันแห่งสหพันธรัฐ (1)

สําหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในพม่า คำหนึ่งที่เรามักได้ยินคือ “federalism” หรือสหพันธรัฐ คำนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมาหลายสิบปี แต่เพิ่งจะกลับมาเป็นคำหรือคอนเซ็ปต์ที่ได้รับความสนใจมากอีกครั้งหลังเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หากจะพูดแบบกระชับ พม่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา จากคำจำกัดความของรัฐผ่านสำมะโนประชากร มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพม่า 135 กลุ่ม แต่ในความเป็นจริง มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่นอกเหนือลิสต์ของทางการอีกมาก หนึ่งในนั้นคือกลุ่มโรฮีนจา ที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อชาติฉบับทางการของพม่า

พูดมาแบบนี้คงจะไม่เห็นภาพว่าความหลากหลายทางเชื้อชาติในพม่ามีความสำคัญอย่างไร ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 70 กลุ่ม กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ คนไต (Tai) ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตามมาด้วยกลุ่มออสโตรเอเชียติก เช่น คนเขมรและกุย และยังมีคนมาเลย์ทางภาคใต้ อย่างไรก็ดี ในสังคมไทย ด้วยนโยบายของรัฐหรือด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ก็แล้วแต่ ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีความรู้สึกร่วมว่าเป็น “คนไทย”

เมื่อเราถามคนอีสานที่พูดภาษาลาวว่าเขาเป็นคนไทยหรือไม่ คนส่วนใหญ่คงตอบแบบไม่ต้องคิดว่าเขาเป็น “คนไทย” แต่ถ้าเราถามคำถามเดียวกันกับคนที่มาจากพม่าหรือเมียนมา “คุณเป็นคนพม่าหรือเปล่า” ถ้าเจอคนพม่าแท้ๆ เขาก็จะตอบว่าเขาเป็นคนพม่า แต่หากเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฉาน กะเหรี่ยง กะฉิ่น ฉิ่น มอญ ฯลฯ คำถามที่ว่า “คุณเป็นคนพม่าหรือเปล่า” มีความเซ็นซิทีฟ หลายครั้งที่เราได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่คนพม่า เป็นคนไทใหญ่” กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มในพม่าภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนมาก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลและกองทัพพม่าพยายามยัดเยียดความเป็นพม่าและความเป็นพุทธแบบพม่าให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผ่านระบบการศึกษา ระบบราชการ และระบบระเบียบอีกมากมาย ที่สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่ยอมรับนโยบายยัดเยียดความเป็นพม่าแล้ว ยังพร้อมใจกันต่อต้านอย่างหนักหน่วงอีกด้วย

Advertisement

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าความขัดแย้งทางเชื้อชาติเป็นต้นตอของปัญหาแทบทุกชนิดที่เกิดขึ้นในพม่า การคงอยู่ของกองทัพ และความพยายามรักษาอำนาจของคนในกองทัพ ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพพม่าภายใต้การนำของคนพม่าต้องแตกสลาย พูดง่ายๆ คือกองทัพต้องการรวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น เหมือนกับที่เคยเป็นมาตั้งแต่ในยุคพุกาม หงสาวดี และราชวงศ์คองบอง เมื่อเกิดแนวคิดสหพันธรัฐ อันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ และยังสามารถบริหารจัดการด้านการเงิน การศึกษา หรืออื่นๆ ภายในพื้นที่ของตนได้ เท่ากับบทบาทของคนพม่าและกองทัพก็จะลดน้อยถอยลงไปด้วย

ในบทความเรื่อง “Federalism as a Solution to the Ethnic Problem in Burma” (ระบอบสหพันธรัฐในฐานะทางออกจากปัญหาด้านเชื้อชาติในพม่า) โจเซฟ ซิลเวอร์สไตน์ (Josef Silverstein) นักวิชาการด้านพม่าศึกษาคนสำคัญ เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2002 ว่ามีเพียงระบบสหพันธรัฐเท่านั้นที่จะแก้ไขความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงในพม่าได้ ความท้าทายของพม่านับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเอกราชเมื่อ 74 ปีที่แล้ว คือการสร้างระบบการเมืองที่เท่าเทียมและยุติธรรมกับผู้คนจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา มีอิสระที่จะขับเคลื่อนชุมชนของตัวเองได้ พร้อมกับสืบสานประเพณี ภาษา และวัฒนธรรมที่หลากหลาย และในขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ และจงรักภักดีกับรัฐชาติแห่ง “เมียนมา”

เนื่องจากพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมายาวนาน การธำรงวินัยแบบทหาร และความเชื่อที่ฝังหัวนักเรียนนายร้อยพม่ามายาวนานหลายสิบปีว่ากองทัพพม่ามีหน้าที่รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น และจะต่อสู้ไม่ให้ผู้ใดแบ่งแยกประเทศออกไปได้โดยเด็ดขาด กองทัพจะทำทุกวิถีทางเพื่อรวมชาติ และป้องกันไม่ให้สหภาพแตกสลาย (disintegration of the union) ระบบสหพันธรัฐจึงกลายเป็นแนวคิดที่อันตรายและเป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพพม่าไปโดยปริยาย

Advertisement

ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารของ SLORC และ SPDC กองทัพพม่าพยายามนำผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เข้าสู่โต๊ะเจรจา และมุ่งหน้าสู่การเจรจาหยุดยิงหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่เคยออกดอกออกผลใดๆ เพราะกองทัพยังยืนยันบทบาทนำ และยังต้องการขับเคลื่อนพม่าต่อไปภายใต้การนำของคนพม่า ตามแนวทางที่กองทัพได้วางไว้ เมื่อ SLORC เข้ามามีอำนาจหลังประกาศให้ผลการเลือกตั้งในปี 1990 เป็นโมฆะ กองทัพริเริ่มให้มีสมัชชาแห่งชาติ (National Convention) ขึ้น มีผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพม่าคือการประชุมในระดับชาติไม่เคยครบองค์ประชุม เพราะมักจะมีแต่กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กลางๆ กับกองทัพ หรือกลุ่มการเมืองที่พอจะร่วมโต๊ะเจรจากับกองทัพได้ ในขณะที่คู่กรณีหลักของกองทัพ อย่างพรรค NLD ไม่ได้เป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนสมัชชาแห่งชาติในครั้งนั้น

แน่นอน เมื่อที่ประชุมเพื่อหาทางออกจากปัญหาไม่ได้รวมคู่ขัดแย้งทุกกลุ่มเข้ามา การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนย่อมเป็นไปได้ยาก หรือจริงๆ แล้วคือเป็นไปไม่ได้เลย ในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติในต้นทศวรรษ 1990 กองทัพยินยอมให้มีระบบที่เรียกว่า “สหภาพแห่งสหพันธรัฐ” มีรัฐและเขตทั้งหมด 14 รัฐ/เขต แต่พื้นที่ทั้งหมดนี้ยังอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของกองทัพ พื้นที่ทั้ง 14 แห่งจะมีอำนาจในระดับหนึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์สามารถสอนภาษาของตนในโรงเรียนได้ อีกทั้งยังรักษาประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ได้ โดยในทางทฤษฎี รัฐบาลและกองทัพมีหน้าที่เข้าไปให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ และแต่ละพื้นที่จะส่งผู้แทนของตนเข้าไปนั่งอยู่ในรัฐสภา

กองทัพพยายามโปรโมตคำว่า “สหพันธรัฐ” อยู่บ้าง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กองทัพ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายที่ขับเน้นบทบาทนำของคนพม่าและศาสนาพุทธก็ยังมีอยู่ต่อไป ท่ามกลางสงครามกลางเมือง ที่ผลักให้ประชาชนธรรมดากลายเป็นผู้ลี้ภัย และยังขับเคลื่อนให้พม่าเป็นสมรภูมิสู้รบที่ไม่มีวันจบวันสิ้น ในตอนต่อไป เราจะกลับมาพูดถึงระบบสหพันธรัฐกันอีกครั้ง ในฐานะความฝันของคนรุ่นใหม่ในพม่า แนวคิดดังกล่าวกลับมาเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกลางการต่อสู้ของรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ในปัจจุบัน

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image